xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างใหม่ตำรวจส่อวุ่น อดีตบิ๊กตร.ผนึกกำลังคัดค้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ตร. หารือโครงสร้างใหม่ สตช. "เสรีพิศุทธ์"เชื่อนายกฯ คิดรอบคอบแล้ว แต่ต้องส่งร่าง ตร.ให้กฤษฎีกาตีความ ควบคู่กับร่างของยุติธรรม "ประชา พรหมนอก" ออกโรงคัดค้าน นัดอดีต อ.ตร.และ ผบ.ตร.หารือด่วนวันนี้ ย้ำถือเป็นการถอยหลังเข้าคลอง "สุรยุทธ์"ย้ำพร้อมรับฟังข้อเสนอ ขณะที่ รมว.ยุติธรรม ชี้ต้องปรับความคิดให้เข้ากัน ส่วน รองปลัดยุติธรรม แจงภารกิจหลักคือ การกระจายอำนาจ เพิ่มประสิทธิภาพงานตำรวจ เรื่องสังกัดไม่ใช่เรื่องสำคัญ

วานนี้(4 ก.ค.)ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)โดยมีวาระเรื่องการสรุปมติ ครม.ในการผ่านร่างโครงสร้างใหม่ตำรวจ ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ รวมทั้งเรื่องโครงสร้างที่ทาง ตร.ได้เสนอไปให้ที่ประชุมรับทราบ โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เปิดเผยหลังประชุม โดยเชื่อว่าร่างที่กระทรวงยุติธรรมได้เสนอผ่าน ครม.ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะเป็นความหวังดีของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้การทำงานของตำรวจมีศักยภาพ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ เพื่อพิจารณาโครงสร้างตำรวจและนำเรื่องนี้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ส่วนขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นขั้นตอนของกฤษฎีกาก่อนจะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อบังคับใช้เป็นกฎหมาย

ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็ได้มีการเสนอร่างโครงสร้างตำรวจไปเช่นเดียวกัน ทำให้มี 2 ร่าง ซึ่งทั้งสองร่างจะเสนอไปยังกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมอีกครั้ง ซึ่งโครงสร้างที่ผ่าน ครม.นั้นจะส่งไปยังกฤษฎีกาส่วนโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ตนเสนอไปนั้นก็จะส่งตรงไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อส่งกฤษฎีกาเช่นเดียวกัน ซึ่งเมื่อส่งกฤษฎีกาจะส่งเจ้าหน้าที่ไปชี้แจงว่ามันดีอย่างไร ซึ่งถ้าสามารถรวมทั้ง 2 ร่างได้ก็ดี

อย่างไรก็ตาม แม้โครงสร้างที่ผ่าน ครม.แล้ว ก็สามารถแก้ไขทบทวนได้ ซึ่งกฤษฎีกาก็จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาเอง สำหรับโครงสร้างของคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจนั้น ถือว่าดี รับได้ เพียงแต่เรื่องกระจายอำนาจถ้าเร็วเกินไปผู้ปฏิบัติก็จะขาดประสบการณ์ ในส่วนของโครงสร้าง ตร.ที่เสนอขึ้นไปนั้น มีผู้เชี่ยวชาญที่มีความพร้อมและชำนาญฯในเรื่องนี้ช่วยกันคิด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับที่กระทรวงยุติธรรมเสนอเข้าไปใน ครม.

"เรื่องที่ ครม.เห็นชอบปรับโครงสร้าง สตช. นั้น ทำให้ตำรวจบางส่วนระส่ำระสาย เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าอะไรคืออะไร แต่ตำรวจไม่ต้องกังวล เพราะเชื่อว่านายกฯได้พิจาณาอย่างรอบคอบแล้ว"

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองไปได้ว่ากระทรวงยุติธรรมอยากเข้ามากำกับดูแลตำรวจ รรท.ผบ.ตร. กล่าวว่า คงไม่เป็นอย่างนั้น เพราะกระทรวงยุติธรรม ก็มีภาระหน้าที่มากมายอยู่แล้ว ถ้าเอาตำรวจไปด้วยก็คงแบกภาระไม่ไหว แต่ถ้าเป็นนโยบายของรัฐบาลตำรวจ ก็พร้อมเพราะจริงๆ แล้วอยู่ที่ไหนก็เหมือนกัน

**อดีตบิ๊กตร.ค้านโอนสตช.

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต ผบ.ตร. และเป็นผู้ริเริ่มในการแยกกรมตำรวจออกจากกระทรวงมหาดไทย และตั้งเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในอดีต มีความเป็นห่วง และในวันนี้ (5ก.ค.) เวลา 10.00 น. ที่สโมสรตำรวจจะมีการพบปะปรึกษาหารือในเรื่องนี้ โดยจะมีองค์กรตำรวจ 3 องค์กร เข้าร่วมด้วย ประกอบด้วย สมาคมข้าราชการตำรวจ โดย พล.ต.อ.วิสุทธิ์ กิตติวัฒน์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นนายกสมาคมตำรวจ ชมรมข้าราชการตำรวจบำนาญ มี พล.ต.อ.สล้าง บุญนาค เป็นประธาน สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจมี พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนีย์ อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีนายตำรวจระดับอดีต อ.ตร. ผบ.ตร. เข้าร่วมประชุม อาทิ พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ และนายตำรวจชั้นประทวนบางส่วน

พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า การประชุมจะเป็นการศึกษาดูร่าง พ.ร.บ.ที่จะย้ายตำรวจไปอยู่กระทรวงยุติธรรม โดยเบื้องต้นที่ได้ยินได้ฟังได้อ่านจากสื่อมวลชนการปรับโครงสร้างสาระบางอย่าง ก็เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ที่ไม่เห็นด้วยคือการนำสตช.ไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม และการยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งในอดีตเราได้ออกจากกระทรวงมหาดไทยเพราะเราอุ้ยอ้าย ไม่เป็นตัวของตัวเอง เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่มีคนกว่า 3 แสนคนงบประมาณแต่ละปี 4-5 หมื่นล้านอยู่กับกระทรวงก็โหลดไปการออกมาจากกระทรวงวัตถุประสงค์เพื่อกระจายอำนาจ และคัดโอนหน่วยงานที่ไม่ใช่หน้างานของตำรวจออกไปไม่ว่าจะเป็น ดับเพลิง กองทะเบียน แม้แต่ตำรวจรถไฟ ตำรวจป่าไม้ เราก็ขอโอนให้กระทรวงอื่นมารับ ก็ไม่พร้อมที่จะรับ

การปรับปรุงองค์กรสตช.ภายหลังการแยกออกจากกระทรวงมหาดไทยเรามีการปรับปรุง พัฒนา กระจายอำนาจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม เราทำมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการนโยบายตำรวจ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ(กต.ตร.)ส่วนกลาง และกต.ตร.จังหวัด ก็มีภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยตลอด ส่วนร่างใหม่ การมีส่วนร่วมในการบริหารที่มีนายกฯเป็นประธานมีบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นกรรมการ แต่มีกรรมการเป็นตำรวจแค่คนเดียวคือ ผบ.ตร. ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะหน้างานตำรวจ ตำรวจน่าจะรู้ดีกว่า ประเด็นนี้เท่าที่คุยกัน อดีตผู้บังคับบัญชาหลายๆท่านไม่เห็นด้วย และการที่ไม่ให้ตำรวจมีอาวุธ มีกองกำลัง ก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะตามมาตรา 6 ของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ภารกิจสูงสุดคือการถวายความปลอดภัยต่อพระบรมวงศานุวงษ์ เราต้องเป็นกองกำลังเนื่องจากต้องประชุมกับเหล่าทัพต่างๆ ทั้งเรื่องความมั่นคงและการรักษาความปลอดภัยจะแยกออกจากกันไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีกองกำลังเราจะถวายความปลอดภัยได้อย่างไรเรื่องนี้ตนไม่ตำหนินายกฯแต่ตนตำหนิคนที่ศึกษาเรื่องนี้ เพราะคนรู้ไม่จริงเมื่อเอาไปทำก็ทำได้ไม่ดี

"การออกไปอยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม เป็นการถอยหลังเข้าคลองเราเดินหน้ามาตลอด เราทำไปเยอะแล้วผู้บริหารสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่กำกับดูแลเราคือนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาเราก็ทำงานโดยไม่มีอะไรผิดพลาดได้ผลดีไม่น่าจะระแวงอะไรและไม่เข้าใจว่าจะไปอยู่กับกระทรวงยุติธรรมทำไม อยากฝากให้รัฐบาลรอบคอบนิดหนึ่งในเรื่องนี้ ส่วนการจะออกมาเคลื่อนไหวอย่างไร ต้องรอมติที่ประชุมของที่ประชุมในวันพรุ่งนี้ และเท่าที่ทราบท่านพล.ต.อ.สล้าง ได้ปรารภว่าถ้ามีการรังแกกันเกินไปอาจจะมีการถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

**นายกฯพร้อมฟังข้อเสนอสตช.

ที่รัฐสภา พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ ที่จะให้โอนการดูแลงานตำรวจเข้าไปอยู่ในการดูแลของกระทรวงยุติธรรม ว่าพร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว ซึ่งข้อคิดเห็นต่าง ๆ ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาก็จะได้นำไปพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ในส่วนของ สตช.ก็เสนอข้อคิดเห็นเข้าไปแล้ว ซึ่งก็มีการรับไว้เพื่อจะได้ปรับแก้ในขั้นต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความชัดเจนแล้วหรือไม่ว่าจะย้ายไปสังกัดกระทรวงยุติธรรม พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ยังศึกษากันอีกครั้ง ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นของกฤษฎีกาและอีกขั้นคือในส่วนการอภิปรายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

**ยธ.แจงเรื่องสังกัดไม่ใช่เรื่องสำคัญ

นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ รมว.ทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คงจะต้องปรับความคิดให้เข้ากันได้ ต่อข้อถามว่า จะต้องปรับความคิดข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และเข้าใจว่าจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า คิดว่าไม่มีปัญหา คงจะทำความเข้าใจกันส่วน พล.ต.อ.ชาญวุฒิ วัชรพุกก์ รองผู้บัญชาการตำรวจ ไม่เห็นด้วยอยู่แล้ว ส่วนวิธีการทำความเข้าใจคือให้ทางคณะกรรมการพิจารณา

ด้าน นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ รองปลัดกระทรงยุติธรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาระบบงานตำรวจ กล่าวว่า เรื่องการโอนย้ายสังกัดและการถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานหลักของตำรวจไป ให้หน่วยงานอื่น ยังไม่มีการพูดคุยกันจริงจังในคณะกรรมการฯ แต่มีการเสนอความเห็นให้ศึกษาเรื่องดังกล่าวเพื่อให้เกิดความพร้อมทั้งฝ่ายที่จะโอนและรับโอน ยืนยันว่า เรื่องการให้ สตช.สังกัดที่ใด เป็นเรื่อง รอง คณะกรรมการต้องการพัฒนาประสิทธิภาพงานตำรวจ เพื่อให้ตำรวจมีกำลังใจ และมีความก้าวหน้า ในอาชีพ

หัวใจสำคัญคือ การปรับโครงสร้างไม่ให้ตำรวจถูกแทรกแซง ทั้งนี้ การปรับโครงสร้าง ตำรวจได้ยึดเอาโครงสร้างเดิมตามพ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 เป็นหลัก โดยแก้ไขให้ลดอำนาจไม่ให้รวมศูนย์ และให้มีคณะกรรมการในระดับต่างๆ เพื่อเสริมให้งานตำรวจเข้มแข็งขึ้น การ แทรกแซงหรือใช้อำนาจแต่งตั้งไม่เป็นธรรม จะได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากคณะกรรมการที่เข้ามาดูแล
กำลังโหลดความคิดเห็น