xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาเปลี่ยนระบบค่าเงินแล้วหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

.
“แม้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินเหรียญสหรัฐจะมีเสถียรภาพมั่นคง แต่เป็นระบบที่ไม่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ เพราะสกุลเงินอื่นๆ อาทิ มาร์ก ปอนด์ สเตอริง ล้วนลอยตัวค่าเปลี่ยนแปลงขึ้นลงค่อนข้างมาก การที่เงินบาทอิงอยู่กับเหรียญสหรัฐจึงไม่สามารถแสดงค่าที่แท้จริงเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น และการที่อิงเงินเหรียญสหรัฐมากเกินไปนี้ เมื่อเงินเหรียญอ่อนเงินบาทเราจะอ่อน (เมื่อเทียบกับสกุลอื่น) และตรงกันข้ามเมื่อเงินเหรียญสหรัฐแข็งเงินบาทเราก็จะแข็ง ดังนั้นไม่สะท้อนสภาวะเศรษฐกิจของไทย”

นี่คือคำพูดของ นายสมหมาย ฮุนตระกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ได้ประกาศลดค่าเงินบาทและเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทจากอิงเงินเหรียญสหรัฐ ให้กลายเป็นระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบระบบตะกร้าเงินที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในปี 2527

การลดค่าเงินบาทในสมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในสมัยที่มีนายสมหมาย ฮุนตระกูล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังนั้นเกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง เป็นการลดค่าเงินในปี พ.ศ. 2524 จำนวน 2 ครั้ง และเป็นการลดค่าเงินอีก 1 ครั้งในปลายปี 2527 พร้อมๆ กับการเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบตะกร้าเงินในที่สุดในปีเดียวกัน

การลดค่าเงินบาทในครั้งนั้นมีเหตุผลหลักเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่ามาก เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากมีประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่มากกว่า 20 ประเทศ ได้ลดค่าเงินของตัวเองทำให้เงินบาทที่อิงเงินเหรียญสหรัฐแบบคงที่ได้ทยอยแข็งค่าขึ้นอย่างผิดปกติ จนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันเกิดปัญหาการขาดดุลการค้าและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างหนักหน่วง

“ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไป” กลายเป็นปัญหาหลักในสมัยนั้น (และในสมัยนี้ด้วย) หากแต่เงินบาทในตอนนั้นใช้ระบบควบคุมการเข้าออกของเงินตราต่างประเทศ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนเงินตรา สามารถกำหนดให้อ่อนค่าได้ด้วยการประกาศของทางการ และการใช้ระบบตะกร้าเงินก็เป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะสามารถที่จะประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย

เรื่องค่าเงินบาทในยุคนั้นถือได้ว่าเป็นความลับ ไม่มีใครที่จะไปรู้สูตรการคำนวณ และการปรับเปลี่ยนสัดส่วนของตะกร้าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยในเวลานั้น นั่นหมายถึงว่าประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถที่จะรู้การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทเป็นการล่วงหน้าได้

ในเวลาต่อมาหลังจากเกิดวิกฤตในปี 2540 จึงมีการเปิดเผยข้อมูลว่าที่ผ่านมา “ค่าเงินบาทได้ให้น้ำหนักตามค่าเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาประมาณร้อยละ 80 - 90 ในระบบตะกร้าเงิน”

หมายความว่า การเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในปี 2527 นั้นมีวัตถุประสงค์หลักคือการ “ลดค่าเงินบาทให้อ่อนค่าลง” เป็นสำคัญ แต่การเปลี่ยนระบบเป็นแบบตะกร้าเงินในปี 2527 นั้นก็เพื่อทำให้เกิดความยืดหยุ่นในอนาคต โดยส่วนใหญ่ยังอิงเงินเหรียญสหรัฐระบบค่าเงินบาท และด้วยระบบนี้ค่าเงินบาทก็จะยังคงมีค่า “ค่อนข้างคงที่” เมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐต่อไปหากไม่มีการประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนจากทางรัฐบาล

ความผิดพลาดส่วนหนึ่งในสมัยรัฐบาลและแบงก์ชาติในยุคต่อๆ กันมาก่อนที่จะเกิดปัญหาในปี 2540 ก็ตรงปล่อยให้ มีหนี้ต่างประเทศระยะสั้นมากจนเกินไป พร้อมๆ กับปล่อยให้ “ค่าเงินบาทแข็งค่ามากเกินไป” เป็นเวลาหลายปี จนเกิดปัญหาวิกฤตการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างรุนแรงและต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ทั้งๆ ที่ค่าเงินบาทสามารถที่จะตัดสินใจให้ “ลดค่าเงินบาท” ได้จากระบบตะกร้าเงินที่เคยเป็นอยู่ก่อนหน้านี้

และความผิดพลาดอีกส่วนหนึ่งในปี 2540 ก็ตรงที่รัฐบาลปล่อยให้แบงก์ชาติมากเกินไปประการหนึ่ง และแบงก์ชาติได้ตัดสินใจในการแทรกแซงโดยการซื้อขายเงินตราเพื่อปกป้องค่าเงินอย่างไร้ขีดจำกัด จนต้องพ่ายแพ้ต่อกองทุนเก็งกำไรค่าเงินต่างประเทศอย่างยับเยินเป็นอีกประการหนึ่ง

หลังจากพ่ายแพ้ต่อการโจมตีค่าเงินบาทแบงก์ชาติในปี 2540 ได้มีการถกเถียงกันว่าจะตัดสินใจในทิศทางใดระหว่าง “ลดค่าเงินบาท” หรือ “ลอยค่าเงินบาท” แต่เนื่องจากในเวลานั้น แบงก์ชาติเห็นแล้วว่าทุนสำรองทางการมีน้อยมากแล้ว และยังไม่รู้การลดค่าเงินบาทที่เหมาะสมเพื่อยุติการโจมตีค่าเงิน จึงได้ตัดสินใจ “ลอยค่าเงินบาท” เพื่อหาราคาอ้างอิงใหม่ของเงินบาท

หลังจากปี 2540 เป็นต้นมาแบงก์ชาติ จึงเกิดอาการเข็ดขยาดในการที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับค่าเงินบาท จึงปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวเกือบจะเป็นไปตาม “ยถากรรม” และไม่กล้าที่จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่บนการตัดสินใจของรัฐบาลหรือแบงก์ชาติ และมักจะอ้างกันหลายยุคหลายสมัยว่าเป็นไปตาม “กลไกตลาด”

คำสวยหรูที่เรียกว่า “กลไกตลาด” นั้นย่อมรวมถึงการปล่อยให้มีการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้อย่างไร้ขีดจำกัด เหมือนการเก็งกำไรในตลาดหุ้น

หลังปี 2540 ประเทศไทยได้อาศัย “การลดค่าเงิน” ที่เป็นผลต่อเนื่องมาจาก “การลอยค่าเงิน” ทำประเทศไทยเกินดุลการค้า และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จนมีเงินตราไหลเข้ามาในทุนสำรองระหว่างประเทศ จนสามารถชดใช้หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนที่รัฐบาลค้ำประกันจนเกือบหมดในสมัยรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย ชุดที่ 2 และสามารถชำระหนี้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้ก่อนกำหนดในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

แต่ด้วยระบบ “ลอยค่าเงิน” ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2540 ยามใดก็ตามที่ประเทศไทยมีเงินตราต่างประเทศเข้ามาจากการเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัด เงินตราต่างประเทศที่เข้ามาก็จะทำให้เงินบาททยอยแข็งค่าขึ้นตามความต้องการเปลี่ยนเป็นเงินบาทมากขึ้น เงินบาทก็จะทยอยแข็งค่าขึ้นตามหลักอุปสงค์ (Demand) ของเงินบาทที่มากขึ้น เมื่อเงินบาทแข็งค่ามากขึ้นความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศก็จะลดลงตามลำดับ

ด้วยระบบนี้ ความได้เปรียบในเรื่องค่าเงินเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความสามารถในการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศก็จะอยู่ได้ไม่นาน ผู้ส่งออกและผู้นำเข้ายังต้องมี “ต้นทุนความเสี่ยงทางการเงิน” เพิ่มมากขึ้นเพราะค่าเงินบาทไม่มีทางที่จะมีเสถียรภาพได้

ค่าเงินบาทที่ไม่มีเสถียรภาพ นอกจากจะทำให้เกิดความเสียเปรียบในเรื่องการค้าระหว่างประเทศแล้ว ยังเป็นผล “ส่วนหนึ่ง” ที่ทำให้ “ผู้ลงทุนต่างประเทศระยะยาว” ลังเลในการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาลงทุนขยายฐานการผลิตในประเทศไทยอีกประการหนึ่งด้วย จึงไม่น่าแปลกใจที่ในช่วงปีหลังๆ มานี้การลงทุนและฐานการผลิตได้ย้ายไปประเทศที่มีค่าเงินที่อ่อนและมีเสถียรภาพมากกว่าประเทศไทย

คงเหลือแต่ “นักลงทุนระยะสั้น” ที่พร้อมจะนำเงินเข้ามาในตลาดเก็งกำไร ทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เพื่อเป้าหมายในการเก็งกำไรค่าเงินบาทอย่างไร้ขีดจำกัด

หลังการเข็ดขยาดของแบงก์ชาติในปี 2540 แบงก์ชาติจึงไม่กล้าที่จะเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเสียใหม่ เพราะไม่อยากรับผิดชอบไปมากกว่านี้ จึงทำได้อย่างมากก็โดยใช้อัตราดอกเบี้ยและการเข้าแทรกแซงซื้อขายเงินดอลลาร์ ซึ่งก็ไม่เคยได้ผล เพราะเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทนั้นมีจำนวนมากกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศและปริมาณเงินบาทที่มีอยู่ในประเทศหลายเท่า

การใช้เครื่องมือ “ดอกเบี้ย” และ “การซื้อขายดอลลาร์” จึงไม่มีทางได้ผลอีกต่อไป แม้แต่การออก 6 มาตรการของแบงก์ชาติก็ไม่สามารถที่จะหยุดการเก็งกำไรค่าเงินบาทได้เช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะ “ระบบค่าเงิน” และ “วิธีการจัดการ” กับระบบค่าเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบันล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง จนค่าเงินบาทก็ยังคงแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคต่อไป

ผลลัพธ์จาก “ระบบลอยค่าเงินลอยตัว” และ “วิธีการจัดการ” ที่ใช้มา10 ปีนั้น ถึงเวลาที่จะต้องมาทบทวนกันเสียใหม่ได้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น