xs
xsm
sm
md
lg

ต้นทุนลอจิสติกส์ไทยสูงถึง23.5% ของ GDP ชี้ "รถเที่ยวเปล่า"ตัวปัญหาเร่งศึกษาลดคอสต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายกุญญพันธ์ แรงขำ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์
ศูนย์ข่าวขอนแก่น-เลือก จ.ขอนแก่นนำร่องโครงการลดต้นทุนการกระจายสินค้าทางถนน ก่อนนำไปเป็นต้นแบบใช้กับพื้นที่อื่น หวังยกขีดความสามารถแข่งขันกับต่างประเทศ มุ่งแก้ปัญหารถเที่ยวเปล่าเป็นหลัก เผยต้นทุนลอจิสติกส์ไทยปัจจุบันเพิ่มน่าวิตกถึง 23.5 % ของ GDP แนะระยะยาวใช้ขอนแก่น-นครสวรรค์-กทม.เป็นฐานใหญ่พัฒนาการขนส่งระดับภูมิภาค

เมื่อเร็วๆนี้ที่ จ.ขอนแก่น กระทรวงพาณิชย์ โดยสำนักโลจิสติกส์การค้า กรมส่งเสริมการส่งออก ได้จัดประชุมโครงการนำร่องการลดต้นทุนการกระจายสินค้าทางถนน โดยมีผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาพันธ์ผู้ให้บริการลอจิสติกส์ และผู้ประกอบการขนส่งในพื้นที่ภาคอีสาน เข้าร่วมเสวนาราว 50 คน

นายกุญญพันธ์ แรงขำ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงโครงการนำร่องการลดต้นทุนการกระจายสินค้าทางถนนว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาต้นทุนการขนส่งสินค้าให้น้อยลง โดยมุ่งเป้าไปยังการลดต้นทุนการขนส่งรถเที่ยวเปล่าเป็นหลัก ปัจจุบันต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยเพิ่มสูงมาก อยู่ที่ระดับ 23.5 % ของ GDP จากเดิมซึ่งสูงอยู่แล้วอยู่ที่ประมาณ ร้อยละ 16-19 ของ GDP

"การหารือกับภาคเอกชนขนส่งครั้งนี้ จึงต้องการที่จะถกระดมสมองหาแนวทางความร่วมมือที่นำร่องโครงการลดต้นทุนการกระจายสินค้าทางถนน คือ จะทำอย่างไรที่จะลดการขนส่งเที่ยวเปล่าให้ได้ การขนส่งเที่ยวเปล่าทำให้ต้นทุนขนส่งเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่ได้ผลตอบแทนใดๆ ในขณะที่น้ำมันก็ราคาสูงขึ้น"นายกุญญพันธ์ กล่าวและว่า

มูลเหตุที่เลือกจังหวัดขอนแก่นเป็นพื้นที่นำร่อง โครงการลดต้นทุนการกระจายสินค้าด้วยการลดค่าขนส่งเที่ยวเปล่า เนื่องจากเป็นจังหวัดที่มีความพร้อมค่อนข้างมาก เป็นศูนย์กลางการขนส่งของภาคอีสาน และสามารถเชื่อมโยงโครงข่ายขนส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้งผ่านเส้นทางหมายเลข 8 (แขวงคำม่วน)และหมายเลข 9 (แขวงสะหวันนะเขต)ออกไปยังเวียดนามเพื่อส่งไปยังหลายประเทศในแถบเอเชียตะวันออก

โครงการนำร่องฯดังกล่าว ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชน ในจังหวัดขอนแก่นและใกล้เคียงเข้ามาร่วมในแผนปฏิบัติการทดลอง เพื่อลองผิดลองถูกค้นหาต้นแบบการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดขึ้นมาให้ได้ ต้นทุนการขนส่งรถเที่ยวเปล่าต้องลดลงหรือหายไปเลย โดยอาจจะมีการจับคู่หุ้นส่วนการขนส่งที่สามารถเอื้อประโยชน์กันได้

เช่น จากเดิมบริษัท A ต้องขนสินค้าอุปโภคบริโภค จากกรุงเทพฯมายังขอนแก่นเป็นประจำอยู่แล้ว แต่ขาไปตีรถบรรทุกเปล่าไป ก็ปรับแผนการจัดการใหม่ด้วยการไปว่าจ้างบริษัท B ที่ต้องวิ่งส่งสินค้าเกษตรเข้าไปส่งลูกค้าที่กรุงเทพฯเป็นประจำแต่ขากลับตีรถเปล่ากลับให้ขนสินค้าของบริษัท A กลับมา ส่วนภาระค่าใช้จ่ายทั้ง 2 บริษัทต้องเจรจาตกลงกันเอง

นายกุญญพันธ์ กล่าวต่อว่าโครงการนำร่องลดต้นทุนการกระจายสินค้าดังกล่าว ไม่ได้ปล่อยให้เอกชนดำเนินการกันไปเอง ภาครัฐจะเข้ามาช่วยดูแลและให้การสนับสนุนทุกด้าน โดยจะมีสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นศูนย์บริการกลาง(Service Center)ที่แต่ละผู้ประกอบการขนส่งเข้าร่วมโครงการใช้เป็นแหล่งค้นหาข้อมูล เพื่อจับคู่หาหุ้นส่วนธุรกิจกัน ขณะเดียวกันก็มีคณะทำงานที่ปรึกษา ทั้ง ผู้ว่าฯ ประธานหอการค้า ประธานสภาอุตสาหกรรม พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด ขนส่งจังหวัด และอีกหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยกำกับดูแล

หลังจากได้ต้นแบบการขนส่งที่สามารถลดต้นทุนได้จริง จากโครงการนำร่องที่ขอนแก่นแล้ว ก็จะนำไปขยายผลเป็นแม่แบบให้ผู้ประกอบการขนส่งในพื้นที่จังหวัดอื่นๆได้นำไปใช้ เชื่อว่าระยะยาว เมื่อการขนส่งของไทยมีต้นทุนต่ำ จะสามารถแข่งขันการค้ากับต่างประเทศได้ คาดว่าในราวสิ้นเดือนกันยายน 2550 โครงการนำร่องลดต้นทุนกระจายสินค้าดังกล่าวจะได้ข้อสรุปต้นแบบการขนส่งที่ดีที่สุด

นายกุญญพันธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อรองรับกับการขยายตัวการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตก( East west Economic Corridor) น่าจะมีการประสานความร่วมมือการเชื่อมการขนส่งระหว่าง 3 ศูนย์การขนส่ง คือ ขอนแก่น-นครสวรรค์และกรุงเทพฯ โดยนำต้นแบบการลดต้นทุนการขนส่งรถเที่ยวเปล่าไปใช้ โดยขอนแก่นเป็นศูนย์กระจายสินค้าของภาคอีสาน นครสวรรค์เป็นฐานของภาคเหนือ ขณะที่กรุงเทพฯเป็นทั้งต้นทางและปลายทาง หรือแหล่งพักสินค้าสำคัญของการขนส่งระหว่างฐานทั้ง 3

ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า การวิ่งรถเที่ยวเปล่าถือเป็นต้นทุนที่สูงมากและแบกรับกันมานาน โครงการนำร่องฯครั้งนี้จะบรรลุผลได้ต้นแบบการขนส่งที่ดีที่สุดหรือไม่ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการขนส่งภาคเอกชน ต้องยอมรับว่าการกระจายสินค้าของไทยในปัจจุบันร้อยละ 88.6 ใช้ประเภทการขนส่งทางถนน ทำให้ต้นทุนลอจิสติกส์ของไทยสูงมาก โดยมากกว่าร้อยละ 41 เป็นต้นทุนจากการขนส่ง

"การกระจายการขนส่งสินค้าทางรถเป็นที่นิยมใช้และถือว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุด เมื่อเทียบกับการขนส่งด้านอื่น และต้นทุนการขนส่งรถบรรทุกก็เป็นปัญหา เพราะรถขนส่งกว่าร้อยละ 70 เป็นการขนส่งเที่ยวเปล่าโดยไม่มีสินค้าที่จะนำมาซึ่งรายได้"นายธนิตกล่าวและเสริมอีกว่า

สำหรับกรอบการทำงานโครงการนำร่องลดต้นทุนกระจายสินค้าทางถนน จ.ขอนแก่น เบื้องต้นต้องจัดตั้งเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งในจังหวัด โดยอาจจะใช้สำนักงานของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดหรือพาณิชย์จังหวัดเป็นศูนย์ประสานงานก็ได้ ผู้ประกอบการขนส่งที่ขึ้นทะเบียนเข้าร่วมโครงการจะต้องมีการตกลงในหลักการใหญ่ๆให้ชัดเจน เช่นวิธีการ Trade Off พื้นที่รถหรือเที่ยวไป-กลับ ซึ่งไม่มีสินค้าหรือมีสินค้าไม่เต็มพื้นที่ และ ระบบในการ TIS หรือ Transport Information System ในระหว่างเครือข่ายการขนส่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น