xs
xsm
sm
md
lg

มุมมอง นักบริหารหนี้:ดอกเบี้ยยังมีโอกาสโน้มต่ำ ลงไปอีกหรือไม่?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ความผันผวนของตลาดเงิน ตลาดทุน และตลาดเงินตราต่างประเทศในปีนี้ ได้ทดลองกำลัง และท้าทายความสามารถของผู้เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างหนัก หากทนไม่ได้หรือไร้ฝีมือก็ต้องลาออก หรือถูกสถานการณ์บีบออกไป ซึ่งที่ผ่านยังไม่มีใครได้รับแรงกดดันถึงขนาดนั้น แสดงว่ายังสามารถปรับตัวและปรับนโยบายให้สอดคล้องกับภาวะที่เปลี่ยนไปได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงกระทบเหมือนไฟไหม้ลามทุ่งจาก ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์หรือ ซับไพรม์ ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา จนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหุ้นในสหรัฐฯเอง และได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นโลกอย่างถ้วนหน้า รวมทั้งประเทศเล็กๆอย่างไทยด้วย จนทำให้เงินไหลออกนอกประเทศและได้อนิสงค์กดค่าเงินบาทอ่อนลงไปด้วย และส่วนต่างของค่าเงินบาทระหว่างตลาดภายใน และภายนอกประเทศ แคบลงจากที่เคยต่างกันถึง 4 เหลือไม่ถึง 2

แต่เงินบาทจะอ่อนค่าไปถึงไหน และมีเสถีรยภาพอย่างยั่งยืนหรือไม่ ต้องติดตามดูมาตรการเสริมจากทางการอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับการแก้ปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพฯ ของสหรัฐฯ นอกจากอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังได้ใช้มาตรการลดดอกเบี้ยด้วย โดยเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550 เฟด หรือธนาคารกลางของสหรัฐได้อัดฉีดเงินเข้าระบบธนาคารเพิ่มเติม 7000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลสินเชื่อตึงตัว ส่งผลให้เงินที่เฟดได้อัดฉีดเงินข้าระบบธนาคารตั้งแต่ วันที่ 9 สิงหาคม 2550 เพิ่มขึ้นเป็น 69,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ และต่อมาก็ได้ลดดอกเบี้ยลงอีก ร้อยละ 0.5

ส่วนประเทศอื่นที่ประสบปัญหาก็ใช้วิธีอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารหรือระบบการเงิน เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ระบบการเงินการธนาคารเช่นเดียวกับสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น ที่ตลาดหุ้นร่วงไปเกือบ 2% ธนาคารกลางได้อัดฉีดเงินเพิ่มสภาพคล่อง เพิ่มอีก 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2550.

การที่ประเทศต่างๆได้เพิ่มสภาพคล่อง เข้าไปในระบบการเงินการธนาคารนั้น จะส่งได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มต่ำลง อย่างไรก็ตามหากมีการดูดสภาพคล่องออก โดยใช้นโยบายการเงินและ/หรือการคลังก็อาจหยุดยั้งการตกต่ำของดอกเบี้ยได้

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ เช่นเดียวกับประเทศอื่น โดยตลาดหุ้นตกไปมาก และได้ปรับตัวขึ้นใหม่ หลังจากผลการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไปแล้ว โดยที่ยังไม่เปลี่ยนนโยบายใดๆที่ชัดเจนนัก เช่น ยังคงรักษามาตรการเงินสำรอง 30% และอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น


อย่างไรก็ตาม ในปลายเดือนสิงหาคมที่สหรัฐอเมริกา ได้ประกาศลดดอกเบี้ยไปแล้ว และหลายประเทศได้เสริมสภาพคล่องเข้าไปในระบบธนาคาร จะส่งผลให้แนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศไทยลดลงไปด้วย ซึ่งในระยะที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆได้ทยอยลดดอกเบี้ยมาโดยลำดับ

ปัจจัยที่จะหยุดยั้ง มิให้ดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง โดยทางการกำลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ อายุ 4 ปี และ 7 ปี ซึ่งดูอัตราดอกเบี้ยที่จะอิงกับตลาดแล้วน่าสนใจลงทุน แต่มูลค่าไม่มากพอที่จะทำให้สภาพคล่องต่ำลงได้มากนัก

ดังนั้น โอกาสที่ดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มต่ำลง ยังมีมาก เพราะตอนนี้มีข่าวมาแล้วว่า สหรัฐอเมริกา อาจเริ่มลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจนถึงระดับ เมื่อหลังเหตุการณ์ 9 กันยายน เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง…!!!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น