xs
xsm
sm
md
lg

คำถามต่อระบอบทักษิณ-ไม้เหนือเขื่อนสาละวิน1 แสน 2 หมื่นล้านบาทนั้น, ใครทำธุรกิจกับ “ว้า”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก


การเดินแกะรอยตามนโยบายและสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ในระบอบทักษิณ ตั้งแต่การที่ทหารพม่าเข้ามายึดแผ่นดินไทยทางเหนือของบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยดินแดนส่วนนั้นอยู่ติดกับเขตปกครองของว้าที่รัฐบาลพม่ายกให้ว้าเป็นผู้ดูแลอย่างเป็นอิสระ (แต่มิใช่เป็นแดนเอกราช) มาจนถึงการพบว่า ในขณะที่รัฐบาลทักษิณ ประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่ก็มีคนวงในของพรรคและรัฐบาลไปทำธุรกิจฟอกเงินที่ถูกกฎหมายของว้า โดยการร่วมธุรกิจหลายอย่าง

รวมทั้งมีนักธุรกิจของจีน จะเข้าทำเหมืองอัญมณีในรัฐว้า โดยเฉพาะเรื่องของขุมหยก ที่อาจจะเป็นแหล่งหินหยกใหญ่ที่สุดของโลก ก็มีชื่อของ “ทักษิณ” เข้าไปมีเอี่ยวกับกิจการนี้ด้วย

การแกะรอยในแดนว้าเพื่อกระชากหน้ากากและพฤติกรรมซ่อนเร้นของคนบางคนก็ได้เปิดเผยไปแล้วว่า ในช่วงระบอบทักษิณ ได้มีโครงการพัฒนาของไทยเข้าไปในรัฐว้าที่เรียกว่า “โครงการยองข่า” อ้างว่าเป็นการเข้าไปช่วยพัฒนาอาชีพและชีวิตให้กับชาวว้า เพื่อยกระดับฐานะความเป็นอยู่ แล้วว้าจะได้เลิกผลิตยาเสพติดเป็นสินค้าขายยก อันมีเป้าหมายและเหตุผลที่ยากจะฟังได้ว่า ผลจะเป็นเช่นนั้น เพราะจากการแกะรอยสืบเสาะต่อมา ก็ได้เปิดเผยภาพของเมืองยอน ซึ่งเป็นเสมือนเมืองหลวงของรัฐว้า ว่ามีสภาพเป็นเมืองใหม่ผุดขึ้นกลางหุบเขา มีความรุ่งเรืองเพียงใด และว้ายังสร้างเขื่อนยักษ์สำหรับการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันพลังน้ำได้ โดยใช้เงินจากการขายยาเสพติดมาทำการก่อสร้าง ผู้มีอำนาจในว้า จะมาหวังอะไรกับ “ยองข่า” ที่จะเพิ่มผลิตผลทางการเกษตรประเภทพืชเมืองหนาว ซึ่งหากว่าทำจนเป็นผลสำเร็จได้จริง จะมีตลาดที่ไหนรองรับหรือเป็นผู้ซื้อ

ยังมีอีกหลายคำถามต่อโครงการ “ยองข่า”

ที่จะมองได้ทั้งทางลึกและผิวเผิน

ขอกล่าวถึงโครงการ “ยองข่า” นี้อีกว่า-เมื่อยุค พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ เป็นนายกรัฐมนตรีพม่า มีความสัมพันธ์ส่วนตัวระดับลึกกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


นโยบายของ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ กับว้า เป็นนโยบายพิเศษที่ เจ้ายี่ลาย ประธานาธิบดีของว้า หรือ เปา เยา ยี่-เปา ยิ่ง เฉียน นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของว้า ได้รับจากรัฐบาลพม่า จนทำให้ว้าเกือบจะมีฐานะเป็นรัฐอิสระหรือรัฐเอกราชได้อย่างกลายๆ เพราะฐานะการมีประธานาธิบดี ก็เท่ากับว่ามีฐานะเป็นรัฐเอกราช การมีนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็เท่ากับมีรัฐบาล และมีกองทัพของตนเอง อันเป็นการรับรองอยู่ในตัวของฐานะรัฐว้า

ความสัมพันธ์เชื่อมโยงของขิ่น ยุ้นต์ กับว้า จะเป็น สามเส้า มาถึง “ทักษิณ” หรือไม่ อยู่ที่การวิเคราะห์ในเส้นทางของความเป็นไป รวมทั้งเรื่องของโครงการ “ยองข่า” ที่ว่านั้น, ซึ่งทางพม่าเองก็มองเรื่องดังกล่าวนี้อย่างมีความเห็นแตกต่างกัน คือมองด้วยสายตาของแต่ละยุคของผู้มีอำนาจ, แต่สิ่งที่ได้ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนคือ พล.อ.หม่อง เอ ผู้บัญชาการทหารบกของพม่า ซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจในปัจจุบัน มีความเห็นผิดกับ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ เรื่องโครงการยองข่าที่ไปจากไทย

เพราะพล.อ.หม่อง เอ นั้นมองอย่างชาตินิยมเต็มที่ว่า เพียงแต่มอบดินแดนอันชัดเจนให้กับว้า เป็นผู้ดูแลปกครองพื้นที่ ก็เท่ากับเป็นการสูญเสียอำนาจของรัฐบาลพม่าเป็นบางส่วนไปแล้ว เรียกว่าอธิปไตยถูกรบกวนหรือกระทบกระเทือน การที่มีโครงการยองข่าของไทยเข้าไปอยู่ในเขตว้า ก็เหมือนกับว่า ทางไทยก็ยอมรับความเป็นรัฐว้า และยังมองเป็นภาพซ้อนได้อีกว่า อธิปไตยของพม่าถูกไทยทับซ้อนเข้าไปอีกด้วยโครงการยองข่า เท่ากับว่ามีอำนาจของไทยเข้าไปป้วนเปี้ยนอยู่ในเขตว้า ซึ่งถึงอย่างไร ก็ยังเป็นเขตแดนของสหภาพพม่า

ด้วยความคิดเช่นนี้ หลังจากที่ พล.อ.หม่อง เอ ปฏิวัติ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ แล้วก็ได้เชิญให้โครงการยองข่า อันเกิดมาจากข้อตกลง ขิ่น ยุ้นต์-ทักษิณ-ว้า ออกไปเสียจากแดนว้า

อันเป็นการแสดงออกได้อีกทางหนึ่งว่า รัฐบาลใหม่ของพม่านั้นปฏิเสธ “ทักษิณ” เพราะว่าเป็นสหายสนิท เป็นพันธมิตรของ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ และเป็นการแสดงให้ทางว้าเห็นว่า พล.อ.หม่อง เอ นั้นคิดใหม่เหมือนกับ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ในเรื่องของว้าที่จะปล่อยให้ว้าทำอะไรได้อย่างอิสระเหมือนเมื่อก่อน

การกล่าวถึงบทบาทของว้าใน เรื่องการสร้างเขื่อนใหญ่ในแม่น้ำสาละวิน ทางด้านติดกับจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิต, ของไทย เป็นผู้ดำเนินโครงการร่วมกับพม่าในการสร้างแหล่งพลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้า โดย “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ได้กล่าวถึงเมื่อฉบับที่แล้วว่า มีว้าเข้ามารับประโยชน์ด้วยนั้น

ขอรายงานเป็นการเบื้องต้นว่า บริเวณที่ตั้งเขื่อนอยู่ในเขตอิทธิพลของกะเหรี่ยงอิสระ เขตน้ำท่วมหลังเขื่อนเข้าไปในเขตของ คะเรนนี่ และ กะฉิ่น รวมทั้งไทยใหญ่ซึ่งต่างก็ประกาศตัวเป็นอิสระ ทำการสู้รบอยู่กับทหารรัฐบาลพม่าเช่นกัน ทางผู้นำของว้าได้ตระเตรียมกองกำลังทหารของว้า และมูเซอร์ เพื่อจะเข้าเป็นกำลังคุ้มกันในพื้นที่ระหว่างการสร้างเขื่อนสาละวิน โดยมีผลตอบแทนเป็นค่าจ้างการรักษาความปลอดภัย ซึ่งเชื่อว่าทางไทยจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เพราะเป็นเจ้าภาพผู้ลงทุน และว้ายังเรียกร้องการทำประโยชน์ด้านธุรกิจควบคู่กันไปด้วย คือบริเวณเขตน้ำท่วมนั้น ว้าจะได้รับสิทธิการทำป่าไม้ในบริเวณน้ำท่วมทั้งหมด ซึ่งมีทั้งไม้สัก ไม้แดง ไม้ประดู่ ซึ่งเป็นไม้มีค่าสูงทั้งสิ้น

ประเมินว่ามูลค่าของไม้ที่จะต้องออกจากเขตน้ำท่วมหลังเขื่อน มีมูลค่าประมาณ 1 แสน 2 หมื่นล้านบาท

ไม้ในเขตน้ำท่วมดังกล่าว มีนักการเมืองของพรรคไทยรักไทยในภาคเหนือ ไปตกลงกับว้าแล้วที่จะทำธุรกิจร่วมกัน ด้วยการชักลากไม้มาเข้าโรงเลื่อยที่จะสร้างใหม่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหรือทางเหนือของจังหวัดตาก หรือจะตั้งโรงเลื่อยทำการแปรรูปเสียในเขตพม่า แล้วขนไม้ที่แปรรูปเข้าไทย หรือจะทำทั้งสองลักษณะแล้วแต่ความเหมาะสม แล้วสร้างหลักฐานว่า ไม้ดังกล่าวมีถิ่นกำเนิดอยู่ในไทย เพื่อสามารถส่งออกตลาดโลกได้ เพราะขณะนี้ตลาดยุโรป (EU) ไม่ซื้อไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในพม่า

สำหรับภาพประกอบในรายงานฉบับวันศุกร์นี้ เป็นภาพที่ตั้งทางทหารของว้า ที่มีรายละเอียดอยู่ในภาพ ให้เห็นถึงค่ายคูประตูรบของว้าที่กระจายอยู่นับร้อยๆ แห่งใกล้กับชายแดนไทยและภาพสำคัญ คือภาพกิจกรรมทางทหารของว้าในเมืองยอน เช่น ภาพอนุสรณ์นักรบว้าที่เป็นฐานแท่งสูง มีดาวสีแดงประดับที่ส่วนยอด อันเป็นสัญลักษณ์การปกครองของว้า คือเป็นคอมมิวนิสต์แบบจีน มีกรรมาธิการทหารของพรรคคอมมิวนิสต์ว้าเป็นผู้ควบคุมองค์กรของทหาร



ลักษณะของการขุดคู และบริเวณที่ตั้งกองสังเกตการณ์ระวังเหตุที่ตั้งทางทหาร ซึ่งเกือบจะทั้งหมดสร้างไว้อยู่ทางด้านชายแดนที่ติดกับไทย โดยเฉพาะบนดอยลางทางฝั่งของพม่า
กำลังโหลดความคิดเห็น