xs
xsm
sm
md
lg

อารยะสง่างามสมนามประชาธิปไตย

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

.
นั่นคือ ภาพที่เกิดขึ้นเมื่อ 2-3 วันนี้ต่อหน้าคนไทยจำนวนไม่น้อย เปล่าหรอกครับ ภาพอย่างนี้ หัวข้ออย่างนี้ ไม่มีสิทธิเกิดขึ้นในเมืองไทยหรอกครับ รอถึงรุ่นหลานอีกสัก 2 ชั่วคนโน่นแหละ อาจจะมีหวัง

นานครั้งที่สามพ่อแม่ลูกครอบครัวผมดูทีวีด้วยกันพร้อมหน้า ค่ำนั้น บีบีซีถ่ายทอดสดการส่งต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ จากโทนี่ แบลร์มาสู่ กอร์ดอน บราวน์

ลูกชายเกิดในอังกฤษ เรียนที่อเมริกา แล้วกลับมาทำงานลอนดอน พ้อว่า “พ่อไม่น่าจะชวนกลับมาอยู่เมืองเฮงซวยนี่เลย ดูซิ เห็นมั้ย อังกฤษน่าอยู่กว่าเป็นกอง”

พ่อพูดในใจว่า “ไม่ได้ชวนสักหน่อย ลูกตามสาว (ที่พบในลอนดอน)กลับมาเองต่างหาก ถ้าไม่ใช่เรื่องนี้ลูกจะกลับมาหรือไม่ก็ยังไม่รู้ แต่พ่อแม่ก็โล่งใจที่ลูกตาแหลมมองเห็นคุณค่าของผู้หญิงไทย พ่อคิดว่าผู้หญิงไทยดีกว่าผู้หญิงอื่นในโลก แต่พ่อแม่ก็ทำใจไว้ล่วงหน้าว่าจะไม่เกี่ยงสะใภ้ต่างชาติ”

พ่อเลยไม่มีโอกาสรู้ว่าการมีสะใภ้นอกต่างวัฒนธรรมจะยากเย็นอย่างไร แต่พ่อรู้ว่าการลอกเรียนนำเอาระบบการเมืองต่างประเทศมาปรับใช้นั้นไม่ใช่ของง่ายๆ บางทีก็มิใช่เรื่องขาดความสามารถ แต่เป็นเรื่องของการขาดความเต็มใจของชนชั้นปกครองไทยมากกว่า

พ่อเคยเขียนถึงอนาคตของประชาธิปไตยไว้ตั้งแต่ปี 2516 ว่าในเมื่อผู้ที่เต็มใจไร้ความสามารถ แต่ผู้ที่มีความสามารถขาดความเต็มใจ อนาคตประชาธิปไตยของไทยก็จะต้องมืดมนไปอีกนาน ผู้ที่เต็มใจคือราษฎร ผู้ที่ขัดขวางคือ ผู้ที่มีอำนาจ มีเงิน มีการศึกษาปริญญาสูงๆ

พ่อเคยเขียนเสนอนายกรัฐมนตรีไทยหลายต่อหลายคน ขอให้นำจารีตที่ดีของระบบรัฐสภาอังกฤษอย่างน้อยสัก 2 อย่างมาใช้ นั่นก็คือการที่นายกรัฐมนตรีจะต้องไป

ปรากฏตัวตอบคำถามในสภาทุกๆ วันพุธในสมัยประชุม และต้องไปถวายรายงานข้อราชการ ปรึกษาและรับพระราชทานคำแนะนำจากพระมหากษัตริย์ทุกวันศุกร์ พ่อเชื่อว่าในหลวงเต็มพระทัย เพราะครั้งหนึ่งนานมาแล้วในหลวงทรงเอ่ยเรื่องนี้ขึ้นมาด้วยพระองค์เอง

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ใครดูรายการบีบีซีคืนนั้นจะเห็นจารีตทั้ง 2 ของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข พิธีการต่างๆ ศักดิ์สิทธิ์ เรียบง่าย เป็นสัญญาประชาคม คนดูเข้าถึง ผมเป็นคนไทยแท้ๆ ยังปีติตื้นตัน บรรยายได้ด้วยภาษาอังกฤษของผมเองว่า glorious and civilized หรืออารยะสง่างาม ชาตินี้คงหาดูไม่ได้ในเมืองไทย

แม่บ้านผมดูไปก็บ่นไปว่า “ดูซิ ดูซิ xx ทักษิณ x ทำไมไม่รู้จักทำอย่างนี้บ้าง”

ผมไม่อยากขัดจังหวะรายการที่วิเศษทุกนาที จึงอดอธิบายว่า ในการลอกเลียนจากต่างประเทศ ไทยเรามักจะติดยึดรูปแบบสัญลักษณ์หรือพิธีกรรมที่ไม่เป็นแก่นสาร เราจึงได้มาแต่เปลือกแต่กระพี้ ไม่ได้ส่วนที่เป็นแก่นคือระบบพฤติกรรมที่มีจุดมุ่งหมายและสาระเนื้อหาที่ยึดเป็นหลักได้ชั่วคนแล้วชั่วคนเล่า จนกระทั่งกลายเป็นสถาบันหรือจารีตขึ้นมาเอง ไม่จำเป็นต้องเขียนกฎหมายมากำกับ

ในผจก. 20 ก.พ. 49 ผมเขียนบทความเรื่อง “ทักษิณ-แบลร์:ใครจะไปก่อนกัน” ผมใช้มุกหมอดูมาเล่าสนุกๆ แต่ผมวิเคราะห์สรุปว่าทั้งคู่อยู่ไม่ครบเทอม ทักษิณมีอันเป็นไปวันที่ 19 กันยายน 49 ส่วนแบลร์เลือกลาออก 27 มิถุนายน 50 ห่างกันไม่ถึงปี ทักษิณจะต้องเผชิญวิบากกรรมต่อเนื่องยาวนาน เพราะความไม่สำนึกผิดและสำแดงอำนาจบาตรใหญ่ ในขณะที่แบลร์ไม่ยอมแข็งขืนแรงบีบของลูกพรรคและวัฒนธรรมการเมืองอังกฤษ จึงลาออกอย่าง “อารยะ สง่างาม” พร้อมจะจากถนนการเมืองไปสู่อนาคตความเป็นรัฐบุรุษโลกอีกต่อไป

“ดูซิ ดูซิ xx ทักษิณ x ทำไมไม่รู้จักทำอย่างนี้บ้าง”

อวสานของทักษิณเกิดจากกรรมชั่วหลายประการ แต่ที่แบลร์เหมือนกับทักษิณมีอยู่อย่างเดียวเท่านั้นคือความผิดพลาดเรื่องส่งทหารไปอิรัก แล้วโกหกตามลูกพี่อเมริกันจนสังคมจับได้และหมดความเชื่อถือ

ผมเหม็นเบื่อนักการเมืองและนักวิชาการไทยที่ชอบอ้างว่าระบบการเมืองของไทยเหมือนอังกฤษ คือมีพระเจ้าแผ่นดินเหมือนกัน มีสองสภาเหมือนกัน มีพรรคการเมือง และมีเลือกตั้งเหมือนกัน แต่ความเหมือนจบลงที่ตัวหนังสือกับรูปร่างสัญลักษณ์ที่เรียกขาน ส่วนพฤติกรรมต่างๆ ในสภา ในพรรค และในการเลือกตั้งต่างกันฟ้ากับดิน ไม่เหมือนเลย เราเป็นประชาธิปไตยหน้าด้านเรียก

แม้แต่พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อันประเสริฐก็ยังถูกเบียดบัง ไม่เปิดโอกาสให้พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอย่างเต็มภาคภูมิ

ก่อนอธิบายเพิ่มเติมจารีตทั้งสองอย่าง ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า “the Prime Minister’s Questions (PMQs)” หรือ “นายกตอบ(คำถาม)สภา” กับ “The Sovereign Powers” หรือ “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์” ผมขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิด ณ ใจกลางมหานครลอนดอนบ่ายวันพุธ 27 มิถุนายน 50 โดยสังเขป

ผมกลับไปอยู่อังกฤษครั้งสุดท้ายระหว่างปี 1995-2001 ปี 1997 แบลร์ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาประเดิมตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยคะแนนเสียงที่ถล่มทลาย ปีนี้ 10 ปีให้หลังที่นั่งของพรรคแบลร์ยังเต็มสภาอยู่ เหตุไฉน แบลร์จึงอยู่ไม่ได้

บ้านผมที่ลอนดอนอยู่ชั้น 9 ในซอย Park Lane มองจากหน้าต่าง จะเห็นสถานที่ต่างๆ ในพิธีส่งมอบอำนาจ ได้แก่ Westminster หรือสภาผู้แทนราษฎร ทำเนียบนายกรัฐมนตรี เลขที่ 10 Downing Street หรือกระทรวงการคลังที่อยู่ถัดไป และพระราชวังบั๊กกิงแฮม ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับบ้าน มีสวนสาธารณะ Green Park ขนาดใหญ่คั่นตรงกลาง ผมจึงเกิดมโนภาพเสมือนเห็นเหตุการณ์จริงอยู่เบื้องหน้า

เวลาไทยเร็วกว่าอังกฤษ 6 ชั่วโมง ดังนั้นรายการถ่ายทอดสดบีบีซีตอนเที่ยงจึงตรงกับ 6 โมงเย็นของเรา พอกับการดูเทนนิสวิมเบิลดัน แต่ 27 มิถุนายน 50 นี้ฟ้าในกรุงลอนดอนสดใส ไม่มีฝนสลับ พิธีเริ่มขึ้นตอนใกล้เที่ยง เมื่อแบลร์ออกจากทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ไปสภาผู้แทนเพื่อตอบคำถามอันเป็นกิจวัตรประจำทุกวันพุธ เสร็จแล้วเขากลับมาร่ำลาขอบใจคนที่ทำเนียบ ถ่ายรูปหมู่พร้อมกับครอบครัวที่หน้าทำเนียบ ขึ้นรถประจำตำแหน่งสีดำมีเกราะกันกระสุนพร้อมรถติดตาม และมอเตอร์ไซค์นำหน้าอย่างละ 1 คัน กับที่วิ่งวนอีก 2 คัน แล่นช้าๆ ไปยังพระราชวังบั๊กกิงแฮม ซึ่งอยู่ไม่ไกลเพื่อถวายกราบบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในขณะเดียวกัน กอร์ดอน บราวน์ ผู้นำพรรคแรงงานคนใหม่ ก็ไปร่ำลาบรรดาข้าราชการกระทรวงการคลัง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ ระหว่างสภากับทำเนียบนั่นเอง

เมื่อแบลร์เฝ้าเสร็จ รถวอกซ์ฮอลสีแดงคันเล็กกว่าแต่เก่าพอๆ กันกับรถของนายกรัฐมนตรี พร้อมขบวนเล็กๆ แบบเดียวกัน ก็นำบราวน์ ตรงไปเข้าเฝ้าพระนางเจ้าอลิซาเบธเพื่อรับคำเชิญให้จัดตั้งรัฐบาล ในช่วงว่างระหว่างการเฝ้าของแบลร์และบราวน์นั้น อังกฤษขาดนายกรัฐมนตรีอยู่ 5-10 นาที บราวน์เข้าเฝ้าครั้งนี้นานเป็นประวัติการณ์ รถประจำตำแหน่งที่แบลร์จอดทิ้งไว้ให้ถึงทำเนียบเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่งกว่าบ่ายสามโมง ช้าไป 1 ชม. บราวน์กับภรรยาออกมายืนให้ถ่ายรูปตรงจุดเดียวกับที่แบลร์ลา นายกรัฐมนตรีคนใหม่ปราศรัยกับผู้ที่มาเป็นสักขีพยานประมาณกึ่งร้อย แล้วก็เดินเข้าทำเนียบหายไป

ท่านผู้อ่านที่ได้ดูบีบีซี คงเห็นเหมือนกับผม คือเห็นความแตกต่างอย่างมหาศาลระหว่างอังกฤษกับไทย ยกพิธีการในวันนี้เป็นตัวอย่าง ของเขาจริงจัง ศักดิ์สิทธิ์แต่เรียบง่ายธรรมดาและประหยัด ดูแต่รถประจำตำแหน่งของผู้นำ หรือการที่นายกรัฐมนตรีทั้งสองออกมาพูดที่ทางเดินหน้าทำเนียบ ด้วยการลากไมโครโฟนมาตั้ง ไม่มีการประดับประดาใดๆ ทั้งสิ้น แม้แต่จำนวนรักษาความปลอดภัยและผู้คนที่มาเป็นสักขีพยานก็นับว่าพอดี ไม่ต้องมาจัดที่ทางกันให้ลำบาก การมีส่วนร่วมของครอบครัวคือภริยาและลูกก็สง่าสงบและมีเกียรติ เป็นภาพที่สวยงามประทับใจ

แบลร์สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ 3 สมัยติดต่อกันกว่า 10 ปีหรือ 3,708 วัน เขานำพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไป 3 ครั้งรวด ครั้งแรกเป็นการโค่นรัฐบาลที่อยู่ในตำแหน่งมากว่า 14 ปี ตลอดเวลาที่เป็นนักการเมือง 24 ปี เพื่อนคู่คิด-มิตรคู่แข่งของแบลร์ก็คือบราวน์ ปราศจากบราวน์อาจจะกล่าวได้ว่า ยากที่แบลร์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ปราศจากบราวน์ แบลร์ก็อาจจะยังเป็นนายกฯ ต่อไป แต่นั่นเป็นสัจจะลูกผู้ชายที่ให้ไว้ต่อกัน และเพราะพรรคการเมืองของอังกฤษเป็นพรรคการเมืองอย่างแท้จริง มิใช่เป็นเพียงแก๊งเลือกตั้ง ในอุ้งมือของหัวหน้า แบลร์จึงไม่สามารถเสียสัตย์เพื่อชาติได้เหมือนผู้นำไทยหลายคน

มาร์กาเรต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกที่โด่งดังของอังกฤษ ก็ประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับแบลร์ เมื่อพรรคยื่นคำขาดว่าถ้าหัวหน้าอยู่ต่อ อนาคตของพรรคและของชาติจะเป็นอันตราย แบลร์เห็นบทเรียนที่เจ็บปวดของมาร์กาเรต แธตเชอร์ เขาจึงหาทางออกที่งดงามกว่า แทนที่จะให้พรรคขับ เขาประกาศลาออกเมื่อ 10 พฤษภาคม 50 และจงใจกำหนดวันลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้แทนราษฎรในวันที่ 27 มิถุนายน ตรงกับวันพุธที่เขาจะต้องไปปฏิบัติภารกิจสุดท้าย

ทุกชีวิตในสภาผู้แทนราษฎร วันนั้นไม่ว่าฝ่ายค้านหรือรัฐบาลร่วมใจกันยืนขึ้นปรบมือสดุดีแบลร์ เป็นเสียงที่กึกก้องที่สุดในประวัติศาสตร์ของสภา

ผู้นำคนหนึ่งจากไปแล้วอย่างราชสีห์ xxxหนึ่งในลอนดอนจะมองเห็นและสำนึกหรือไม่หนอ

แน่นอนที่สุด แบลร์สนับสนุนบราวน์ขุนพลและขุนคลังแก้วผู้กรุยทางสู่ตำแหน่งให้เขา และผู้ที่ทำให้เขาถึงจุดจบในวันนี้ด้วยเช่นกัน เริ่มโจษกันแล้วว่า บราวน์ที่ปราศจากแบลร์จะอยู่ในตำแหน่งได้นานเพียงใด

เป็นที่รู้กันว่า เมื่อสมิท หัวหน้าพรรคหัวใจวาย แบลร์และบราวน์คู่หู คือ “ดาวรุ่ง-พุ่งแรง” บราวน์มีเสียงในพรรคมากกว่า แต่ทั้ง 2 คนปรึกษากันว่า หากแบลร์เป็นหัวหน้าพรรค โอกาสชนะเลือกตั้งจะสูงกว่า แบลร์จึงสัญญาจะให้บราวน์เป็นต่อเมื่อถึงเวลา

ผมอยากจะแปลสุนทรพจน์ของผู้นำทั้งสอง ที่จะกลายเป็นมรดกโลกอันล้ำค่า แต่หน้ากระดาษหมด ขอฉายตัวอย่างเดียวที่แบลร์กล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของสภาล่าง ซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชน มีความว่า a great House of Commons “that from first to last I never stopped fearing it” ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทุกครั้ง ที่เขาเข้ามาในสภาตั้งแต่ต้นจนจบเขาอดรู้สึกปอดไม่ได้ ต่างกับนายกรัฐมนตรีของเรา ไม่มีใครกลัว แต่ต่างก็หลีกเลี่ยงการเข้าสภากันทั้งนั้น

ผมขอจบด้วยการอธิบายสั้นๆว่า “the Prime Minister’s Questions(PMQs)” หรือ “นายกฯ ตอบ(คำถาม)สภา” เป็นจารีต ที่ไม่มีข้อบังคับเป็นตัวหนังสือ ให้นายกรัฐมนตรีเข้าไปตอบคำถามในสภาผู้แทนทุกวันพุธ เป็นเวลาไม่เกิน 30 นาที PMQs นี้เป็นทั้ง “นายกฯ รายงานประชาชน” ทางอ้อม เป็นทั้งการควบคุณคุณภาพ (QA) เพราะทั้งนายกฯ และสภาจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ ไม่มีใครสามารถมั่วเอาตัวรอดเพราะอำนาจบาตรใหญ่หรือวาทศิลป์อันเลื่อนลอยได้ กับทั้งเป็นเครื่องป้องกันการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างพร่ำเพรื่อ

ส่วนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่เป็นพระราชอำนาจทั่วไปในการคุ้มครองระบอบประชาธิปไตย ความปลอดภัยของประชาชนและบ้านเมืองนั้น อันหนึ่งก็คือการที่นายกรัฐมนตรีต้องเข้าเฝ้าเพื่อถวายรายงานเป็นประจำทุกวันศุกร์ เพื่อพระมหากษัตริย์จะได้ทรงแนะนำ ตักเตือน ปรึกษาและให้กำลังใจ เป็นการเข้าพบสองต่อสอง ห้ามมิให้มีการบันทึกหรือเผยแพร่โฆษณา การเข้าเฝ้าของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ในวันที่ 27 มิถุนายนนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อเข้าไปถึงชั้นในแล้วก็ไม่มีการถ่ายทอดใดๆ ไม่มีใครรู้ว่าพูดอะไรกันบ้าง ที่รู้ก็คือ แบลร์ ไม่ต้องยื่นใบลาออกเป็นตัวหนังสือ บราวน์ก็ไม่มีหนังสือแต่งตั้ง เพียงแค่พระนางเจ้ายื่นพระหัตถ์ให้จุมพิตก็ศักดิ์สิทธิ์เพียงพอแล้ว

สรุปได้ว่า glorious and civilized หรือ อารยะสง่างาม สมนามประชาธิปไตยจริงๆ ต่างกับของเรา ไม่ว่าจะเข้าหรือจะออกเมื่อใด ล้วนแล้วแต่ dubious and uncivilized หรือพิลึกและอนารยะประชาธิปไตยแบบไทย

ผมไม่โทษประชาชนหรอก เพราะผมรู้ว่าประชาชนเต็มใจและไม่เคยขัดขวางอะไร ผมโทษชนชั้นปกครอง ผู้มีอำนาจ ผู้มีเงิน และผู้มีปริญญา ที่เฝ้าแต่พากันสร้างความศักดิ์สิทธิ์ในตัวหนังสือ แต่พวกเขาไม่มีความศักดิ์สิทธิ์หรือบริสุทธิ์ในใจเลย พวกเขาจึงได้ผลประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทุกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น