xs
xsm
sm
md
lg

จรัลยื้อเก้าอี้ กก.สิทธิ์?

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล


เมื่อ 6 ปีก่อนตอนเริ่มต้นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดแรก นับเป็นรายชื่อที่หวังได้ว่าจะเป็นการสร้างตัวอย่างของการเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ส่งเสริม และปกป้องด้านสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจังเป็นครั้งแรกของประเทศไทย

คณะกรรมการสรรหาครั้งนั้น มีคุณอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานเพื่อพิพากษาคุณสมบัติและรับฟังการแสดงวิสัยทัศน์ของผู้สมัครเป็นจำนวนมากซึ่งล้วนมีประสบการณ์ดีเด่น เพื่อคัดรายชื่อจำนวน 2 เท่า ส่งไปให้วุฒิสภาคัดเหลือ 11 คน โดยดำเนินการอย่างเที่ยงธรรมและโปร่งใส

รายชื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดแรกที่ประกาศมาจึงนับว่าดูดี ล้วนเป็นผู้มีความรู้ประสบการณ์ที่แสดงว่าเป็นผู้รักความเป็นธรรม และเห็นความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน

องค์กรอิสระแห่งนี้จึงเป็นความหวังของสังคมไทย แต่ก็ยังมีปัญหาด้านกระทบต่อสิทธิมนุษยชนในบางกรณี จนมักถูกกล่าวถึงจากองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนสากลในระดับไม่ดีนัก

ก็ไม่นึกว่าคุณจรัล ดิษฐาอภิชัย ผู้ที่มีบทบาทด้านการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเห็นใจผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการจนได้ทำหน้าที่กรรมการสิทธิมนุษยชนจนถึงขณะนี้ จะกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง

โดยเฉพาะกลับกลายเป็นคนที่มาออกหน้าพิทักษ์คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งถูกข้อหาทุจริตประพฤติมิชอบ และดำเนินการที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

เพราะการเข้าไปร่วมเป็นแกนนำของกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อทักษิณ ชินวัตร ที่เรียกตัวเองว่า “แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ” หรือ นปก. และได้ก่อการจนถูกเป็นผู้ต้องหา 1 ใน 9 แกนนำในคดีอาญา

การแสดงบทบาทของคุณจรัลจึงดูไม่เหมาะกับการยังอยู่ในตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน จนถึงกับมีการแสดงการเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนพิจารณาปลดจากตำแหน่ง

เมื่อดูกฎหมายการจัดตั้งมิได้ระบุอำนาจการถอดถอน รวมทั้งคณะกรรมการกว่าครึ่งจะมีความเห็นอย่างไม่เป็นทางการขอให้ลาออกเองก็ไม่เป็นผล

ภาระจึงมาตกอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และรัฐสภา ตามที่บัญญัติ ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 ให้สามารถดำเนินกระบวนการถอดถอนกรรมการองค์กรอิสระได้

สนช. 93 คนได้ร่วมลงชื่อเสนอญัตติถอดถอน คุณจรัล ดิษฐาอภิชัย จากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุผลสิทธิมนุษยชนที่ว่า

“ตลอดระยะเวลา 1 เดือนมานี้ ได้ดำเนินการเคลื่อนไหวทางการเมือง และแถลงข่าวหลายครั้งต่างกรรมต่างวาระในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ความเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ แต่กลับประกาศตนชัดเจนเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐบาล และระบอบการเมืองปัจจุบัน ทั้งเข้าร่วมกับขบวนการของกลุ่มผู้สนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ที่มีเจตนารมณ์และการกระทำที่มุ่งโค่นล้มรัฐบาล และระบอบการเมืองปัจจุบัน ทั้งที่เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นอิสระ เป็นกลาง และคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน”

“นายจรัล ดิษฐาอภิชัย และพวกยังร่วมกันนำมวลชนไปขับไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก่อเหตุจลาจลวุ่นวายขึ้นที่ถนนราชดำเนินนอก และบริเวณสี่เสาเทเวศร์ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 อันหมิ่นเหม่อย่างยิ่งต่อการกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”


อย่างไรก็ตาม แม้การดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะครบวาระ เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2550 แล้วก็ตาม

ตามกฎหมายจัดตั้งได้กำหนดให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่จะเข้ารับตำแหน่ง

เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งรวม 104,330 บาท พร้อมรถประจำตำแหน่งยังจะต้องตอบแทนต่อไป

ในเมื่อขาดคุณสมบัติความเป็นกลาง ความเที่ยงธรรมแล้ว ย่อมถูกสังคมเห็นว่าที่ยังอยากยื้ออยู่ในตำแหน่งเพราะหวังผลประโยชน์

ลาออกไปแสดงบทบาททางการเมืองยังจะดูมีศักดิ์ศรีกว่าการถูกกดดันขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น