xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ปมมัด"อ้อ-3 บิ๊กอสังหาฯ"ร่วมฮั้วประมูลที่ดินรัชดา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เผยปมเงินมัดจำ 100 ล้าน มัด “อ้อ-3 บิ๊กอสังหา” ฮั้วประมูลที่รัชดา คตส. ส่งข้อมูลให้ดีเอสไอ สอบขยายผลเพื่อฟันอาญา “หม่อมอุ๋ย-สมใจนึก-สว่างจิต” ด้าน “ชาติศิริ” ให้การ อนุฯหุ้นชิน แบงก์กรุงเทพฯ ปล่อยกู้ “กุหลาบแก้ว” 1.3 หมื่นล้าน ซื้อหุ้นชินคอร์ป ร่วม 2 ปี แต่ยังไม่ชำระคืน ชี้ชัดเป็นเงินลงทุนภายในประเทศ เข้าข่ายนอมินี-ปกปิดธุรกรรม ทำอัฐยายซื้อขนมยาย โดยมี “ทักษิณ –นักการเมืองสิงคโปร์” อยู่เบื้องหลัง เตรียมอายัดรอบ 9 คาดอย่างต่ำพันล้าน

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง ประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนการซื้อขายที่ดินย่านรัชดา กล่าวถึงการสรุปสำนวนส่งให้ที่ประชุมใหญ่ คตส.วันจันทร์ที่ 23 ก.ค. เพื่อส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ สอบสวนบุคคลที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายที่ดินรัชดา ว่า อนุกรรมการไต่สวนฯ จะส่งข้อมูลเอกสารทั้งหมดที่อนุกรรมการสอบมา ให้กับดีเอสไอ โดยจะมีการระบุรายชื่อผู้เข้าร่วมประมูลว่ามีใครบ้าง เพื่อให้ดีเอสไอสอบเกี่ยวกับปมการฮั้วประมูล พร้อมกับจะมีการส่งสำนวนการสอบสวน ซึ่งจะมีรายชื่อเจ้าหน้าที่ และบอร์ดกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่เกี่ยวข้องไปด้วย เพื่อให้ดีเอสไอ สอบว่ามีบุคคลใดทำผิดคดีอาญาหรือไม่

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการไต่สวนฯ เปิดเผยว่า สำหรับผู้เข้าร่วมประมูลในการซื้อที่ดินดังกล่าว ประกอบด้วย คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) บ.แสนสิริ จำกัด (มหาชน) และ บ.เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถ้าพบว่ามีความผิด ก็จะถือว่าผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว

รายงานข่าวแจ้งว่า ในส่วนของบอร์ด และเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูฯ แม้อนุกรรมการฯ จะไม่ได้ระบุชื่อไปว่า ดีเอสไอควรจะสอบใครบ้าง แต่จะมีรายชื่ออยู่ในสำนวนการสอบสวนของอนุกรรมการฯ ที่จะส่งให้ดีเอสไอ อยู่แล้ว จึงเป็นเรื่องที่ ดี เอสไอจะเป็นผู้พิจารณาว่า จะหยิบมาสอบหรือไม่ ซึ่งรายชื่อที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว อาทิ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต ผู้ว่าฯ ธปท. ในฐานะประธานกองทุนฟื้นฟูฯ นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกองทุนฟื้นฟูฯ นางสว่างจิต ชัยวัฒน์ ผู้ช่วย ผู้ว่าฯ ธปท. ในฐานะผู้จัดการกองทุนฟื้นฟูฯ

“การที่อนุฯไต่สวนส่งเรื่องให้ ดีเอสไอ ตรวจสอบต่อนั้น สามารถทำได้ เพราะการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ มีงบประมาณเกิน 100 ล้านบาท โดยประเด็นที่อยากให้ตรวจสอบมากที่สุดคือ กรณีที่มีผู้มายื่นซองประกวดราคา เพียงรายเดียว โดยมีการกำหนดให้วางเงินมัดจำ 100 ล้านบาท ก่อนวันประมูลเพียง 1 วันในการประกวดราคา ทั้งที่ในการประมูลครั้งแรก ได้กำหนดเงินมัดจำ แค่ 10 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุให้บริษัทคู่แข่ง ต้องถอนตัวออกจากการประมูล จุดนี้จะเป็นหลักฐานในการตรวจสอบความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ฮั้วได้”แหล่งข่าว ระบุ

*** “ชาติศิริ”ให้ข้อมูลมัดนอมินี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้าวานนี้ มีการประชุม คณะอนุกรรมการสอบสวนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ที่มีนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ เป็นประธาน โดยเชิญนาย ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มาให้ข้อมูล โดยใช้เวลาเข้าพบอนุกรรมการนานร่วม 2 ชั่วโมง แต่นายนายชาติศิริ ปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

แหล่งข่าวระดับสูง จากคณะอนุกรรมการสอบสวนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ เปิดเผยรายละเอียดการเข้าชี้แจงกับอนุกรรมการของนายชาติศิริ ว่า เป็นคำให้การที่เป็นประโยชน์จนทำให้อนุกรรมการพบประเด็นสำคัญที่ใหญ่มาก ในการสอบสวนการซื้อขายหุ้นชินคอร์ปฯ ของคนในตระกูลชินวัตร-ดามาพงศ์ กับ กลุ่มเทมาเส็กของสิงคโปร์ ที่อาจจะเป็นเรื่องของการทำนอมินี เพื่อปกปิดธุรกรรมการซื้อขายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และนักการเมืองของประเทศสิงคโปร์ อยู่เบื้องหลังการทำธุรกรรมดังกล่าว

แหล่งข่าว ยังระบุอีกว่า นายชาติศิริ ให้การว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ปล่อยเงินกู้ให้กับ บริษัท ซีดาร์โฮลดิ้ง และบริษัท แอสแพน โฮลดิ้ง ที่ร่วมหุ้นกับกลุ่มกุหลาบแก้วของไทย เข้าซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ ในวงเงินกู้ 13,000 ล้านบาท ดอกเบี้ย 350 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาชำระดอกเบี้ยเงินกู้สองปี แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการชำระเงินคืนให้กับธนาคารกรุงเทพ อันแสดงให้เห็นว่าการกู้เงินมาซื้อหุ้นชินคอร์ปฯ 73,000 ล้านบาท เป็นการกู้เงินจากธนาคารภายในประเทศไทย ไม่ได้มีการนำเงินจากสิงคโปร์มาซื้อ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยเลย คล้ายกับลักษณะอัฐยายซื้อขนมยาย

“หลังจากนี้อนุกรรมการจะมีการตรวจสอบเส้นทางการเงินของการทำธุรกรรมการซื้อขายทั้งหมด เพื่อดูว่าเงินที่จ่ายให้ครอบครัว ชินวัตร-ดามาพงศ์ 73,000 ล้านบาท มาจากแหล่งไหนบ้าง มีของประเทศไทยหรือต่างประเทศ ยอดเงินที่แท้จริงเป็นเท่าใด”

ทั้งนี้ มีรายงานว่า ในวันพุธที่ 25 ก.ค. ทางอนุกรรมการจะเชิญ นายวิชิต สุรพงษ์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด (มหาชน) ที่ปล่อยกู้ให้กุหลาบแก้ว มาให้ข้อมูลในเรื่องเงินกู้ที่ใช้ในโครงการดังกล่าว

“การสอบสวนของอนุกรรมการมองว่า แท้ที่จริงแล้ว แม้พ.ต.ท.ทักษิณจะขายหุ้นให้เทมาเส็ก แต่อาจเป็นการขายในลักษณะนอมินี คือมีการร่วมมือกันระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับทางสิงคโปร์ ซึ่งมีคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือ พ.ต.ท.ทักษิณ และเครือญาตินักการเมืองสิงคโปร์ ที่ถือหุ้นในเทมาเส็ก ที่อาจร่วมมือกันแล้วได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งกระทบถึงความมั่นคง เพราะการขายกิจการที่เกี่ยวกับการสื่อสาร ดาวเทียมให้ต่างประเทศ มีผลมาก ยอมรับว่าการสาวลงลึกในโครงการนี้ ถือว่ายากที่สุดในชีวิต เพราะสลับซับซ้อนมาก มีการวางคน ตัดตอนไว้ตลอดเส้นทาง”แหล่งข่าว กล่าว

แหล่งข่าวจากอนุกรรมการ คตส. ระบุว่า ในการประชุมใหญ่ คตส.วันที่ 23 ก.ค.นี้ อนุกรรมการสอบสวนหุ้นชินคอร์ปฯ จะรายงานให้ที่ประชุทราบปัญหาที่บุคคลสำคัญในคดีนี้ไม่ยอมมาชี้แจง และให้ปากคำกับอนุกรรมการ จึงต้องการให้มี

มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง กับผู้ไม่ยอมมาชี้แจง เพราะหลายคนที่เชิญมา เช่น คุณหญิงพจมาน นายพานทองแท้ ชินวัตร หรือนางกาญจนภา หงส์เหิน ซึ่งถูกเชิญมาให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ไม่มาให้ถ้อยคำ หรือมาแล้วก็ไม่ตอบคำถามใดๆ เป็นอุปสรรคในการทำงาน เพราะคณะอนุฯ ต้องการให้มาชี้แจงด้วยตนเอง เพราะอยากให้เขามาเถียงเรา ในคำถามที่เราตั้งข้อสังเกต ไม่ใช่ไปเถียงในชั้นศาล เพราะใช้เวลานาน แม้คณะอนุฯ สามารถสรุปสำนวนได้ แต่ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลต่อ ซึ่งต้องใช้เวลายาวนาน และเหนื่อยมาก บางนัดใช้เวลาติดต่อกันมากกว่า 3 วัน

*** ปล่อยกู้พม่ารัฐเสียหายกว่า 600 ล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบ กรณีธนาคารเพื่อการส่งออกปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลพม่ารวม 4 พันล้านบาท ที่มีนายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ กรรมการ คตส. เป็นประธาน ว่า อาจจะไม่สามารถเสนอให้ที่ประชุมใหญ่คตส.ชี้มูลความผิดได้ในวันที่ 23 ก.ค. เพราะ คณะอนุกรรมการฯ ยังมีปัญหาในการประเมินตัวเลขความเสียหายในโครงการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ได้คำนวณตัวเลขความเสียหายน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะนายวิโรจน์ เห็นว่า การปล่อยกู้ดังกล่าว น่าจะทำให้รัฐเสียหายไม่ต่ำกว่า 600 ล้านบาท

แต่อนุกรรมการบางคนเสนอตัวเลขมาน้อยกว่าที่นายวิโรจน์ เสนอความเห็นไว้ จึงอยู่ระหว่างการปรับตัวเลขความเสียหายจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ สำหรับโครงการนี้ ในชั้นของนโยบายรัฐบาลได้ระบุไว้แล้วว่าจะใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้นอีก 1 พันล้านบาทในตอนหลังถือเป็นส่วนเกินที่อยู่นอกเหนือนโยบายที่ประกาศไว้ อีกทั้งมีความเกี่ยวโยงถึงการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มพวกพ้องในธุรกิจของครอบครัวของตัวเอง ดังนั้นในการทำสำนวนต้องแยกเงินที่ธนาคารปล่อยกู้ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ดำเนินการถูกต้อง 3 พันล้านบาท และส่วนที่ถือว่าเป็นการดำเนินการโดยมิชอบอีก 1 พันล้านบาท

*** อายัดรอบ 9 คาดอย่างต่ำพันล้าน

แหล่งข่าวจากคณะอนุกรรมการตรวจสอบการอายัดทรัพย์ ที่มีคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา เป็นประธาน เปิดเผยว่า การประชุม คตส.ชุดใหญ่ในวันจันทร์ที่ 23 ก.ค.นี้ จะมีการเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ คตส. มีมติอายัดทรัพย์รอบที่9 วงเงินจะอยู่ที่ประมาณ 500-1,000 ล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ทางคณะอนุกรรมการ กำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินอยู่

***อัยการพร้อมแก้ต่างคดีให้ คตส.

นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ผู้ตรวจราชการสำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ มอบอำนาจให้ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส. และกรรมการ คตส. ทั้งคณะ รวม 11 คน เป็นจำเลยต่อศาลแพ่ง ฐานละเมิด เรียกค่าเสียหายกว่า 50,000 ล้านบาท จากการอายัดทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของ คณะกรรมการ คตส. ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามคำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ถ้าคณะกรรมการ คตส. ที่ถูกฟ้องมีความประสงค์ และทำหนังสือมาให้อัยการแก้ต่างคดีให้

“อัยการก็พร้อมที่ดำเนินการจัดหาอัยการไปดูแล ว่าความ แก้ต่างคดีให้ทุกคดี ทั้งคดีแพ่งคดีอาญา และคดีปกครอง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย ถ้าคณะกรรมการคตส. ถูกฟ้องคดีอาญา ก็จะมีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 และ 2 รับผิดชอบแก้ต่างคดีให้ หากถูกฟ้องในคดีแพ่ง มีอัยการฝ่ายคดีแพ่งคอยดูแล หรือถ้าถูกฟ้องในคดีปกครอง อัยการฝ่ายคดีปกครองก็พร้อมดำเนินการ ถ้าคณะกรรมการ คตส.ซึ่งถูกฟ้อง จะร้องขอให้อัยการคนใดเข้าไปช่วยเหลือเป็นพิเศษ ก็จะจัดการให้ โดยที่ผ่านมาอัยการก็เข้าไปดูแลทางคดีให้คณะกรรมการ คตส.ซึ่งถูกฟ้องในคดีอาญาแล้ว”
กำลังโหลดความคิดเห็น