xs
xsm
sm
md
lg

"6 องค์กร"สื่อผนึกกำลังคัดค้าน กม.ความมั่นคง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพ.ร.บ.ความมั่นคง ระบุขัดต่อ รธน.ชั่วคราว และ ร่าง รธน. 50 และเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่นเดียวกับกับ กก.สิทธิมนุษยชนฯ เรียกร้องให้รัฐบาลระงับการออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพทุกฉบับ ชี้ไม่เหมาะสมเพราะเป็นรัฐบาลชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (12 ก.ค.) องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบไปด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้านการตรา ร่างพ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร

แถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ ครม. มีมติ อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 255 0ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไปนั้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ได้พิจารณาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลควรพิจารณายุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1.บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 3 รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญแห่ง พ.ศ.2550 ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงประชามติ ในหมวดว่าด้วยเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดแจ้ง

2.กระบวนการในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจ อย่างกว้างขวางโดยปราศจากการตรวจสอบ ดังนั้น การตรากฎหมายลักษณะนี้ จึงควรกระทำในช่วงเวลาที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

3.เนื่องจากกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลในการดำเนินการ กรณีเกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อประเทศนั้น อาทิ พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ย่อมเพียงพอต่อการนำมาใช้ควบคุม สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงได้อยู่แล้ว การพยายามออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการมีรัฐบาลชั่วคราว อาจทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจของกลุ่มที่ต้องการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยการกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหารที่ยังคงอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศอยู่ในขณะนี้

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กรข้างต้น จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในทันที เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลนี้ เป็นรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรัฐบาลที่มาจาก การการเลือกตั้งของประชาชนก็ตาม

วันเดียวกัน นายเสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อ่านแถลงการณ์ เรื่องขอให้รัฐบาลระงับความคิดที่จะออกกฎหมายหลายฉบับที่เป็นเผด็จการ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ละเมิดต่อฐานทรัพยากรธรรมชาติ และไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ สวนกระแสเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.อนุรักษ์สัตว์ป่า ฯลฯ

นายเสน่ห์ กล่าวว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ มีความห่วงใยและมีความปรารถนาดีที่จะเห็นรัฐบาลได้ดำเนินการทั้งนโยบายและมาตรการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพของประชาชน ตามความคาดหวังและเจตนารมณ์เพื่อการปฏิรูปการเมืองของสังคมไทยในปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ จึงไม่เห็นด้วย และขอคัดค้าน เพื่อให้รัฐบาลทราบถึงความ พอเหมาะพอควรในฐานะรัฐบาลรักษาการชั่วคราว คือ ขอให้ยุติความคิดและการดำเนินการใดๆ ต่อการร่างกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกฉบับทันที เพราะขัดต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปการเมือง ขัดต่อการรณรงค์ให้ประชาชนไทยรับร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่า คุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้นกว่าเดิม เพราะจะทำให้สิทธิ เสรีภาพที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญหมดความหมายไป ตั้งแต่ยังไม่ทันมีโอกาสประกาศใช้

ด้าน นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ต่าง ๆ ที่มีปัญหานั้น เคยเป็นร่างที่ถูกผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกกระแสสังคมกดดัน และกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็แสดงจุดยืนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้ และจากสถิติการร้องเรียนของกรรมการสิทธิฯ ในช่วงหลัง จะพบเรื่องที่เกี่ยวกับทหารมากขึ้น โดยเฉพาะการสกัดกั้นประชาชนไม่ให้ดำเนินการต่างๆ แม้แต่จะไปยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ถูกทหารสกัด

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองอย่างไรที่นายกรัฐมนตรีมักระบุว่า ปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ตัดสินใจ นายเสน่ห์ กล่าวว่า รัฐบาลตกอยู่ภายใต้ อิทธิพลของข้าราชการ ฟังแต่เสียงข้าราชการอย่างเดียว เห็นได้ชัดจากกรณี เขื่อนปากมูล ที่มีผลการศึกษาหลายฉบับที่ประชาชนนำเสนอ แต่รัฐบาลกลับตัดสินใจปิดประตูเขื่อน โดยตัดสินใจและเชื่อข้อมูลของข้าราชการที่มักมีปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด
กำลังโหลดความคิดเห็น