xs
xsm
sm
md
lg

คลังฮึดยืนเป้าหมายจีดีพีโต4% ชูลงทุนภาครัฐหนี'ส่งออก'ทรุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – คลังยันไม่ปรับเป้าจีดีพีปี 50 เชื่อยังสามารถขยายตัวได้ที่ 4.0% เท่าประมาณการณ์เดิม ระบุการใช้จ่ายภาครัฐยังเป็นตัวสนับสนุนหลักในช่วงที่ภาคเอกชนยังไม่ฟื้นตัว ด้านการส่งออกอาจชะลอตัวลงในช่วงที่เหลือของปีตามเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น คาดการลงทุนภาคเอกชนจะปรับตัวดีขึ้นหากมีการเลือกตั้งในช่วงปลายปีนี้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับต่ำ 2.0% เพราะเงินบาทแข็งค่ากดดัน ด้าน"ปลัดคลัง"เชื่อมั่นเศรษฐกิจปี 51 ขยายตัวได้ถึง 5% จากปัจจัยทางการเมืองคลี่คลาย แต่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐที่ยังมีความน่าเป็นห่วงอยู่ ส่วนเป้าจัดเก็บรายได้ปี 50 คาดทำได้ 1.42 ล้านล้านบาทแน่นอน

นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ประมาณการเศรษฐกิจของประเทศไทย ณ เดือนสิงหาคม 2550 เศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.0% ต่อปี มีช่วงคาดการณ์อยู่ที่ 3.8-4.3% ต่อปี โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่

ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวระดับสูงในช่วงที่ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่ายังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2550 คาดว่าจะเกินดุลอยู่ที่ 5.1% ช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำที่ 2.0% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 1.5-2.5% ต่อปี โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.0% ต่อปี เท่ากับที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนพฤษภาคม 2550 โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาครัฐที่แท้จริงที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 11% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 9.0-13.0% ต่อปี เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมที่ 10.8% ต่อปี และการลงทุนภาครัฐที่แท้จริงที่คาดว่าจะขยายตัว 2.7% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 0.7-4.7%ต่อปี เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมที่ 2.2% ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่ 93% ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 จำนวน 1.57 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ การปรับเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550-กันยายน 2551) อีก 6.0% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.66 ล้านล้านบาท รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนภาครัฐอีก 4% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 คาดว่าจะช่วยให้การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550

ในด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 จะขยายตัวที่ 2.0% ต่อปีช่วงคาดการณ์ 1.5-2.5% ต่อปี ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ 2.3% ต่อปี เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2550 ขยายตัวชะลอลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมค่อนข้างมาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่า อาจมีแนวโน้มไม่ขยายตัวในปีนี้ โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ (-0.5)-(0.5)% ต่อปี เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2550 หดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม นโยบายการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐและนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี น่าจะช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550

ในด้านอุปสงค์จากภายนอกประเทศ สศค. คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากที่คาดการณ์เดิมเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวที่ 6.5% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 6.0-7.0% ต่อปี ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ 8.1% ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.7% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 2.2-3.2% ต่อปี สอดคล้องกับอุปสงค์จากภายนอกประเทศและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ลดลง

ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2550 ยังอยู่ในระดับมั่นคงโดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2550 จะยังคงเกินดุลประมาณ 5.1% ช่วงคาดการณ์ 4.5-5.5% โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาจากดุลการค้าที่คาดว่ายังคงเกินดุลต่อเนื่อง ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก

ทั้งนี้ สศค.คาดว่ามูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 จะขยายตัวอยู่ที่ 12.5% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 12.0-13.0% ต่อปี ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 13.7% ช่วงคาดการณ์ 13.2-14.2% แต่มูลค่านำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพียง 6.9% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 6.4-7.4% ต่อปี ลดลงจากที่คาดการณ์ไว้ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ย 8.3% ช่วงคาดการณ์ 7.8-8.8% และคาดว่าจะมีดุลการค้าเกินดุลเฉลี่ยในระดับ 9.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ระดับ 8.6-10.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2550 นั้น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.0% ต่อปี ช่วงคาดการณ์ 1.5-2.5% ต่อปี เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก จะช่วยบรรเทาแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ในขณะเดียวกันการชะลอตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ด้วยอีกทางหนึ่ง

ขณะที่นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2551จะสามารถขยายตัวได้ถึง 5% หากมองจากสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีและความชัดเจนแล้วว่าจะเลือกตั้งได้ภายในปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามจะต้องดูก่อนว่าการเมืองในปีหน้าจะเป็นอย่างไร หากไม่มีความพลิกผันไปมากกว่านี้ก็ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

ทั้งนี้ เศรษฐกิจในปีหน้าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ได้หรือไม่จะต้องดูถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้วยว่าจะมีความผันผวนไปมากกว่านี้หรือไม่ ซึ่งหากไม่ผันผวนมากนักจนมีผลกระทบต่อประเทศไทย ก็ไม่น่าจะทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจของไทยต่ำกว่า 5% ได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสถานการณ์ทางด้านการเมืองยังคงมีความน่าเป็นห่วงอยู่

ในขณะที่การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2550 ที่ได้ปรับเป้าลงจาก 1.42 ล้านล้านบาท เหลือ 1.39 ล้านล้านบาทนั้น กรมจัดเก็บภาษีทั้ง 3 กรม ประกอบด้วยกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร และส่วนอื่นๆ จะสามารถช่วยกันจัดเก็บรายได้ตามเป้าที่ตามไว้อย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่าจะอยู่ที่ 1.42 ล้านล้านบาท ได้ เนื่องจากการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ลดลงมากอย่างที่คาดการณ์ไว้

ส่วนการจัดทำกรอบงบประมาณประจำปี 2551 ที่จัดทำเป็นงบขาดดุลนั้น จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2550 ให้เดินหน้าต่อไปได้อีก ซึ่งยืนยันว่าในปี 2551 จะไม่เกิดปัญหาการเบิกจ่ายล่าช้าเหมือนปี 2550 อย่างแน่นอน เพราะได้มีความต่อเนื่อง ในการจัดทำงบประมาณไม่เหมือนปีงบประมาณ 2550ที่เกิดปัญหาทางการเมืองทำให้การจัดทำกรอบงบประมาณ 2550 มีความล่าช้า
กำลังโหลดความคิดเห็น