xs
xsm
sm
md
lg

การบริหารเงินทุนสำรองของเกาหลีบทเรียนสำหรับประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากการประชุมผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 16 ประเทศ เมื่อเร็วๆนี้ พบว่าความท้าทายที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งที่ธนาคารของหลายๆประเทศในเอเซียกำลังเผชิญก็คือจะบริหารจัดการอย่างไรกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและในปริมาณที่มากมายอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ทำอย่างไรถึงจะใช้ประโยชน์จากสำรองเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในการลดความผันผวนของค่าเงินที่ทวีความรุนแรง โดยเฉพาะประเทศที่ใช้ระบบอัตรา แลกเปลี่ยนแบบลอยตัว

ตัวอย่างที่สำคัญคือ ประเทศจีนที่กำลังสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในอัตราที่รวดเร็ว ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมาโดยไม่ได้ตั้งใจ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเกือบ 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ทางการจีนต้องหาวิธีบริหารเงินเหล่านี้ในขณะที่มูลค่าของเงินกำลังลดลงตามดอลลาร์สหรัฐที่ด้อยค่าลง ในปีนี้จีนได้จัดตั้งบรรษัทบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศขึ้นมาทำหน้าที่บริหารจัดการเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

ดำเนินการโดยแยกสำรองเงินตราต่างประเทศในวงเงิน 2-3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐออกมาให้บรรษัทฯ นี้บริหารจัดการลงทุน การจัดตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่นี้เป็นการเฉพาะ นอกจากจะเป็นการเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารจัดการทรัพย์สินของประเทศแล้ว ยังถือเป็นการปรับบทบาทของธนาคารกลางจีนในการดูแลเงินทุนสำรองระหว่างประเทศด้วย โดยคาดว่าจีนคงนำเงินตราต่างประเทศเหล่านี้ไปลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ที่จีนไม่เคยลงทุนมาก่อน เช่น ธุรกิจและทรัพย์สินในอุตสาหกรรมพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ แร่ธาตุ ตลอดจนทรัพย์สินภายในประเทศเกิดใหม่และโตเร็ว โดยยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนดีขึ้น เช่น โดยลงทุนในหลายประเทศในเอเซีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ซึ่งนอกจากจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการซื้อ"เพื่อน" ในกลุ่มประเทศที่ต้องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเชิงยุทธศาสตร์ เศรษฐกิจ และความมั่นคงได้ด้วย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ประเทศในกลุ่มอาหรับแถบอ่าวเปอร์เซีย 6 ประเทศ (Gulf Cooperation Countries, GCC) ก็มีการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจีน โดยปัจจุบันมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับ 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในสิ้นปีนี้ประเทศในกลุ่มนี้ซึ่งประกอบไปด้วย คูเวต ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ การตาร์ บาห์เรน และโอมาน จะมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งมากกว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศในเอเซียรวมกัน

ทั้งนี้ ประเทศอาหรับทั้ง 6 ประเทศใช้ระบบอัตราการแลกเปลี่ยนคงที่โดยยึดติด (FIX) กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นเวลานานแล้ว และมีแผนที่จะรวมตัวกันเป็นสหภาพทางการเงิน (Monetary Union) และใช้เงินสกุลเดียวกันในปี 2010 ซึ่งเงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากรายได้ในการส่งออกน้ำมัน โดยที่ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2-3 ปีนี้ ทำให้รายรับเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์และทำให้การบริหารเงินทุนสำรองจำนวนมากนี้เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดของประเทศเหล่านี้

โดยมีนโยบายที่จะลงทุนในเอเซียมากกว่าลงทุนในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะลงทุนในเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศเกิดใหม่เป็นจำนวนเงินถึง 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 5 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็จะเน้นลงทุนในเรื่องการศึกษาและการพัฒนาคนในกลุ่มประเทศ GCC ด้วยกัน

นอกจากนั้น หลายประเทศได้จัดตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติเพื่อบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เช่น ประเทศนอร์เวย์จัดตั้ง Norges Bank Investment Management ประเทศคูเวตจัดตั้ง Kuwait Investment Authority ประเทศสหรัฐอาหรับอมิเรตส์จัดตั้ง Abudhabi Investment Authority ประเทศสิงค์โปร์จัดตั้ง Government Investment Corporation (GIC) เป็นต้น

และประเทศเกาหลีเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ เกาหลีจัดตั้งบรรษัทเพื่อการลงทุนแห่งชาติ Korea Investment Corporation (KIC) ขึ้นมาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2548 โดยมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 ล้านวอน ชำระแล้ว 100,000 ล้านวอน จากกองทุนรักษาระดับอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Stabilization Fund) และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการกองทุนเงินสำรองระหว่างประเทศของเกาหลี โดยระยะแรกได้รับมอบอำนาจให้บริหารสำรองเงินตราต่างประเทศจำนวน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือคิดเป็นเงินไทย 670,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนการจัดตั้ง KIC เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2546 แผนการดังกล่าวถูกต่อต้านจากธนาคารกลางของเกาหลี เนื่องจากความกังวลที่ว่าจะเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินและการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางและความเป็นอิสระของธนาคารกลางโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเกาหลีก็ประสบความสำเร็จในการจูงใจธนาคารกลางถึงประโยชน์ที่จะได้รับต่อประเทศชาติ และได้ทำสัญญาให้ธนาคารกลางเกาหลีมีสิทธิที่จะเรียกทรัพย์สิน (สำรองเงินตราต่างประเทศ) ที่ให้ KIC ไปบริหาร กลับคืนมาในกรณีฉุกเฉิน รูปแบบของ KIC คล้ายๆ กับ GIC ของสิงค์โปร์ ซึ่งปัจจุบันมีขนาดกว่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดย KIC ยังสามารถบริหารจัดการเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของรัฐบาลอีกด้วย ซึ่งรัฐบาลจะไม่เข้าไปแทรกแซงการบริหารจัดการเงินลงทุน ตลอดจนลดการกำกับดูแลจากทางการให้น้อยที่สุด โดยนำเอาผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนต่างประเทศจากภาคเอกชนเข้ามาบริหาร

โดยรูปแบบโครงสร้างการบริหารงานของ KIC นั้น KIC เป็นบริษัทบริหารจัดการลงทุนที่รัฐบาลถือหุ้น 100% โดยเน้นการลงทุนในต่างประเทศเป็นหลัก และมีเป้าหมายลงทุนในเชิงพาณิชย์ โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแล Steering Committee คอยกำหนดนโยบายพื้นฐานและทิศทางโดยรวม อีกทั้งประเมินผลการทำงานของ KIC ด้วย และ KIC ต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย ตามกฎหมาย KIC จะต้องนำเอาสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร เช่น เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปลงทุนในต่างประเทศรูปเงินสกุลต่างประเทศ ยกเว้นเฉพาะในกรณีจำเป็นที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็สามารถลงทุนชั่วคราวในสกุลเงินท้องถิ่นของเกาหลี (เงินวอน) ก็ได้

สำหรับในปีแรกภายหลังการก่อตั้ง KIC ใช้เวลาไปกับการสรรหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญการลงทุนตลอดจนการวางแผนกระบวนการลงทุน และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการลงทุนต่าง ๆ อาทิเช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อมูลด้านการลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น การลงทุนในช่วงเริ่มแรกที่ยังไม่พร้อม KIC จึงใช้การว่าจ้างผู้ลงทุนภายนอกให้ช่วยบริหารจัดการการลงทุนบางส่วน เป้าหมายของ KIC คือ ช่วยประเทศลดความผันผวนของมูลค่าเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการกระจายความเสี่ยงของการลงทุน การรักษามูลค่าและเพิ่มมูลค่าของทรัพย์สินเงินสำรองระหว่างประเทศของชาติ เพื่อลูกหลานในอนาคตซึ่ง KIC จะลงทุนโดยมองผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งหมายความว่า จะยอมรับความเสี่ยงในระยะสั้นได้เพิ่มขึ้น และสามารถกระจายความเสี่ยงของการลงทุนให้ครอบคลุมถึงสินทรัพย์ที่ดี แต่อาจมีสภาพคล่องน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าในระยะยาว ซึ่งรวมถึงเศรษฐกิจและตลาดการเงินของประเทศเกิดใหม่โตเร็ว เช่น BRICM (ได้แก่ Brazil , Russia India , China และ Mexico) ซึ่งคาดว่าในปี 2040 จะมีขนาดเศรษฐกิจวัดโดย GDP ใหญ่กว่าประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรม G7 ทั้งหมด

โดยทั่วไป บรรษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ของประเทศ เช่น KIC จะเลือกลงทุนเพื่อที่จะพยายามกระจายแหล่งที่จะสร้างความมั่งคั่งในรูปรายได้และผลตอบแทนให้กับประเทศชาติในระยะยาว โดยเป็นเจ้าของในอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ เช่น ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ นอกจากนั้น ประโยชน์ของการมีองค์กร เช่น KIC ก็จะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการบริหารจัดการสินทรัพย์ของประเทศ (Asset Management Industry) ซึ่งจะช่วยพัฒนาและยกระดับอุตสาหกรรมทางการเงินภายในประเทศ ตลอดจนสร้างคนและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการบริหารสินทรัพย์จากต่างประเทศ
กำลังโหลดความคิดเห็น