xs
xsm
sm
md
lg

ผนึกกำลังฟ้าดินจากในหลวงปวงชนสู่ราชประชาสมาสัย ( 6/1สรุป)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
สรุป 1. หาก คมช. และ ส.ส.ร. ไม่เต็มใจสร้างราชประชาสมาสัย ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขจะไม่เกิด นี่เป็นโอกาสครั้งสุดท้าย วิกฤตครั้งต่อไปจะไม่เหมือนเดิม

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ผนึกกำลังฟ้าดินตอนที่ 5 ตีพิมพ์ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 50 ผมชะลอไม่พิมพ์ตอนที่ 6 เพื่อคอยดูความเป็นไป และความจริงใจ ของผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องในการวางอนาคตประชาธิปไตยของไทย และได้สื่อความคิดไปมากันอยู่ตลอด

ไม่ค่อยมีผู้เข้าใจว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข กับราชประชาสมัยนั้น เป็นสิ่งเดียวกัน เมื่อไม่เข้าใจ ก็พากันเดินหลงทางสร้างระบอบประชาธิปไตยต่อไปตามอุปาทานของตน ถึงจะมีพระมหากษัตริย์ ก็มิใช่การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะไม่มีลักษณะเป็นราชประชาสมาสัย

สมมติว่า ผู้มีอำนาจเข้าใจ ก็คงจะต้องถามต่อว่า เหตุไฉนจึงหลีกเลี่ยงไม่ยอมให้การร่างรัฐธรรมนูญหรือตัวร่างรัฐธรรมนูญ มีลักษณะเป็นราชประชาสมาสัย นั่นก็คือการมีสัญลักษณ์ องค์ประกอบ ขั้นตอนและขบวนการเป็นราชประชาสมาสัย ได้แก่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของปวงชนชาวไทย รวมทั้งผู้แทนถาวรของปวงชน คือพระเจ้าอยู่หัว

หรือว่าบุคคลเหล่านั้นแกล้งทำเป็นโง่ เพราะความเคยชินในการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นปกครองไทย ทำให้เขาไม่ต้องการราชประชาสมาสัย

เป็นไปได้ไหมว่า ถึงเขาเหล่านั้นจะรักชาติและพระมหากษัตริย์อย่างจริงใจ แต่เพราะในชีวิตจริง เขามีประสบการณ์อยู่ในระบบสังคม ระบบพรรค และระบบการเมืองประชาธิปไตยจริงๆ จำกัดเกินไป แถมดูถูกและสัมผัสการเมืองไทยไม่พอ มีความเข้าใจแต่ในหนังสือหรือทฤษฎี จึงตกไปอยู่ในหลุมดำของอวิชชา และมานะทิฐิ ว่าตนรู้ดีและตนเก่งกว่าคนธรรมดา จึงต้องการผูกขาดเป็นผู้ชี้ทาง

บัดนี้ ผมไม่แน่ใจว่า ส.ส.ร. กับ คมช. ต่างกับทักษิณอย่างไรในเรื่องราชประชาสมาสัยหรือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

แต่บ้านเมืองไม่ใช่ของใครคนเดียว คมช.กับทักษิณจะต่อสู้แย่งชิงอำนาจกันตามลำพัง เพื่อผูกขาดชาติบ้านเมืองหาได้ไม่

หากพิสูจน์ได้ว่า คมช.จะโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี หรือโดยตั้งใจก็ดีทำให้อนาคตระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดับวูบไป คมช.ก็ คมช.เถอะ ผมไม่ยอม แม้จะต้องสู้ศึก 2 หน้า คือทักษิณด้วย ก็ไม่มีทางเลือก

ในวโรกาสในหลวงทรงเจริญพระชนม์ครบรอบ 80 พรรษา หากชาวไทยไม่ฉวยโอกาสพึ่งบารมีของพระมหากษัตริย์อันประเสริฐ ช่วยกันสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงให้สำเร็จถวายเป็นราชบูชา ครั้งนี้จะเป็นโอกาสสุดท้าย!

วิกฤตคราวต่อไประหว่างวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์ ชาวไทยจะไร้ที่พึ่ง และการต่อสู้ในภายหน้า จะทำให้เมืองไทยมิใช่เมืองไทยที่เราเคยรู้จักอีกต่อไป

ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเร่งไปสู่ประชามตินี้ แม้แต่จะเป็นประชาธิปไตยมันก็มิใช่ จึงมิต้องถามเลยว่าเป็นราชประชาสมาสัยหรือไม่

สรุป 2. ราชประชาสมาสัยสร้างไม่ยาก ถ้ารู้ว่าราชประชาสมาสัยคืออะไร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานทุนสร้าง “สถาบันราชประชาสมาสัย” ในปี 2501 และทรงอธิบายว่า ราชประชาสมาสัย หมายความว่า “พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน”

อาจจะมีบางท่านที่อ่านบทความผมเป็นครั้งแรก ผมเขียนบทความกว่า 2 ร้อยบท ไม่เกี่ยวโดยตรงก็เกี่ยวทางอ้อมกับเรื่องรัฐธรรมนูญและราชประชาสมาสัย เสียดายที่ผมยังไม่มีปัญญาพิมพ์เป็นเล่ม เพราะขาดทุนทรัพย์และเวลา(ที่จะทำหมายเหตุ คำอธิบาย ดัชนีและนามานุกรม) โบราณว่า ช้าเป็นการนานเป็นคุณ เพราะเมื่อก่อน ผมหลงว่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ กับดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เป็นผู้ให้กำเนิดคำนี้ เมื่อท่านเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดเดียวกับผมในปี 2516 ผมเพิ่งทราบว่า ในหลวงต่างหากทรงพระราชทานคำและความคิดเรื่องราชประชาสมาสัย

ในยุคที่ทักษิณเสื่อมสุดขีด คนในบ้านเมืองส่วนใหญ่สรุปว่านายกรัฐมนตรีขาดความชอบธรรมในการปกครอง เพราะได้กระทำความผิดและการที่มิบังควรหลายอย่างทำให้บ้านเมืองวิกฤต

ในวันที่ 18 มีนาคม 2549 มีแถลงการณ์จาก 2 สภาวิชาชีพชี้ความผิดทักษิณเสนอแนว “ราชประชาสมาสัย” กู้วิกฤต กล่าวคือ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย นางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือแห่งชาติ นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ พร้อมด้วยกรรมการและที่ปรึกษาของสภาวิชาชีพทั้ง 2 แห่ง ร่วมกันแถลงข่าวด่วน เรื่อง วิกฤตศรัทธาในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ตอนหนึ่งของแถลงการณ์สรุปว่า เมืองไทย 10 ปีมีการฆ่ากันกลางเมืองครั้งหนึ่ง และขณะนี้มีแนวโน้มจะเป็นเช่นเดิมอีก สภาทั้งสองจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะขับเคลื่อนแนวทางประชาสมาสัย ขอเชิญองค์กรวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทยสภา สถาปนิกสยาม สภาวิศวกรรมสถาน สมาคมข้าราชการพลเรือน คุรุสภา สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาหารือกันในต้นสัปดาห์นี้เพื่อทูลเกล้าฯ เสนอแนวทางราชประชาสมาสัยในการแก้วิกฤตของบ้านเมืองครั้งนี้

หลังจากนั้น 1 วัน ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เขียนคอลัมน์สนับสนุน ความคิดที่ประชาชนกับพระมหากษัตริย์ร่วมกันแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เรียกว่า “ราชประชาสมาสัย” เพราะ ประชาชนต้องการและยอมรับพระบารมีของพระมหากษัตริย์มากกว่าระบอบทักษิณ “ราชประชาสมาสัยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพึ่งพาพระบารมีของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในกรณีที่มีความไม่ปกติเกิดขึ้น”

สังคมไทยขานรับเซ็งแซ่ จนเกิดการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลทักษิณในวันที่ 19 ก.ย.49 ปีเดียวกัน หลังจากนั้นราชประชาสมาสัยก็หายไปดื้อๆ

ผมไม่เชิงคิดต่างแต่คิดเติม หลังจากที่ผมได้ศึกษาพระราชดำรัสและโครงการในพระราชดำริทั้งหลาย จึงเห็นว่าไม่ต้องคอยให้เกิดวิกฤตหรือความไม่ปกติเสียก่อนจึงค่อยมีราชประชาสมาสัย ราชประชาสมาสัยมีได้ทุกเมื่อทุกเวลา เป็นกิจวัตรปกติ รวมถึงเรื่องการปกครองและพัฒนาบ้านเมืองให้วัฒนาสถาพร เพราะ “พระมหากษัตริย์และประชาชนอาศัยซึ่งกันและกัน”

ตัวอย่างราชประชาสมาสัยในยามปกติ คือ การพระราชทุนตั้งสถาบันราชประชาสมาสัยในปี 2501 นั่นเอง

นอกจากนั้น ราชประชาสมาสัยที่เราอาจจะคิดไม่ถึง คือ การที่นายกรัฐมนตรีจะต้องเข้าถวายรายงานเป็นประจำ เพื่อให้พระราชทานความเห็น ให้กำลังใจ และตักเตือนเกี่ยวกับภารกิจของประเทศทั้งปวง อันเป็นพระราชอำนาจทั่วไปของพระมหากษัตริย์

การทำลายราชประชาสมาสัยและทำลายพระราชอำนาจได้เกิดขึ้นบ่อยในยุคทักษิณ เช่น การทำลายรัฐธรรมนูญ ด้วยการลงนามในสัญญาการค้าเสรีโดยไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และไม่เปิดโอกาสให้ทรงท้วงติงหรือลงพระปรมาภิไธย ทำให้เกษตกรที่ยากจนในภาคเหนือไม่สามารถอาศัยหรือพึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้ เมื่อถูกผลิตผลเกษตรราคาต่ำจากจีนเข้าโจมตี เป็นต้น

มีผู้คอยบิดเบือนอยู่เสมอว่าราชประชาสมาสัยคือการกลับคืนไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เหลวไหลสิ้นดี ผมขอย้ำอีกครั้งว่า

ราชประชาสมาสัย คือ สังคมที่ประชาชนกับพระเจ้าอยู่หัวต่างก็เป็นสมบัติซึ่งกัน ประชาชนกับในหลวงก็จะต้อง “อยู่ด้วยกัน ทำด้วยกัน และพึ่งกัน” โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญยิ่ง คือ การปกครองบ้านเมือง ซึ่งสมัยใหม่จะกระทำด้วยวิถีประชาธิปไตยเท่านั้น

“รัฐธรรมนูญแบบราชประชาสมัยก็คือ การผนึกพลังแผ่นดินเข้ากับพลังแผ่นฟ้า อันได้แก่ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแท้จริงของประชาชนกับการสถาปนาพระราชอำนาจตามระบอบรัฐธรรมนูญ และนิติราชประเพณี ให้ปกป้องไพร่ฟ้าประชาชนและประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง”


รัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับราชประชาสมาสัย มีหลักอยู่ 2 ประการ

1. การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างเป็นระบบในการสร้าง บำรุงส่งเสริมและรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การมีส่วนร่วมของประชาชน ฝรั่งเรียกว่า People หรือ Popular Participation หรือ Participative Democracy เป็นกิจวัตรปฏิบัติในวิถีชีวิตประจำวัน มิใช่เป็นครั้งคราว

2. การมีส่วนร่วมของพระมหากษัตริย์ในชีวิตการเมืองของประเทศเป็นประจำ โดยการใช้พระราชอำนาจต่างๆ อย่างเป็นระบบ ตามลัทธิรัฐธรรมนูญ ที่เรียกว่า Constitutional Monarchy หัวใจของระบบ Constitutional Manorchy อยู่ที่ความเคารพและการจัดสรรพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ให้ถูกต้อง เกิดผลในทางคุ้มครองประเทศชาติและประชาธิปไตยได้ ทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน

ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นี้ มองข้อที่ 1 แบบผิดๆ และแทบจะไม่สนใจข้อที่ 2 เลย

ผมชักจะสงสัยว่าบทความของผมเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 49 เรื่อง คมช.ทำลายราชประชาสมาสัย? ทำท่าจะเป็นจริง!
กำลังโหลดความคิดเห็น