ศูนย์ข่าวขอนแก่น-กลุ่มน้ำตาลวังขนายเดินหน้าเกษตรอินทรีย์เต็มที่ ผสานความร่วมมือเกษตรกรและหน่วยงานรัฐในเขต 5 อำเภอจังหวัดขอนแก่น เริ่มโครงการนำร่องผลักดันเกษตรกรจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน หวังสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน ชี้โครงการนำร่องประสบผลสำเร็จ เกษตรกรทำปุ๋ยใช้เอง ทั้งมีรายได้เพิ่มจากการปลูกผักปลอดสารพิษ รวมถึงรายได้จากการปลูกอ้อยอินทรีย์
ดร.ณรงค์ ชินบุตร ผู้อำนวยการประจำสำนักประธานกรรมการบริหาร ด้านการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม กลุ่มวังขนาย ผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศ เปิดเผยว่า กลุ่มวังขนายมีนโยบายชัดเจนในการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรทั่วประเทศ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนพัฒนาการเพาะปลูก นำเกษตรอินทรีย์มาปรับใช้ในการเพาะปลูกอ้อย มุ่งหวังให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมากลุ่มวังขนายได้ดำเนินการส่งเสริมการตั้งเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องของการส่งเสริม ผลการดำเนินงาน พบว่า เกษตรกรจังหวัดขอนแก่นมีความตื่นตัว ต่อการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนสูง ได้รับการตอบรับที่ดีมีการรวมกลุ่มเกษตรกร จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ถึง 29 กลุ่ม มีสมาชิกรวมกว่า 432 คนในพื้นที่ 5 อำเภอประกอบด้วย อำเภอแวงน้อย แวงใหญ่ พล ชนบท และกิ่งอำเภอโนนศิลา
ที่สำคัญกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้ ได้เกิดการรวมตัวเป็นเครือข่าย จดทะเบียนเครือข่ายในนามกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น โดยมีกิจกรรมภายในกลุ่มที่หลากหลาย อาทิ กลุ่มประกอบอาชีพปลูกอ้อย 19 กลุ่ม กลุ่มเลี้ยงโค 5 กลุ่ม กลุ่มเกษตรผสมผสาน 4 กลุ่ม และกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์ 1 กลุ่ม
ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า เป้าหมายของการจัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางการรวมกลุ่มเกษตรกรทุกแขนง เพื่อถ่ายทอดความรู้และเพิ่มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วม เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกลุ่ม และสมาชิก ทั้งยังส่งเสริมให้มีการศึกษา ฝึกอบรม สาธิตแนวทางการพัฒนาอาชีพ ทั้งการผลิต และการตลาด หรือธุรกิจชุมชนแบบครบวงจร
ขณะเดียวกัน วิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น ได้มีการส่งเสริมการผลิตขั้นพื้นฐานตามแนวทางเกษตรธรรมชาติและเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลกำไร ซึ่งการดำเนินงานของเครือข่ายฯ ได้จัดประชุมไปแล้ว 3 ครั้ง เนื้อหาการประชุม เพื่อสรุปแนวทางการดำเนินงาน การจัดทำข้อบังคับ แต่งตั้งผู้มีอำนาจกระทำการแทนเครือข่ายฯ ติดตามการทำแผนงานและผลการดำเนินงานของกลุ่มสมาชิกเครือข่ายฯ และติดตามการประเมินศักยภาพของกลุ่มสมาชิก
ทั้งนี้กลุ่มวังขนายได้ให้การสนับสนุนปัจจัย ในการปลูกอ้อยให้แก่เกษตรกรเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น เช่น จัดสรรพื้นที่ปลูกอ้อย จำนวน 1,500 ไร่ , การไถเตรียมดิน , การปลูกอ้อย , ให้กากตะกอนหม้อกรองเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์และการอบรมให้ความรู้เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และกำจัดวัชพืชด้วยวิธีธรรมชาติ
นับเป็นความสำเร็จของการทำการเกษตรในประเทศ สามารถรวมกลุ่มเกษตรกร ดำเนินงานภายใต้วิสาหกิจชุมชน และปฏิบัติเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งกลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นต้นแบบของการทำเกษตรอินทรีย์ที่จะนำไปขยายผลสู่กลุ่มเกษตรอื่น
ด้านนายสมบูรณ์ วุฒิพงศ์ประเสริฐ เกษตรจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่น นับเป็นกลุ่มที่มีความตื่นตัวและให้ความสำคัญต่อการทำเกษตรอินทรีย์เป็นจำนวนมาก โดยพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรจังหวัดขอนแก่นปลูกมาก คือ ข้าว อ้อย และมันสำปะหลัง
การเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรเป็นเรื่องสำคัญ แนวทางหลักได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการทำน้ำหมักชีวภาพเพื่อใช้กำจัดศัตรูพืช โดยมีโรงเรียนเกษตรกรเป็นกลไกสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้เกษตรกรนำมาปรับใช้กับตนเอง การรวมตัวจัดตั้งเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนจตุรภูมิจังหวัดขอนแก่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี จะทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้
ด้านนายสมจิตร นาบำรุง เกษตรกรวัย 50 ปี ในฐานะสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ บ้านหญ้าคา อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น กล่าวว่า การตั้งโรงงานน้ำตาลราชสีมา ทำให้เกษตรกรรอบๆโรงงานปลูกอ้อยส่งโรงงานมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อกลุ่มวังขนายมีโครงการส่งเสริมรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผลิตอ้อยอินทรีย์ ทำให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการและสามารถประกอบอาชีพเสริมปลูกผักปลอดสารพิษด้วย
การทำเกษตรอินทรีย์ ส่งผลดีให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เดิมชาวบ้านมีรายได้จากการส่งอ้อยเข้าโรงงานเพียงปีละครั้งเท่านั้น แต่การทำเกษตรอินทรีย์ มีการปลูกผักปลอดสารพิษเพิ่มทำให้มีรายได้เพิ่ม และยังพบว่าช่วยลดต้นทุนการผลิตจากค่าปุ๋ยและยาฆ่าแมลงลงได้ โดยมีการได้ปลูกพริกและมะเขือ เก็บผลผลิตไปขายที่ตลาดอำเภอแวงน้อย ทุก 3 วัน ได้ครั้งละ 150 บาท
ในกลุ่มฯมีทั้งสิ้น 56 ครอบครัว คิดเป็นพื้นที่ 13 ไร่ ล้วนทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งการทำเกษตรอินทรีย์จะมีการช่วยเหลือกัน หากเกิดปัญหาขึ้น จะมีการประชุมหาทางแก้ปัญหา โดยผลผลิตเกษตรอินทรีย์เป็นที่ต้องการของตลาดมาก สร้างรายได้ให้แก่ทุกครัวเรือน
ขณะที่นายวัฒศิลป์ อินทรชัยศรี เกษตรอำเภอแวงน้อย กล่าวว่า ปัญหาของอำเภอแวงน้อยคือดินเสื่อมโทรม ต้องเพิ่มอินทรียวัตถุในดินให้มาก หรือต้องใช้ปุ๋ยอินทรีย์บำรุงเพิ่มขึ้น แต่เกษตรกรมีข้อจำกัด คือ ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือมีทุนไม่เพียงพอ มีความจำเป็นต้องถ่ายทอดความรู้ ให้เกษตรกรสามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองได้ ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกลงได้มาก
ล่าสุดได้ส่งเสริมให้เกษตรกรทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองไปแล้ว 26 กลุ่มในเขต 12 หมู่บ้านอำเภอแวงน้อย มาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 ซึ่งได้รับการสนับสนุนกากตะกอนจากโรงงานน้ำตาลของกลุ่มวังขนายกว่า 480 ตัน เป็นวัตถุดิบทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยมีเกษตรกรบ้านหญ้าคา ที่สามารถทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง และปลูกผักปลอดสารเคมี นับเป็นพื้นที่เดียวของอำเภอแวงน้อยที่ประสบผลสำเร็จในการทำเกษตรอินทรีย์ สามารถปลูกผักขายได้ตลอดทั้งปี