xs
xsm
sm
md
lg

ระดมทุนขนส่งไทยรับมือLogisticสี่เหลี่ยมฯ หอฯชร.ดันตั้งสมาคมเพิ่มอำนาจต่อรองสู้จีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนให้ความสำคัญถนน R3a มาก ดูได้จากริมถนนสายนี้มีโครงการลงทุนของจีนเกิดขึ้นจำนวนมาก
เชียงราย - หอฯเชียงรายเดินหน้าพัฒนาระบบ Logistic รองรับสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ หลังเส้นทางคมนาคมเชื่อมจีน-ไทยใกล้เสร็จสมบูรณ์ / สะพานข้ามน้ำโขงเชื่อมเชียงของ - บ่อแก้ว (R3a) เสร็จภายในปี 54 เตรียมระดมผู้ประกอบการขนส่งทั่วไทยตั้งเวทีถก รวมกลุ่มสร้างอำนาจต่อรองรับเกมรุกจีน


นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า ขณะนี้หอการค้าฯ เริ่มทำหนังสือแจ้งไปยังหอการค้าจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ให้ประสานไปยังผู้ประกอบการขนส่งในแต่ละพื้นที่ เพื่อรวมกลุ่มผู้ประกอบการขึ้นมารองรับธุรกรรมการขนส่งในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงระหว่างไทย-จีน ผ่านพม่าแล้วเสร็จ / ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เสร็จสมบูรณ์ในปลายปี 2550 และสะพานเชื่อม อ.เชียงของ จ.เชียงราย - เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว เชื่อมต่อกับถนนผ่านสปป.ลาว (R3a) จะแล้วเสร็จในปี 54

นายพัฒนา บอกว่า แนวทางที่จะผลักดันก็คือ อาจจะรวมกลุ่มกันตั้งเป็นสมาคมผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับผู้ประกอบการไทย เสนอรายละเอียดข้อตกลงการขนส่งระหว่างประเทศภาคี ให้รัฐบาลนำเข้าไปเจรจากับประเทศสมาชิก เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

ทั้งนี้ เชื่อว่า ถ้าหากถนนเชื่อมไทย-จีน / สะพานข้ามแม่น้ำโขงเสร็จ การขนส่งสินค้าจะตามมาอย่างมหาศาล เนื่องจากจีนให้น้ำหนักกับถนน R3a ค่อนข้างมาก ดูได้จากการเร่งพัฒนาทางด่วนจากคุนหมิง - สิบสองปันนา - บ่อหาน หรือโมหาน ชายแดนจีน-ลาว เชื่อมต่อเข้ากับถนน R3a ใน สปป.ลาว รวมทั้งการรุกเข้ามาลงทุนของกลุ่มทุนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ตามแนวถนนดังกล่าวอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่โมหาน โรงงานอุตสาหกรรมเหล็กที่หลวงน้ำทา ตลอดจนโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร - พาณิชยกรรมในเขตแขวงบ่อแก้ว ฯลฯ บ่งชี้ให้เห็นว่า อนาคตพื้นที่แถบนี้จะเกิดธุรกรรมทางการค้าจากจีนมาไทยออกสู่ตลาดโลก รวมทั้งจากไทยผ่าน สปป.ลาว เข้าสู่จีน อีกมหาศาลแน่นอน

"ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมแผนรองรับ ก่อนที่เค้กก้อนนี้จะถูกจีนกินรวบ แนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้นเราสามารถศึกษาจากนโยบายแต่ละประเทศได้อยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมาไทยกลับไม่มีแผนที่ชัดเจนสำหรับเรื่องนี้"

นายพัฒนา บอกว่า หากทุ่มพัฒนาเรื่อง Logistic Cluster Supply Shane ขึ้นมาจริง ๆ รวมผู้ประกอบการขนส่งในพื้นที่ ในภาคเหนือ หรือทั่วประเทศ เข้ามาด้วยกัน ก็จะทำให้ลอจิสติกส์( Logistic) ไทยมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น เมื่อ ลอจิสติกส์เดินได้ การขนถ่ายสินค้าจากไทยเข้าสู่ตลาดสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนตอนใต้ทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม รวมไปถึงการท่องเที่ยว ก็จะตามมา โดยมีเชียงรายเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ในการอำนวยความสะดวกให้

"อีกไม่กี่ปีระบบคมนาคมเสร็จ วันนี้เราไม่มีโอกาสเตรียมตัว ไม่มีโอกาสที่จะสัมมนากันอีก ต้องทำไป เรียนรู้ไป ต้องพร้อมก่อนที่สะพานข้ามโขงแห่งที่ 3 รับถนน R3a จะเสร็จในปี 54 นี้"

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เขาค่อนข้างให้ความสำคัญต่อกิจกรรมด้านการขนส่งที่จะเกิดขึ้นในกรอบสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจมาก เชื่อว่าจะส่งผลทำให้เกิดการลงทุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกมาก ดังนั้นหอฯเชียงราย จึงได้ตั้งรองประธานฝ่าย Logistic ขึ้นมาแล้ว เพื่อทำหน้าที่พัฒนาระบบขนส่งในสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ โดยเมื่อ 14 มีนาคม 2550 ท ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับสมาคมหยุนหนัน โมเดิร์น ลอจิสติกส์ แล้ว ภายใต้หลักการที่ว่า ทั้ง 2 ฝ่ายต้องปฏิบัติตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศ ส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างกัน รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน แต่ไม่มีข้อบังคับผูกพัน เป็นเพียงการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันเท่านั้น

ในกลางปีนี้ ก็จะเชิญคณะผู้ประกอบการขนส่งในท้องถิ่นเชียงราย - ภาคเหนือ เช่น ลานนาขนส่ง ลำปางขนส่ง นิ่มซี่เส็ง ฯลฯ เดินทางไปดูการดำเนินงานของลอจิสติกส์จีน ที่มีรัฐบาลถือหุ้น หรือได้รับสัมปทานจากรัฐบาลมา
กำลังโหลดความคิดเห็น