xs
xsm
sm
md
lg

สภาอุตฯใต้ปลุก SMEsจัดการลอจิสติกส์ จี้รัฐเร่งดูแล 3 จว.ใต้-แก้ขนส่งชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ประธานอุตสาหกรรมภาคใต้ห่วง SMEs ขาดกระบวนการความรู้จัดการด้านลอจิสติกส์ จัดอบรมสัมมนาเข้มเพิ่มศักยภาพ พร้อมให้รัฐลงทุนพัฒนาระบบการขนส่งรองรับ หลังพบว่าต้นทุนด้านการขนส่งไทยสูงกว่าเพื่อนบ้านถึง 20% และสูงกว่าต้นทุนการผลิต เสนอลงทุนสร้างสะพานข้ามสี่แยกไฟแดงที่การจราจรคับคั่ง เส้นทางจากภาคใต้มุ่งสู่กรุงเทพฯ และอย่าทอดทิ้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่การค้าขายถึงวิกฤตหนัก ไม่มีรถส่งสินค้าในพื้นที่แล้ว แต่ใช้ จ.สงขลา เป็นปลายทางให้ผู้ค้าเดินทางมารับสินค้าแทน ทำให้ต้นทุนด้านขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 30-40% วอนรัฐบาลเร่งทำงานช่วยเหลือจังหวัดชายแดนใต้ที่ประสบเหตุไม่สงบ

สงขลาอบรมกระตุ้น SMEs ตื่นตัวจัดการลอจิสติกส์

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จัดอบรมหลักสูตร "การบริหารจัดการลอจิสติกส์แบบบูรณาการ" ณ โรงแรมเจ.บี. อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งให้ความสนใจเข้าร่วมเกินเป้ากว่า 200 คน เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตน ทั้งการบริหารจัดการลอจิสติกส์ในเชิงกลยุทธ์, ปัจจัยที่สำคัญต่อความสำเร็จในการบริหารจัดการลอจิสติกส์, กลยุทธ์ขององค์กรรวมในด้านลอจิสติกส์ และการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ เป็นต้น เพราะสถาบันการศึกษาในระบบมาตรฐานยังไม่สามารถผลิตผู้ปฏิบัติงานเฉพาะด้านลอจิสติกส์ให้เพียงพอต่อความต้องการในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ เนื่องจากการแข่งขันทางธุรกิจต้องมีการลดต้นทุนให้น้อยที่สุด แต่ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนด้านลอจิสติกส์สูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนด้านผลิต ประมาณ 1.5 แสนหมื่นล้านต่อปี เป็นการขนส่งทางบกประมาณแสนล้าน เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านแล้ว ไทยมีต้นทุนที่สูงกว่าถึง 20% ปัญหาของผู้ประกอบการ SMEs ก็คือการขาดพันธมิตรการค้า ศักยภาพขนส่งและการจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพ เช่น การขนส่งสินค้าทั้งไปและกลับ เป็นต้น

หนุนรัฐลงทุนด้านลอจิสติกส์ลดต้นทุนขนส่ง

นายทวี ปิยะวัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ เปิดเผยว่า แนวทางหนึ่งที่อยากจะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเพื่อช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการบรรทุกสินค้าเข้า-ออกกรุงเทพฯ สู่ภาคใต้ คือการพัฒนาเส้นทางขนส่งทางบกให้มีสะพานข้ามสี่แยกเพื่อลดเวลา เชื้อเพลิง ในการเดินทางอีก 1 ชั่วโมง ซึ่ง 80 % มีการใช้ถนนเป็นเส้นทางหลัก แต่ปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

แนวทางดังกล่าว ต้องการจะให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เป็นผู้ก่อสร้างสะพานข้ามสี่แยก เพื่อให้เม็ดเงินสะพัดสู่ท้องถิ่น โดยเชื่อว่าหากเกิดขึ้นจริงแล้วภายใน 2 ปี ก็จะเสร็จสิ้นการก่อสร้าง แม้ว่าการลงทุนจะสูงเป็นแสนล้าน แต่เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบรับก็นับว่าคุ้มค่า โดยแต่ละวันมีรถยนต์จากภาคใต้มุ่งเข้าสู่กรุงเทพฯ 4-5 แสนคัน หากสามารถเดินทางโดยไม่ต้องติดแยกไฟแดงจะสามารถประหยัดเชื้อเพลิง เวลา ค่าสึกหรอของเครื่องยนต์ ลดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้อีกเป็นจำนวนมาก

ไฟใต้เหยียบธุรกิจ 3 จว.ใต้จม ผู้ค้าขยาดส่งของเข้าพื้นที่

นายทวี กล่าวต่อด้วยว่า ขณะที่เศรษฐกิจของภาคใต้เติบโตแบบชะลอตัวจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ธุรกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ต่างได้รับปัญหาความเดือดร้อนเป็นทวีคูณ เนื่องจากเหตุความไม่สงบที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้การขนส่งสินค้าหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ยอมส่งสินค้ายังพื้นที่ดังกล่าว แต่จะพักสินค้าที่ จ.สงขลา เพื่อให้ผู้ประกอบการในพื้นที่เดินทางมารับเอง เพิ่มภาระต้นทุนการขนส่งประมาณ 20% อย่างน้อยเสียเวลาพักและถ่ายสินค้าอีก 1-2 วัน ขณะเดียวกันก็จ่ายเงินสดแทนการใช้เครดิต ทำให้ผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดชายแดนใต้บางรายขาดสภาพคล่อง รับส่งสินค้าล่าช้า ส่งผลต่อธุรกิจภาพรวมที่ไม่คล่องตัว ซึ่งเห็นได้ชัดจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ที่ชะงักและล่าช้านับปี

"เมื่อ 2 ปีก่อนผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ต้องจ่ายค่าขนส่งที่แพงกว่าปกติ เพื่อให้คนขับรถไปส่งสินค้าถึงที่ แต่ตั้งแต่ต้นปี 2550 นี้ สถานการณ์ความไม่สงบยิ่งรุนแรงขึ้น จ้างเท่าไหร่ก็ไม่มีใครกล้าขับรถไปส่งของให้ และสิ้นสุดปลายทางเพียง จ.สงขลา มีแต่เจ้าของกิจการเท่านั้นที่ต้องเสี่ยงเข้ามารับสินค้าเอง แถมจ่ายสด แต่กว่าจะได้ของมาต้องเสียเวลา 4-5 วัน รวมแล้วต้นทุนด้านขนส่งเพิ่มขึ้นถึง 30-40% ทุกอย่างในพื้นที่จึงชะงักและอยู่อย่างลำบาก คนที่นี่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อของแพงกว่าที่อื่น เพราะ" นายทวีกล่าวและว่า

ปัญหาดังกล่าวยังไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลและช่วยเหลือ จึงอยากจะฝากถึงภาครัฐให้เข้ามาแก้ไข เรื่องการขนส่งสินค้าให้ถึงมือผู้ประกอบการใน 3 จังหวัดให้มั่นใจในความปลอดภัย สินค้ากระจายถึงมือผู้บริโภคโดยเร็ว เพื่อให้ธุรกิจซึ่งต้องแข่งขันทั้งภายนอกและภายในสามารถอยู่ต่อไปได้ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม โดยเฉพาะ ศอ.บต. ซึ่งอยู่ในพื้นที่ควรจะเข้ามาเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้

โอด "รบ.เต่า" มาตรการช่วยภาษียังไม่เดิน

นายทวี กล่าวต่อด้วยว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดชายแดนใต้ในประเด็นลดภาษีนิติบุคคลของผู้ประกอบการจาก 30% เหลือ 3 % ครม.ได้ประกาศตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2550 แต่ขณะนี้คำสั่งยังไม่ส่งถึงจังหวัด ทำให้สรรพากรจังหวัดไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวได้ และภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ผู้ประกอบการต้องยื่นเสียภาษีครึ่งปีแรกแล้ว

"เรื่องภาษีผู้ประกอบการนี้เรารอมา 7 เดือนแล้ว คลอดนโยบายแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ อยากจะถามว่าเกิดอะไรขึ้น โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายกรัฐมนตรีที่บอกว่าจะช่วยเหลือ อยากจะให้กระตุ้นท่านหน่อย ทำอะไรกันอยู่ แต่ละอย่างกว่าจะได้มาใช้เวลานานมาก แม้แต่การขอให้นำแรงงานใต้ดินขึ้นมาอย่างถูกกฎหมายก็ต้องรอเกือบ 2 เดือนหลังมีมติ ครม. ถึงจะปฏิบัติได้จริง และเวลาที่รอตำรวจจับกุมแรงงานนี้ไปตั้งเท่าไหร่ ผู้ประกอบการต้องรับความเดือดร้อนเองตลอด" นายทวีกล่าวทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น