xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อคนจีนอดออมน้อยลง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ในฐานะที่เป็นสังคมที่มีคนจีนเข้ามาอาศัยอยู่อย่างมากมายตั้งแต่อดีตกาลหลายร้อยปี สิ่งหนึ่งที่เป็นที่รู้กันดีในหมู่คนไทยก็คือ นิสัยอดออมของชาวจีน นิสัยนี้สะท้อนผ่านการใช้ชีวิตที่ประหยัดมัธยัสถ์ การกินอยู่ที่เรียบง่ายให้พอกินอิ่มนอนอุ่น ไม่ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อหรือเห่อเหิม

เล่ากันว่า ในสมัยต้นกรุงเทพฯ ชาวจีนที่เข้ามาใช้แรงงานในสยามนั้น พอถึงเวลากินข้าว พวกเขาจะนั่งล้อมวงกันกินข้าวต้ม โดยกลางวงที่จะมีจานหนึ่งเป็นเกลือ อีกจานหนึ่งเป็นก้อนกรวดขนาดพอคำ เวลาที่กินคนจีนเหล่านี้จะใช้ตะเกียบคีบก้อนกรวดมาจุ่มน้ำข้าวต้มในชามตน จากนั้นก็จะใช้ก้อนกรวดนี้ไปแตะเกลือให้ติด แล้วนำเข้าปากเพื่อดูดรับรสเค็มของมันพร้อมกับพุ้ยข้าวต้มตามไป

สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจชาวจีนในขณะนั้นแล้ว อาจจะมองไปว่า พฤติกรรมแบบที่ว่านั้นไม่น่าจะเป็นการประหยัด แต่น่าจะเป็นความตระหนี่ถี่เหนียวเสียมากกว่า ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่ ทั้งนี้เพราะชาวจีนที่เข้ามาใช้แรงงานในเวลานั้นเข้ามาเพราะยากจนจริงๆ และก็เพราะความยากจนนี้เองที่ทำให้พวกเขาต้องเก็บหอมรอมริบเพื่อที่จะนำเงินที่เก็บได้นี้กลับไปให้ครอบครัวที่อยู่ทางจีนแผ่นดินใหญ่

กระนั้นก็ตาม ประเด็นที่ควรกล่าวด้วยก็คือว่า เรื่องของการประหยัดมัธยัสถ์นี้จะว่าไปแล้วอาจถือได้ว่าเป็นจริยธรรมข้อหนึ่งที่ชาวจีนถูกอบรมสั่งสอนมาแต่อ้อนแต่ออกจนเป็นนิสัยติดตัวเมื่อโตขึ้น ยิ่งสมัยที่จีนมีแต่ความยากเข็ญนานนับเนื่องกันมาเมื่อกว่าร้อยปีก่อนด้วยแล้ว นิสัยเช่นนี้ต่อให้ชาวจีนไม่อยากจะมีติดตัวก็ไม่อาจหลีกหนีไปได้อย่างเด็ดขาด

และคงเป็นด้วยติดเป็นนิสัยมาช้านาน ชาวจีนในยุคปฏิรูปทุกวันนี้จึงยังคงขึ้นชื่อในเรื่องการประหยัดและอดออม จนบางครั้งอดออมจนแม้แต่รัฐบาลเองก็ยังปวดเศียรเวียนเกล้า เพราะพออดออมแล้ว การใช้จ่ายก็ไม่เกิดขึ้น และพอไม่เกิดขึ้น การบริโภคจึงถูกจำกัดอยู่แต่เฉพาะในเรื่องที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น คนจีนจึงไม่ค่อยกินไม่ค่อยเที่ยว เมื่อเป็นเช่นนี้เศรษฐกิจในภาคการผลิตต่างๆ จึงไม่ขยายตัว

เหตุการณ์หนึ่งที่สะท้อนความจริงดังกล่าวได้เป็นอย่างดีก็คือ เมื่อราวกลางๆ ทศวรรษ 1990 จีนได้เร่งทำการปฏิรูปจนภาคการผลิตต่างๆ ได้เติบโตมากขึ้น แต่เนื่องจากชาวจีนไม่ใช้จ่ายเงิน การบริโภคจึงไม่ขยายตัว และทำให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบางด้านขึ้นมา รัฐบาลรู้ดีว่า ที่ประชาชนไม่ใช้จ่ายเงินก็เพราะได้นำเงินไปฝากธนาคารเพื่อหวังกินดอกเบี้ย ที่ในขณะนั้นสูงถึงร้อยละ 9 เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจึงนำมาตรการลดดอกเบี้ยมาใช้ ด้วยคิดว่าเมื่อดอกเบี้ยต่ำลงแล้ว ประชาชนก็จะไม่เห็นความสำคัญของการฝากเงิน และจะนำเงินออกมาใช้ในที่สุด

แต่ผลปรากฏว่ารัฐบาลคิดผิดถนัด เพราะยังไงๆ ชาวจีนก็ยังฝากเงินด้วยนิสัยอดออมเหมือนเดิม ที่เป็นตลกร้ายก็คือ รัฐบาลได้ใช้มาตรการดังกล่าวตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 1996 และใช้เป็นระยะๆ จนถึงเดือนมิถุนายน 1999 รวมแล้วใช้ไปทั้งสิ้น 7 ครั้ง จนทำให้ดอกเบี้ยถูกลดลงมาจนเหลือเพียงร้อยละ 2.25 แล้วยังแถมซ้ำด้วยการเก็บภาษีดอกเบี้ยอีกร้อยละ 20 อีกต่างหาก แต่ผลก็คือ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ชาวจีนยังคงอดออมอยู่เหมือนเดิม

อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลนำมาใช้ก็คือ การประกาศให้วันหยุดประจำชาติที่แต่เดิมหยุดเพียง 1-3 วันมาเป็นหยุดยาวถึง 5-7 วัน เพื่อที่ชาวจีนจะได้ใช้วันหยุดยาวนี้ออกมาใช้จ่ายเงินมากขึ้น วันหยุดเหล่านี้ก็คือวันตรุษจีน วันแรงงาน (1 พฤษภาคม) และวันชาติ (1 ตุลาคม) ตอนที่ประกาศมาตรการนี้ใหม่ๆ ไม่ค่อยได้ผลมากนัก ถึงแม้ต่อมาเมื่อชาวจีนใช้จ่ายตามมาตรการนี้มากขึ้น เม็ดเงินที่ใช้จ่ายก็ยังไม่มากอยู่ดี

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากชาวจีนยังคงนิสัยนี้ต่อไป บทความนี้ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเขียน แต่เพราะหลายปีมานี้ จีนได้เปลี่ยนแปลงไปมาก โดยเฉพาะกับเศรษฐกิจที่เสรีมากขึ้น ได้ทำให้จีนเติบโตมากขึ้น นิสัยอดออมของชาวจีนก็เริ่มเปลี่ยนไป นั่นคือ ชาวจีนได้ลดการอดออมของตนลงเป็นลำดับ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางของจีนหรือธนาคารประชาชนจีนได้รายงานเมื่อเดือนมิถุนายน 2007 ว่า เงินออมของชาวจีนเมื่อเดือนพฤษภาคมได้ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ คือลดลง 278,400 ล้านหยวน จากที่เมื่อเดือนเมษายนลดลง 167,400 ล้านหยวน โดยเงินออมทั้งหมดจะอยู่ที่ 36 ล้านล้านหยวน ประเด็นคำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วชาวจีนนำเงินของตนไปทำอะไร จนทำให้นิสัยรักการอดออมต้องเปลี่ยนไป?

จากการสำรวจพบว่า ชาวจีนจำนวนมากได้นำเงินไปซื้อหุ้นในตลาดหุ้นกันมากขึ้น โดยมีชาวจีนถึงร้อยละ 58.4 เห็นว่า ดอกเบี้ยเงินฝากในปัจจุบันนี้ต่ำเกินไปจนไม่เกิดแรงจูงใจให้นำเงินไปฝากอีกต่อไป ถึงแม้ทางการจีนจะได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอีกร้อยละ 0.27 แล้วก็ตาม

การที่ชาวจีนนำเงินไปซื้อหุ้นดังกล่าวจนกระทบต่อเงินออมคงตอบได้ยากว่า ที่ซื้อหุ้นนั้นซื้อแบบเล่นหุ้นหรือซื้อแบบมีหุ้น ทั้งสองแบบนี้ไม่เหมือนกัน เพราะแบบแรกถือเป็นการพนันรูปแบบหนึ่ง ส่วนแบบหลังถือเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง การเป็นแบบใดแบบหนึ่งนี้มีความสำคัญมาก ด้วยจะชี้ว่าการซื้อหุ้นของชาวจีนนั้นเกิดขึ้นด้วยสำนึกแบบไหน

กล่าวคือ ถ้าเป็นแบบแรกก็เท่ากับว่า ชาวจีนได้ถูกโลภจริตเข้าครอบงำไปแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้ก็แสดงว่าเป็นลางที่ไม่ดีสำหรับการพัฒนาของจีนเอง แต่ถ้าเป็นแบบหลังก็เท่ากับว่า ชาวจีนมีวิจารณญาณในการใช้เงินมากขึ้น คือไม่เพียงจะรู้ว่าอะไรควรใช้หรือไม่ควรใช้ หากยังสามารถพินิจพิจารณาได้อีกด้วยว่า จะใช้ยังไงให้เม็ดเงินเพิ่มขึ้นภายใต้อัตราเสี่ยงที่ไม่สูงมากนัก ซึ่งในที่นี้ก็คือการซื้อหุ้นนั่นเอง

ที่น่าสนใจก็คือว่า ถ้าชาวจีนใช้เงินในแบบหลังจริง ก็เท่ากับชาวจีนได้เพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเองได้อย่างน่าสนใจ เพราะด้วยประสบการณ์เช่นนี้แม้จะล้มเหลวได้บ้างในบางครั้ง (คือซื้อหุ้นแล้วขาดทุน) แต่ในอีกด้านหนึ่งถือเป็นการเพิ่มทักษะในการบริหารเงินแบบหนึ่ง ซึ่งถ้าชาวจีนเป็นแบบนี้กันมากๆ ก็นับว่ากลัว ไม่น้อย (สำหรับชาติอื่น) เพราะมันจะทำให้ชาวจีนมีคุณสมบัติเป็น “พ่อมดการเงิน” ไปด้วย

ถ้าเช่นนั้นแล้วเราจะรู้ได้อย่างไร ว่าชาวจีนซื้อหุ้นกันแบบไหนใน 2 แบบที่ว่า? เกี่ยวกับประเด็นนี้ได้มีผลการวิเคราะห์ออกมาไม่ค่อยโสภามากนัก แต่ก็ใกล้เคียงกับความเป็นจริงอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้ ข้อวิเคราะห์ที่ว่านี้มองว่า ชาวจีนรุ่นใหม่ในปัจจุบันไม่เหมือนชาวจีนรุ่นก่อนอยู่อย่างคือ การเรียนรู้รสชาติของความลำบากและยากจน โดยชาวจีนรุ่นก่อนจะมีบทเรียนนี้มากกว่ารุ่นใหม่ และเป็นเหตุให้ชาวจีนรุ่นก่อนตระหนักรู้ถึงค่าของเงิน ว่าแต่ละหยวน (บาท) แต่ละเฟิน (สตางค์) ไม่ใช่หามาได้ง่ายๆ และกว่าจะหามาได้เลือดตาก็แทบกระเด็น (ลองคิดดูว่า ถึงขนาดอมก้อนกรวดดูดเกลือกินกับข้าวต้มก็แล้วกัน)

แต่กับคนรุ่นใหม่แล้ว คนละเรื่องคนละประสบการณ์ ชาวจีนรุ่นใหม่ในปัจจุบันถือเป็นผลผลิตของการปฏิรูปโดยแท้ คือตอนที่เกิดออกจากท้องแม่นั้นก็ไม่ค่อยเดือดร้อนมากนัก เรียกว่าพ่อแม่ยังพอมีกินมีใช้ (ด้วยว่าอดออม) และพอโตขึ้นมาก็ปรากฏว่า พ่อแม่มีฐานะดีขึ้น ตัวเองก็ยิ่งไม่เดือดร้อน แถมยังสามารถมีเงินใช้จ่ายได้พอสมควร ด้วยเหตุนี้ คนรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยเห็นค่าของการอดออมมากนัก

จากประสบการณ์ที่ต่างกันข้างต้น ได้ทำให้เห็นต่อไปว่า คนที่นำเงินไปซื้อหุ้นนั้นน่าจะเป็นชาวจีนรุ่นใหม่ และที่ซื้อนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบ “เล่นหุ้น” มากกว่า “ลงทุน” เพราะนั่นเป็นหนทางเดียวสำหรับคนที่ไม่รู้ค่าของเงินจะคิดออก ที่เห็นเป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ตัวเลขการอดออมที่ลดลงนั้น แม้จะลดมากลงเป็นลำดับก็จริง แต่เงินออมส่วนใหญ่ก็ยังคงอยู่

กล่าวคือ เมื่อรวมเงินออมสาธารณะกับเงินออมส่วนบุคคลเข้าด้วยกันแล้วมีมากถึงร้อยละ 50 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product; GDP) โดยเงินออมที่เป็นของส่วนบุคคลนั้นส่วนใหญ่จะมาจากเงินของชาวจีนรุ่นเก่านั่นเอง ฉะนั้น หากจะเปรียบเทียบพฤติกรรมแบบบริโภคนิยมที่ชาวจีนรุ่นใหม่มีมากกว่าชาวจีนรุ่นเก่าแล้ว พฤติกรรมนี้ก็จะไม่ต่างกับชาวอเมริกัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มชนที่เป็นตัวแบบของลัทธิบริโภคนิยม และก็ด้วยเหตุนั้น สหรัฐอเมริกาจึงมีเงินออมน้อยที่สุดในบรรดาประเทศใหญ่ๆ ทั้งหลาย คือมีอยู่ร้อยละ 10 ของจีดีพีเท่านั้น

นิสัยการอดออมที่เปลี่ยนไปของชาวจีนปัจจุบันจึงบอกอะไรเราหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะอนาคตของจีนเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น