xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังฟ้าดินจากในหลวงปวงชนสู่ราชประชาสมาสัย (6.2 ตอนก่อนจบ)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
ข้อสังเกตหรือข้อสรุปที่ 3 สังคมไทยมักเข้าใจผิดว่า การมีส่วนร่วม คือการมีสิทธิ เช่น การไปลงคะแนนเลือกตั้ง การทำประชาพิจารณ์ หรือลงประชามติ ซึ่งกระทำเป็นครั้งคราว หรือไม่ก็การประท้วงการชุมนุม การล่าลายชื่อเพื่อเสนอกฎหมาย หรือปลดบุคคลออกจากตำแหน่ง เป็นต้น

แท้ที่จริงการมีส่วนร่วม คือการมีหน้าที่อันเป็นกิจวัตรต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นสิ่งที่ จะสร้างหรือส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง นั่นได้แก่การปฏิบัติหน้าที่แต่ละวันตามฐานะและความรับผิดชอบของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่ประจำหรืออาสาสมัครก็ตาม

Alexis De Toqueville ปราชญ์ฝรั่งเศส ไปเยี่ยมอเมริกาในปี ค.ศ. 1831 เขียนหนังสือ เรื่อง Democracy in America ที่โด่งดังอยู่จนทุกวันนี้ ชื่นชมว่าประชาธิปไตยอเมริกันดีเด่นก็เพราะคนอเมริกันไม่แต่ทำงานอาชีพเท่านั้น ยังปฏิบัติหน้าที่ในสมาคมการเมือง (political associations) และอาสาสมัครในประชาคมอีกด้วย แม้แต่เรื่องหมาเห่าหนวกหู ชาวบ้านก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นช่วยกันแก้ปัญหาทันที

คนแต่ละคนอาจจะมีหน้าที่อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1. หน้าที่ต่อครอบครัว เพื่อนบ้าน และเพื่อนมนุษย์ 2. หน้าที่การงาน 3. หน้าที่พลเมืองดี หากแต่ละคนยึดถือประชาธิปไตยเป็นหลักในการปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกันทั้ง 3 ประการแล้ว ระบอบประชาธิปไตยซึ่งเป็นวิถีชีวิต ก็จะจำเริญงอกงาม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาท ที่สมควรนำมาเป็นหลักคิดอย่างยิ่งว่า “จะต้องพิจารณาว่า ผู้ที่มีหน้าที่ต่างๆ กัน ย่อมต้องทำหน้าที่นั้นให้ดีข้อหนึ่ง อีกข้อหนึ่งในการทำหน้าที่นั้น ต้องไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เพื่อให้ผู้อื่นสามารถทำหน้าที่ได้”

เมืองไทยไม่นิยมแบ่งชนชั้น แต่ถ้าจะแบ่งก็ได้โดยอาศัยฐานะความมีอยู่มีกิน ระดับการศึกษา บ้านช่องถิ่นที่อยู่อาศัย เป็นเครื่องแบ่งหยาบๆ ออกเป็นชนชั้นต่ำ ชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง

ผมขอตั้งข้อสังเกตดังต่อไปนี้

1. การละเลย หรือกระทำผิดหน้าที่ นอกจากหน้าที่ต่อครอบครัว ชนชั้นสูงละเลยและกระทำผิดมากกว่าชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางมากกว่าชนชั้นต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเสียภาษี การไปเกณฑ์ทหาร การทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งการไปออกเสียงเลือกตั้ง

ชนชั้นสูงที่มีอำนาจปกครอง ตั้งตนเป็นเจ้าพ่อ รับจ้างคุ้มครอง (ธุรกิจ บ่อนการพนัน และพรรคการเมืองฯลฯ) รีดไถ รับทวงหนี้ กดขี่ คดโกง คอร์รัปชัน ใต้โต๊ะ แป๊ะเจี๊ยะ เงินไม่มาช้าไม่เซ็น ฯลฯ นอกจากจะไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ถูกต้องแล้ว ยัง “ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้” เป็นการทำลาย “ประโยชน์สุข” ของบ้านเมืองหรือประชาราษฎรโดยตรง

ถามว่านี่เป็นเรื่องปกติทุกเมื่อเชื่อวัน หรือว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด ร้อยวันพันปีจะมีสักครั้ง ใครบ้างที่ทำอย่างนี้ได้ ถ้ามิใช่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พ่อค้าใหญ่ นักการเมืองใหญ่

2. การกีดกันการมีส่วนร่วม และการแย่งพื้นที่ทางการเมือง การ “กีดกัน” ณ ที่นี้ มิได้เจาะจงจำเพาะการกีดกันซึ่งๆ หน้าเท่านั้น แต่เป็นการกีดกันเชิงวิเคราะห์ด้านโครงสร้างทั้งระบบ ซึ่งมีอิทธิพลครอบงำลงไปถึงทั้งความคิดและพฤติกรรมในสังคมไทยด้วย ยกตัวอย่างง่ายๆ ด้วยคำพูดว่า “คนจนไม่มีสิทธิ” เช่น เด็กบ้านนอกไม่มีสิทธิเข้าโรงเรียนในตัวจังหวัด ลูกคนจนไม่มีสิทธิเข้าโรงเรียนดังๆ งานดีๆ ตำแหน่งดีๆ ลูกท่านหลานเธอก็เอาไปกินหมด ฯลฯ ผลลัพธ์ก็คือชนชั้นต่ำและชนชั้นกลาง (ที่ค่อนข้าง) ต่ำ ไม่สามารถมีส่วนร่วมอันเป็นปกติในวิถีประชาธิปไตยได้ เพราะฐานะทางครอบครัว ฐานะทางอาชีพการงาน และฐานะพลเมืองชั้น 2 ไม่เอื้ออำนวย จึงทำได้ก็แต่การไปขายสิทธิขายเสียง ไปลงคะแนน ไปรับจ้างหรือไปประท้วงจริงๆ เป็นครั้งเป็นคราวเท่านั้น ปล่อยให้ระบบการเมืองถูกผูกขาดโดยหัวหน้าหรือคณะผู้นำที่มีเงินตั้งพรรค ระดมหรือประมูลซื้อขายพรรคและผู้สมัครจากชนชั้นกลางซึ่งทั่วประเทศมีไม่กี่พันคน

คนประเภทหลังนี่แหละที่เป็นผู้ “จับจอง” และ “คุ้มครอง” “พื้นที่ทางการเมือง” เอาไว้หมด คนอื่นๆ เข้าไม่ถึงเพราะ “ไม่มีโอกาส ไม่มีตำแหน่งหน้าที่ ไม่มีเงิน ไม่มีกึ๋น หน้าด้านไม่พอ หรือไม่อยากเอาพิมเสนไปแลกกับเกลือ อยากเป็นคนดีก็อย่าเข้าไปยุ่งกับการเมือง” ฯลฯ เมื่อ นักการเมืองคุม “พื้นที่ทางการเมือง” ได้เบ็ดเสร็จ แล้วก็เขยิบเข้าไปคุม “พื้นที่สื่อ” “พื้นที่ทางการค้า” และ “พื้นที่ทางสังคม” จนเกือบจะทุกตารางนิ้วของประเทศไทย

ขออภัยดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ขอยกท่านเป็นตัวอย่าง

ดร.สุเมธ เขียนหนังสือ “ข้าแผ่นดินสอนลูก” 25 เมษายน 2544 เล่าว่าท่านได้ไปร่วมตั้งพรรคการเมืองเพื่อลองใช้วิชาการและทฤษฎีที่ได้เล่าเรียนมา ในที่สุดก็ ซ.ต.พ.ว่า “วิชาการทฤษฎีหลักการความฝันประชาธิปไตยนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนภาคปฏิบัติการเมืองนั้นเป็นเรื่องหนึ่ง” สิ่งที่ท่านได้เห็นมาก็คือ “ระยะเวลาผ่านมาไม่ถึงปี ความฝันที่จะใช้หลักการวิชาการในเชิงรัฐศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาก็จางหายเลือนรางไปทุกที การคัดเลือกผู้สมัครก็ยังใช้วิชาการเดิมๆ หลักการใช้เงินใช้ทองก็เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง มีระบบครอบครัวบริหารเข้ามาในพรรค ฯลฯ นี่เป็นเรื่องเมื่อ 40 ปีก่อน มาจนบัดนี้ก็ยังเหมือนเดิมไม่แปรเปลี่ยน มีความรู้สึกว่าเลวร้ายกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำไป”

ดร.สุเมธ เป็นทายาทอดีต รมต. อารีย์ ตันติเวชกุล ส.ส.โคราช 5 สมัย ถึงกับเข็ดขี้อ่อนขี้แก่ สั่งสอนลูกชายว่า “ถ้าหากไม่อยากสูญเสียอิสรภาพส่วนตัวแล้วละก็ อย่าไปแตะต้องกับการเมืองเลย”

นี่คือตัวอย่างคนที่สามารถสร้าง “ประโยชน์สุข” ให้กับชาติ ถูกปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองจนต้องถอยออกไปอย่างไม่ไยดี ในขณะที่ชาวบ้านซึ่งยากจนต่ำต้อยไร้การศึกษากลับถูกระดมเข้ามา ในนามของการมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่แท้ที่จริงก็เพื่อเป็นเบี้ยให้กับนักการเมืองอาชีพที่ใช้เงินต่ออำนาจ อำนาจต่อเงินและความยิ่งใหญ่ในแผ่นดินนั่นเอง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นยอดอัจฉริยะในเรื่องนี้

ตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา เรามีการพัฒนาเศรษฐกิจการเมืองและระบบราชการ มีการเปลี่ยนแปลงทางวัตถุมากมาย แต่ยิ่งเปลี่ยน คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้น คนจนก็ยิ่งจนลง

ในหลวงทรงรับสั่งว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงต้องเหนื่อย ต้องลำบากอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อประชาชนยากจนแล้ว อิสระและเสรีภาพเขาจึงไม่มี และเมื่อเขาไม่มีเสรีภาพ เขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้”

เมื่อไม่นานมานี้พลเอกสนธิ ประธาน คมช.บอกว่าอยากร้องไห้ เพราะเพิ่งรู้ นึกไม่ถึงคนอะไรสามารถโกงบ้านโกงเมืองจนเกือบจะฉิบหายวายป่วงได้ถึงเพียงนี้ ผมขอต่อให้ว่า บ้านเมืองอะไรจึงรักใคร่บูชาคนที่กอบโกยคดโกงตนเองได้ถึงขนาดนี้

สรุปว่า เรื่องทั้งหมดนี้ นักวิชาการ สื่อ ราชการ การเมือง กองทัพ ต่างก็ทำหน้าที่หรือการมีส่วนร่วมของตนเองบกพร่อง ไม่โปร่งใส และล้มเหลวเสียจนกระทั่งชายชาติทหารจะต้องหลั่งน้ำตา กว่าจะรู้ว่าสังคมไทยเป็นถึงเพียงนี้ ชายชาติทหารก็อายุปาเข้าไปตั้ง 60 ขวบแล้ว ขึ้นถึงยอดสุดของชนชั้นสูงกุมอำนาจปกครองแล้ว แล้วตาสีตาสาในท้องนาหรือชาวบ้านที่ลำบากยากจน ข้าวสารไม่มีจะกรอกหม้อ ไม่มีเงินซื้อหนังสือพิมพ์ หรือโทรทัศน์ จะต้องคอยอีกกี่ชาติ จึงจะหูตาสว่างเหมือนผู้บัญชาการทหารบกได้

ผู้บัญชาการกองทัพบกเชื่อหรือไม่ ที่ชนชั้นปกครองและปัญญาชนไทยมักจะโทษว่าประชาธิปไตยไม่เจริญ เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้จักหน้าที่ พากันขายสิทธิขายเสียง เห็นแก่ได้เล็กๆ น้อยๆ ในขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการกองทัพบกมองข้ามไปหรือเปล่าว่า พรรคการเมืองและผู้สมัครต่างหากที่ซื้อสิทธิซื้อเสียงอย่างไม่มียางอาย นายทุนต่างหากที่ซื้อทั้งพรรคทั้งผู้สมัคร เพราะยิ่งรู้ลู่ทางก็ยิ่งกิเลสจับ อยากมีอำนาจขึ้นเรื่อยๆ ผู้มีอำนาจบ้านเมืองมักจะเข้ากับฝ่ายหลัง เพราะเป็นพรรคพวกเดียวกัน ระวังอย่าว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง กระโจนลงน้ำครำไปด้วย

ผู้บัญชาการทหารบกฟังบรมราโชวาทนี้แล้วรู้สึกอย่างไร “การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย (จึง) มิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากอยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”

ผมขอทราบว่า คมช.ทำแล้วหรือยัง “การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง” ถ้ายังไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ เพราะต้องเคารพรัฐธรรมนูญ 2549 อยู่หรือต้องคอยรัฐธรรมนูญ 2550 ตอบผมหน่อยเถิดว่า รัฐธรรมนูญ 2550 จะ “ควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย” ได้อย่างไร

หรือคมช.เชื่อว่า “คำตอบสุดท้ายอยู่ที่การเลือกตั้ง” แต่นั่นคือคำตอบสุดท้ายของทักษิณมิใช่หรือ โปรดฟังอีกครั้ง แล้วคิดดูให้ดีๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น