xs
xsm
sm
md
lg

WHO จี้แก้ปัญหาคนไข้ฟ้องหมอ-แพทยสภาเตรียมตั้ง กก.ดึงภาคประชาชนเข้าร่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

องค์การอนามัยโลกประชุมใหญ่แก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ แพทยสภาเตรียมตั้งกรรมการโดยดึงภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม พร้อมดึงผู้ป่วยส่วนร่วมตัดสินใจในการรักษาเพิ่มมากขึ้น เพราะความผิดพลาดไม่ได้เกิดจากฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว ประกาศไม่เห็นด้วยที่จะให้ภาคประชาชนเป็นกรรมการแพทยสภา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ในการประชุมโครงการความปลอดภัยของคนไข้โดยคนไข้มีส่วนร่วม ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่จากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆนี้ โดยที่ประชุมมีมติร่วมกัน ในการประกาศแถลงร่วมจากาตาร์ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้ให้ลดน้อยลงมากที่สุด และเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นให้มีระบบในการที่จะแจ้งความเดือนร้อนเสียหายอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีระบบการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย

นอกจากนี้ ในการประชุมยังมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในแต่ละประเทศด้วย โดยในประเทศไทยจะมีการหารือร่วมกันกับกรรมการแพทยสภาเพื่อตั้งกรรมการด้านความปลอดภัยของคนไข้ขึ้น โดยให้ภาคเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากที่ผ่านมาอาจถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือแพทย์หรือมองปัญหาด้านเดียว อย่างไรก็ตาม จะมีการนำหลักการเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ป่วยมาร่วมพิจารณาด้วย เพราะความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว

“ปัญหาความขัดแย้งส่วนมากเกิดจากระบบมากกว่าบุคคล แต่กลับไปโทษคนว่าไม่ดี ทั้งที่ระบบสร้างปัญหา เช่น การที่แพทย์ต้องทำการรักษาผู้ป่วยจำนวนมากในแต่ละวัน ความเครียดและความกดดันเกี่ยวกับปัญหาหารฟ้องร้อง เป็นต้น อย่างก่อนหน้านี้กรณีการให้ยาผิด ผู้ป่วยไม่เป็นเบาหวานก็ไม่ได้บอกแพทย์เลยว่าไม่ได้เป็นเบาหวาน เพราะถ้าบอกก่อนก็ไม่ต้องให้ยาตัวนี้ กินแล้วผลการรักษาเป็นอย่างไรก็ไม่บอก ปล่อยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้วจึงนำมาพบแพทย์ นี่เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งในทุกๆ เรื่องถ้าผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษา รวมถึงการดูแลสุขภาพปัญหาจะเกิดน้อยมาก”นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า ในการประชุมเครือข่ายภาคประชาชนเสนอให้มีการนำความผิดพลาดทางการแพทย์มาตีแพร่เพื่อให้เกิดการแก้ไขเป็นบทเรียนนั้น แพทย์ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากจะยิ่งทำให้แพทย์ที่รักษาผิดพลาดไม่กล้าบอกและในที่สุดก็ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะเป็นการเอาแพทย์มาประจาน โดยในการประชุมแนะว่า การแก้ปัญหาเมื่อมีการผิดพลาดเกิดขึ้นควรก็รีบให้แจ้งความผิดพลาดโดยเร็วและหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความลับของผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญ

“ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมเป็นเครือข่ายประชาชน มีแพทย์น้อยมาก จริงๆ แล้วองค์การอนามัยโลกไม่ได้ติติงอะไรมากนัก ประกาศของจากาตาร์ฉบับนี้ก็เพื่อแต่ละประเทศจะต้องดำเนินการลดความขัดแย้ง และให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมตัดสินใจในการรักษาเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยและแพทย์จะต้องไม่ปิดบังข้อมูล แต่ก็ต้องรักษาความลับของผู้ป่วยไม่ให้รั่วไหลด้วย”

นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ เครือข่ายประชาชนยังมีความพยายามที่จะเสนอให้ภาคประชาชนเข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภา ซึ่งเป็นไปไม่ได้ คงไม่มีประโยชน์ เพราะแพทยสภาไม่ได้ทำหน้าที่ในการควบคุมจริยธรรมแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำหน้าที่ในการดูแลมาตรฐานวิชาชีพ การอนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอน ซึ่งภาคประชาชนไม่มีความรู้เป็นการเฉพาะ หากให้มาเป็นกรรมการแพทยสภา อาจทำให้เกิดปัญหาได้ ส่วนการที่จะเข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองจริยธรรม มีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งในคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าว ก็มีบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วยอยู่แล้ว เช่น นักกฎหมาย ผู้พิพากษา เป็นต้น

ด้าน นางปรียานันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้ได้รับความเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ กล่าวว่า ทราบมาว่าขณะนี้ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขพ.ศ. ที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันกฎหมายนี้ให้เกิดขึ้น อยู่ในบัญชีของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในการพิจารณาอย่างเร่งด่วนที่จะต้องเสร็จสิ้นให้ทันภายในรัฐบาลชุดนี้แล้ว แม้ว่าจะไม่เห็นร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวฉบับล่าสุดก่อนนำเสนอเข้าครม.พิจารณา แต่จากการร่วมประชาพิจารณ์ และร่วมอยู่ในกระบวนการแสดงความคิดเห็นมาโดยตลอด ถือว่าพอใจในสาระสำคัญของกฎหมายประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายนี้คือ การที่มีการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรับบริการทางการแพทย์ โดยที่ไม่จำกัดว่าผู้ที่ได้รับความเสียหายจะอยู่ระบบหลักประกันสุขภาพชนิดใด ซึ่งขณะนี้สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุขอยู่ระหว่างการวิจัย เพื่อหาขั้นตอนและจำนวนค่าชดเชยตามระดับความรุนแรงว่าควรจ่ายเงินชดเชยจำนวนเท่าใด รวมถึงคิดหาวิธีการในการป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก

นางปรียานันท์ กล่าวว่า งบประมาณค่าชดเชยความเสียหายจากกองทุนที่ตั้งขึ้นตามร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ส่วนหนึ่งได้รับการโอนมาจากกองทุนเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามมาตรา 41 ในพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รวมถึงการลงขันกันของสถานพยาบาลเอกชนด้วย ซึ่งพบปัญหาว่า สถานพยาบาลเอกชนไม่ต้องการร่วมลงขันในการตั้งกองทุนดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพุธ ที่ 1 สิงหาคม 2550 เวลา 9.00 น. ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลชั้นต้นจะอ่านคำพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งนายบุญชู สีสมน้อย เป็นโจทก์ ฟ้องสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ข้อหาละเมิด เนื่องจากผ่าตัดไส้ติงเป็นเหตุให้นางพรทิพย์ ภรรยาของนายบุญชู กลายเป็นบุคคลปัญญาอ่อนระดับรุนแรง โดยเรียกค่าเสียหาย 11,672,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น