xs
xsm
sm
md
lg

บทบาทของศาลในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหาและจำเลย

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

เมื่อประชาชนตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นถือว่าเป็นความทุกข์และยังความเดือดร้อนมาให้และถ้าเป็นกรณีผู้บริสุทธิ์ถูกดำเนินคดีด้วยแล้วยิ่งเดือดร้อนยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อตกเป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาที่ความผิดนั้นมีอัตราโทษสูง ซึ่งบุคคลนั้นจะต้องถูกควบคุมหรือคุมขังไว้เป็นเหตุให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องสูญเสียอิสรภาพไป แต่เนื่องจากตามหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามกฎหมายที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ และก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดจะปฎิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดมิได้ ด้วยเหตุนี้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกควบคุมหรือคุมขังนั้นจึงมีสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราว…คือ?

การปล่อยชั่วคราว คือ การอนุญาตให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยพ้นจากการควบคุมของเจ้าพนักงานหรือศาลชั่วคราวตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกควบคุมหรือคุมขังเป็นเวลานานเกินจำเป็นในระหว่างการสอบสวนหรือการพิจารณาคดี เพราะหากไม่จำเป็นต้องควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ก็ควรที่จะปล่อยชั่วคราวไป นอกจากนั้น การปล่อยชั่วคราวยังเป็นการผ่อนคลายมาตรการในการควบคุมหรือคุมขังเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับอิสรภาพไปชั่วคราวในระหว่างที่เจ้าพนักงานหรือศาลดำเนินกระบวนการยุติธรรม เป็นการให้สิทธิแก่ผู้นั้นในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ด้วยความเป็นอิสระ หรือที่เรียกกันในทางปฏิบัติว่า การประกันตัว

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวจำแนกได้ตามลักษณะ ดังนี้

การร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างฝากขัง เมื่อผู้ต้องหาถูกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการนำตัวมาขออนุญาตศาลฝากขังระหว่างที่การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาล

การร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาในชั้นนี้จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลได้ และ

การร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวบุคคลที่ถูกกักขังหรือจำคุกในกรณีอื่น เช่น ศาลออกหมายจับพยานที่จงใจไม่มาศาล หรือกรณีละเมิดอำนาจศาล บุคคลดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้

อนึ่ง ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวนอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว เช่น บุพการี ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง ผู้บังคับบัญชา นายจ้าง บุคคลที่เกี่ยวพันโดยทางสมรส บุคคลที่ศาลเห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้อง หรือมีความสัมพันธ์ในทางอื่นที่ศาลเห็นสมควร ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวด้วยเช่นกัน

ประเภทของการปล่อยชั่วคราว

การที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวแบ่งได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่

การปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องทำสัญญาประกันและไม่ต้องมีหลักประกัน เพียงแต่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยสาบานหรือปฏิญาณตนว่าจะมาตามนัดหรือหมายเรียกเท่านั้น

การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยก่อนปล่อยไหปผู้ประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฎิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญาประกัน

การปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันและหลักประกัน คือ การปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราว โดยผู้ประกันหรือผู้เป็นหลักประกันต้องลงลายมือชื่อในสัญญาประกันต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามนัดหรือหมายเรียกของศาล และมีการวางหลักประกันไว้เพื่อจะสามารถบังคับเอากับหลักประกันตามจำนวนที่ระบุไว้ได้เมื่อมีการผิดสัญญา

หลักการสำคัญในการสั่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว

เมื่อได้รับคำร้องให้ปล่อยชั่วคราวให้เจ้าพนักงานหรือศาลรีบสั่งอย่างรวดเร็วและผู้ต้องหาหรือจำเลยทุกคนพึงได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 107

ถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหนีออกต่างประเทศ จะไปฆ่าหรือข่มขู่ประจักษ์พยาน เช่นนี้ ศาลสั่งไม่ให้ประกันตัวได้ หรือถ้าผู้ต้องหากำลังจะไปก่อเหตุอันตรายอื่น เช่น ออกไปวางระเบิดสถานที่ราชการ หรือนัดส่งมอบยาบ้าหลายแสนเม็ด เช่นนี้ ศาลก็จะไม่ให้ประกันตัว หรือถ้าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้มีอิทธิพล การปล่อยตัวไปจะเป็นอุปสรรคก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน เช่น พยานกลัว หรือพนักงานสอบสวนถูกคุกคาม เช่นนี้ ศาลอาจไม่ให้ประกันตัวได้ หรือถ้าการปล่อยจำเลยผู้มีอิทธิพลจะเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล เช่น มีการสร้างหลักฐานเท็จ มีการข่มขู่ญาติพยานสำคัญจนไม่กล้าเบิกความในศาล เช่นนี้ ศาลไม่ให้ประกันตัวได้

ในการปล่อยชั่วคราว ยังอาจกำหนดมาตรการดูแลหรือเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องปฏิบัติด้วยก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 วรรคท้ายที่บัญญัติว่า “ในการอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว เจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจให้ปล่อยชั่วคราว หรือศาลจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นใดให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวปฏิบัติเพื่อป้องกันการหลบหนีหรือเพื่อป้องกันภัยอันตราย หรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราวก็ได้”

กล่าวคือ พนักงานสอบสวน หรือศาล อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยอยู่แต่ในเขตที่กำหนดเพื่อสะดวกต่อการนำตัวมาโรงพักหรือศาลได้ หรือกำหนดเงื่อนไขเพื่อป้องกันการหลบหนี โดยมิให้เดินทางไปต่างประเทศก็ได้ หรือกำหนดเงื่อนไขอื่นเพื่อป้องกันภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการปล่อยชั่วคราว เช่น การห้ามให้สัมภาษณ์ การห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่จะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง แต่จะกำหนดภาระหน้าที่หรือเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวหรือผู้ประกันต้องปฏิบัติเกินความจำเป็นแก่กรณีมิได้ นอกจากนี้ หากศาลเห็นควรสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ศาลต้องแสดงเหตุผลและต้องแจ้งเหตุดังกล่าวให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยและผู้ที่ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวทราบเป็นหนังสือโดยเร็ว

สรุป

จากที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า การปล่อยชั่วคราวนั้นกฎหมายได้วางหลักเกณฑ์ในการพิจารณาไว้อย่างชัดเจน โดยมีนัยสำคัญ คือ การสงวนและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในช่วงเวลาที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาลงไปแน่ชัดว่าผู้นั้นกระทำความผิดจริง จึงต้องยอมรับว่าโดยหลักการแล้วการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยควรจะได้รับ เว้นแต่กรณีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น ผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงานหรือดำเนินคดีในศาล ศาลอาจสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวและยังคงควบคุมตัวไว้ในอำนาจของรัฐก็เป็นได้

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
และโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น