xs
xsm
sm
md
lg

อาถรรพ์ “หัวสี่เหลี่ยม หอคอยหัก” ที่แบงก์ชาติ

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

.
จากความตอนที่แล้วที่ได้นำเสนอในเรื่องประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงระบบค่าเงิน และวิธีคิดในแต่ละยุคสมัย เพื่อตั้งคำถามว่า “ระบบค่าเงิน” ที่เป็นอยู่กับ “การบริหารจัดการ” ของธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่เป็นอยู่นั้นมันสามารถทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาได้หรือไม่?

ที่ต้องแยก 2 คำว่า “ระบบค่าเงิน” และ “การบริหารจัดการ” ก็เพราะเหตุว่า ถ้าประเทศไทยจะยังคงตัดสินใจใช้ “ระบบค่าเงินลอยตัว” ดังที่เป็นอยู่ โดยที่ไม่มีความสามารถ หรือไม่กล้าหาญที่จะวิธีการบริหารจัดการที่ไม่สามารถทำให้ “ค่าเงิน” เป็นไปตามเป้าหมายไม่ให้ผิดปกติเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านได้ ก็ควรจะต้องพิจารณาว่ามันเกิดจากปัญหาอะไร?

และถ้าเป็นปัญหาในเรื่องของระบบ โดยที่ “เครื่องมือและกลไก” ในระบบไม่มีความมากพอในการต่อสู้กับกระแสเงินตราระหว่างประเทศที่มีพลวัตรสูงมากในโลกปัจจุบัน ก็ต้องพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวระบบเสียใหม่

แต่ถ้าไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่อง “เครื่องมือและกลไก” แต่เป็นปัญหาอยู่ที่ความไม่กล้าตัดสินใจก็เป็นปัญหาเรื่อง “ตัวบุคคล” ซึ่งไม่ว่าบุคคลใดเป็นอุปสรรคในธนาคารแห่งประเทศไทยหรือรัฐบาลก็ตาม ก็ต้องหาคำตอบในการแก้ไข “ตัวบุคคล” นั้นก็พึงจะต้องรับฟังและปรับปรุงแก้ไขในการตัดสินใจ

และถ้ายังปรับปรุงแก้ไขไม่ได้ ก็อาจจะต้องหาคนใหม่ที่เหมาะกับงานมากกว่านี้!!!

ถ้าจะให้พูดตรงๆ ก็คือผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยเหมือนอยู่บน “หอคอยงาช้าง” จนกระทั่งตามไม่ทันโลกของความเป็นจริง และที่สำคัญไปกว่านั้นผู้บริหารในองค์กรแห่งนี้หลายคน มองความแตกต่างทางความคิดของคนอื่นๆ ว่าเป็นพวก “ไม่รู้เรื่อง” และจมอยู่ใน “อัตตา” หลงอยู่ในความเก่งในกลุ่มพวกของตัวเองด้วยจิตใจที่คับแคบ

ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยแม่นยำและถูกต้องจริง คงไม่ต้องถึงขั้นต้องขาดทุนจากการแทรกแซงค่าเงินบักโกรกเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยที่ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่ามากที่สุดสกุลหนึ่งในโลกต่อไป!!!

ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยแม่นยำและถูกต้องจริง เดือนธันวาคม 2549 ก็คงไม่ต้องใช้มาตรการใช้กันสำรอง 30 % ของเงินทุนต่างประเทศในทุกประเภท และกลับลำ 180 องศาในวันรุ่งขึ้นโดยการยกเลิกมาตรการดังกล่าวในตลาดหุ้น!!

มิพักต้องพูดถึงเหตุการณ์เมื่อปี 2540 ที่เป็นผลลัพธ์ต่อเนื่องจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยที่สะท้อนผลลัพธ์อันเกิดจากตัดสินใจที่ผิดพลาดใหญ่เป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน

เกิดอะไรขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ องค์กรที่ได้ชื่อว่ามีนักเรียนทุนชั้นเยี่ยม จบจากสถานที่ชั้นยอด เป็นหัวกะทิของชาติ กลับมาตัดสินใจผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงในเรื่องที่มีเดิมพันด้วยความอยู่รอดของประเทศชาติ?

คนที่ทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะไม่รู้ว่า ในยุค 10 - 15 ปีมานี้นักการเงินและนักการธนาคารภายนอกมักจะพูดลับหลังคนในธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่เสมอว่า....

ผู้บริหารหลายคนในธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นทำงานแบบ “หัวสี่เหลี่ยม”

“หัวสี่เหลี่ยม”
เป็นคนละความหมายและตรงกันข้ามกับ “หน้าเหลี่ยม” เพราะมีความหมายว่าความคิดความอ่านอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม จนไม่สนใจสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปในสังคม ไม่ทันคนและไม่ฟังใคร

เพราะเหตุใด เบาะแสข่าวช่องทางการเก็งกำไรค่าเงิน, การคาดการณ์อัตราแลกเปลี่ยน, การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ, บรรยากาศการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ, ราคาน้ำมัน, ทองคำ ของ นักหนังสือพิมพ์และนักประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้จบการเงินอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล จึงคาดการณ์และรู้ล่วงหน้าก่อนธนาคารแห่งประเทศไทยทุกครั้ง?

ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ที่ควรจะมีข้อมูลมากที่สุด กลับคาดการณ์และตัดสินใจผิดพลาดเป็นประจำ!?

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะการมองเศรษฐกิจในวันนี้จะต้องมองเหตุการณ์ทาง “ภูมิรัฐศาสตร์” เป็นตัวและมองวิเคราะห์ปัญหาทิศทางไปในอนาคตด้วย “สามัญสำนึก” ตามกฎ “อิทัปปัจจยตา” ในทางพระพุทธศาสนา อันเป็นหัวใจของ ปฏิจจสมุปบาทว่า เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี, เพราะความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้ ไม่มี สิ่งนี้ ย่อมไม่มี, เพราะความดับไปแห่งสิ่งนี้ สิ่งนี้ จึงดับไป

แต่ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกลับจมอยู่กับ “ตัวเลขในอดีต” เพื่อตัดสินใจกับเหตุการณ์ในปัจจุบันโดยที่ไม่ได้ดูสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่เข้าใจอารมณ์ของตลาดและไม่เข้าใจจิตวิทยาของนักเก็งกำไรแม้แต่น้อย

จะยกตัวอย่างกรณีศึกษาที่มีคนตั้งคำถามว่า ทำไมการลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลาที่ผ่านมาจึงได้ “เบา” และ “ช้า” จนเกินไป ?

นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ด้านเสถียรภาพการเงิน ได้เคยเขียนบทความเอาไว้ด้วยตัวเองเมื่อประมาณเดือนมีนาคม 2550 ความตอนหนึ่งว่า:

“หากกรรมการนโยบายการเงินสามารถมองเห็นอนาคตได้ สามารถรู้ได้ว่าราคาน้ำมันที่สูงในเดือนธันวาคมนั้นจะลดลงมากในเดือนมกราคม และสามารถรู้ล่วงหน้าว่าเศรษฐกิจในเดือนต่อๆ มาจะชะลอตัวลงมาก ก็คงลดดอกเบี้ยเสียตั้งแต่เดือนธันวาคมแล้ว”

สำหรับกรณีการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ทำไมไม่ลดดอกเบี้ยมากกว่า 0.25%?

นางอัจนา ไวความดี ได้ตอบในบทความว่า....

“การประชุมวันนั้นยังไม่มีตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจใน “ไตรมาสที่ 4” ที่ขยายตัวน้อยกว่าที่คาด การปรับปรุงโครงสร้างพิกัดอัตราศุลกากรของกรมศุลกากรทำให้ข้อมูลการส่งออกและการนำเข้าล่าช้ากว่าปกติที่เคยมี ในการประชุมครั้งนั้นยังไม่มีข้อมูลบางส่วนที่สะท้อนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การประเมินภาพเศรษฐกิจในวันนั้นจึงมีข้อมูลน้อยกว่าปกติ ด้วยข้อมูลที่น้อยกว่าปกติ ดิฉันไม่คิดว่าคณะกรรมการกล้าที่จะลดดอกเบี้ยมากๆ”

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ล่วงหน้าผิดพลาด แถมยังรอตัวเลขทางเศรษฐกิจ 2 เดือนที่แล้ว ในการตัดสินใจเรื่องค่าเงินบาท ในขณะการเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้นเกิดขึ้นทุกวันและทุกนาที!!!

แต่ก็นับว่าดีขึ้นมาอยู่บ้างที่ในช่วงหลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาล ได้ “ลดอัตตา” ฟังเสียงของผู้ประกอบการและภาคเอกชนมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2550 ได้นำข้อเสนอของคณะกรรมการร่วมเอกชน 3 สถาบัน นำมาใช้ปฏิบัติมากขึ้นโดยออกมาเป็น 6 มาตรการ

แต่อย่างไรก็ดีในบรรดา 6 มาตรการที่นำมาใช้นั้น คงจะมีเพียงมาตรการเดียว ที่น่าจะพอทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงได้ นั่นก็คือมาตรการการชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด

ซึ่งภายหลังจากที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่มีเงินสดเหลือพอเริ่มชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด ก็ได้ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่ามาเล็กน้อยและเริ่มมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

เพราะมาตรการนี้คือการผลักดันทุนสำรองทางการที่ได้มาจากหนี้ต่างประเทศ ส่งคืนกลับไปนอกประเทศในภาวะที่ค่าเงินบาทแข็งค่า ซึ่งนอกจากจะได้ประโยชน์ในการทำให้คืนหนี้ต่างประเทศในยามที่หนี้มีน้อยลงจากสภาพเงินบาทที่แข็งค่า และยังเป็นผลทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ระดับหนึ่งอีกด้วย

นี่คือหลักการบริหารจัดการ “ปริมาณเงินบาทและเงินสกุลต่างประเทศในทุนสำรอง” ให้มีความสอดคล้องกับอุปสงค์และอุปทานเพื่อให้ได้เป้าหมายค่าเงินบาทดังที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม เท่าที่มาตรการออกมาทั้งหมดจนถึงเวลานี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจนเข้าสู่ภาวะที่จะสามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบเคียงกับประเทศเพื่อนบ้าน

ยาที่อยู่ในระดับเดียวกับการบริหารปริมาณเงินตราต่างประเทศ ยังมีทางเลือกอีกหลายวิธี เช่น การส่งออกทุนของรัฐไปลงทุนในต่างประเทศ, การเร่งระดมนำสินค้าที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศตามงบประมาณที่มีอยู่แล้ว, ฯลฯ แต่ก็คงต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรและคงไม่ทันกับสถานการณ์อยู่ดี

“ยาแรงขึ้น” ในการแก้ไขค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป ก็คือการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มปริมาณเงินบาทเข้าไปในระบบมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยทุนสำรองทางการเป็นตัวหนุนหลัง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการเงินบาทของตลาด

แม้จะต้องแลกกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาบ้างในการแก้ไขปัญหาเงินบาทด้วยวิธีนี้ แต่อัตราเงินเฟ้อในเวลานี้ อยู่ในระดับไม่ได้สูงเพียงแค่ 1.8% และอัตราเงินเฟ้อก็สามารถบริหารจัดการได้ด้วยกลไกในหลากหลายวิธี เช่น การบริหารอัตราดอกเบี้ย, และมาตรการทางภาษี เป็นต้น

ในขณะที่ “การควบคุมการไหลเข้าออกของเงินตราต่างประเทศ” อาจจะยังคงจำเป็นสำหรับประเทศไทยในการดูแลค่าเงินมี “เสถียรภาพ” หากแต่จะต้องมีความสอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ขยายวงกว้างแบบเหมากระจาดจนเกิดความผิดพลาดเหมือนกับในช่วงเวลาที่ผ่านมา

อย่างน้อยก็ได้ให้เวลามาพอสมควรด้วยมาตรการของแบงก์ชาติที่ผ่านมา เรากลับได้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในภูมิภาค จึงเป็นเวลาที่จะได้หามาตรการอื่นๆ ที่ได้ผลมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เพราะถ้าการทำงานแบบ “หัวสี่เหลี่ยม” ยังคงเดินหน้าต่อไป ก็มักจะเกิดอาถรรพ์ที่ “หอคอยงาช้าง” ของแบงก์ชาติหักโค่นล้ม ทับประชาชนและผู้ประกอบการกลายเป็นเหยื่อที่ไม่รู้เรื่องที่ต้องบาดเจ็บล้มตายทุกทีไป
กำลังโหลดความคิดเห็น