xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ปชช.หนุนลงประชามติ วรเจตน์ประกาศนำทีมคว่ำรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ดุสิตโพล" ชี้ประชาชนกว่าร้อยละ 70 ขอใช้สิทธิลงประชามติร่างรธน. และร้อยละ 55 ยืนยันจะรับร่าง เพื่อนำพาประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ด้าน"วรเจตน์"นำทีมอาจารย์ นิติมธ. ประกาศคว่ำ ร่าง รธน.

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 4,536 คน เกี่ยวกับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2550 ผลปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.87 (กรุงเทพฯ ร้อยละ 71.29 และต่างจังหวัดร้อยละ 66.45) ระบุว่า จะไปใช้สิทธิลงประชามติ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า เป็นสิทธิและหน้าที่ของคนไทยทุกคน รองลงมาคือ ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข คนไทยอยู่ด้วยกันด้วยความรักสามัคคี และอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.28 (กรุงเทพฯ ร้อยละ 16.89 และต่างจังหวัดร้อยละ 17.67) ระบุว่าจะไม่ไปใช้สิทธิลงประชามติ ซึ่งส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่ายังไม่ทราบรายละเอียดที่แน่นอน รองลงมาคือ ติดธุระหรือต้องทำงาน รวมทั้งอยู่ต่างจังหวัด เดินทางไม่สะดวก สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 13.85 ระบุว่ายังไม่แน่ใจว่าจะไปใช้สิทธิลงประชามติหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างตัดสินใจ

เมื่อถามว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2550 หรือไม่ ปรากฏว่า มีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 55.72 (กรุงเทพฯ 55.41 และต่างจังหวัด 56.03) ระบุว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยส่วนใหญ่เห็นว่า อยากเห็นประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รองลงมาคือ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว และต้องการให้เหตุการณ์ความวุ่นวายหรือการชุมนุมต่างๆ ยุติลง ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีเพียงร้อยละ 14.92 (กรุงเทพฯ ร้อยละ 19.91 และต่างจังหวัดร้อยละ 9.93) โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ต้องใช้เวลาในการศึกษาผลดีผลเสียมากกว่านี้ บางคนก็ไม่ชอบหรือไม่พอใจในรัฐธรรมนูญ มีรวมทั้งหลายส่วนที่คิดว่าไม่เหมาะสม และเป็นความต้องการของคนบางกลุ่มหรือบังคับกันมากกว่า ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ายังมีกลุ่มตัวอย่างมากถึงร้อยละ 29.36 ที่ระบุว่ายังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะอยู่ระหว่างการตัดสินใจ รอฟังเสียงคนส่วนใหญ่ หรือยังไม่ได้อ่านรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

**"วรเจตน์"นำทีมไม่รับร่าง รธน.

ด้านนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ พร้อมด้วย นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ดร. จันทจิรา เอี่ยมมยุรา ดร. ฐาปนันท์ นิพิฎฐกุล นาย ปิยบุตร แสงกนกกุล และนายธีระ สุธีวรางกูร อาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ลงนามร่วมกันออกแถลงการณ์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับออกเสียงประชามติ เพื่อยืนยันว่า การทำลายอำนาจการตัดสินใจของประชาชนด้วยการรัฐประหาร จะต้องไม่ได้รับการยอมรับอีกต่อไป เพื่อป้องกันมิให้ระบบกฎหมายของรัฐถูกทำลายจนเสียหลักแห่งความยุติธรรมไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และเพื่อมิให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ลดทอนอำนาจในสาระสำคัญของประชาชน แต่เพิ่มอำนาจเหล่านั้นให้กับกลุ่มอำมาตยาธิปไตยบางกลุ่มนั้นมีผลใช้บังคับ

" ในสถานการณ์ปัจจุบันที่คณะรัฐประหารและพวกมีและใช้อำนาจไปในทางลิดรอนสิทธิและเสรีภาพประชาชน ประกอบกับในสถานการณ์ปัจจุบันที่คณะรัฐประหารและพวกบีบหนทางการตัดสินใจของประชาชนในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมืองให้เหลือเพียงประการเดียว คือ การออกเสียงประชามติ เมื่อการออกเสียงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิทางการเมืองเพียงประการเดียวที่ยังเหลืออยู่ในขณะนี้ การใช้สิทธิดังกล่าวนี้ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นหนทางอย่างสันติวิธีการเดียวที่เราจะสามารถใช้มโนธรรมสำนึกและเหตุผลในการต่อสู้กับคณะรัฐประหาร " แถลงการณ์ ระบุ

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขา ครป.กล่าวถึงกรณีกระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ตนไม่สนใจว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่ากับการเดินหน้าเลือกตั้ง เพราะตนเห็นว่าในขณะนี้มีเงื่อนปมทางการเมืองที่ทำให้กระบวนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ถูกเปลี่ยนความหมายไปมาก จนสร้างความสับสนให้กับประชาชน เงื่อนปมสำคัญที่รัฐบาล และ คมช.จะต้องเร่งสะสางและสร้างความกระจ่างให้กับประชาชน เช่นความไม่เข้าใจของประชาชนต่อความหมายและความสำคัญของการลงประชามติ เพราะในขณะนี้การรณรงค์ของหลายฝ่ายต่อกระบวนการลงประชามติได้กลายเป็นเวทีเดิมพันในหลายๆ ประเด็น เช่น หมายถึงรับไม่รับการรัฐประหาร รับไม่รับ คมช. รับไม่รับอำมาตยาธิปไตย รับไม่รับระบอบทักษิณ ฯลฯ ทำให้ประชาชนสับสนได้ ฉะนั้นภาครัฐต้องเร่งรณรงค์และทำความเข้าใจถึงวิธีการ ความหมาย และความสำคัญของการลงประชามติ ตลอดทั้งสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญทั้งจุดเด่นจุดด้อย
กำลังโหลดความคิดเห็น