xs
xsm
sm
md
lg

รัฐธรรมนูญซาเล้งความสมานฉันท์และสันติสุข

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
ศาสตราจารย์ดร.เจตนา นาควัชระ เป็นนักปราชญ์ผู้ลุ่มลึกในวัฒนธรรมทั้งไทยและเทศ เชี่ยวชาญ 3 ภาษาตะวันตกคืออังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ถึงขนาดสอนฝรั่งชั้นปริญญาเอกได้

เร็วๆ นี้ อาจารย์เจตนา บอกผมว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะทำประชามตินี้ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์ที่สุดคือพวกขับรถซาเล้งซื้อขายของเก่า ต่อไปสังคมไทยจะจดจำและให้ฉายารัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่ารัฐธรรมนูญซาเล้ง

ผมเป็นเด็กบ้านนอก ถึงจะเห็นด้วย แต่ผมคิดตามประสาบ้านนอกว่า บ้านผมไม่มีรถซาเล้ง กระดาษใบเล็กๆ ที่พิมพ์รัฐธรรมนูญนี้ คงจะห่อได้แค่กล้วยแขก หรือปลาร้า ที่คนอีสานเรียกว่าปลาแดก จึงเป็นไปได้เหมือนกันว่ารัฐธรรมนูญนี้จะได้ฉายาว่า รัฐธรรมนูญกล้วยแขก หรือรัฐธรรมนูญปลาแดก

หลายคนเอาหัวเป็นประกันว่า ประชาชนที่จะอ่านรัฐธรรมนูญนี้มีไม่ถึง 10 % ต่อให้ตีฆ้องร้องป่าว เสียเงินเป็นร้อยล้านพันล้านก็ตาม

ถึงผมจะพยายามมีอารมณ์ขันอย่างไร ลึกๆ ผมอดรู้สึกเหงาไม่ได้ ผมคงจะต้องต่อสู้กับระบอบทักษิณต่อไปอย่างไม่ลดละ ผมบรรยายไม่ถูกว่าผมรู้สึกอย่างไรกับ คมช. กับข้าทาสบริวาร และนักวิชาการผู้เป็นมหาอำนาจทางปัญญาของสังคมไทย ที่พากันชื่นชมโสมนัสว่ารัฐธรรมนูญซาเล้งฉบับบี้คือต้นชี้ตายปลายชี้เป็นที่จะสร้างประชาธิปไตยและความสมานฉันท์ ในขณะเดียวกันผมก็อยากอาเจียนกับการต่อสู้ของ นปก.และนักวิชาการประเสริฐผู้บูชาประชาธิปไตยการเลือกตั้งของทักษิณในจิตวิญญาณ จนกระทั่งเห็นสถาบันกษัตริย์เป็นอุปสรรคสำคัญ และพลเอกเปรมเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทำลาย

ในฐานะที่ได้รับเงินภาษีอากรของราษฎร ไปร่ำเรียนวิชาว่าด้วยรัฐธรรมนูญมาถึง 2 ทวีป 3 ประเทศ คืออเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นเวลากว่าสิบปี ผมไม่เห็นดีเห็นงามกับรัฐธรรมนูญซาเล้งฉบับนี้เลย แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกับท่านที่กล่าวมาข้างต้นอย่างสิ้นเชิง

ถ้าผมไปลงประชามติ ผมก็จะต้องกาช่อง “ไม่รับ” เพราะไม่มีช่อง “ไม่มีความคิดเห็น” แต่คราวนี้ ผมจะไม่ไปลงคะแนน ผมเชื่อว่า ผู้ที่ไม่ไปลงคะแนนน่าจะมากกว่าผู้ที่ไปลง นอกเสียแต่ว่า จะมีการใช้อำนาจรัฐไปเกณฑ์กัน ผมยังไม่ทราบเลยว่า หากคะแนนเสียง “ไม่รับ”+กับ “ไม่ไปลง” เกิดมากกว่าคะแนนเสียงที่ “รับ” จนล้น นักทฤษฎีประชาธิปไตยซาเล้งจะว่าอย่างไร

ผมนึกถึงคำพูดของดร.สุเมธ ตันติเวชกุลว่า ประชาพิจารณ์ทุกครั้ง ล้มเหลวทุกครั้ง เพราะผู้มีอำนาจไม่รู้จักฟังเสียงประชาชน ทำทีเป็นฟังไปยังงั้นเอง แล้วประชามติ อันเป็นของใหม่ครั้งแรก เตรียมตัวสั้น จะสำเร็จหรือ

เมื่อ 26 กรกฎาคม นี้ ผมมีโอกาสกินข้าวกลางวันกับนายกรัฐมนตรี ร่วมกับที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ส่วนมากเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยสำคัญ ผมเลยเรียนท่านนายกฯ ว่าผมจะไม่ไปลงประชามติ เพราะผมมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด ไปแสดงความจำนงขอลงคะแนนที่แขวงตามประกาศของทางราชการแล้ว แต่ถูกไล่ให้ไปศาลากลางจังหวัด เลยไปไม่ทัน ถ้าจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองผมก็ยอม แต่จะไม่ยอมเงียบเฉยไม่ประกาศความเห็นว่ารัฐธรรมนูญซาเล้งนี้ไม่เหมาะสม ในที่ประชุมมีผู้ที่เห็นรุนแรงยิ่งกว่าผม คือศาสตราจารย์ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ พลเอกสุรยุทธ์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ใครคิดเห็นอย่างไรก็ใช้เสรีภาพให้เต็มที่

อธิการบดีท่านอื่นๆ เห็นด้วยบ้างไม่เห็นด้วยบ้าง แต่วิเคราะห์แล้วว่ารัฐธรรมนูญน่าจะผ่าน เพราะผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ชัดๆ จากรัฐธรรมนูญก็มีมาก เช่น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพนักงานท้องถิ่น ผู้ที่คิดว่าตนได้รับสิทธิต่างๆ ที่แปลเป็นประโยชน์ได้ พวกหัวคะแนน และนักสมัครผู้แทนพรรคต่างๆ โดยเฉพาะผู้ที่กลัวว่าหากไม่ผ่าน ก็จะพากันหมดสิทธิเพราะอาจจะวิ่งหาพรรคสังกัดไม่ทัน90 วัน หากต้องนำต้องนำอารัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ เป็นต้น

ผมได้เขียนถึงรัฐธรรมนูญซึ่งสักแต่ได้ชื่อว่าเป็นประชาธิปไตยทุกฉบับตั้งแต่รัฐประหาร 2490 เป็นต้นมา ทุกฉบับแม้แต่ฉบับ 2517 ซึ่งผมมีส่วนร่วมในการร่าง ก็หนีไม่พ้นภยาคติหรืออคติ 2 อย่าง คือ ความกลัวคอมมิวนิสต์กับความรังเกียจที่ผู้นำประเทศมีต่อประชาชนและผู้แทนของประชาชน อันเป็นผลนำไปสู่ความล้มเหลวของกลไกในการจัดอำนาจอธิปไตยทั้งสามให้สมดุล เมื่ออำนาจขาดสมดุล จึงเกิดวงจรอุบาทว์และวัฎจักรน้ำเน่าขึ้นในวงการเมืองไทยอยู่ชั่วนาตาปี

ผมได้เขียนความคิดเห็นส่งไปทางประธานสภาร่าง 3-4 ฉบับ และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 มาหลายสิบบทความ แต่กำแพงกั้นขวางการมีส่วนร่วมทางความคิดเห็นในสังคมไทยนี้ยังสูงลิ่ว หนาแน่นแข็งแกร่งยิ่งนัก ขนาดคนอย่างผมยังเข้าไม่ถึง สำมะหาอะไรกับประชาราษฎรทั่วไป

รัฐธรรมนูญฉบับซาเล้งก็มีข้อดีมากมายเหมือนกับรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2490 เป็นต้นมา นั่น ก็คือมีการเพิ่มสิทธิเสรีภาพที่หอมหวานต่างๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ ดูสวยงามเหมือนประดับยนต์ แต่หามีผลเกี่ยวกับความเร็ว ความปลอดภัย ห้ามล้อ หรือการเดินอย่างสม่ำเสมอของเครื่องยนต์ไม่ อย่างหลังนี้ต่างหากที่เป็นลักษณะหรือคุณสมบัติของรัฐธรรมนูญ นั่นก็คือต้องมีกลไกที่ จำกัดและสมดุล อำนาจอธิปไตยทั้งสาม คืออำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยยอมให้อำนาจนิติบัญญัติเป็นใหญ่เพราะเป็นสัญลักษณ์แห่งปวงชน ซึ่งรวมถึงสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้แทนถาวรของปวงชนอีกด้วย ดังนั้นเรื่องสำคัญ เช่น การส่งทหารไปรบ การประกาศสงคราม การให้ทหารต่างชาติเข้ามาเพ่นพ่าน การทำสัญญากับต่างประเทศ เช่น สัญญาการค้าเสรี จำต้องให้ผู้แทนของปวงชนรับรอง มีพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเป็นหลักประกันสองต่อ

เราได้ยินอยู่ทุกวันใช่ไหมว่า ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เขาต้องคอยการอนุมัติจากสภาเสียก่อน ของอเมริกายิ่งหนักข้อ แม้แต่คนที่จะไปเป็นทูตก็ต้องผ่านการอนุมัติของวุฒิสภา

ผมมิได้เสนอให้เราเอาอย่างเขาทั้งดุ้น แต่ในเรื่องที่เป็นหลักสำคัญ คือสิทธิเสรีภาพในทางการเมือง การมีส่วนร่วมที่แท้จริง การมีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง การมีสิทธิเป็นรัฐมนตรี ไม่มีประเทศประชาธิปไตยที่ไหนเขาล็อกไว้อย่างเมืองไทย ถึงฉบับซาเล้งยกเลิกวุฒิของผู้แทนราษฎรแล้ว ยังดันไปกำหนดอายุ 35 ปีและวุฒิปริญญาตรีสำหรับรัฐมนตรีเสียอีก ในเมื่อผู้แทนในสภาเดียวกันแท้ๆยังมีสิทธิไม่เท่ากัน มันจะเรียกว่าประชาธิปไตยได้อย่างไร

ผมอยากเห็นระบบพรรคการเมืองของเราเจริญ เรามีวิธีส่งเสริมพรรคสารพัดอย่าง โดยเราไม่จำเป็นจะต้องต้อนผู้สมัครทุกคนให้เข้าพรรคเลย ทำอย่างนี้เหมือนกับการตั้งบริษัทรับเหมา เจ้าของบริษัทก็คุมหมด ผมสมเพชที่เห็นการวิ่งเต้นหาพรรคตั้งพรรคขณะนี้ เพราะพรรคหัวหน้าตั้งย่อมไม่ยั่งยืนทั้งนั้น อย่าให้ผมต้องออกชื่อดีกว่า แต่ผลเสียที่สำคัญที่สุดของการบังคับพรรคก็คือการล๊อกการเมืองเข้าไว้ใต้อุ้งเท้าของคนที่มีเงินกับอำนาจหรือมีทั้งสองอย่าง เพื่อยังประโยชน์ของผู้นั้น เป็นเรื่องชั่วคราวตามโชคชะตาของหัวหน้าแต่ละคน เมื่อหัวหน้าหาไม่แล้ว การเมืองก็หมุนกลับไปตั้งต้นที่เดิม ทำให้ระบบพรรคและการเมืองไทยเป็นระบบชั่วคราวตลอดกาล

พรรคการเมืองที่ตั้งตามรัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับตั้งแต่ 2490 เป็นต้นมา เป็นตัวการสำคัญในการทำลายสิทธิเสรีภาขั้นพื้นฐานทางการเมือง ทำลายการมีส่วนร่วมที่แท้จริงของประชาชน และครอบงำปิดกั้นโอกาสของการเคลื่อนไหวทางสังคมไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง

นายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่อ 11 ปีที่แล้ว คือ จอน เมเจอร์ ไม่จบแม้กระทั่งชั้นมัธยม 6 ประธานาธิบดีปัจจุบันของเกาหลีใต้ที่กำลังเจริญปรูดปราดก็เช่นเดียวกัน และนายเฟเบียส อดีตนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเมื่อเข้ารับตำแหน่งในปี 1986 นั้นมีอายุแค่ 37 ปี นี่ไม่นับถึงอดีตที่วิลเลียม พิตต์น้อย ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเมื่ออายุแค่ 24 ปี

ในคืนวันที่ 22 กรกฎาคม มีเหตุน่าสลดใจหน้าบ้านพลเอกเปรม เช้ามืดวันนั้นผมไปร่วมกิจกรรมที่บริสุทธิ์ เป็นกุศลที่สวนลุมพินี ผมมีโอกาสกล่าวกับผู้ที่มาร่วมชุมนุมว่า ความสมานฉันท์และสันติสุขในสังคมนั้นเป็นสัดส่วนไปกับความเป็นประชาธิปไตย ถ้าประชาธิปไตยน้อย สมานฉันท์ก็น้อย เช่นเดียวกันกับการมีส่วนร่วมของประชาชน ถ้าประชาชนจำนวนมากยังมีส่วนร่วมน้อย ประชาธิปไตยก็มีน้อย

ในหลวงทรงรับสั่งว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงต้องเหนื่อย ต้องลำบากอยู่ทุกวันนี้ เพราะว่าประชาชนยังยากจนอยู่ เมื่อประชาชนยากจนแล้ว อิสระและเสรีภาพเขาจึงไม่มี และเมื่อเขาไม่มีเสรีภาพ เขาก็เป็นประชาธิปไตยไม่ได้”

ถ้าไม่รู้จักอาย เราก็อ้างได้ว่า ไทยเป็นประชาธิปไตยทั้งเศรษฐกิจและการเมือง ถ้าเช่นนั้น ทำไมประชาชนยังยากจนอยู่ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์เคยตอบว่า “ทรัพย์สินในแผ่นดินมีอยู่จำกัด หากคนคนหนึ่งหรือกลุ่มหนึ่งเอาไปกินเสียเกือบหมด แล้วคนส่วนใหญ่จะเหลืออะไร”

ฉันใดก็ฉันนั้น ใครเล่าที่ปล้น ยักยอกหรือขโมยการมีส่วนร่วมที่แท้จริงทางการเมืองไปจากประชาชน

ก็เมื่ออำนาจหรือสิทธิเสรีภาพทางการเมืองยังถูกจำกัดอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียวไม่กี่พันคนแล้ว คนส่วนใหญ่ที่ไม่มีวันเข้าถึง ก็คงจะมีสิทธิถามกระมังว่า “แล้วข้าจะสมานฉันท์กับพวกเองไปทำไม”
กำลังโหลดความคิดเห็น