xs
xsm
sm
md
lg

10 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง

เผยแพร่:   โดย: วรศักดิ์ มหัทธโนบล

.
เผลอไปแป๊บเดียว วิกฤตเศรษฐกิจไทยหรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า “วิกฤตต้มยำกุ้ง” นั้นผ่านไป 10 ปีแล้ว ช่างไวเหมือนโกหกอะไรเช่นนี้ ผมมานั่งนึกทบทวนว่า 10 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้างจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งอาจรวมถึงตัวผมเองด้วยก็ได้

ตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ หรือระบุกันให้ชัดเจนลงไปเลยว่า วันที่ 2 กรกฎาคม 1997 (2540) อันเป็นวันที่รัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทนั้น ผมไม่ได้อยู่ในเมืองไทย แต่ไปฮ่องกงดูเขาทำพิธีส่งมอบเกาะกัน ฉะนั้น ผมจึงไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับเขาไปด้วย ว่าวันที่รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทนั้น ผู้คนที่เมืองไทย (โดยเฉพาะกรุงเทพฯ) เขาโกลาหลกันอย่างไรบ้าง

แต่พอกลับมาถึงกรุงเทพฯ และรู้เรื่องนี้เข้า ผมกลับพบว่า ผมและเพื่อนๆ หลายคนทั้งในและนอกวงวิชาการไม่ได้รู้มากไปกว่าชาวบ้านเขา คือรู้ว่ามีการลอยตัวค่าเงินบาท แต่ไม่รู้ว่าแล้วจะยังไงต่อไป?

เวลาผ่านไปนานนับเดือน ผมจึงค่อยๆ เรียนรู้และเข้าใจวิกฤตครั้งนั้นมากขึ้น ผมเรียนรู้และเข้าใจทั้งโดยการศึกษาด้วยตนเอง และโดยวิกฤตนี้ได้มีผลกระทบกับตัวผมเอง อย่างหลังนี้สำคัญมาก เพราะถึงแม้จะเป็นผลกระทบที่ไม่ได้รุนแรงอะไรมากนัก (เมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นๆ) แต่ก็ซาบซึ้งพอสมควร

ขอยกตัวอย่างผลกระทบเรื่องหนึ่งที่เป็นเรื่องขำๆ ขื่นๆ ให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง....

ญาติสนิทของผมคนหนึ่งที่เป็นนักธุรกิจเล่าให้ผมฟังว่า ผลจากการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้เขาต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นจากเดิมมาเป็นร่วม 4 ล้านบาท โดยเขาบอกว่าโชคดีที่ธุรกิจของเขาค่อนข้างมั่นคง และไม่ได้กู้มามากมายอะไรนัก จึงเจ็บตัวอยู่แค่นั้น

พร้อมกันนั้นก็พูดกับผมแบบทีเล่นทีจริงว่า เงิน 4 ล้านบาทที่ว่าเพิ่มขึ้นมาในรูปดอกเบี้ยนี้ (หรือจะพูดอีกความหมายหนึ่งก็ได้ว่าหายไป) สามารถนำมาซื้อรถเบนซ์ให้ผมขับเล่นได้สบายๆ

ตอนนั้น ผมเข้าใจวิกฤตที่เกิดขึ้นบ้างแล้ว คือเข้าใจว่าญาติผมไปกู้เงินแบงก์มาในขณะที่อัตราการแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 25 บาท แต่พอเกิดวิกฤตขึ้น การแลกเปลี่ยนก็ขึ้นมาอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 40-50 บาท (ตัวเลขเงินบาทนี้ไม่แน่นอนในขณะนั้น เพราะผันผวนกันวันต่อวัน)

ดังนั้น เงินกู้ที่อยู่ในแบงก์ไม่ว่ากู้มาเท่าไหร่ก็ตาม ค่าของมันก็ลดลงเท่ากับที่ว่าไปทันที พอค่าลดลงก็ย่อมเท่ากับว่าจำนวนเงินกู้เพิ่มขึ้น เมื่อเงินกู้เพิ่มขึ้น ดอกเบี้ยก็เพิ่มตาม

ฉะนั้น ที่ญาติสนิทของผมบอกว่าดอกเบี้ยของตนเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 ล้านบาทนั้น มันเพิ่มตามเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งฟังดูแล้วไม่สมเหตุสมผล) คือเพิ่มจากเดิมที่อาจอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านบาทนั่นเอง ที่สำคัญคือ เขาทำธุรกิจส่งออก ซึ่งจะต้องพึ่งอัตราแลกเปลี่ยนกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ เป็นหลัก ผลกระทบจึงเกิดขึ้นเช่นที่ว่าในกรณีที่กู้เงินเขามา

ที่ผมเล่าให้ฟังอย่างงูๆ ปลาๆ นี้เพื่อต้องการจะบอกว่า กรณีของญาติผมนี้ถือว่ากระจอกมาก แต่กับคนที่ไปกู้มาเป็นร้อยล้านพันล้านแล้ว เจ็บตัวเอามากๆ นักธุรกิจบางคนถึงกับต้องฆ่าตัวตายในขณะที่อายุยังไม่มากนัก นับว่าน่าเศร้าและน่าเสียดายมาก

ถ้าเช่นนั้นแล้ว วิกฤตที่ว่าเกิดจากอะไร...? คำถามนี้คงตอบได้หลายแง่มุม แต่สำหรับผมที่ไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์แล้ว คิดว่าเกิดจาก 2 เรื่องใหญ่ๆ

เรื่องแรก ชนชั้นนำไทยได้สร้างภาพเศรษฐกิจแบบหลอกๆ ขึ้นมา คือเห็นว่าอะไรที่ทำให้คนรวยได้เร็ว (get rich quick, คำคำนี้ฮิตมากในขณะนั้น หนังสือพิมพ์บางฉบับถึงกับเปิดหน้าพิเศษโดยใช้คำนี้เป็นชื่อเซ็กชั่นกันเลยทีเดียว) และง่ายๆ ก็โฆษณาส่งเสริมกันยกใหญ่

ยิ่งใครลุกขึ้นมาให้คำแนะหรือแสดงความเห็นในธุรกิจประเภทที่ว่าด้วยแล้ว ก็จะได้รับการยกย่องว่ามีวิสัยทัศน์กว้างไกล

ตอนนั้น ธุรกิจที่ทำให้รวยได้เร็วเห็นจะไม่มีอะไรเกินกว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกแล้ว ที่ดินจำนวนมากถูกซื้อ-ขายกันไปมาด้วยความคึกคัก วันนี้ตารางวาละ 1,500 บาทอยู่แท้ๆ วันพรุ่งนี้อาจขึ้นไปเป็นวาละถึง 2,000 บาท วันต่อๆ ไปก็ยิ่งขึ้นเข้าไปอีก ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจำนวนมากไม่ว่ายากดีมีจนต่างก็หันมาเล่นที่ดินกันยกใหญ่ เพราะเห็นอยู่ชัดๆ ว่ารวยได้ง่ายและเร็ว บางคนถึงกับซื้อตุนเอาไว้ กะฟันตอนที่ราคากำลังงาม

บ้านหรืออาคารที่พักอาศัยและสำนักงานก็บูมตามไปในรูปรอยเดียวกัน เกิดบริษัทในธุรกิจนี้เป็นดอกเห็ด ใครจะไปเชื่อว่า บ้าน 16 ตารางวาในวันนี้ 4-5 แสนบาท พอผ่านไป 1-2 เดือนเท่านั้นขึ้นก็เป็น 5-6 แสนบาท และก็เหมือนกับที่ดิน ที่บางคนซื้อบ้านหรือห้องพักอาศัย (หรือสำนักงาน) เก็บตุนเอาไว้เพื่อฟันเวลาที่ราคากำลังงามเช่นกัน

ที่ผมว่าเป็นการสร้างภาพแบบหลอกๆ ก็เพราะว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้ถูกปั่นราคาสูงจนเกินจริง บางคนเจ้าเล่ห์ด้วยการขึ้นป้ายคัตเอาต์ใหญ่ๆ โฆษณาว่า ที่ดินตรงนั้นตรงนี้ (ที่อาจอยู่ไกลปืนเที่ยง) จะมีโครงการใหญ่ผุดขึ้นอย่างนั้นอย่างนี้ เท่านี้ก็ปั่นราคาที่ของตนให้สูงขึ้นได้โดยไม่ต้องลงทุนมากไปกว่าคัตเอาท์ที่ว่า

ที่หลอกในเด้งต่อมาก็คือ การวิเคราะห์โดยผู้มากด้วยวิสัยทัศน์ (คนนั้น) ว่า ธุรกิจนี้กำลังไปได้ด้วยดีผ่านเหตุผลเรื่องกำลังซื้อหรือตลาดที่กว้างขวาง ซึ่งจริงๆ แล้วตลาดไม่ได้โตอย่างที่วิสัยทัศน์ (ของคนนั้น) พ่นออกมา ผลก็คือ ทั้งบ้าน อาคาร และที่ดินที่บูมในตอนนั้นจึงวูบไปทันตาเห็น บ้านและอาคารร้างปรากฏอยู่ทั่วไป ส่วนคนที่ “เล่น” กับธุรกิจนี้ก็เจ๊งกันระนาว โดยเฉพาะคนที่ซื้อตุนเอาไว้นั้น เจ็บตัวมากที่สุด

เรื่องต่อมา เกี่ยวข้องกับกิเลสมนุษย์โดยแท้ ในข้อนี้จะว่าไปแล้วก็ไม่ยุติธรรมมากนัก เพราะคงไม่มีใครที่ไม่อยากจะลืมตาอ้าปากกับเขาบ้าง ฉะนั้น ถ้ามีอะไรให้คว้าก็รีบคว้าไว้ก่อน แต่ที่ผมต้องยกประเด็นนี้ขึ้นมาก็เพราะเห็นว่า ตอนนั้นด้วยแรงโฆษณาส่งเสริมของรัฐบาล โดยเฉพาะก็ผู้มากด้วยวิสัยทัศน์ (คนโน้น) ปรากฏว่าทำเอาคนไทยจำนวนมากคล้อยตามว่า นั่นคือหนทางที่จะได้ลืมตาอ้าปากกับเขาได้ และเชื่อสนิทใจว่า ธุรกิจแบบที่ว่าก็เป็นเพียงอาชีพหนึ่งที่ใครๆ ก็ทำได้

ปัญหาก็คือว่า ด้วยแรงโฆษณาส่งเสริมและแรงกิเลส กลุ่มคนกลุ่มนี้จึงลืมคิดไปว่า ตนไม่เคยเรียนรู้หรือเข้าใจในธุรกิจที่ว่ามาก่อน ที่สำคัญคือ ไม่รู้ว่าท่ามกลางการบูมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์นั้น ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่แวดล้อมธุรกิจนี้หรือไม่ และจะต้องคำนึงถึงมากน้อยเพียงไร และก็เพราะไม่รู้ต่างคนต่างจึงก้มหน้าก้มตาทำอาชีพนี้ ส่วนคนที่ไม่ได้ลงมาเล่นด้วยก็เชื่อว่า (ตอนนั้น) เศรษฐกิจกำลังดีจริงๆ

บางคนไปไกลถึงกับกู้เงินมาเล่นมาลงทุน และยิ่งในช่วงที่รัฐบาลปล่อยให้มี “กิจการวิเทศธนกิจแห่งกรุงเทพฯ” (Bangkok International Banking Facility, BIBF) ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยต่ำด้วยแล้ว การกู้เงินก็ยิ่งกว้างขึ้นและมากขึ้น ถึงตอนนั้น ธุรกิจอะไรๆ ก็ดูดีไปหมด โดยเฉพาะธุรกิจที่ไร้ผลิตภาพอย่างอสังหาริมทรัพย์

จากสาเหตุทั้งสองประการ (เป็นอย่างน้อย) เราพบว่า คนที่เจ็บตัวก็คือคนที่ถลำลงมาเล่นกับฟองสบู่ในขณะนั้นพวกหนึ่ง กับคนที่ไม่ได้เล่นโดยตรงหรือไม่ได้เล่นกับเขาด้วยเลยแม้แต่น้อย แต่ต้องมาเจ็บไปด้วยเพราะอาจไปซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม (เพื่ออยู่อาศัยจริงๆ) แต่กลับต้องจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้น หรือไม่ก็ไม่ได้ในสิ่งที่ตนซื้อ เพราะคนสร้างเจ๊งบ้งไปเสียก่อนที่จะสร้างเสร็จ

ส่วนคนที่ก่อบาปกรรมขึ้นในครั้งนั้น บางคนก็ล้มหายตายจากกันไป บางคนก็ยังโบ้ยความผิดให้คนอื่นยังไม่เสร็จมาจนทุกวันนี้ ที่สำคัญคือ คนที่ชอบแสดงวิสัยทัศน์ (คนนั้น) ก็ยังอยู่สุขสบายดี และยังคงแสดงวิสัยทัศน์มาจนทุกวันนี้

นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่าคนไทยน่าจะได้เรียนรู้ เพราะเป็นประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ด้วยเหตุที่การสร้างภาพเศรษฐกิจแบบหลอกๆ เป็นความชำนาญของนักการเมืองหรือชนชั้นนำมาทุกยุค ประกอบกับกิเลสของมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกผู้ตัวคน แรงยั่วยวนในแบบรวยได้เร็วอาจจะเกิดโดยผ่านรูปแบบอื่นๆ อีกก็ได้

ผมได้แต่ภาวนาว่าขออย่าได้เกิดเลย หรือถ้าเกิดก็ขอให้คนไทยมีสติ อย่าได้ตกเป็นเหยื่อของความลุ่มหลงเป็นอันขาด.....

......ถึงแม้ตอนที่ผมภาวนาอยู่นี้ยอดการสร้างจตุคามรามเทพจะพุ่งไปกว่า 300 รุ่นแล้วก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น