xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีที่ผ่านไปของฮ่องกง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

กล่าวกันว่า คนที่รู้สึกว่าเวลาผ่านไปเร็วนั้น มักจะเป็นคนที่มีภาวะการดำรงชีวิตอยู่ 2 แบบ แบบหนึ่ง เป็นภาวะที่กำลังมีความสุข ภาวะเช่นนี้ไม่มีใครอยากจะให้หายไปจากชีวิต ดังนั้น คนที่มีความสุขจึงมักจะรู้สึกว่าเวลาของตนช่างผ่านไปเร็วเสียนี่กระไร

อีกแบบหนึ่ง เป็นภาวะที่มีภารกิจต้องปฏิบัติอยู่ตลอดเวลา คือมีตั้งแต่หน้าที่การงาน พันธะต่อญาติสนิทมิตรสหายและครอบครัว ภาวะเช่นนี้คงทั้งสุขและทุกข์ปนๆ กันไป ซับซ้อนเกินกว่าจะบอกได้ว่าสุขหรือทุกข์แบบกำปั้นทุบดิน

เกริ่นมาเช่นนี้ก็เพื่อที่จะถามว่า วันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วของฮ่องกงหลังกลับสู่อ้อมอกของจีนใน ค.ศ.1997 คนฮ่องกงรู้สึกตนในภาวะแบบไหนใน 2 แบบข้างต้น คำตอบที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นแบบที่ 2

10 ปีที่ผ่านไปของฮ่องกงเป็นเวลาที่ฮ่องกงได้กลับไปอยู่ใต้การปกครองของจีนผ่านรูปแบบการเมืองที่เรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” รูปแบบนี้หมายความว่า ฮ่องกงสามารถดำรงการปกครองของตนคล้ายกับเมื่อสมัยอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ (ในฐานะเขตเช่า) ได้ต่อไปอีก 50 ปี (นับจากปี ค.ศ.1997) ที่ชาวฮ่องกงจะมีสิทธิเสรีภาพดังประชาชนในโลกเสรี อันเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากที่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นอยู่

ด้วยเหตุนี้ แม้จีนแผ่นดินใหญ่กับฮ่องกงจะเป็นพี่น้องร่วมชาติที่ต่างก็อยู่ในประเทศเดียวกันนี้ แต่จีนกับฮ่องกงกลับมีรูปแบบการเมืองที่แตกต่างกัน เช่นนี้จึงเรียกว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั่นเอง ถ้าเช่นนั้นแล้วอะไรคือเกณฑ์ที่จะบอกว่า วันเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็วนั้น เร็วเพราะชาวฮ่องกงมีภาวะการดำรงชีวิตในแบบที่ 2 ?

คำถามนี้ตอบไม่ยาก เพราะตั้งแต่ก่อนที่จะถึงปี ค.ศ.1997 เสียอีก ที่ชาวฮ่องกงรู้สึกไม่สู้จะสนิทใจกับการกลับไปอยู่ใต้การปกครองของจีนแผ่นดินใหญ่เสียเลยทีเดียว เหตุผลโดยรวมอาจสรุปได้ว่า หนึ่ง ว่ากันที่จริงแล้ว ชาวฮ่องกงก็คือชาวจีนที่อพยพและ/หรือหลบหนีจากแผ่นดินใหญ่มาใช้ชีวิตในฮ่องกง ตั้งแต่ก่อนและหลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินใหญ่ในปี ค.ศ.1949 โดยทั้งก่อนและหลังปีที่ว่านี้ หากเปรียบชีวิตความเป็นอยู่กันแล้ว ฮ่องกงย่อมน่าอยู่กว่ามาก

สอง ชาวฮ่องกงส่วนใหญ่เช่นกันที่ตระหนักอยู่เสมอว่าตนคือคนจีนแผ่นดินใหญ่ ถึงแม้บรรดาลูกเด็กเล็กแดงที่เกิดในฮ่องกงเองก็ตาม ก็มักได้รับการถ่ายทอดจากบุพการีของตนว่าเป็นใครมาจากไหน แต่ความตระหนักนี้บางทีก็ยากจะทำใจ ด้วยว่ารักชาติ (จีน) นั้นรักแน่ แต่กับสภาพชีวิตทางเศรษฐกิจและการเมืองที่ต่างกันหน้ามือเป็นหลังมือนั้น ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชาวจีนกลุ่มนี้จำต้องเลือกที่จะอยู่ในฮ่องกง หมายความว่า แม้จะยอมรับการที่จะต้องกลับไปอยู่กับจีนแผ่นดินใหญ่ แต่การยอมรับนี้ก็เป็นการยอมรับสภาพมากกว่าที่จะเต็มใจ

รัฐบาลจีนที่ปักกิ่งเองก็เข้าใจความรู้สึกเช่นนั้นของชาวฮ่องกง ฉะนั้น ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงเป็นช่วงที่รัฐบาลปักกิ่งต้องพิสูจน์ให้ชาวฮ่องกงเห็นว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั้น ได้ผลจริง ซึ่งเมื่อดูจากถ้อยแถลงของ หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีจีนแล้ว ความสำเร็จที่ถูกเน้นมากเป็นพิเศษก็คือ เศรษฐกิจ ซึ่งถ้าคิดแบบ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” แล้ว ถ้อยแถลงที่ว่าก็ไม่เกินเลยจากความเป็นจริงมากนัก เพราะตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจที่ทั้งสองฝ่ายอิงซึ่งกันและกันได้เกิดผลพวงความสำเร็จอยู่ไม่น้อย

แต่ถ้าคิดทบทวนผ่านเหตุการณ์ต่างๆ จากช่วงเวลาที่ว่าแล้ว ก็ยากที่จะตอบได้อย่างชัดเจนว่า ชาวฮ่องกงรู้สึกสำเร็จไปกับ หู ด้วยหรือไม่ เริ่มจากภายหลังที่ฮ่องกงกลับคืนสู่จีนไปแล้วไม่นาน ก็ปรากฏว่า ชาวฮ่องกงต่างรู้สึกไม่พอใจการบริหารงานของ ต่งเจี้ยนฮว๋า ผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ซึ่งเป็นผู้ที่รัฐบาลปักกิ่งพอใจ

ต่งเจี้ยนฮว๋า ถูกมองว่ายอมอ่อนข้อให้แก่จีนมากเกินไป โดยเฉพาะในประเด็นทางการเมือง ที่ชาวฮ่องกงเห็นว่าไม่ได้เป็นไปตามข้อตกลงที่จะให้ชาวฮ่องกงดำรงสภาพการเมืองของตนไปอีก 50 ปี หัวใจที่สำคัญที่สุดของประเด็นนี้อยู่ที่สิทธิเสรีภาพ ที่ชาวฮ่องกงรู้สึกว่า รัฐบาลปักกิ่งพยายามที่จะเข้ามากำหนดและตรวจสอบอยู่เสมอ

ปัญหานี้ออกจะยากสำหรับรัฐบาลปักกิ่ง เพราะตั้งแต่ก่อน ค.ศ.1997 แล้วที่ฮ่องกงถือเป็นแม่เหล็กที่มีแรงดูดสูง คือดูดเอาชาวจีนแผ่นดินใหญ่ให้หลบหนีออกนอกประเทศมาอยู่ในฮ่องกง เหตุผลสำคัญเป็นเรื่องปากเรื่องท้องหรือเรื่องทำมาหากิน ที่ถึงจีนจะมุ่งมั่นพัฒนาประเทศตนให้ดีขึ้นอย่างไร เอาเข้าจริงกลับไม่อาจดึงคนของตนให้อยู่ติดแผ่นดินเกิดได้ และยิ่งฮ่องกงมีเสรีภาพมากกว่าด้วยแล้ว ก็เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

ฉะนั้น หลัง ค.ศ.1997 หากจีนแผ่นดินใหญ่ยังคงสภาพการเมืองของฮ่องกงเอาไว้ดังก่อนหน้านี้แล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ต้องเกิดภาพเปรียบเทียบ ยิ่งรัฐบาลปักกิ่งได้เชื่อมฮ่องกงกับจีนแผ่นดินใหญ่ให้มีการไปมาหาสู่กันสะดวกยิ่งขึ้นในชั้นหลังด้วยแล้ว ก็ยิ่งง่ายต่อชาวจีนที่จะหนีเข้ามายังฮ่องกงมากขึ้น โดยเฉพาะกับจุดเชื่อมต่อที่มีกับเมืองเซิ้นเจิ้น

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดชาวฮ่องกงซึ่งมีประสบการณ์มากขึ้น ว่าการกดดันรัฐบาลปักกิ่งนั้น คงหาทางสำเร็จได้ยาก ชาวฮ่องกงจึงหันมากดดัน ต่งเจี้ยนฮว๋า แทน จนผู้ว่าฯ คนแรกคนนี้จำต้องลาออกจากตำแหน่งไปในปี ค.ศ.2005 และผู้ที่เข้ามาแทนที่ก็คือ เจิงอินเฉีว์ยน หรือ โดนัลด์ เจิง ที่ชาวฮ่องกงนิยมเรียกเขาว่า “เจิงหูกระต่าย” เพราะเขาชอบผูกกระตายจนกลายเป็นเอกลักษณ์ประจำตัวไป

แต่กระนั้น “เจิงหูกระต่าย” ก็ถูกชาวฮ่องกงมองไม่ต่างจาก ต่งเจี้ยนฮว๋า ว่าถึงที่สุดแล้วก็เป็นผู้นำที่รัฐบาลปักกิ่งเลือกมาอยู่ดี ชาวฮ่องกงจึงยังคงแสดงพลังในการกดดันเขาอยู่เป็นระยะ ที่น่าสนใจก็คือว่า “เจิงหูกระต่าย” ซึ่งเข้ามารับช่วงอำนาจต่อจาก ต่ง นั้น เข้ามาในขณะที่ฮ่องกงได้เปลี่ยนแปลงไปในด้านอื่นๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่มีจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อม และมีตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่

เรื่องเล็กก็เช่น เมื่อฮ่องกงเปิดสวนสนุก “ดิสนีย์แลนด์” นั้น ก็หวังอยู่เต็มเปี่ยมว่าจะได้กำไรจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่จะเข้ามาเที่ยว (ที่หลัง ค.ศ.1997 เข้ามาได้สะดวกขึ้น) ผลปรากฏว่า ชาวจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาเที่ยวมากจริง แต่สิ่งที่สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าแก่พนักงาน 5,000 คนของสวนสนุกแห่งนี้ก็คือ ความไร้ระเบียบและความสกปรกที่ชาวจีนเหล่านี้แสดงออกมา

ส่วนเรื่องใหญ่ก็เช่น การที่ฮ่องกงต้องเผชิญปัญหาจากมลพิษ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากชาวฮ่องกงโดยตรง เพราะหลายสิบปีที่ผ่านมาภายใต้การปกครองของอังกฤษนั้น ฮ่องกงไม่เพียงจะได้รับการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดีเท่านั้น หากแต่ชาวฮ่องกงเองก็ถูกอบรมและรณรงค์ให้ตระหนักในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องด้วย จนกล่าวได้ว่า มีสำนึกในเรื่องนี้มากพอสมควร

แต่ที่เกิดปัญหานี้ขึ้นก็เพราะหลัง ค.ศ.1997 เรื่อยมา ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฮ่องกงได้ถูกขยายออกไปอย่างกว้างขวางในด้านเศรษฐกิจ โดยในด้านหนึ่ง เมืองเซินเจิ้นได้เติบโตอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมผุดขึ้นอย่างมากมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตและท่าเรือ อีกด้านหนึ่ง พลังงานไฟฟ้าส่วนเกินของฮ่องกงถูกขายให้แก่จีน (เพื่อสนองตอบต่อด้านแรก) การประหยัดพลังงานของชาวฮ่องกงจึงไม่เกิดผลดีแก่ตนเอง

ด้วยเหตุนี้ หมอกอันหนาทึบจึงปกคลุมท่าเรือวิคตอเรียจนมืดมัว พลังงานราคาถูกอย่างถ่านหินก็ถูกนำมาใช้แทนก๊าซธรรมชาติ ฟาร์มหอยมุกต้องปิดตัวลงจนเหลือไม่กี่แห่งเพราะคุณภาพน้ำเลวร้ายลง สัตว์ปีกก็ลดจำนวนลง เหลือแต่สัตว์ปีกที่มีความต้านทานมลพิษสูง ฯลฯ และทั้งหมดต่างก็มาจากตึกรามอาคารสูงและโรงงานที่ไม่มีบ่อบำบัดน้ำเสีย และทิ้งขยะมูลและของเสียอื่นๆ ลงท่อระบายน้ำ แล้วของเสียเหล่านี้ก็ลงสู่อ่าวในฮ่องกง

เนื่องจากปัญหานี้ไม่ได้เริ่มจากฮ่องกง ฮ่องกงจึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะแก้ได้โดยตรง ส่วนผู้ที่แก้ที่แท้จริงคือจีนแผ่นดินใหญ่นั้น ชาวฮ่องกงบอกว่า คงจะยาก เพราะท่านผู้นำเพิ่งแถลงฉลองครบ 10 ปีไปหยกๆ ว่ามีแต่ความสำเร็จ และ วิน วิน (win win) กันทั้งสองฝ่าย ไม่มีปัญหาอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น