xs
xsm
sm
md
lg

พื้นที่ 3 พันตารางกิโลเมตร-กับความผิดพลาด...ของยอดดอยที่มีความสูงต่างกัน 3 เมตร 25 เซนติเมตร

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

.
การเสียดินแดนที่เหนือบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ คือบริเวณเนินลาดของดอยลาง ทอดตัวมาลงแม่น้ำกก มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม, คือด้านใต้อยู่ติดแม่น้ำกก ทางเหนือเป็นแนวทิวดอยลาง ทางด้านตะวันออกนี่แหละที่ทหารพม่าเพิ่งจะเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ โดยไม่มีการอ้างสิทธิใดๆ มาก่อน แต่ส่งทหารข้ามสันเนินเข้ามาเลยทีเดียว

พื้นที่นี้ประมาณ 250 ไร่ที่ทหารพม่าเข้าคุมอย่างชัดเจน คือถือเป็นพื้นที่ทางทหารเด็ดขาด มีการแบ่งเขตควบคุมกับทหารไทยของกองกำลังนเรศวรอย่างชัดเจน แต่หากจะมองให้ลึกไปถึงลักษณะของพื้นที่จะเห็นว่า ดินแดนส่วนนั้นซึ่งมีประมาณ 3 ตารางกิโลเมตร เป็นปัญหาทั้งหมด เพราะทหารพม่าคุมบริเวณพื้นที่รอบๆ ที่ตั้งไว้ด้วย โดยที่ทหารของกองทัพภาคที่ 3 ก็ไม่ได้เข้าไป ไม่ว่าจะเป็นการลาดตระเวน ตรวจตราพื้นที่หรือการปรากฏตัวใดๆ ของทหาร คือทางฝ่ายเราเข้าไปจนถึงเชิงดอยลางไม่ได้ ทั้งๆ ที่ดอยลางนั้น เป็นพรมแดนธรรมชาติ แบ่งเขตประเทศกันที่สันปันน้ำบนยอดดอย คือน้ำฝนตกไหลลงทางใดก็เป็นเขตประเทศนั้น

แต่ในวันนี้, อย่าว่าแต่จะขึ้นไปจนถึงสันปันน้ำ ยอดดอยลางเลย เพียงแค่เชิงดอยลางเราก็ไม่ได้เข้าไปเหยียบ

เหตุใดจึงไม่มีการปฏิบัติทางทหาร เมื่ออธิปไตยถูกคุกคามหรือรุกรานเช่นนี้?


กำลังทหารพม่าที่ประจำการอยู่ก็มีประมาณ 1 กองร้อย และบางครั้งก็น้อยกว่านั้น หรือมากกว่าเล็กน้อย ตามสถานการณ์ภายในของพม่าที่จะดึงกำลังส่วนนี้ออกไปปฏิบัติการทางทหารในพื้นที่ของเขา ที่อยู่ลึกเข้าไปหรือการส่งทหารมาเพิ่มมากขึ้น หากพบว่าทางกองกำลังนเรศวรที่เผชิญหน้ากันอยู่ มีการเพิ่มเติมกำลัง โดยการตรวจการณ์ทางทหารของทั้ง 2 ฝ่าย สามารถทำได้ง่าย เพราะลักษณะเป็นพื้นที่ราบและเป็นที่เกือบจะเรียกว่า เป็นที่โล่งเป็นส่วนใหญ่

“นโยบาย” คือคำตอบ, จากการที่ระดับสูงกว่าผู้ปฏิบัติการในพื้นที่ ถือว่าเป็นจุดล่อแหลมเสี่ยงอันตรายต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศคือพม่ากับไทย การปฏิบัติการทางทหารใดๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของผู้รับผิดชอบในพื้นที่ แม้กระทั่งกองทัพภาคที่ 3 หรืออาจจะไปถึงกองทัพบกด้วยซ้ำ เพราะกระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ จะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ หรือการแก้ไขปัญหาในระดับรัฐบาลเท่านั้น

กำลังทหารของพม่าก็อยู่ด้วยความสงบ ปฏิบัติภารกิจดูแลพื้นที่โดยไม่มีลักษณะของการคุกคามหรือเคลื่อนไหวที่เป็นอันตรายมากกว่าการเฝ้าพื้นที่ พวกเขาก็ปฏิบัติตามคำสั่งของทางรัฐบาลที่ย่างกุ้งเช่นกัน

สำหรับปัญหาในพื้นที่นั้น มีข้อตกลงกันอยู่ว่า จะแก้ปัญหาใน 4 ระดับด้วยกันคือ ระดับพื้นที่และระดับชาติ โดยมีการปฏิบัติใน 2 ระดับนี้เป็นหลายขั้นและลักษณะคือ

1. ความสัมพันธ์ในภาพรวม คือความสัมพันธ์และปัญหาทั่วไป จะมี กรรมการร่วมไทย-พม่า ระดับการปฏิบัติทั่วๆ ไป มีอักษรย่อว่า เจ.ซี. (จ๊อยท์ คอมมิสชั่น) ปัญหาทั้งหลายมักจะจบลงในระดับนี้ หากไม่ใหญ่โตเกินไป

2. คณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค หรือ อาร์บีซี (RBC) โดยทางไทยจะเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และแม่ทัพภาคที่ 3 ที่มีพื้นที่ติดกับพม่า เป็นประธานกรรมการประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธร ผู้กำกับการตำรวจตระเวนชายแดนของพื้นที่มีฝ่ายกิจการชายแดน กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นเลขาธิการ และทางพม่าก็มีผู้บัญชาการทหารภาคที่อยู่ติดกับไทย และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ของพม่าในระดับเดียวกัน

3. คณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า หรือระดับ ทีบีซี (TBC) เป็นระดับสูงขึ้นไปอีก มีระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุดของแต่ละประเทศเป็นประธานกรรมการ

จะเห็นว่าลักษณะที่ติดต่อประสานกับทางพม่า จะใช้ทหารเป็นหลัก เพราะพม่ามีทหารเป็นผู้กุมอำนาจและเป็นผู้ตัดสินใจสูงสุด มีอะไรที่เป็นปัญหาก็พูดจากันในลักษณะ “รักษาความสัมพันธ์” โดย 3 ระดับที่ว่านี้ซึ่งเป็นปัญหาโดยทั่วๆ แล้วแต่ความหนักเบาว่าจะใช้การเจรจา หรือทำความเข้าใจกันในระดับใด

ระดับที่ 4 เป็นระดับที่เกี่ยวกับปัญหาเขตแดนของแต่ละประเทศโดยเฉพาะ คือ คณะกรรมการชายแดนร่วม ยังมีคณะกรรมการชายแดนร่วมไทย-พม่า, ไทย-มาเลเซีย, ไทย-ลาว, ไทย-กัมพูชา คณะกรรมการอยู่ในระดับรัฐมนตรี คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือต่างประเทศ กลาโหม มหาดไทย สำหรับมาเลเซียและกัมพูชามีกระทรวงเกษตรฯ ด้วย เพราะเกี่ยวกับปัญหาน่านน้ำ การประมงในทะเล

กองเขตแดน กรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ สำหรับกรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด เข้าเป็นระดับกรรมการด้วย

ปัญหาที่เหนือท่าตอนนี้ผ่านระดับ 1-2-3 ไปแล้ว เข้าสู่ระดับที่ 4 เลยทีเดียว อันเป็นระดับชาติ/รัฐบาล ที่ควรจะใช้เวลา 5 ปีกว่าสมัยรัฐบาล “ทักษิณ” จัดการกับปัญหานี้ได้ แต่เวลาก็ผ่านไปเปล่าๆ

สำหรับระดับที่ 5 นั้นก็มีการพูดกันอยู่ว่า ถ้าหากเป็นชาติอื่น จะไม่ยืนดูดินแดนของตนอย่างนี้หรอก ลำดับที่ 5 ที่ว่าคือ “รบกัน”

ยังมีสิ่งที่ควรกล่าวถึงคือ เมื่อครั้ง พล.อ.ยิ่งยส โชติพิมาย เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 ต่อมาจนถึงสมัย พล.ท.ถนอม วัชรพุทธ เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 เช่นกัน กองทัพภาคที่ 3 ได้เคยนำปัญหาสำคัญของเรื่องพรมแดนคือ เขตแดนธรรมชาติของไทยและพม่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้ น่าจะไม่ถูกต้อง จากสนธิสัญญาที่อังกฤษผู้ปกครองพม่าในอดีตทำไว้กับสยามได้ระบุไว้ว่าให้ถือเอายอดเขาที่มีความสูงที่สุดในบริเวณนั้น เป็นจุดหมายและใช้แนวสันเขาที่เป็นสันปันน้ำโดยธรรมชาติเป็นเส้นพรมแดน โดยไม่ได้ระบุชื่อของยอดดอยสูงสุดที่ว่านั้น แต่ก็ได้ถือว่าที่ยอดดอยชื่อ “ผ้าห่มปก” เป็นดอยที่มียอดสูงสุดกว่าดอยใดๆ จึงถือแนวสันเขาที่มีชื่อเรียกรวมๆ ว่า ดอยลาง ที่มียอดดอยผ้าห่มปกเป็นดอยสูงสุด จากเทคโนโลยีวิชาการแผนที่ในสมัยนั้นเป็นเส้นเขตแดน

แต่เมื่อเทคโนโลยีเจริญขึ้น สามารถตรวจวัดความสูงจากระดับน้ำทะเลได้ด้วยดาวเทียมที่มีความแม่นยำสูง ได้พบว่าบริเวณนั้นดอยผ้าห่มปก มิใช่เป็นยอดดอยที่สูงที่สุดจากระดับน้ำทะเล มียอดดอยอีกดอยหนึ่งในพม่า ที่การอ่านความสูงของดาวเทียมว่า ยอดดอยดังกล่าวมีความสูงกว่าดอยผ้าห่มปก 3 เมตร 25 เซนติเมตร หากว่าจะดูข้อความตามสนธิสัญญาของอังกฤษและสยามดังกล่าว ดอยที่ว่านี้ก็ต้องเป็นเส้นพรมแดน และใช้สันเขาของดอยนั้นเป็นที่กำหนด หากว่าปฏิบัติตามตัวหนังสือในสนธิสัญญา ดินแดนของไทยต้องเขยิบขึ้นไปทางเหนือและตะวันตกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันตารางกิโลเมตรทีเดียว

อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ทั้งสองได้เคยนำเรื่องนี้มาหารือกับคณะกรรมการชายแดนไทย-พม่า ในการปรับปรุงเขตแดนตามสนธิสัญญาที่ระบุว่า “ยอดภูเขาสูงสุดในบริเวณนั้น” ซึ่งเวลานี้ผิดข้อเท็จจริง ทางพม่าก็นิ่งเฉย บอกว่าต้องเป็นนโยบายระดับรัฐบาลกับรัฐบาล เพราะเป็นเรื่องใหญ่มาก เรื่องนี้ก็เงียบหายไปในเวลาต่อมา คือทางไทยก็เงียบและพม่าก็พยายามมากกว่าที่จะให้เงียบ


กล่าวกันว่า ที่พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ อดีตนายกรัฐมนตรีของพม่า มอบเขตการดูแลพื้นที่ให้กับชนเผ่าว้านั้น ก็น่าจะมีเหตุผลมาจากเรื่องนี้ด้วย เพราะเขตว้านั้นมาชนบริเวณดอยผ้าห่มปก (เขตติดต่อเชียงรายและเชียงใหม่) ให้ดินแดนหรือพื้นที่ซึ่งไทยได้เริ่มพูดถึงนี้แล้วอยู่ในความดูแลของว้า โดยประมาณ 75% ของพื้นที่ ซึ่งควรเป็นของไทยตามข้อความที่ระบุในสนธิสัญญาอังกฤษ-สยามนั้น เวลานี้เป็น “เขตรัฐว้า” รัฐที่ไม่มีการประกาศแต่โดยสภาพก็เป็นเช่นนั้น-นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งของการเกิดรัฐว้า

ในภาพที่ได้นำมาลงพิมพ์ประกอบรายงานนี้ เป็นภาพของเมืองยอน ที่เป็นเสมือนเมืองหลวงของรัฐว้า เป็นภาพที่หาดูได้ยาก ได้มาด้วยความยากลำบาก และน่าจะเป็นภาพที่มาจากภายในรัฐหวงห้ามอย่างว้า ที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่สื่ออื่นๆ เมืองยอนอยู่ในบริเวณที่ราบหุบเขา มีแม่น้ำชื่อเดียวกับเมืองไหลผ่าน โดยมีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาดอยลาง บริเวณดอยผ้าห่มปก ซึ่งในภาพก็มองเห็นยอดดอยนี้ชัดเจน เมื่อพม่าปล่อยพื้นที่ดังกล่าวให้กับว้า สร้างเมืองขึ้นมาใหญ่โตขนาดนี้ บริเวณเมืองยอนทั้งหมดก็ต้องเป็นดินแดนของไทย หากจะยึดถือตามที่ระบุไว้ในสนธิสัญญานั้น พม่าไม่ได้เสียเมือง แต่ว้าจะเป็นฝ่ายเสียเมือง

เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่ความเป็นจริงต้องมีปรากฏให้คนไทยได้รับรู้ไว้

จะเป็นไปได้อย่างไร เพราะแม้แต่เหนือท่าตอนที่เป็นของเราแท้ๆ พม่าก็ยังส่งทหารเข้ามาคุมพื้นที่ไว้อย่างเห็นอยู่ซึ่งๆ หน้า


ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เหมือนกับว่าโยนความรับผิดชอบให้ในกรณีนี้ ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่ว่าเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายๆ สมัยรัฐบาล “ชวน 2” ก่อนที่ “ทักษิณ” จะเข้ามา และถ้าหากว่าจะโทษรัฐบาล “ชวน 2” ก็จะไม่ให้ความเป็นธรรมเช่นกัน เพราะถ้าหากว่ารัฐบาลนั้นยังเป็นรัฐบาลที่นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมต่อไปอีกเทอมเลือกตั้ง ก็คงจะมีการจัดการกับปัญหานี้ในทางใดทางหนึ่งเสร็จสิ้นเด็ดขาดกันไปแล้ว เพราะดูเหมือนว่ามีการเตรียมการทางมาตรการทางทหารอะไรบางอย่างไว้ แต่ก็ไม่ได้ทำ...เรื่องนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้รู้เรื่องดีที่สุดว่าจะทำอย่างไร แต่ก็เปลี่ยนรัฐบาลเสียก่อน

รัฐบาล “ทักษิณ” อยู่กว่า 5 ปีไม่ได้ทำอะไรเลย โดยบอกว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การแก้ปัญหาต้องเป็นระดับรัฐบาลกับรัฐบาลเจรจากัน คือจะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี แต่ก็ไม่ได้ทำ...ทั้งๆ ที่เป็นช่วงซึ่งความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่าง พ.ต.ท.ทักษิณ กับ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีของพม่าในขณะนั้น อยู่ในฐานะมหามิตรต่อกัน เพียงแต่บอกว่า-รู้สึกไม่สบายใจที่มีทหารพม่าล้ำสันดอยลางเข้ามาอย่างนั้น ขอให้ถอนทหารกลับไปยังจุดเดิมเสีย พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ก็คงจะสั่งการและมีผลได้ทันที


แต่ “ทักษิณ” ก็ไม่ได้ทำ, ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า มองประโยชน์ทางด้านอื่นๆ เช่น การค้า เรื่องการลงทุนในพม่า ซึ่งก็เป็นการขยายธุรกิจของกลุ่มตน และพวกพ้องเข้าไปในพม่า รวมทั้งการให้พม่ากู้เงินระยะยาว 4 พันล้านบาท จากธนาคารเอ็กซิมแบงก์ของไทย เพื่อการพัฒนาสื่อสารโทรคมนาคม แล้ว กลุ่มชินวัตร ก็เข้าไปร่วมธุรกิจ อันเป็นเรื่องหนึ่งที่ คตส. กำลังสอบสวนอยู่ว่าทำความเสียหายแก่รัฐหรือไม่? โดยที่ทางพม่าเอง เมื่อมีการปฏิวัติโค่น พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ลงแล้ว พล.อ.หม่อง เอ ผู้นำอำนาจใหม่ได้ประกาศว่า พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ มีการกระทำคอร์รัปชันในเรื่องนี้ ได้ยึดบริษัทกิจการโทรคมนาคมที่ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ มอบให้ลูกชายเป็นคนดูแล พร้อมกับยึดเงินลงทุนที่กู้ไปจากไทยทั้งหมด ทำให้ “ทักษิณ” ต้องบินด่วนไปพม่าเพื่อเจรจากับ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย และ พล.อ.หม่อง เอ ที่จะขอเงินส่วนนี้คืนมา แต่ก็ไม่มีผลอะไร เพราะรัฐบาลทหารของพม่าชุดนี้ ยื่นมือข้ามไทยไปแนบแน่นอยู่กับสิงคโปร์

รายงาน “ลึก-หกสิบ, ลับ-สี่สิบ” ชุดนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่จะแบ่งลักษณะของการรายงานและกล่าวถึงแบบแยกส่วน แยกประเด็นกันไป โดยที่ในฉบับนี้ได้เปิดเผยภาพที่เป็นของหายากจากรัฐว้าไปแล้วส่วนหนึ่ง โดยจะมีการเปิดเผยภาพลับและเรื่องราวของว้าอย่างเต็มที่ในฉบับวันศุกร์หน้า รวมทั้งการเปิดเผยว่า มีคนใกล้ชิดที่ถือเป็นกลุ่ม “ทักษิณ” ได้เข้าไปมีบทบาทในการทำธุรกิจกับว้า คู่ขนานไปกับที่ว่า-มีการประกาศสงครามกับยาเสพติด แต่ก็มีคนไปใกล้ชิดกับว้า
กำลังโหลดความคิดเห็น