xs
xsm
sm
md
lg

คนในตุลาการกำลังท้าทายอำนาจตุลาการ

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

การติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญ 2 ท่าน โดยนายตำรวจ นิติศาสตร์ รุ่น 09 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีการวิ่งเต้นให้สินบนตุลการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมือง หลังจากมีการอ่านคำวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550

เริ่มต้นก็มีการปฏิเสธไม่ยอมรับของคนที่อยู่ในแวดวงตุลาการ จนถึงขนาดที่ คุณจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ต้องหอบหลักฐานไปร้องเรียนพร้อมทั้งระบุว่ามีคนในแวดวงตุลาการทำตัวเป็นนายหน้าม้าใช้ และคุณวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อให้มีการสืบสาวราวเรื่องค้นหาความจริงและเอาผิดต่อบุคคลที่วิ่งเต้นให้สินบนให้ได้

แต่แล้วความจริงก็ปรากฏ เมื่อมีการแถลงผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการร้องเรียนว่ามีข้าราชการพยายามเสนอสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดียุบพรรค เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา ว่านายปัญญา ถนอมรอด ประธานศาลฎีกา ได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ว่าข้อร้องเรียนมีมูลความจริง โดยเกี่ยวข้องกับข้าราชการสำนักงานศาลยุติธรรมระดับสูง และบุคคลภายนอกที่เป็นนายตำรวจยศ พ.ต.อ.

บุคคลนี้เป็นผู้ที่เสนอให้สินบนตุลาการรัฐธรรมนูญ 2 ท่าน คือ ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 2 และ นายสมชาย พงษธา ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกา แต่ตุลาการฯ ทั้งสองท่านไม่รับ

ต่อมาวันที่ 8 สิงหาคม 2550 พล.ต.ท.จงรัก จุฑานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีติดสินบนตุลาการรัฐธรรมนูญในคดียุบพรรคการเมืองได้ยื่นคำร้องต่ออธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เพื่อเสนอศาลขออนุมัติหมายจับกุม พ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการ อดีต ผกก. สภ.ต.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม โดย พ.ต.อ. ชาญชัยจบการศึกษาจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2509 เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม น้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ที่สำคัญเป็นเพื่อนร่วมรุ่นของนายชาญชัย ลิขิตจิตถะ อดีตประธานศาลฎีกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

สิ่งที่ทำให้ขำไม่ออกคือวันที่ 13 สิงหาคม 2550 ที่ผ่านมา พ.ต.อ.ชาญชัยได้เข้ามอบตัวพร้อมทั้งปฏิเสธอ้างว่าเป็นการพูดหยอกเล่นในฐานะเพื่อนฝูง และการที่ไปพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ นั้นเพื่อเชิญไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์และแสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่งตุลการรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังชี้แจงว่าไม่มีใครให้เงินมาวิ่งเต้นในกรณีใดๆ ทั้งสิ้น

ประเด็นสำคัญที่หลายท่านอาจลืมไปแล้วคือ มีการทำหนังสือจากตุลาการรัฐธรรมนูญถึงประธานศาลฎีกาทำหน้าที่ประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เพื่อรายงานให้รับรู้ว่ามีการวิ่งเต้นเตรียมติดสินบนตุลการรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมือง

เป็นที่น่าสงสัยว่าหนังสือฉบับนี้มีการยื่นต่อประธานตุลาการรัฐธรรมนูญหรือยัง ถ้ายังไม่ได้ยื่นตามวันเดือนปีที่ระบุไว้ แล้วหนังสือฉบับนี้ได้ยื่นเมื่อใดกันแน่ แล้วเพราะอะไรถึงไม่ยื่นตามวันเดือนปีที่ระบุไว้

น่าสงสัยอีกไหมว่า ประธานฯ ได้รับหนังสือฉบับนี้เมื่อใดกันแน่ น่าจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจนหรือไม่ว่าได้รับหนังสือฉบับนี้เมื่อใด

เนื้อหาและเรื่องราวที่อยู่ในคำร้องของตุลาการรัฐธรรมนูญที่ยื่นต่อประธานฯ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งเป็นปัญหาใหญ่แห่งความยุติธรรมของกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญ อันอาจก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อผลของคำวินิจฉัย ที่อาจขาดความยุติธรรม ด้วยเหตุแห่งการมีสินบน อันมีมูลค่ามหาศาล เกี่ยวข้องกับคำวินิจฉัยที่จะยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือไม่เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลสำคัญทางการเมืองระดับชาติ อันมีผลกระทบใหญ่หลวงต่อมวลสมาชิกของพรรคการเมืองนับสิบล้านคน

หากมีการทุจริตรับสินบาทคาดสินบน อาจเป็นการทำลายต่อความเชื่อถือ เชื่อมั่นศรัทธาที่ประชาชนไทยมีต่อกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน

กระบวนการที่ใหญ่เช่นนี้สมควรที่จะต้องมีการตรวจสอบให้ปรากฏชัดเจนเป็นที่ประจักษ์เสียก่อนที่จะมีการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี

การปล่อยให้เกิดเรื่องนี้จนล่วงพ้นมาถึงมีการตัดสินวินิจฉัยชี้ขาดคดีเรียบร้อยแล้ว เป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง น่าจะมีความผิดอย่างร้ายแรง

การปล่อยให้มีข้อครหาการให้สินบนตกค้าง โดยไม่มีการพิจารณาเสียให้เกิดความกระจ่างชัด ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดีนั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดพลาดบกพร่องเสียหายอย่างร้ายแรงของตุลาการรัฐธรรมนูญ เพราะอาจเป็นการทำลายประโยชน์แห่งความยุติธรรม และเสียหายต่อการยุติธรรม

ไม่มีเรื่องใดที่เสียหายร้ายแรงกว่านี้อีกแล้ว ในเรื่องของการกระทำและการใช้อำนาจหน้าที่ของตุลาการ


ข้อสงสัยที่สำคัญต่อไปคือ เพราะเหตุใดจึงปล่อยเรื่องให้เนิ่นนานจนผ่านพ้นการวินิจฉัยชี้ขาดตัดสินคดี มีใครได้ประโยชน์และเสียประโยชน์จากการกระทำที่มิชอบนี้หรือไม่ และจนบัดนี้ได้ทำการสอบสวนเรื่องนี้แล้วหรือยัง

เมื่อมีการวินิจฉัยตัดสินชี้ขาดคดียุบพรรคแล้ว เพราะอะไรจึงยังไม่มีการสอบสวนและปล่อยปละละเลยเรื่องนี้อีก จนกระทั่งคุณจรัญ ภักดีธนากุล ร้องต่อ ป.ป.ช. และคุณวีระ สมความคิด ร้องต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ถ้าไม่มีการร้องของทั้งสองท่านอย่างนี้ จะไม่มีการสอบสวนเรื่องนี้ใช่หรือไม่ การสอบสวนดังกล่าว ได้มีการสอบสวนทวนความเรื่องราวตั้งแต่ต้นจนหมดสิ้นถ้อยกระทงความครบถ้วนทุกขั้นตอนของการปล่อยปละละเลยเรื่องนี้ และได้แสวงหาข้อเท็จจริงหาตัวผู้กระทำความผิดอย่างครบถ้วนหรือไม่

ใครมีส่วนได้ส่วนเสียมีผลประโยชน์ทับซ้อนในสำนวนการสอบสวนครั้งนี้บ้างหรือไม่

ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในการสอบสวนหรือกรรมการผู้สอบสวนในเรื่องนี้เป็นผู้มีส่วนได้เสียหรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง อยู่ด้วยหรือไม่

ถ้าไม่เช่นนั้นแล้วกระบวนการสอบสวนและผลของการสอบสวนจะขาดความเชื่อถือและอาจถูกกล่าวหาจากสาธารณชนได้ว่า เป็นการสอบสวนเพื่อตัดตอนช่วยเหลือปกปิดการกระทำความผิดของคนบางคนก็จะยิ่งเป็นการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของกระบวนการยุติธรรม

สมาชิก สนช. จะปล่อยปละละเลย ไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เลยหรือ

ขอเรียกร้องให้ทำหน้าที่ในฐานะผู้มีอำนาจหน้าที่ถอดถอนบุคคลที่กระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือในการยุติธรรม

สมาชิก สนช. มีอำนาจหน้าที่และทำหน้าที่ได้ทั้งสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 5

สมาชิก สนช. ทำหน้าที่ ส.ส. เข้าชื่อยื่นคำร้องถอดถอนต่อประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา เพื่อให้ส่งคำร้องไปยัง ป.ป.ช. เพื่อทำการสอบสวนและชี้มูลความผิด

เมื่อ ป.ป.ช. สอบสวนชี้มูลความผิดแล้วก็ส่งเรื่องกลับมาให้ สนช. ทำหน้าที่วุฒิสภา เพื่อทำการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง

เมื่อชี้มูลความผิดแล้ว ป.ป.ช. ต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อพิจารณาตัดสินการกระทำความผิดทางอาญา

ถ้าไม่มีการยื่นเรื่องถอดถอนเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว หากมีการสอบสวนปกติทั่วไป คดีอาญานี้ก็จะเดินไปตามกระบวนการปกติคือ สู่ศาลอาญาซึ่งเป็นศาลชั้นต้น แล้วมีการอุทธรณ์และฎีกา อาจต้องเสียเวลาเนิ่นนานหลายปี แต่ถ้าผ่านกระบวนการถอดถอนจะทำให้คดีอาญาสามารถนำขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นไปตามกฎหมาย ป.ป.ช. ที่สามารถนำมาใช้บังคับได้

ช่วยกันเอาจริงเอาจังเพื่อพิทักษ์รักษาอำนาจตุลาการอันเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนด้วยเถอะครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น