xs
xsm
sm
md
lg

กฎหมายใหม่กับการคุ้มครองผู้เสียหายในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

เผยแพร่:   โดย: สราวุธ เบญจกุล

หลักการและเหตุผลของการแก้ไขกฎหมาย

สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขปรับปรุงประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมให้การข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นเป็นความผิด เนื่องจากมาตรา 276 และ 277 แห่งประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบัน เป็นบทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ และเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญในการมีสิทธิเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิง โดยการห้ามมิให้เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลและเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมีสาระสำคัญที่แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเรา ดังนี้
“มาตรา 276 ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งได้กระทำโดยมีหรือใช้อาวุธปืน หรือวัตถุระเบิด หรือโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงหรือกระทำกับชายในลักษณะเดียวกัน ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำความผิดระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสนั้นยังประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ หรือจะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติแทนการลงโทษก็ได้ ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก และคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ประสงค์จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป และประสงค์จะหย่า ให้คู่สมรสฝ่ายนั้นแจ้งให้ศาลทราบ และให้ศาลแจ้งพนักงานอัยการให้ดำเนินการฟ้องหย่าให้”

“มาตรา 277 ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท

การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำแก่เด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือจำคุกตลอดชีวิต

ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสาม ได้กระทำโดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันอันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิงหรือกระทำกับเด็กชายในลักษณะเดียวกันและเด็กนั้นไม่ยินยอม หรือได้กระทำโดยมีอาวุธปืนหรือวัตถุระเบิดหรือโดยใช้อาวุธ ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต

ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้าเป็นการกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ ถ้าศาลอนุญาตให้สมรสในระหว่างที่ผู้กระทำผิดกำลังรับโทษในความผิดนั้นอยู่ ให้ศาลปล่อยผู้กระทำความผิดนั้นไป”

กฎหมายใหม่กับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

ร่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และ มาตรา 277 มุ่งถึงการให้ความคุ้มครอง บุคคลทุกเพศ โดยไม่จำกัดว่าจะเป็น หญิงหรือชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ นอกจากนี้ในร่างมาตรา 276 ได้มีการบัญญัติเพิ่มเติมให้การคุ้มครองภริยา หรือ สามีที่จะไม่ให้ถูกล่วงเกินทางเพศจากคู่สมรสหากไม่ได้ให้ความยินยอม เพื่อลดปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว และให้ผู้ที่อาจจะกระทำผิดต้องระมัดระวังก่อนที่จะกระทำการใดๆลงไป แต่ในขณะเดียวกันก็ประสงค์ที่จะลดความขัดแย้งในครอบครัวหากมีการกระทำผิดตามมาตรานี้เกิดขึ้น ซึ่งในการกำหนดโทษนั้นศาลสามารถพิจารณาจากการตัดสินใจของคู่สมรสว่าประสงค์ที่จะอยู่กินฉันสามีภริยาต่อไปหรือไม่ หากประสงค์จะอยู่กินฉันสามีภริยาต่อก็สามารถลงโทษน้อยลงได้ เช่นเดียวกับร่างมาตรา 277 วรรคท้าย ที่กำหนดว่าหากเป็นกระทำโดยบุคคลอายุไม่เกิน 18 ปีกระทำต่อเด็กซึ่งมีอายุกว่า 13 ปี แต่ยังไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นยินยอม และภายหลังศาลอนุญาตให้ทั้งสองฝ่ายสมรสกัน ผู้กระทำผิดไม่ต้องรับโทษ โดยข้อกำหนดตามมาตรา 277 วรรคท้ายนี้ต้องมีความยินยอมของเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้นหากข้อเท็จจริงพบว่าขณะที่มีการกระทำชำเราเด็กไม่ได้ให้ความยินยอม แม้ว่าภายหลังจะมีการสมรสกันก็ตาม การสมรสนั้นก็ไม่เป็นเหตุให้ได้รับการยกเว้นโทษ (ฎีกาที่ 7664/2544)

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มเติมข้อความในวรรคสองของร่างมาตรา 276 และ 277 ที่มีสาระสำคัญกล่าวถึงลักษณะการกระทำชำเราว่ากรณีใดบ้างที่ให้ถือเป็นการกระทำชำเรา ส่วนการตีความว่าการกระทำใดถือเป็นการข่มขืนกระทำชำเราตามกฎหมายหรือไม่นั้น ควรต้องศึกษาถึงคำพิพากษาฎีกาที่จะมีขึ้นในอนาคตต่อไปอย่างไรก็ดีการกำหนดความหมายของการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราตามร่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 และ 277 เช่นนี้มีสาระสำคัญค่อนข้างคล้ายคลึงกับ The Sexual Offences Act 2003 (“พระราชบัญญัติความผิดเกี่ยวกับเพศ ค.ศ. 2003”) (“SOA 2003”) ของสหราชอาณาจักร ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 2004 ดังนั้นเพื่อความเข้าใจในหลักการที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา จึงอาจศึกษาแนวทางที่ใช้อยู่ในสหราชอาณาจักรประกอบในหัวข้อที่จะกล่าวถึงต่อไป

แนวทางการลงโทษผู้กระทำความผิด และปกป้องผู้เสียหายในสหราชอาณาจักร

เมื่อได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาของประเทศไทยให้มีการคุ้มครองผู้เสียหายมากขึ้นแล้ว ควรจะพิจารณาถึงหลักการลงโทษผู้กระทำความผิดประกอบด้วย โดยในสหราชอาณาจักร Lord Lane CJ ผู้พิพากษาในคดีระหว่าง R. v. Roberts [1982] 1 All ER 609 เห็นว่า “การข่มขืนถือเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรง เว้นแต่ว่าจะมีสถานการณ์กำหนดยกเว้นไว้ ต้องทำการกักขังผู้กระทำผิดโดยทันที ... โทษกักขังนี้มีความจำเป็นเพราะเหตุผลหลายประการ ดังนี้ ประการแรกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความหนักเบาของการลงโทษทางอาญา ประการที่สอง เพราะการกระทำนั้นไม่เป็นที่ยอมรับของประชาชนในสังคม ประการที่สามเพื่อเตือนบุคคลอื่นไม่ให้กระทำความผิด ประการที่สี่ เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด และประการสุดท้ายที่ไม่ได้มีความสำคัญน้อยกว่าประเด็นอื่น คือ เพื่อปกป้องผู้หญิง ทั้งนี้ระยะเวลาการลงโทษต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะข้อเท็จจริงในคดีข่มขืนนี้แตกต่างกันไปในแต่ละคดี” ดังนั้น เพื่อลดปริมาณการกระทำความผิดให้น้อยลง และอาจเป็นแนวทางให้ศาลได้ให้ความคุ้มครองผู้เสียหายมากขึ้น ควรศึกษาตัวอย่างจาก The Sentencing Guidelines Council (“คณะกรรมการกำหนดแนวทางการพิจารณาโทษ”) ของสหราชอาณาจักร ที่ได้กำหนดกรอบแนวทาง (“Guidelines”) การตีความ SOA 2003 ไว้ อีกทั้ง The Sentencing Guidelines Council ยังกำหนดให้ศาลในสหราชอาณาจักร ต้องนำ Guidelines นี้มาพิจารณาประกอบการตัดสินคดี และให้มีผลบังคับใช้กับผู้กระทำความผิดทางเพศที่ถูกศาลตัดสินว่ามีความผิดตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 2007 เป็นต้นไป

Guidelines ฉบับนี้ ได้พัฒนาแนวทางการพิจารณาโทษจากคำพิพากษาในคดีระหว่าง R. v. Millberry [2003] 2 All ER 939 (“Millberry”) โดยสามารถสรุปสาระสำคัญของ Guidelines ได้ดังนี้ คือ ในการพิจารณาความหนักเบาของความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ศาลควรพิจารณาถึงองค์ประกอบ 3 ประการ ดังนี้ 1. ระดับภยันตรายที่เกิดกับผู้เสียหาย 2. ระดับความผิดของผู้กระทำความผิด และ 3. ระดับความเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสังคมของผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ “การข่มขืนโดยบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน” (relationship rape) เช่นการข่มขืนที่เกิดขึ้นระหว่างการสมรส (marital rape) หรือ การข่มขืนโดยบุคคลใกล้ชิด (acquaintance rape หรือ date rape) ต้องมีโทษร้ายแรงเช่นเดียวกับการข่มขืนโดยบุคคลอื่นที่ผู้เสียหายไม่รู้จักมาก่อน (stranger rape) เพราะเห็นว่าการกระทำเช่นว่านั้นมีผลให้ผู้เสียหายได้รับความละอาย และเจ็บปวดเหมือนกัน หากไม่ได้มีการให้ความยินยอมในการกระทำเช่นนั้น กรณีเดียวกันกับการกระทำที่ชายกระทำต่อชายด้วยกันเองก็ต้องถือว่ามีโทษเท่ากับการกระทำที่ชายกระทำต่อหญิง โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงว่าจะเป็นการกระทำต่ออวัยวะเพศ หรือทวารหนัก หรือ การที่ปกติแล้วผู้เสียหายยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้กระทำผิดบ้างในบางโอกาส แต่ข้อเท็จจริงที่ทำให้เกิดคดีนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งที่ ผู้เสียหายปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิด และเป็นการปฏิเสธในขั้นตอนสุดท้าย ในวาระสุดท้ายของการกระทำ (sexual intercourse at the last moment) หากผู้กระทำยังฝืนที่จะกระทำ ก็ยังคงต้องรับผิดในฐานข่มขืนอยู่แต่ความผิดที่ได้รับนั้นอาจน้อยกว่าการมีเจตนาข่มขืนตั้งแต่ต้น ดังเช่นคำพิพากษาของศาลในคดีระหว่าง R v. M. (1995) 16 Cr App R (S) 770 ที่สามีถูกตัดสินจำคุก 3 ปีจากการข่มขืนภริยา โดยข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่าในวันเกิดเหตุ ภริยาได้บอกเลิกกับสามี สามีจึงออกไปดื่มเหล้าข้างนอกและกลับมาขอมีเพศสัมพันธ์กับภริยา แต่ภริยาไม่ยินยอม สามีจึงได้ฝืนกระทำจนสำเร็จ ทั้งนี้ไม่มีข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลว่ามีการใช้ความรุนแรงในการกระทำความผิดแต่อย่างใด ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาลดเหลือ 18 เดือน และให้เหตุผลว่า เนื่องจากคดีนี้มีการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรง ต่างจากกรณีที่ผู้กระทำเป็นอดีตสามีที่ถือเป็นบุคคลอื่นไปแล้ว หรือเป็นสามีที่แยกกันอยู่กับภริยาและลักลอบเข้ามาบังคับข่มขืนกระทำชำเราภริยา ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้สามียังคงอยู่บ้านเดียวกับภริยาและได้รับความยินยอมที่จะใช้เตียงร่วมกับภริยามาตลอดจึงไม่สามารถพิจารณาได้ว่าการกระทำของสามีเป็นการกระทำที่ร้ายแรง

Guidelines กำหนดแนวทางการลงโทษในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราไว้ ดังนี้

1. หากเป็นการกระทำโดยผู้กระทำเพียงคนเดียว กระทำกับผู้เสียหายคนเดียว และไม่มีเหตุควรเพิ่มโทษการลงโทษขั้นต้นคือ 5 ปี

2. หากเป็นการกระทำดังกล่าวตามข้อ 1 และมีเหตุควรเพิ่มโทษดังต่อไปนี้ การลงโทษขั้นต้นควรจะเป็น 8 ปี

(ก) การใช้กำลังประทุษร้ายและบังคับข่มขู่ในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

(ข) การใช้อาวุธต่อผู้เสียหายให้เกิดความกลัว หรือทำให้บาดเจ็บ

(ค) การวางแผนล่วงหน้าในการกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

(ง) มีผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตัวผู้เสียหาย ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ เช่นทำให้ผู้เสียหายตั้งครรภ์ หรือติดโรคร้ายแรงทางเพศสัมพันธ์เป็นต้น

(จ) การกระทำให้ผู้เสียหายเกิดความอับอายมากยิ่งขึ้น เช่น การถ่ายรูปผู้เสียหายเพื่อไปประจาน หรือบังคับให้มีการร่วมเพศทางปาก เป็นต้น

(ฉ) การบุกรุกเข้าไปกระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราในที่พักอาศัยของผู้เสียหาย

(ช) การข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายต่อหน้าเด็ก

(ซ) การใช้สารเสพติดในกรณีผู้เสียหายต่อสู้ หรือใช้เพื่อลบความทรงจำผู้เสียหายเกี่ยวกับการกระทำความผิด

(ฌ) ประวัติของผู้กระทำความผิด ที่ได้เคยกระทำ หรือเคยใช้ความรุนแรงกับผู้เสียหายมาก่อน

3. หากเป็นการกระทำต่อเด็กอายุกว่า 13 ปี แต่ไม่เกิน 16 ปี การลงโทษขั้นต้นควรจะเป็น 10 ปี

4. หากเป็นการข่มขืนกระทำชำเราเด็กอายุไม่เกิน 13 ปี และไม่มีเหตุควรเพิ่มโทษ การลงโทษขั้นต้นควรจะเป็น 10 ปี และเพิ่มเป็น 13 ปีหากมีเหตุควรเพิ่มโทษ

ทั้งนี้การลงโทษในกรณีข่มขืนควรพิจารณาถึงหลักการคุ้มครองสังคมส่วนรวมประกอบด้วย เช่นหากศาลเห็นว่าผู้กระทำผิดมีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดซ้ำอีกหากได้รับการปล่อยออกมาสู่สังคม หรือ เป็นบุคคลอันตราย เช่น มีจิตวิปริตหรือ มีการกระทำที่เป็นข้อพิจารณาเพิ่มโทษได้หลายประการ ศาลก็อาจพิจารณาลงโทษสถานหนัก โดยโทษสูงสุดที่กำหนดไว้คือจำคุกตลอดชีวิต ในทางกลับกันศาลควรต้องพิจารณาถึงองค์ประกอบในการที่ผู้กระทำผิดจะได้รับโทษลดน้อยลงด้วย เช่น ความปกติทางจิตของคนวิกลจริตหรือเป็นบุคคลไร้ความสามารถ การเป็นผู้เยาว์ หรือการที่ผู้กระทำความผิดแทบจะไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำนั้นๆ เป็นต้น

นอกจากการลงโทษจำคุกในความผิดเกี่ยวกับเพศตาม SOA 2003 แล้ว Guidelines ยังกำหนดให้ศาลมีหน้าที่ตาม Children and Young Persons Act 1933 (“พระราชบัญญัติว่าด้วยเด็กและผู้เยาว์ ค.ศ. 1933”) ที่จะต้องมีคำสั่งให้บันทึกชื่อผู้กระทำความผิดลงไปใน Sex Offenders’ Register (“ทะเบียนประวัติอาชญากรทางเพศ”) ไว้สำหรับให้หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนตรวจสอบได้ โดยเฉพาะหน่วยงานที่ต้องมีความระมัดระวังให้มีการตรวจสอบถึงบุคคลที่จะเข้ามาทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก หากเป็นบุคคลที่เคยต้องโทษเช่นนี้ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้มีความเกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และในกรณีมีการร้องขอ ศาลก็สามารถสั่งให้มีการบันทึกรายชื่อบุคคลที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร แต่เคยมีการกระทำความผิดความผิดเกี่ยวกับเพศในต่างประเทศได้ และศาลต้องมีหน้าที่พิจารณาออกคำสั่งที่เรียกว่า Sexual Offences Prevention Orders (“คำสั่งว่าด้วยการป้องกันความผิดเกี่ยวกับเพศ”)ในกรณีที่เห็นว่าบุคคลที่กระทำความผิดตาม SOA 2003 มีแนวโน้มที่จะกระทำความผิดเช่นว่านั้นอีก และมีคำสั่งห้ามบุคคลที่เคยกระทำความผิดทางเพศต่อเด็กทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าบุคคลนั้นจะไม่น่าที่จะกระทำการเช่นว่านั้นต่อเด็กอีก

อย่างไรก็ดีศาลต้องพิจารณามีคำสั่งให้ผู้กระทำความผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหาย ตามที่กำหนดไว้ใน the Powers of Criminal Courts (Sentencing) Act 2000 (“พระราชบัญญัติว่าด้วยอำนาจศาลอาญา (โทษ) ค.ศ. 2000”) ค่าเสียหายนี้พิจารณาจากการบาดเจ็บ ความสูญเสีย และความเสียหายใดๆที่เกิดกับผู้เสียหาย และต้องเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหาย โดยคำนึงถึงความรู้สึกและความต้องการของผู้เสียหายเป็นสำคัญ หากมีการชดใช้แล้วกระทบต่อความรู้สึกของผู้เสียหายศาลก็ไม่อาจบังคับให้ผู้เสียหายยอมรับการชดใช้ค่าเสียหายนี้ได้ เช่น ผู้เสียหายบางคนไม่ต้องการรับการชดใช้ค่าเสียหายในด้านนี้เพราะทำให้ต้องจดจำว่าเคยถูกข่มขืนกระทำชำเรา แต่ก็ไม่ใช่ว่าผู้เสียหายทุกคนจะไม่ต้องการรับการชดใช้ค่าเสียหายนี้เหมือนกันทุกคน ดังนั้นศาลอาจต้องหาวิธีการในการสืบหาความประสงค์ของผู้เสียหาย เช่นขอความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์ในการสืบหาข้อมูล หรือสอบถามความต้องการของผู้เสียหายโดยตรง

ดังนั้นกรณีจะมีประโยชน์อย่างยิ่งหากได้ศึกษาแนวทางการลงโทษของสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นข้อเสนอแนะ ในการพิจารณากำหนดโทษของการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับเพศ โดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการข่มขืนกระทำชำเรา และความสำคัญในการลงโทษผู้กระทำความผิด เพื่อนำมาพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับร่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 และ 277 ที่เกี่ยวข้องกับความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราฉบับใหม่ของไทยที่มีความคล้ายคลึงกันหลายประเด็นและหากสามารถนำเอาวิธีการนอกเหนือจากการลงโทษ ที่เป็นวิธีการเฉพาะในการป้องกันเด็กและผู้เยาว์ ไม่ให้ถูกล่วงเกินหรือถูกกระทำทางเพศมาปรับใช้ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

กำลังโหลดความคิดเห็น