.
หากอำนาจตุลาการคือกระบวนการที่นำไปสู่จุดสุดสิ้นอันเที่ยงธรรม ชอบธรรม และชอบด้วยเหตุผลแล้ว นัยหนึ่งของความหมายดังกล่าวย่อมเลี่ยงไม่พ้นการเป็นศาสตราวุธประหัตประหารความอยุติธรรมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้น ตุลาการยังมีพันธกรณีในการตีความและรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional rights) ของประชาชนในฐานะเป็นผู้พิทักษ์หลักนิติธรรมที่จะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควบคู่กับเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Social justice)
ทว่าช่วงหนึ่งที่ผ่านมาตุลาการไทยมักไม่กล้าตีความข้ามตัวบทและตัดสินคดีเพื่อวางนโยบายสังคม แต่เลี่ยงไปตัดสินว่าจำเลย ‘ไม่มีเจตนา’ จึงไม่ต้องรับผิด เพื่อช่วยเหลือจำเลยเป็นรายๆ ไป ซ้ำร้ายในระดับมหภาคยังไม่กล้ารับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วย
กระนั้นเมื่อก้าวย่างสู่ห้วง ‘ตุลาการภิวัตน์’ อันเปรียบได้กับกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีจุดมุ่งหมายในการพิจารณาคดีความให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ตาม ‘หลักกฎหมาย’ ไม่ใช่แค่ ‘ความเห็น’ ส่วนตัว ได้นำพาสังคมไทยโดยรวมไปซึมซาบกับคุณูปการจากการติดสินด้วยเหตุผลของความถูกต้องมากกว่ามาจากเหตุผลอื่นๆ
ด้วยจะไม่เกิดซ้ำรอยกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยแนวคิดที่ว่าประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยกว่า 11 ล้านเสียง แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 10 กว่าคนจะไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ความผิดของอดีตนายกฯ ผู้นี้ประจักษ์แจ้ง
ปล่อยให้วาทะว่าด้วย ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ดังกระหึ่มไปทั้งเมือง และสถาปนาตัวเองเป็นคำแก้ตัวที่ขยายกว้างขวางสู่สังคม จนเด็กและเยาวชนไทยซึมซับค่านิยมนี้โดยไม่รู้ตัว
แต่จะเกิดกรณีคลาสสิกอย่างศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตุลาการรัฐธรรมนูญพิพากษาคดียุบพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ กระทั่งล่าสุดกับแรงต้านทานการแทรกแซงของทุนและการเมืองของตุลาการกรณีติดสินบนยุบพรรคการเมืองด้วยวงเงินหลายสิบล้านบาท
ทั้งสามกรณีนอกจากพิสูจน์ถึงคุณธรรมจริยธรรมของตุลาการแล้ว ยังแสดงอำนาจของตุลาการที่แผ่กว้างขึ้นสองทางตามนิยามของตุลาการภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นมาจากการที่รัฐสภาออกกฎหมายให้ศาลมีอำนาจแผ่กว้างหลายประการ และการใช้วิจารณญาณของตุลาการในการตัดสินคดีความข้ามตัวบทในลักษณะก้าวหน้าและวางนโยบายสังคม (Judicial activism & Judicial policy making) เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ทั้งนี้ หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทยจักพบว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังจะมีการลงประชามตินี้ก็มีวิวาทะทั้งฟากที่เห็นด้วยกับอำนาจของตุลาการที่แผ่กว้างมากขึ้น ด้วยเห็นประโยชน์ของอำนาจแห่งความยุติธรรมที่จะเข้าไปจัดการกับความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและธุรกิจ รวมถึงความไม่เสมอภาคในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของประชาชนกับรัฐ ขณะที่ฝั่งคัดค้านก็เกรงว่าอำนาจตุลาการที่แผ่กว้างมากขึ้นจะไปกุมชะตาชีวิตของพรรคการเมืองจนขยับเขยื้อนไม่ได้ อีกทั้งยังมีอำนาจมากเกินไปในกระบวนการสรรหาบุคลากรเข้าสู่องค์กรอิสระต่างๆ
เหตุผลของการคัดค้านตุลาการภิวัตน์ไม่เพียงจะมาจากอคติส่วนตัว สูญเสียอำนาจผลประโยชน์ ตลอดจนไม่เชื่อมั่นในอำนาจตุลาการว่าจะนำความยุติธรรมมาสู่สังคมได้เท่านั้น หากยังเกิดจากความคุ้นเคยว่าการวางโยบายสาธารณะต่างๆ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารตามหลักแบ่งแยก 3 อำนาจ บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ เท่านั้น
ทั้งๆ ที่เราต่างผ่านประวัติศาสตร์รวดร้าวมาแล้วจากการวางนโยบายของฝ่ายบริหารที่สามัคคีกับฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดนโยบายขูดรีดประชาชน เอาเปรียบประเทศชาติจากการคอร์รัปชันเชิงนโยบายในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่หากไม่ได้การตัดสินตีความข้ามตัวบทของตุลาการ ผลประโยชน์มหาศาลจากการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะตกไปอยู่ในกลุ่มก้อนตระกูลที่เกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมืองและทุนอย่างไม่ต้องสงสัย
การพิพากษาของตุลาการในคดีนั้น จึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมแก่คนในวงกว้าง เนื่องด้วยไม่พันธนาการบทบาทของตัวเองไว้ในความคับแคบตื้นเขิน ทำนอง ‘ไม่ใส่ใจเรื่องสิทธิ ยึดติดแต่กฎหมาย’ (Highly legal formalistic, Least right-conscious) อันเป็นลักษณะของตุลาการตีความตามตัวบทหรือตุลาการตีความยับยั้ง ที่ท้ายสุดจะทำลายศักยภาพของสถาบันตุลาการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่สนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ด้วยมักจะตีความกฎหมายตามตัวอักษร ส่งผลให้ผู้พิพากษามีอำนาจจำกัด เพียงแค่ปรับตัวบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงในคดี
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตุลาการไทยก้าวหน้ามากขึ้น ไม่อนุรักษนิยมจนเกินไปนั่นเอง
อีกทั้งยังทวีบทบาทมากขึ้นในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่าด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ที่รัฐบาลชุดต่อๆ ไปจักต้องซึมซับรับบทเรียนนี้ว่าแม้ตนเองจะมีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ หากก็ต้องอยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & balance) จากตุลาการ ยังมิพักจะเอ่ยถึงประชาชนที่ตื่นตัวและทบเท่าพลังมากขึ้นในการเรียกร้องความเป็นธรรมแก่สังคม
ส่วนหนึ่งของการเบี่ยงเบนบรรทัดฐานและค่านิยมที่ว่าด้วย ‘โกงแต่ทำงาน’ กับ ‘รวยแล้วไม่โกง’ ที่ครอบงำสังคมไทยมาช่วงเวลาหนึ่งจึงพลิกผันสู่คุณธรรมจริยธรรมได้ด้วยอำนาจของตุลาการอย่างไม่ต้องสงสัย อันเนื่องมาจากการตัดสินที่กล้าหาญของตุลาการในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมด้วยคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลผ่านคดีนโยบายสาธารณะการกลับหลักทฤษฎีแบ่งแยก 3 อำนาจ โดยเพิ่มอำนาจของตุลาการในการวางนโยบายนั้น นับเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมาย โดยใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือความเป็นธรรมเป็นฐานเพื่อใช้ดุลพินิจของตนเองในการตัดสินคดีให้เกิดผลอันพึงประสงค์ต่อสังคม ดังตุลาการในประเทศเยอรมนี ฮอลแลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น เริ่มกลับหลักนี้แล้ว
การวางนโยบายสาธารณะอันเกิดจากการตัดสินคดีโดยฝ่ายตุลาการแม้จะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย หากคุณประโยชน์ของการพิพากษาคดีต่างๆ อย่างยุติธรรมดังกล่าวมาแล้ว ย่อมลดข้อตำหนิโต้แย้งของฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าศาลทำการเกินอำนาจ เพราะควรแค่ตีความและปรับใช้กฎหมาย ไม่ควรไปไกลถึงวางนโยบายสังคม เพราะจะทำให้ศาลไร้หลักการและลำเอียงตามความคิดตนเองได้ง่าย
ด้วยขณะเกิดวิกฤตที่สุดในโลกจากการฉ้อฉลคอร์รัปชันอย่างคึกครื้นเอิกเกริกนั้น ลำพังพลังประชาชนที่ตื่นตัวไม่อาจต่อกรกับผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือได้ ต้องใช้พลังที่ได้รับความชอบธรรมจากสังคมส่วนใหญ่อย่าง ‘ตุลาการ’ ในการพิพากษาให้หลายคดีที่ชี้เป็นชี้ตายอนาคตเมืองไทยยุติที่ความยุติธรรม เช่น คดี กกต. ทำมิชอบในการเลือกตั้ง เป็นต้น
ศาลจึงมีอำนาจและไม่อาจหลีกเลี่ยงการตัดสินคดีวางนโยบายสังคมได้เลย ยิ่งในรัฐสมัยใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนและพลวัตอย่างสูงจำต้องอาศัยตุลาการในฐานะสถาบันหลักในการตัดสินคดี ควบคู่กับวางนโยบายสังคมอย่างแข็งขันด้วยแนวคิดแบบเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษนิยม
การตัดสินของตุลาการจึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการวางนโยบายสาธารณะในอนาคตของประเทศไทย เนื่องด้วยคำพิพากษาของศาลนั้นมีอำนาจดุจเดียวกับนโยบายสังคมของรัฐบาล เพียงแต่ที่ต่างออกไปคือ ตั้งมั่นบนความชอบธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า
ตุลาการภิวัตน์จึงต้องคำนึงถึงว่ากฎหมายควรเลือกนโยบายสังคมที่ดีที่สุดเช่นไร และทำอย่างไรให้กระบวนการอภิวัตน์ของตนเองเป็นไปเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของสังคมไทย
เหนืออื่นใด ศาสตร์แห่งตุลาการ (Adjudication) อันเกิดจากการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยการวางนโยบายสังคมต้องเอื้ออำนวยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยประจักษ์แก่ใจทุกคนแล้วว่านโยบายสังคมของทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งการคลี่คลายความยากจนแก่พสกนิกรไทยของ ‘พระมหากษัตริย์นักพัฒนา’
คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หากอำนาจตุลาการคือกระบวนการที่นำไปสู่จุดสุดสิ้นอันเที่ยงธรรม ชอบธรรม และชอบด้วยเหตุผลแล้ว นัยหนึ่งของความหมายดังกล่าวย่อมเลี่ยงไม่พ้นการเป็นศาสตราวุธประหัตประหารความอยุติธรรมภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
ยิ่งกว่านั้น ตุลาการยังมีพันธกรณีในการตีความและรับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional rights) ของประชาชนในฐานะเป็นผู้พิทักษ์หลักนิติธรรมที่จะต้องธำรงรักษาไว้ซึ่งสิทธิเสรีภาพของประชาชน ควบคู่กับเสริมสร้างความเป็นธรรมในสังคม (Social justice)
ทว่าช่วงหนึ่งที่ผ่านมาตุลาการไทยมักไม่กล้าตีความข้ามตัวบทและตัดสินคดีเพื่อวางนโยบายสังคม แต่เลี่ยงไปตัดสินว่าจำเลย ‘ไม่มีเจตนา’ จึงไม่ต้องรับผิด เพื่อช่วยเหลือจำเลยเป็นรายๆ ไป ซ้ำร้ายในระดับมหภาคยังไม่กล้ารับรองสิทธิตามรัฐธรรมนูญของประชาชนด้วย
กระนั้นเมื่อก้าวย่างสู่ห้วง ‘ตุลาการภิวัตน์’ อันเปรียบได้กับกระบวนการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่มีจุดมุ่งหมายในการพิจารณาคดีความให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม ตาม ‘หลักกฎหมาย’ ไม่ใช่แค่ ‘ความเห็น’ ส่วนตัว ได้นำพาสังคมไทยโดยรวมไปซึมซาบกับคุณูปการจากการติดสินด้วยเหตุผลของความถูกต้องมากกว่ามาจากเหตุผลอื่นๆ
ด้วยจะไม่เกิดซ้ำรอยกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ตัดสินคดีซุกหุ้นของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยแนวคิดที่ว่าประชาชนเลือกพรรคไทยรักไทยกว่า 11 ล้านเสียง แล้วตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 10 กว่าคนจะไล่เขาลงจากตำแหน่งได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ความผิดของอดีตนายกฯ ผู้นี้ประจักษ์แจ้ง
ปล่อยให้วาทะว่าด้วย ‘บกพร่องโดยสุจริต’ ดังกระหึ่มไปทั้งเมือง และสถาปนาตัวเองเป็นคำแก้ตัวที่ขยายกว้างขวางสู่สังคม จนเด็กและเยาวชนไทยซึมซับค่านิยมนี้โดยไม่รู้ตัว
แต่จะเกิดกรณีคลาสสิกอย่างศาลปกครองสูงสุดพิพากษาคดีการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตุลาการรัฐธรรมนูญพิพากษาคดียุบพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์ กระทั่งล่าสุดกับแรงต้านทานการแทรกแซงของทุนและการเมืองของตุลาการกรณีติดสินบนยุบพรรคการเมืองด้วยวงเงินหลายสิบล้านบาท
ทั้งสามกรณีนอกจากพิสูจน์ถึงคุณธรรมจริยธรรมของตุลาการแล้ว ยังแสดงอำนาจของตุลาการที่แผ่กว้างขึ้นสองทางตามนิยามของตุลาการภิวัตน์ที่ก่อตัวขึ้นมาจากการที่รัฐสภาออกกฎหมายให้ศาลมีอำนาจแผ่กว้างหลายประการ และการใช้วิจารณญาณของตุลาการในการตัดสินคดีความข้ามตัวบทในลักษณะก้าวหน้าและวางนโยบายสังคม (Judicial activism & Judicial policy making) เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม
ทั้งนี้ หากพิจารณาในบริบทของประเทศไทยจักพบว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ที่กำลังจะมีการลงประชามตินี้ก็มีวิวาทะทั้งฟากที่เห็นด้วยกับอำนาจของตุลาการที่แผ่กว้างมากขึ้น ด้วยเห็นประโยชน์ของอำนาจแห่งความยุติธรรมที่จะเข้าไปจัดการกับความขัดแย้งทั้งทางการเมืองและธุรกิจ รวมถึงความไม่เสมอภาคในการกำหนดชะตาชีวิตตนเองของประชาชนกับรัฐ ขณะที่ฝั่งคัดค้านก็เกรงว่าอำนาจตุลาการที่แผ่กว้างมากขึ้นจะไปกุมชะตาชีวิตของพรรคการเมืองจนขยับเขยื้อนไม่ได้ อีกทั้งยังมีอำนาจมากเกินไปในกระบวนการสรรหาบุคลากรเข้าสู่องค์กรอิสระต่างๆ
เหตุผลของการคัดค้านตุลาการภิวัตน์ไม่เพียงจะมาจากอคติส่วนตัว สูญเสียอำนาจผลประโยชน์ ตลอดจนไม่เชื่อมั่นในอำนาจตุลาการว่าจะนำความยุติธรรมมาสู่สังคมได้เท่านั้น หากยังเกิดจากความคุ้นเคยว่าการวางโยบายสาธารณะต่างๆ ควรเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารตามหลักแบ่งแยก 3 อำนาจ บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ เท่านั้น
ทั้งๆ ที่เราต่างผ่านประวัติศาสตร์รวดร้าวมาแล้วจากการวางนโยบายของฝ่ายบริหารที่สามัคคีกับฝ่ายนิติบัญญัติในการกำหนดนโยบายขูดรีดประชาชน เอาเปรียบประเทศชาติจากการคอร์รัปชันเชิงนโยบายในรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่หากไม่ได้การตัดสินตีความข้ามตัวบทของตุลาการ ผลประโยชน์มหาศาลจากการกระจายหุ้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะตกไปอยู่ในกลุ่มก้อนตระกูลที่เกี่ยวพันกับอำนาจทางการเมืองและทุนอย่างไม่ต้องสงสัย
การพิพากษาของตุลาการในคดีนั้น จึงเป็นการสร้างความเป็นธรรมทางสังคมแก่คนในวงกว้าง เนื่องด้วยไม่พันธนาการบทบาทของตัวเองไว้ในความคับแคบตื้นเขิน ทำนอง ‘ไม่ใส่ใจเรื่องสิทธิ ยึดติดแต่กฎหมาย’ (Highly legal formalistic, Least right-conscious) อันเป็นลักษณะของตุลาการตีความตามตัวบทหรือตุลาการตีความยับยั้ง ที่ท้ายสุดจะทำลายศักยภาพของสถาบันตุลาการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และไม่สนองเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ด้วยมักจะตีความกฎหมายตามตัวอักษร ส่งผลให้ผู้พิพากษามีอำนาจจำกัด เพียงแค่ปรับตัวบทกฎหมายเข้ากับข้อเท็จจริงในคดี
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ตุลาการไทยก้าวหน้ามากขึ้น ไม่อนุรักษนิยมจนเกินไปนั่นเอง
อีกทั้งยังทวีบทบาทมากขึ้นในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมว่าด้วยการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ ที่รัฐบาลชุดต่อๆ ไปจักต้องซึมซับรับบทเรียนนี้ว่าแม้ตนเองจะมีอำนาจกำหนดนโยบายสาธารณะต่างๆ หากก็ต้องอยู่ภายใต้กระบวนการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check & balance) จากตุลาการ ยังมิพักจะเอ่ยถึงประชาชนที่ตื่นตัวและทบเท่าพลังมากขึ้นในการเรียกร้องความเป็นธรรมแก่สังคม
ส่วนหนึ่งของการเบี่ยงเบนบรรทัดฐานและค่านิยมที่ว่าด้วย ‘โกงแต่ทำงาน’ กับ ‘รวยแล้วไม่โกง’ ที่ครอบงำสังคมไทยมาช่วงเวลาหนึ่งจึงพลิกผันสู่คุณธรรมจริยธรรมได้ด้วยอำนาจของตุลาการอย่างไม่ต้องสงสัย อันเนื่องมาจากการตัดสินที่กล้าหาญของตุลาการในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคมด้วยคุณธรรมจริยธรรมมากกว่าผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลผ่านคดีนโยบายสาธารณะการกลับหลักทฤษฎีแบ่งแยก 3 อำนาจ โดยเพิ่มอำนาจของตุลาการในการวางนโยบายนั้น นับเป็นการอุดช่องว่างของกฎหมาย โดยใช้กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง หรือความเป็นธรรมเป็นฐานเพื่อใช้ดุลพินิจของตนเองในการตัดสินคดีให้เกิดผลอันพึงประสงค์ต่อสังคม ดังตุลาการในประเทศเยอรมนี ฮอลแลนด์ ออสเตรีย ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน และญี่ปุ่น เริ่มกลับหลักนี้แล้ว
การวางนโยบายสาธารณะอันเกิดจากการตัดสินคดีโดยฝ่ายตุลาการแม้จะเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย หากคุณประโยชน์ของการพิพากษาคดีต่างๆ อย่างยุติธรรมดังกล่าวมาแล้ว ย่อมลดข้อตำหนิโต้แย้งของฝ่ายไม่เห็นด้วยว่าศาลทำการเกินอำนาจ เพราะควรแค่ตีความและปรับใช้กฎหมาย ไม่ควรไปไกลถึงวางนโยบายสังคม เพราะจะทำให้ศาลไร้หลักการและลำเอียงตามความคิดตนเองได้ง่าย
ด้วยขณะเกิดวิกฤตที่สุดในโลกจากการฉ้อฉลคอร์รัปชันอย่างคึกครื้นเอิกเกริกนั้น ลำพังพลังประชาชนที่ตื่นตัวไม่อาจต่อกรกับผู้มีอำนาจรัฐอยู่ในมือได้ ต้องใช้พลังที่ได้รับความชอบธรรมจากสังคมส่วนใหญ่อย่าง ‘ตุลาการ’ ในการพิพากษาให้หลายคดีที่ชี้เป็นชี้ตายอนาคตเมืองไทยยุติที่ความยุติธรรม เช่น คดี กกต. ทำมิชอบในการเลือกตั้ง เป็นต้น
ศาลจึงมีอำนาจและไม่อาจหลีกเลี่ยงการตัดสินคดีวางนโยบายสังคมได้เลย ยิ่งในรัฐสมัยใหม่ที่มีความสลับซับซ้อนและพลวัตอย่างสูงจำต้องอาศัยตุลาการในฐานะสถาบันหลักในการตัดสินคดี ควบคู่กับวางนโยบายสังคมอย่างแข็งขันด้วยแนวคิดแบบเสรีนิยมมากกว่าอนุรักษนิยม
การตัดสินของตุลาการจึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการวางนโยบายสาธารณะในอนาคตของประเทศไทย เนื่องด้วยคำพิพากษาของศาลนั้นมีอำนาจดุจเดียวกับนโยบายสังคมของรัฐบาล เพียงแต่ที่ต่างออกไปคือ ตั้งมั่นบนความชอบธรรม ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากกว่า
ตุลาการภิวัตน์จึงต้องคำนึงถึงว่ากฎหมายควรเลือกนโยบายสังคมที่ดีที่สุดเช่นไร และทำอย่างไรให้กระบวนการอภิวัตน์ของตนเองเป็นไปเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีของสังคมไทย
เหนืออื่นใด ศาสตร์แห่งตุลาการ (Adjudication) อันเกิดจากการปรับกระบวนทัศน์ใหม่ว่าด้วยการวางนโยบายสังคมต้องเอื้ออำนวยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยประจักษ์แก่ใจทุกคนแล้วว่านโยบายสังคมของทุกรัฐบาลที่ผ่านมาเป็นเพียงเศษเสี้ยวแห่งการคลี่คลายความยากจนแก่พสกนิกรไทยของ ‘พระมหากษัตริย์นักพัฒนา’
คอลัมน์เวทีนโยบายสาธารณะ
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)