xs
xsm
sm
md
lg

สมุดหน้าเขียวของนายกรัฐมนตรี

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
ท่านผู้อ่านที่เคารพ ฉบับที่แล้วผมเขียนถึงการสละอำนาจของนายกรัฐมนตรีให้กับสภาผู้แทนราษฎร และมาตรการอื่นๆ ที่เป็นการปฏิรูปการเมือง เพื่อเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยให้มากขึ้น เพราะมีความเชื่อว่าประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะเป็นหลักประกันการคุกคามสันติภาพและความปลอดภัย ที่จะประดังมาเพราะการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยโลกาภิวัตน์ เช่น การทำลายสิ่งแวดล้อมของโลก ซึ่งจะเร่งเวลาให้โลกสลาย อีกอย่างคือ การก่อการร้ายและวินาศกรรมข้ามชาติ ประชาธิปไตยจะทำให้ประเทศและชุมชนเข้มแข็งกว่าเดิม คุ้มภัยและคุ้มตนได้

คนไทยมักจะคล้อยตามความคิดของชนชั้นปกครอง ที่คิดว่าประชาธิปไตยทำให้อ่อนแอ จึงชอบแก้ปัญหาทุกอย่างด้วยกำลัง กฎหมายความมั่นคงก็เป็นตัวอย่างของความรักชาติแบบเผด็จการ

อังกฤษ ฝรั่งเศส หรืออิสราเอล เมื่อเกิดกลียุคคุกคาม เขาจะต้องหันเข้าหาประชาชน เพิ่มมาตรการประชาธิปไตยให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อระดมความสามัคคีของคนในชาติ ช่วยกันแก้ปัญหา แทนที่จะใช้อำนาจลูกเดียว

ครับ คราวที่แล้วผมพูดถึงนายกฯ อังกฤษ มิใช่นายกรัฐมนตรีไทย มีท่านผู้อ่านติดต่อขอร้องให้ผมช่วยเขียนเรื่องสมุดปกเขียวของนายกฯ อังกฤษต่อ เผื่อจะเป็นแรงจรรโลงใจให้พลเอกสุรยุทธ์ออกสมุดปกเขียวบ้าง

ผมว่าคงยาก สมุดหน้าเขียวล่ะไม่แน่ หน้าเขียวเพราะถูกบีบโดยผู้แทนของปวงมหาประชาชน และประชาชนที่ยังไม่พัฒนา รู้จักแต่เรียกร้องหาอำนาจและสิทธิเสรีภาพมากขึ้น โดยหาเข้าใจหรือเต็มใจที่จะเพิ่มความรับผิดชอบของตนให้เป็นสัดส่วนกันไม่ และรัฐธรรมนูญที่กำลังจะออกมาใหม่ก็คงไม่มีความหมายอะไร

อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่านายกฯ ไทยสมควรแสดงความกล้าได้เช่นเดียวกับนายกฯ อังกฤษ คือกล้าที่จะเป็นผู้นำในการปฏิรูปด้วยตนเอง อย่างอารยะ สง่างาม และเป็นระบบ การปฏิรูปหลายอย่างไม่จำเป็นต้องคอยรัฐธรรมนูญ หรือออกมาเป็นกฎหมาย หรือรอคอยให้มีกฎหมายเสียก่อนจึงจะลงมือได้ การกระทำใดๆ ที่เห็นประโยชน์และไม่มีกฎหมายห้าม ก็สมควรกระทำทั้งสิ้น เมื่อกระทำแล้ว ดีขึ้น นายกฯ บราวน์บอกว่า การกระทำนั้นๆ จะกลายเป็น constitutional convention หรือจารีตรัฐธรรมนูญไปเอง ไม่ต้องไปเขียนอะไร สิ่งที่เขากำลังอยู่ ก็จะเป็นเยี่ยงนั้น

ผมเสียดายที่สมุดปกเขียวของบราวน์ออกมาช้าไปนิด มิฉะนั้นจะได้พิสูจน์ว่า หากออกมาเร็วทันเวลา จะเหมือนกับนิทานเรื่องไก่ได้พลอยสำหรับบรรดา ส.ส.ร.ผู้ทรงภูมิปัญญาของไทยหรือไม่

ผมขอเล่าเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับภูมิภาคหรือท้องถิ่นเรื่องเดียวก่อน

ผมพูดมานานเหลือเกินแล้วว่า ระบอบบริหารราชการแผ่นดินของเราเป็นระบอบที่กินตัวเอง แทนที่จะส่งเสริมให้ท้องถิ่นแข็งแกร่ง กลับทำลายเสียทีละนิดๆ ด้วยการใช้ระบบเศรษฐกิจและการศึกษาดูดเอาทรัพยากรที่มีค่าทั้งที่เป็นมนุษย์และธรรมชาติของท้องถิ่นไปประเคนส่วนกลางเสียหมด ในความเป็นจริง ไทยเป็นระบบ “รวมศูนย์-รวบอำนาจ-เป็นทาสส่วนกลาง” ยิ่งกว่าคอมมิวนิสต์เสียอีก

จะเขียนรัฐธรรมนูญสวยหรูอย่างไร ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเราเอาโครงสร้างของราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นตัวแทนของส่วนกลาง ไปครอบราชการส่วนท้องถิ่นไว้อย่างสมบูรณ์แบบ โครงสร้างสังคมเศรษฐกิจทุกอย่างแม้กระทั่งศาสนาก็ตามกันไปเป็นพรวน

ครั้นจะส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เรากลับยัดเยียดหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานโยธา จัดซื้อจัดหาจัดจ้างกันยัน เลยกลายเป็นการแพร่เชื้อโรคคอร์รัปชันไปทั่วประเทศ

ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นคือเอาระบบอุปถัมภ์จากพรรคการเมืองเข้าไปครอบ ทำให้การปรับตัวอย่างเป็นขั้นตอนเพื่อทำให้ราชการส่วนภูมิภาคกับราชการส่วนท้องถิ่นเกลื่อนกลืนกันอย่างมีเอกภาพเป็นอันสิ้นหวัง เป็นการ “กระจายอำนาจ” จอมปลอม การโอนงบประมาณ บุคลากรและภารกิจที่จำเป็นและสมควรไปสู่ท้องถิ่นจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งยากลำบาก

ที่อังกฤษนั้นไม่มีการปกครองส่วนภูมิภาค งบประมาณและทรัพยากรต่างๆ ออกจากส่วนกลางไปถึงท้องถิ่นโดยตรง

การกระจายอำนาจ (decentralization) หรือการแบ่งภารกิจบางอย่างให้ท้องถิ่น เขาเลิกพูดกันหลายสิบปีแล้ว เป็นเรื่องไดโนเสาร์-เต่าล้านปีจริงๆ เรื่องที่เขาพูดและกระทำกันอย่างจริงจังเรียกว่า devolution คือ การคืนอำนาจการปกครองให้กับท้องถิ่นหรือภูมิภาค

บราวน์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 27 มิถุนายน 2550 ในวันที่ 28 มิถุนายน บราวน์ประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรีภูมิภาครวดเดียว 7 คน ผมจับมาเรียงต่อกันทั้งดุ้น และแทรกภาษาไทย ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตอะไรบางอย่าง

Her Majesty’s Government - Ministers for the Regions

28 June 2007 The Queen has been pleased to approve ทรงอนุมัติ ผมไม่แปลว่าพระบรมราชโองการ การแต่งตั้ง the following Ministerial appointments.

Minister for the North East of England and Deputy Chief Whip (Treasurer of Her Majesty’s Household) (รมต.ประจำภาคอีสาน) The Rt Hon Nick Brown MP; Minister for the North West (ประจำภาคตะวันตกเฉียงเหนือ) The Rt Hon Beverley Hughes MP [1]=เข้าประชุมครม.เฉพาะเมื่อมีเรื่องเกี่ยวกับสังคม; Minister for Yorkshire and the Humber (ยอร์กไชร์ย-ฮัมเบอร์) Caroline Flint MP; Minister for the Olympics and for London (2) (รมต.ประจำลอนดอนและกีฬาโอลิมปิก (2)=เข้าประชุม ครม. The Rt Hon Tessa Jowell MP; Minister for the South West (ภาคตะวันตกเฉียงใต้) Ben Bradshaw MP; Minister for the East Midlands (มิดแลนด์ตะวันออก) Gillian Merron MP; Minister for the West Midlands (มิดแลนด์ตะวันตก) Liam Byrne MP ; Minister for the East of England (อังกฤษตะวันออก) Barbara Follett MP

(1) Attends Cabinet when social policy issues are being discussed เข้าประชุม ครม.เฉพาะเรื่อง (2) Attends Cabinet เข้าประชุม ครม.

สังเกตนะครับว่า รัฐมนตรีเหล่านี้ เหมือนกับรัฐมนตรีอื่นๆ อีกหลายคน มิใช่ Cabinet member ครม.หรือ Cabinet ของอังกฤษไม่ใหญ่โตเทอะทะเหมือนของไทย โดยเฉพาะรองนายกรัฐมนตรีไม่เคยมีเกิน 1 คน รัฐบาลส่วนใหญ่จะไม่ตั้งรองนายกรัฐมนตรี เหมือนรองนายกฯ เสียกบาลของไทยที่เยอะและเลอะเสียจนจำไม่ได้

ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของเรา หากจะมอบงานพิเศษหรือประจำเป็นอย่างๆ เช่น 3 จังหวัดภาคใต้ หรือประจำภาคอย่างเต็มภาคภูมิเหมือนอังกฤษน่าจะพอได้ อุปสรรคอยู่ที่ไหน อุปสรรคอยู่ที่ระบบพรรคที่เป็นแก๊งเลือกตั้ง มีลักษณะชั่วคราว แต่มีความศักดิ์สิทธิ์ตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญและเลือกตั้ง ก็แปลว่า กฎหมายนั่นแหละคืออุปสรรคที่แท้จริง ส.ส.ร. กับ คมช. และ สนช. ท่านจะตระหนักไหมหนอ

ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่กำลังจะผันตัวเข้าสู่พรรค (หัวหน้าตั้ง-ไม่ยั่งยืน) สมัยหน้านี้ เคยเสนอความคิดเรื่องรัฐมนตรีประจำภาคมานานแล้ว หากดร.ชัยอนันต์ฟลุ๊กได้เป็นนายกฯ หรือรัฐมนตรี อาจจะผลักดันให้เกิดรัฐมนตรีประจำภาคก็ได้ แต่ถ้าเกิดเพื่อไปเพิ่มความเทอะทะของ ครม. (คนเรื่องมาก) เหมือนเดิมอีก ประโยชน์ก็จะได้ไม่คุ้มเสีย

อังกฤษมีสำนักงานรัฐบาล (ใน) ภูมิภาคอยู่ 9 แห่ง เป็นผู้รับใช้ให้บริการของรัฐบาลกลาง ดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงทั้ง 11 ในมหานครลอนดอน นอกจากนั้นยังมี RDAs/Regional Development Agencies หรือองค์กรพัฒนาบูรณาการแห่งภูมิภาคอยู่อีก 9 แห่งเท่ากัน ทำหน้าที่ผลักดันและประสานการพัฒนาและฟื้นฟูเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการแข่งขันและลดช่องว่างความไม่เท่าเทียมระหว่างภาคต่างๆ

รัฐมนตรีภาคเป็นผู้รับฟังความต้องการและวางยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกับประชาชนในท้องถิ่น รับผิดชอบต่อสภาล่าง และในอนาคตต่อคณะกรรมาธิการภูมิภาคที่รัฐบาลจะสนับสนุนให้ตั้งขึ้นอีกด้วย ภาคเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพในการปกครองประเทศ พร้อมกับเป็นจราจร 2 ทาง รับความหลากหลายและทุกข์สุขของประชาชน

ถ้าบ้านเรามีอย่างนี้ก็คงลดปัญหาความยากจนเหลื่อมล้ำต่ำสูงและการเดินขบวนมาล้อมทำเนียบได้เป็นอย่างดี หรือแม้แต่เรื่อง 3 จังหวัดภาคใต้ก็น่าจะดีขึ้น แต่นักทฤษฎีหัวเขียงของไทยคงเถียงว่า ไม่ได้ๆ เพราะประเทศไทยเป็นเอกรัฐหรือ unitary state เหมือนอังกฤษ (ฮา)

คิดๆ ดูแล้ว รัฐมนตรีภาคของอังกฤษก็ไม่ต่างกับอุปราชรั้งมณฑลหรือเทศาภิบาลมณฑลของไทยในสมัยโบราณมากนัก หรือแม้แต่ข้าหลวงภาคที่เราเมื่อ 50 ปีที่แล้วก็เหมือนกัน ทำไมหนอ ชนชั้นปกครองไทยสมัยนี้ ซึ่งถือว่าตนรอบรู้ฉลาดกว่าชาวบ้านนัก จึงคิดสูตรอย่างนี้ไม่ออก สู้บราวน์ไม่ได้ ไหนๆ ป๋าก็ยกนายกฯ สุรยุทธ์เทียบระนาบเชิร์ชชิลแล้ว ผมขอยุให้นายกฯ สุรยุทธ์สู้กับบราวน์ดูสักตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น