xs
xsm
sm
md
lg

มาตรการคุ้มครองผู้ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

ปัจจุบันมีปัญหาเกี่ยวกับการคุมขังบุคคลเกิดขึ้นหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ชอบ หรือมิชอบด้วยกฎหมายก็ตาม ดังตัวอย่างที่เห็นได้จากข่าวในกรณีที่พนักงานสอบสวนสน.บางซื่อ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาขอให้ปล่อยตัวนพ.ประกิตเผ่า ทมทิตชงค์ จากการควบคุมของรพ.ศรีธัญญา ตามบันทึกแจ้งความของน.ส.เปมิกา วีรชัชรักษิต หรือในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ร้องขอให้ศาลออกหมายขังของ 8 แกนนำ น.ป.ก. โดยเป็นการร้องขอตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (“ป.วิ.อ.”) ซึ่งบทบัญญัตินี้ได้บัญญัติขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลในอันที่จะไม่ให้บุคคลอื่นมาคุมขัง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ได้มีการกำหนดมาตรการคุ้มครอง ให้บุคคลดังกล่าวที่ถูกคุมขังสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปล่อยตัวได้

การยื่นคำร้องขอให้ปล่อยตัว

ในกรณีที่มีการคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลนั้นสามารถที่จะร้องขอต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญานั้นขอให้ปล่อยตนได้ ทั้งนี้การจะร้องขอได้นั้นต้องมีองค์ประกอบ ดังต่อไปนี้ คือ

1. ต้องมีการถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

การถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 90 แห่ง ป.วิ.อ. นี้ จะต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) มีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือ

(2) มีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ดีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายนี้ ไม่จำกัดว่าจะเป็นการควบคุมหรือขังโดยเจ้าพนักงานหรือบุคคลทั่วไป ดังนั้นเมื่อมีข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลว่าภรรยาผู้ร้องถูกคนร้ายสมคบกันฉุดคร่าไปเพื่ออนาจารและข่มขืนกระทำชำเรา ต่อมาผู้ร้องสืบได้ว่าคนร้ายได้นำภรรยาผู้ร้องไปหน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านที่มีการกักขังนั้น เพื่อช่วยภรรยาผู้ร้องที่ถูกกักขังไว้โดยมิชอบ ถือว่าผู้ร้องได้ร้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 90 ด้วย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1200/2504 (ประชุมใหญ่)) หรือหากการถูกคุมขังนี้เป็นการถูกคุมขังที่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 แต่ผู้ร้องยังไม่ได้ถูกฟ้องต่อศาลและไม่ได้ถูกคุมขังโดยอำนาจศาล แต่ถูกคุมขังโดยพนักงานสอบสวน ก็สามารถร้องขอต่อศาลยุติธรรมให้ปล่อยได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1557/2503 (ประชุมใหญ่))

ถ้าไม่มีการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายในระหว่างที่มีการยื่นคำร้องขอให้ปล่อย หรือการไต่สวนคำร้องขอให้ปล่อยนั้นยังไม่ถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกคุมขังได้รับการปล่อยตัวไปในระหว่างนั้นก็ตาม ศาลชอบที่จะจำหน่ายคดีนั้นได้และสิทธิของบุคคลที่ร้องขอให้ปล่อยย่อมระงับไป เพราะสิทธิเช่นว่านั้นจะมีอยู่เพียงระยะเวลาที่ถูกคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น เช่นตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ 7116/2544 ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเจ้าพนักงานตรวจค้น จับกุมและคุมขังผู้ร้องโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แต่ข้อเท็จจริงในขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้องปรากฎว่าอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ร้องต่อศาลในความผิดดังกล่าว และศาลชั้นต้นประทับรับฟ้องพร้อมทั้งออกหมายขังผู้ร้องไว้ระหว่างพิจารณา ดังนั้นถึงแม้ว่าการคุมขังโดยเจ้าพนักงานจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สิ้นสุดไปแล้วเมื่อศาลประทับฟ้องและออกหมายขังผู้ร้องในระหว่างพิจารณา สิทธิของผู้ร้องที่จะร้องขอให้ปล่อยจากการคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจึงระงับไป

2. บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย ได้แก่

(1) ผู้ถูกคุมขังเอง
(2) พนักงานอัยการ
(3) พนักงานสอบสวน
(4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
(5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง

การดำเนินการไต่สวนของศาล

มาตรา 90 วรรคท้าย แห่ง ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลที่ได้รับคำร้องขอให้ปล่อย จะต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน หากศาลเห็นว่า คำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมายให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที ทั้งนี้ผู้คุมขังไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าพนักงานจะเป็นบุคคลอื่นใดก็ได้ที่ก่อให้เกิดการคุมขัง เมื่อมีการนำผู้คุมขังและตัวผู้ถูกคุมขังมาที่ศาลพร้อมกันแล้ว ศาลจะเริ่มทำการไต่สวนตามมาตรา 90 แห่ง ป.วิ.อ. และการไต่สวนตามมาตรานี้ไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติเรื่องการสืบพยานในคดี โดยเมื่อศาลเห็นว่าคำร้องนี้มีมูล ศาลจึงจะมีคำสั่งให้ผู้คุมขังนำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาล และเป็นหน้าที่ของผู้คุมขังที่จะพิสูจน์และนำพยานมาสืบให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย การไต่สวนและอ้างพยานในชั้นนี้ แม้ผู้คุมขังจะไม่ได้ยื่นคำคัดค้านและไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานไว้ก็ดี ก็ยังสามารถนำพยานเข้าไต่สวนและอ้างส่งเอกสารเพื่อพิสูจน์ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังนั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 7387/2543)

สรุป

การคุมขังบุคคลใดบุคคลหนึ่งจะต้องกระทำการด้วยความระมัดระวัง เพราะการกระทำเช่นว่านั้นกระทบถึงสิทธิเสรีภาพโดยตรงของบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการกระทำโดยมิชอบไม่ว่าจะเป็นการควบคุมกักขังโดยเจ้าพนักงานหรือบุคคลทั่วไป กฎหมายจึงต้องมีมาตรการที่จะคุ้มครองเมื่อมีการกระทำโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้น โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะต้องทำการไต่สวนหาความจริงว่ามีการควบคุม กักขังโดยมิชอบด้วยกฎหมายจริงหรือไม่ หากเป็นจริงศาลต้องมีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังนั้นไปทันที ทั้งนี้ศาลจะพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณีไป

สราวุธ เบญจกุล
รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม
โฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น