ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ศอ.บต.นำทัพผู้ประกอบการชายแดนใต้ ลุยเปิดตลาดอาหารฮาลาลในจีน โดยขนลองกองไปขายกว่า 10 ตัน ระบุปีนี้ 3 จว.ชายแดนใต้ลองกองออกสู่ตลาดกว่า 8 หมื่นตัน ขณะที่รัฐบาลวางแผนรับมือด้วยการเติมงบผ่านศูนย์คัดแยกทุกอำเภอแห่งละกว่า 1.5 ล้าน พร้อมจี้ทูตเปิดตลาดต่างประเทศ ขณะที่ในประเทศดึงทัพฟ้า-รฟท.หนุนการขนส่ง และขอความร่วมมือไปยัง กทม. ผู้ว่าฯทุกจังหวัดและทุกกระทรวงช่วยจัดกิจกรรมสนับสนุน
นายพระนาย สุวรรณรัฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ผอ.ศอ.บต.) เปิดเผยว่า จากการที่ผู้ว่าการเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เชิญตนและผู้ว่าราชการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้นำผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในพื้นที่ ไปร่วมแสดงและจำหน่ายในงานเทศกาลอาหารมุสลิมหรืออาหารฮาลาลนานาชาติ ครั้งที่ 2 ที่เมืองหยินชวน ในเขตปกครองตนเองดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 สิงหาคมที่ผ่านมา นับว่าการเชื่อมสัมพันธ์การค้าและการลงทุนระหว่างกันครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างมาก
"ศอ.บต.ได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้ว่าราชการ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นำผู้ประกอบการอาหารฮาลาลในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มอาชีพต่างๆ นักธุรกิจ ประธานหอการค้าจังหวัด และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งเดินไปร่วมงานดังกล่าว โดยจะมีการนำสินค้าอาหารฮาลาล และสินค้าพื้นเมืองแต่ละจังหวัดไปแสดง สาธิตและจำหน่าย อาทิ ไก่ฆอและ ข้าวยำ ข้าวเกรียบปลา ผ้าบาติก รวมถึงที่พิเศษคือนำผลไม้ลองกองจากชายแดนใต้ไปเปิดตลาดในงานเทศกาลอาหารฮาลาลที่เมืองจีนในครั้งนี้ด้วย" นายพระนายกล่าวและว่า
สำหรับเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ย ของสาธารณรัฐประชาชนจีน นับเป็นพื้นที่ที่มีชนชาวมุสลิมอยู่ประมาณ 5 ล้านคน ซึ่งได้รับการส่งเสริมให้เป็นเขตปกครองตนเองที่ผลิตสินค้าอาหารฮาลาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ขณะที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยก็มีชาวมุสลิมอยู่กว่าร้อยละ 80 มีวัตถุดิบในการผลิตอาหารฮาลาลมากมาย สามารถพัฒนาเป็นฐานการผลิตอาหารฮาลาลที่สำคัญได้ ซึ่งหากมีการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนในอนาคตได้เป็นอย่างดี
นางกำแก้ว เมนาคม ประธานชมรมผู้ประกอบการอาหารมุสลิม จ.ปัตตานี ซึ่งได้ร่วมคณะเดินทางไปเปิดตลาดผลไม้และอาหารฮาลาลของชายแดนใต้ที่ประเทศจีน ด้วย กล่าวว่า ได้นำอาหารพื้นถิ่นของไทยไปแสดงและสาธิตให้ชาวจีนมุสลิมในเขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยได้ชมและชิมหลายรายการ โดยคาดหวังว่าในอนาคตจะได้มีโอกาสร่วมค้าขายสินค้ากันได้ และจะมีช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้น
ด้าน นางพรพิศ สิทธิโชค นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 7 ว. สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานี กล่าวถึงการช่วยเหลือชาวสวนลองกองในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในปี 2550คาดว่าผลผลิตลองกองในพื้นที่จะมีปริมาณถึงประมาณ 80,000 ตัน โดยแยกเป็น จ.ปัตตานีประมาณ 10,000 ตัน จ.ยะลาประมาณ 30,000 ตัน และ จ.นราธิวาสประมาณ 40,000 ตัน โดยลองกองของปัตตานีจะเริ่มออกสู่ตลาดก่อนจังหวัดอื่นๆ ซึ่งภาครัฐได้เตรียมแผนกระจายผลผลิตรองรับไว้แล้ว และก็ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลองกองไปแล้วตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
นางพรพิศกล่าวว่า ตามแผนให้การช่วยเหลือชาวสวนลองกองในชายแดนใต้ประการแรกคือ รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือผ่านศูนย์คัดแยกผลิตผลทางการเกษตรของแต่ละอำเภอ ในทุกอำเภอที่มีผลผลิตลองกองในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยรัฐตั้งงบประมาณให้กู้ยืมเพิ่มเฉพาะในปีนี้ศูนย์ละ 500,000 บาท อันเป็นการเติมวงเงินให้แก่แต่ละศูนย์ที่มีงบประมาณที่เป็นทุนหมุนเวียนอยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ปี 2548 อีกประมาณ 1 ล้านบาทต่อศูนย์ รวมเป็นแต่ละศูนย์อำเภอจะมีวงเงินช่วยกระจายลองกองของเกษตรกรไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านบาท
อีกแนวทางหนึ่งในการช่วยเหลือชาวสวนลองกองชายแดนใต้คือ ให้คณะกรรมการประจำศูนย์คัดแยกแต่ละอำเภอดำเนินการรับซื้อ และส่งไปยังเป้าหมายที่ศูนย์ได้ติดต่อไว้เอง เช่น ศูนย์คัดแยก อ.มายอ จ.ปัตตานี มีกำหนดส่งผลผลิตลองกองไปยังศาลากลางจังหวัดนนทบุรี ตลาด อตก. ห้างโลตัส การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ห้างคาร์ฟูร์ และสหกรณ์จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้เริ่มทยอยส่งไปบ้างแล้ว เป็นต้น
สำหรับ จ.ปัตตานีแหล่งปลูกลองกองส่วนใหญ่จะอยู่ใน อ.สายบุรี อ.ยะรัง อ.โคกโพธิ์ อ.มายอและ อ.ทุ่งยางแดง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกรวมประมาณ 16,026 ไร่ คาดว่าจะมีผลผลิตทั้งปีประมาณ 10,866 ตัน หรือเฉลี่ย 678 กิโลกรัมต่อไร่ โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เริ่มลงพื้นที่รับซื้อผลผลิตลองกอง ณ จุดรวบรวมลองกอง อาคารอุตสาหกรรมฮาลาล อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เพื่อนำไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว
อนึ่ง ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายให้ ศอ.บต.ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตลองกองปี 2550 สำหรับพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ข้อสรุปคือ ให้หาตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยในต่างประเทศให้เอกอัครราชทูตและทูตพาณิชย์รับผิดชอบ ให้กองทัพอากาศสนับสนุนเครื่องบินลำเลียง รวมถึงให้การรถไฟแห่งประเทศไทยลดค่าระวางขนส่ง และเพิ่มตู้ขนส่งสินค้า เพื่อใช้ขนลองกองเป็นพิเศษช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคมนี้
นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไปยังกรุงเทพมหานคร ให้จัดจุดจำหน่ายลองกองในราคาพิเศษ รวมถึงกระทรวงและผู้ว่าราชการในจังหวัดต่างๆ จัดกิจกรรมให้คนไทยได้ช่วยกันซื้อลองกองจากชายแดนใต้ด้วย