xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาแต่งตั้งองค์คณะ พิพากษา"วัฒนา"ทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้พิพากษา 6 คน ในคดีทุจริตที่ดินรัชดาฯ ได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมศาลฎีกาให้เป็นองค์คณะใน 9 ผู้พิพากษาคดี "วัฒนา อัศวเหม" ทุจริตที่ดินคลองด่าน โดยมี "ประพันธ์ ทรัพย์แสง" มือเชือด "รักเกียรติ สุขธนะ" คดีทุจริตยา เข้าร่วมด้วย เริ่มนัดฟังคำสั่ง 27 ก.ย.นี้

วานนี้ (24 สค.) ที่ศาลฎีกา มีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะผู้พิพากษา พิจารณาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2550 ที่นายพชร ยุติธรรม อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ จูงใจให้บุคคลใด มอบให้ หรือหามาซึ่งทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ตนเองหรือผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา 148 , 157 , 33 และ 84 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 4 โดยใช้เวลาในการประชุมนาน 2 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ

นายรักเกียรติ วัฒนพงษ์ เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เปิดเผยถึงผลการประชุมว่า การคัดเลือกทำโดยการวิธีลงคะแนนลับ ซึ่งผู้พิพากษา 9 คนที่ได้รับเลือกเป็นองค์คณะ ประกอบด้วย 1.นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย ประธานแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศในศาลฎีกา 2.นายสมศักดิ์ เนตรมัย ประธานแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจในศาลฎีกา 3.นายทองหล่อ โฉมงาม รองประธานศาลฎีกาคนที่สาม 4. นายมงคล ทับเที่ยง ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 5.นายธีระวัฒน์ ภัทรานวัช ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 6.นายจรัส พวงมณี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

7.นายประพันธ์ ทรัพย์แสง ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา (เคยเป็นองค์คณะผู้พิพากษาและเจ้าของสำนวนที่ศาลฎีกาฯ พิพากษาให้จำคุก 15 ปี นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรมว.สาธารณสุข ความผิดเรียกรับสินบน 5 ล้านบาท จากบริษัทยา ในการทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ กระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ ยังเคยเป็นเจ้าของสำนวนคดีที่อัยการสูงสุดยื่นฟ้องอดีต 9 กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มีพล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ เป็นประธาน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีออกระเบียบขึ้นเงินเดือนตัวเอง) 8.นายพิชิต คำแฝง ประธานแผนกคดีแรงงานในศาลฎีกา และ 9.ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 2 ซึ่งขณะนี้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญด้วย

นายรักเกียรติ กล่าวว่า หลังจากนี้ องค์คณะ ฯ ทั้ง 9 คน จะกำหนดวันประชุมภายในเพื่อเลือกเจ้าของสำนวนเพื่อมีคำสั่งรับหรือไม่ฟ้องคดีไว้พิจารณาพิพากษาต่อไป ซึ่งศาลฎีกา ฯ กำหนดนัดฟังคำสั่งคดีนี้ในวันที่ 27 ก.ย.นี้ เวลา 13.30 น. ณ ห้องพิจารณาคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาจะปิดประกาศรายชื่อองค์คณะฯ ไว้ที่หน้าศาลฎีกาให้คู่ความทราบ เพื่อยื่นคำร้องคัดค้านรายชื่อผู้พิพากษาองค์คณะ ฯ ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2543 ข้อ 4 ซึ่งหากคู่ความประสงค์ที่จะยื่นคัดค้านรายชื่อองค์คณะก็สามารถยื่นเรื่องได้นับตั้งแต่วันประกาศจนกว่าศาลจะเริ่มนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ นายสุวัฒน์ ประธานแผนกคดีทรัพย์สิน ฯ , นายสมศักดิ์ ประธานแผนกคดีพาณิชย์ ฯ, นายทองหล่อ รองประธานศาลฎีกาคนที่สาม 3, นายธีระวัฒน์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรฯ , นายประพันธ์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และนายพิชิต ประธานแผนกคดีแรงงาน ฯ ซึ่งได้รับเลือกเป็นองค์คณะ ฯ คดีนี้ ผู้พิพากษาทั้ง 6 คน ยังได้รับเลือกเป็นองค์คณะ ฯ พิจารณาพิพากษาคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษกของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ด้วย

อนึ่ง ในบรรยายคำฟ้องที่นายพชร ยุติธรรมดำรง อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัฒนา อัศวเหม อดีตรมช.มหาดไทย เป็นจำเลย สรุปพฤติการณ์กระทำผิดของนายวัฒนาไว้ 2 ช่วง ช่วงระหว่างวันที่ 10 ส.ค. 2531 ถึง 23 ก.พ. 2534 และระหว่างวันที่ 21 เม.ย. 2535 - 15 มิ.ย. 2538

สำนวนคำฟ้อง ระบุว่า ขณะดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย นายวัฒนา ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบบังคับข่มขืนใจหรือจูงใจให้ราษฎรขายที่ดินให้และบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องออกเอกสารสิทธิที่ดินที่ได้กว้านซื้อไว้และขอออกในนามบริษัทเอกชนรายหนึ่ง และร่วมกันดำเนินการออกโฉนดที่ดินบริเวณ ต.คลองด่าน อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการโดยมิชอบในเขตพื้นที่สงวนหวงห้าม ทับที่สาธารณประโยชน์และนำเอาหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาอ้างในการออกโฉนดที่ดิน จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่กรมที่ดินและผู้ปกครองท้องที่ต้องออกโฉนดที่ดินให้รวม 5 แปลง

สำหรับโฉนดทั้ง 5 แปลง ประกอบด้วย โฉนดที่ดินเลขที่ 13150, 13817, 15024, 15528 และเลขที่ 15565 เนื้อที่ประมาณ 1,900 ไร่ ซึ่งต่อมาได้มีการขายที่ดินทั้ง 5 แปลงดังกล่าวให้กับกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เพื่อใช้ในการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน แต่ภายหลังกรมที่ดินได้มีการเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 13150, 13817, 15024, 15528 รวม 4 แปลง เนื่องจากมีการออกโฉนดที่ดินทับคลองสาธารณประโยชน์ และมีการนำหลักฐานสำหรับที่ดินแปลงอื่นมาอ้างออกโฉนดที่ดิน ซึ่งเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2550 ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.ประชุมพิจารณาสำนวนการไต่สวนกรณีที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งเป็นผู้เสียหายได้กล่าวหาร้องเรียนนายวัฒนา อัศวเหม ขณะดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย และเจ้าหน้าที่กรมที่ดินที่เกี่ยวข้องจัดการออกเอกสารสิทธิในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ กับพวก

จากข้อเท็จจริงคณะกรรมการ ป.ป.ช.สรุปว่า การออกโฉนดดังกล่าวเป็นการออกโฉนดโดยมิชอบ ด้วยระเบียบและกฎหมายออกทับที่สาธารณะ และนำเอาหลักฐาน คือ สค.1 จากที่อื่นมาใช้ในการออกโฉนดโดยมิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้พิจารณาและเห็นว่ามีบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวน 9 คนที่จะต้องรับผิดชอบและชี้มูลความผิดบุคคลทั้ง 9 คน ประกอบด้วย นายวัฒนา อัศวเหม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดิน และเจ้าหน้าที่ของฝ่ายปกครอง 8 คน ดังนี้

นายสมมาตร ดลมินทร์, นายชวณัฐ โฉมจังหวัด, นายอริยะ สุกวรรณรัตน์, นายพรชัย ดิสกุล, นายคมชิต วิชญะเดชา, นายวิชัย ฉ่างทองคำ, นายเกรียงศักดิ์ ตัณฑะตะนัย และนายณรงค์ ยอดศิรจินดา ได้กระทำความผิดร่วมกันในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148, 157 ประกอบมาตรา 84

นอกจากตรวจสอบทุจริตที่ดินแล้ว ป.ป.ช.ยังอยู่ระหว่างไต่สวนความผิดในสัญญาและโครงการฯ ทั้งนี้ ตามสำนวนของ สตช. และคณะกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการฯ ที่มีอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นประธาน ส่งเรื่องไปยัง ป.ป.ช. ระบุว่า คดีทุจริตคลองด่านนี้มีนักการเมืองเกี่ยวข้อง 3 คน คือ นายวัฒนา อัศวเหม, นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ และนายยิ่งพันธ์ มนะสิการ (เสียชีวิตแล้ว)

ส่วนอดีตข้าราชการ คพ. ระดับ 10 เกี่ยวข้องทุจริต คือ นายปกิต กิระวานิช และข้าราชการระดับ 10 ซึ่งยังรับราชการอยู่คือ นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์, นางนิศากร โฆษิตรัตน์ และข้าราชการคพ.รวมกับข้าราชการกรมที่ดิน ประมาณ 20 ราย รวมทั้งกลุ่มเอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการและรวบรวมที่ดินขายให้กับกรมควบคุมมลพิษอีกด้วย

สำหรับคดีคลองด่าน นอกจากที่อยู่ในมือป.ป.ช.แล้ว ยังมีคดีฟ้องร้องในศาล ดังนี้

1) คดีอนุญาโตตุลาการ (ข้อพิพาทหมายเลข 50/2546) เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2546 ผู้รับเหมาเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการปฏิเสธประเด็นสัญญาเป็นโมฆะ และให้ คพ.ชดใช้เงินค่าจ้างและค่าเสียหายประมาณ 6,200 ล้านพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาเอกชนขอเจรจาเพื่อให้คพ.รับเอาระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียและให้กรมที่ดินออกโฉนดให้ใหม่ ซึ่งคพ.เห็นดีด้วย แต่จะส่งผลทำให้เสียหายต่อรูปคดีอื่นๆ ทั้งที่อยู่ในศาลและที่อยู่ระหว่างไต่สวนของ ป.ป.ช.

2) คดีอาญาศาลแขวงดุสิต (คดีหมายเลข 254/2547)เมื่อ 13 ม.ค. 47 คพ. ฟ้องผู้รับเหมาและเอกชนผู้ขายที่ดิน รวม 19 ราย ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงให้ คพ.ซื้อที่ดินที่ได้มาโดยไม่ชอบและจัดทำสัญญาโดยสำคัญผิด ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบพยานฝ่ายโจทก์

3) คดีศาลแพ่งกรุงเทพใต้ฯ (คดีหมายเลข 164/2547) 14 ม.ค. 47 ผู้รับเหมาร้องขอให้ศาลออกหมายคุ้มครองชั่วคราว ห้าม คพ.เรียกร้องเงินจากธนาคารผู้ค้ำประกัน 5 แห่ง ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน ประมาณ 3,000 ล้าน และห้ามธนาคารจ่ายเงินให้คพ. คดีนี้ศาลมีคำสั่งให้การคุ้มครองตามที่เอกชนขอ

4) คดีศาลแพ่ง (คดีหมายเลข 606/2547) 12 ก.พ. 47 คพ.ฟ้องธนาคารผู้ค้ำประกัน 5 แห่ง ให้เรียกชำระหนี้ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันจำนวน 3,000 ล้าน คดีนี้ศาลสั่งจำหน่ายคดี

5) คดีศาลแพ่ง (คดีหมายเลข 732/2547) 20 ก.พ. 47 คพ.ฟ้องผู้รับเหมา เรียกเงินค่าจ้างและค่าบริการคืนทั้งหมดกว่า 20,000 ล้าน คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้อง ทางคพ.อุทธรณ์ และเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2550 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่ให้ คพ.ไปเข้ากระบวนการอนุญาโตตุลาการ

6) คดีศาลแพ่ง (คดีหมายเลข 1676/2547) ผู้รับเหมาร้องขอต่อศาลให้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการให้ คพ. คดีนี้ศาลงดไต่สวน
กำลังโหลดความคิดเห็น