xs
xsm
sm
md
lg

ทรท.ประกาศคว่ำร่าง รธน."ประสงค์"จี้ฝ่ายปกครอง-กองทัพชี้แจง ปชช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ไทยรักไทย”เช็คกำลังอดีต ส.ส. “เจ๊แดง-เจ๊หน่อย-ยี้ห้อย-หมอมิ้ง-หมอเลี้ยบ” มากันพร้อมหน้า ดึง “จาตุรนต์” มาร่วมประชุมสยบข่าว ทรท.ร้าว พร้อมประกาศเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และเตรียมรณรงค์กับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติด้วย ด้าน “ประสงค์” ชี้ฝ่ายปกครอง-กองทัพควรลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชน เพื่อผ่านประชามติ จวกพวกเคลื่อนไหวคว่ำ รธน.ไม่ประสงค์ดีกับประชาธิปไตย ชี้อำนาจเก่ามีขีดความสามารถชี้เป็นชี้ตายร่าง รธน. “สดศรี” เตรียมเชิญพรรคการเมืองร่วมถกแนวทาง กม.ลูก 11 ก.ค.นี้ จี้ สนช.เร่งคลอด กม.ประชามติ เพื่อจัดการพวกรณรงค์คว่ำร่างรัฐธรรมนูญแบบผิด กม.

วานนี้ ( 2 มิ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ ที่อาคารไอเอฟซีที ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งเป็นที่ทำการพรรคไทยรักไทยเดิม ได้กลับมาคึกคักอีกครั้ง เนื่องจากแกนนำกลุ่มไทยรักไทยได้เรียกอดีต ส.ส.ทั่วประเทศกว่า 200 คนมาประชุม หลังจาก ครม.ผ่อนคลายประกาศ คปค.ฉบับที่ 15 ข้อ 2 ให้กลุ่มการเมืองประชุมได้

นอกจากนี้ยังปรากฏว่า แกนนำกลุ่มไทยรักไทยคนสำคัญอย่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นายเนวิน ชิดชอบ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี นายสุธรรม แสงประทุม และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา เข้าร่วมประชุม โดยก่อนการประชุมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย และอดีต ส.ส.ที่มีความใกล้ชิดนายจาตุรนต์ อาจจะไม่เดินทางมาร่วมประชุม ท่ามกลางกระแสข่าวความขัดแย้งกับคุณหญิงสุดารัตน์ และนางเยาวภา

รายงานข่าวแจ้งเพิ่มเติมว่า ในช่วงเช้าเป็นการประชุมสมาชิกรวมทุกภาค ส่วนในช่วงบ่าย อดีต ส.ส.ได้แยกประชุมตามภาคต่างๆ นอกจากนี้นายสงวน พงษ์มณี อดีต ส.ส. ลำพูน ได้สวมเสื้อสโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ข้างหลังเสื้อสกรีนชื่อ Frank Sinatra มาร่วมประชุมด้วย

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำกลุ่มไทยรักไทย ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุมถึงกระแสข่าวความแตกแยกของกลุ่มไทยรักไทยที่แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ว่า ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ทุกคนยังเป็นสมาชิกกลุ่มเดียวกัน แต่ช่วงที่ผ่านมานายจาตุรนต์ เดินทางไปต่างประเทศจึงยังไม่ได้แจ้งให้ทราบ ซึ่งการนัดประชุมกันครั้งนี้เนื่องจากสมาชิกในกลุ่มต้องการทราบรายละเอียดความคืบหน้าร่างรัฐธรรมนูญ 2550 นโยบายของกลุ่มในการดำเนินการก่อตั้งพรรคการเมือง รวมทั้งการดำเนินการของอดีตกรรมการบริหารพรรค 111 คน ยืนยันว่าการเรียกประชุมวันนี้ไม่ได้วัดกำลังอดีต ส.ส.กับนายจาตุรนต์ แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ในระหว่างที่มีการประชุมกลุ่มไทยรักไทยในช่วงเช้า นายสุทิน คลังแสง อดีตรองโฆษกพรรคไทยรักไทย พยายามโทรศัพท์ประสานไปยังนายจาตุรนต์ และอดีตส.ส.ที่ใกล้ชิดนายจาตุรนต์ ที่ไปเปิดแถลงข่าว ณ อาคารนวสร ถนนพระราม 3 ให้มาร่วมประชุมที่อาคารไอเอฟซีทีด้วย เนื่องจากเห็นว่าเป็นการหารือในเรื่องรัฐธรรมนูญเหมือนกัน

โดยในตอนแรกนายจาตุรนต์ ยังแบ่งรับแบ่งสู้ว่าจะมาหรือไม่ แต่ในที่สุด เมื่อเวลาประมาณ 15.00 น. นายจาตุรนต์ และคนใกล้ชิด อาทิ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง ได้เดินทางมาร่วมประชุม โดยมีนายสุธรรม แสงประทุม เดินลงมาต้อนรับถึงหน้าลิฟท์ โดยก่อนเริ่มการประชุมในช่วงบ่าย แกนนำกลุ่มไทยรักไทย เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนไปถ่ายภาพบรรยากาศภายในห้องประชุม โดยมีนายจาตุรนต์ นั่งตรงกลาง นางเยาวภา และคุณหญิงสุดารัตน์ นั่งประกบทั้ง 2 ข้าง รวมทั้งนายสุธรรม และนายพงศ์เทพ ทำหน้าที่ประธานร่วมในที่ประชุม

***ประกาศลั่นไม่รับ รธน.ฉบับปี 50

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทย แถลงภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมครั้งนี้มีอดีต ส.ส. อดีตผู้สมัครส.ส.ไทยรักไทย จำนวน 299 คน เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายในเรื่องร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง และที่ประชุมได้ประกาศเจตนารมณ์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยเห็นว่า นับตั้งแต่มีการยึดอำนาจ ประเทศไทยประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยาเสพติดมีการแพร่ระบาด และปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความรุนแรงมากขึ้น มีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หาประโยชน์กับรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ และมีการเตรียมออก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งถือว่าเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

อีกทั้งที่ผ่านมาอดีต ส.ส.ไทยรักไทย และอดีตสมาชิกพรรคไทยรักไทยเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 จะเป็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ แต่เมื่อมีการร่างและผ่านวาระที่ 2 ในสภาร่างรัฐธรรมนูญแล้ว กลับทำให้เห็นว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับขุนนาง ที่มุ่งรื้อฟื้นระบอบอมาตยาธิปไตย มีบทบัญญัติที่ประชาชนไม่ไว้วางใจ

“กลุ่มไทยรักไทยจึงมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว และหากสภาร่างรัฐธรรมนูญยังให้ความเห็นชอบในวาระที่ 3 กลุ่มไทยรักไทย จะร่วมมือกับประชาชน ทำให้สังคม และผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติได้ตระหนักว่าบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการยึดอำนาจจากประชาชน เป็นฉบับที่ไม่เชื่อถือและไม่ไว้วางใจประชาชน ซึ่งจะได้ชี้แจงให้ประชาชนทราบต่อไป พร้อมกันนี้ทางกลุ่มไทยรักไทย ยังขอเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ใหม่และจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว”นพ.สุรพงษ์ กล่าว

ด้านนายพงศ์เทพ กล่าวว่า ในที่ประชุมยังคงประกาศจุดยืนที่จะดำเนินการทางการเมืองต่อไป โดยมี นายจาตุรนต์ เป็นแกนนำในการผลักดันให้จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. โดยนายจาตุรนต์ พร้อมที่จะเป็นผู้สนับสนุนและเป็นกำลังหลักสำคัญในการต่อสู้ในสนามเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และยืนยันว่าไม่ได้มีความขัดแย้งระหว่างนายจาตุรนต์ กับคุณหญิงสุดารัตน์ และนางเยาวภา แต่อย่างใด

*** จี้ฝ่ายปกครอง-กองทัพชี้แจง ปชช.

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ ( กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาที่มีขบวนการขวางประชามติ และล้มร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การแก้ไขคือในพื้นที่มีฝ่ายปกครอง ได้แก่ มหาดไทย ที่ดูแลจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายกองทัพ ประกอบด้วย กองทัพภาค และมณฑลทหารบกที่มีทุกจังหวัด ซึ่งฝ่ายปกครองอาจช่วยทำความเข้าใจเนื้อหาสาระสำคัญ และดูแลความเคลื่อนไหวในลักษณะที่ไม่เป็นผลดีต่อการทำประชามติ ส่วนฝ่ายกองทัพ จะช่วยอีกแรงดูการเคลื่อนไหวให้อยู่ในกรอบ และพูดกันให้เข้าใจ

“ขอร้องว่า ใครก็ตามที่ไม่ได้อ่านเนื้อหาแล้วไปพูดกันผิดๆให้ชาวบ้านฟัง ถือว่าเป็นบุคคลไม่ประสงค์ดีกับกระบวนการประชาธิปไตยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งนี้ให้ไปสู้ในสนามเลือกตั้งดีกว่า ผมคิดว่าในพื้นที่ ฝ่ายปกครองและทหารรู้ว่ามีใครบ้างที่คิดจะดำเนินการหรืออยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวล้มร่างฯ หรือถ้าดูจากโฆษณาในหนังสือพิมพ์ที่ชี้นำไม่ให้รับ วันหนึ่งค่าโฆษณา 2-3 แสน คนธรรมดาเขาไม่ทำอย่างนั้น ต้องเป็นคนมีสตางค์ มีความประสงค์ให้ยุ่งยากในการไปถึงการเลือกตั้ง”น.ต.ประสงค์ กล่าว

สำหรับการเคลื่อนไหวล้มร่าง รธน. ตนคิดว่าอำนาจการเมืองเก่าที่มีเครือข่ายมาก รวมถึงกลุ่มที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี ล้วนแต่มีเครือข่าย และมีเงิน แต่ตนไม่ได้หมายความว่าพวกนี้จะทำ แต่หมายถึง มีขีดความสามารถที่จะทำ อย่างไรก็ดี คิดว่าโตๆ กันแล้วคงไม่ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้มข้น คือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เข้มข้นในการตรวจสอบ สิทธิเสรีภาพก้าวหน้า ดังนั้นถ้าจะเคลื่อนไหวล้มร่างฯ ขอให้มีเหตุผลหน่อย

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบของตน และคณะทำงาน เรื่องไม่ผ่านไม่มีแน่ ตนมั่นใจ เพราะเนื้อหาสาระให้ประชาชนมากกว่าทุกฉบับ ดังนั้นไม่คิดว่าพวกไหนจะไม่รับรัฐธรรมนูญ ส่วนการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาสาระ ภารกิจส่วนใหญ่เป็นของ ส.ส.ร. แต่ตนก็จะจัดกมธ.ยกร่างฯ ลงแต่ละพื้นที่ด้วย

*** เปิดรับฟังความเห็นก่อนร่าง กม.ลูก

นางสดศรี สัตยธรรม กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการเสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กกต. 3 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว. และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ว่า จากที่กมธ.ยกร่าง และสภาร่างรัฐธรรมนูญ ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างทั้ง 3 ฉบับแล้ว เพื่อให้เนื้อหาสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการประกาศใช้ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในการทำประชามติ กกต.ในฐานะหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“จึงได้กำหนดให้มีการประชุมสัมมนา รับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองที่จะได้รับผลโดยตรงจากการใช้บังคับของ พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ในวันที่ 11 ก.ค.นี้ ที่โรงแรมปริ้นซ์ พาเลซ โดยในวันดังกล่าวทาง กกต.ยังจะขอให้พรรคการเมืองแจ้งข้อมูลการรับสมาชิกพรรคมาให้ กกต.ทราบโดยเร็ว เพื่อจัดทำฐานข้อมูลการเป็นสมาชิกพรรคให้เกิดความชัดเจน จะได้ไม่เป็นข้ออ้าง และเกิดปัญหาต่างๆ อีก เพราะหากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ได้ระบุถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งว่าต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 30 วัน”นางสดศรี กล่าว

*** จี้ สนช.เร่งออก กม.ประชามติ

ส่วนที่มีคนบางกลุ่มรณรงค์ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น นางสดศรี กล่าวว่า ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แต่ขณะนี้ยังไม่มี พ.ร.บ. การออกเสียงประชามติมาใช้บังคับ ซึ่งในมาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าว มีข้อห้ามไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ ในลักษณะทำให้การออกเสียงประชามติเกิดปัญหาขึ้นมา แต่เมื่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ทาง กกต.ก็ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ จึงอยากให้ สนช.เร่งพิจารณา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กระทบต่อผู้ที่รณรงค์ค่ำร่างเท่านั้น แต่มีผลต่อการทำงานของ กกต.ด้วย

“เห็นได้ชัดเจนว่า มีการโฆษณาว่าห้ามรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่เมื่อยังไม่มี พ.ร.บ.ประชามติออกมาในเรื่องข้อบังคับห้ามโฆษณา หรือการกระทำที่กระทบต่อการออกเสียงประชามติ ก็จะเกิดปัญหา ถ้ามีผลใช้บังคับใช้การโฆษณาก็จะต้องหยุดทันที เพราะถ้าเป็นพรรคการเมืองกระทำ ก็มีโทษรุนแรงถึงขั้นยุบพรรค เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ถ้าเป็นประชาชนทั่วไป ก็มีโทษอีกระดับหนึ่ง แต่ที่ทำกันอยู่เป็นการใช้ช่องว่างของกฎหมาย”นางสดศรี กล่าว

*** แย้มนำ รธน.40 มาใช้หากประชามติไม่ผ่าน

พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผบ.ทอ. และรองประธาน คมช. กล่าวถึงกรณี หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการลงประชามติ คมช. จะหยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ว่า คมช. ไม่ต้องการเป็นผู้ตัดสินใจนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดมาประกาศใช้ เพราะการพิจารณาอาจไม่รอบคอบ และครอบคลุมเท่ากับร่างที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชน แต่ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ไม่ผ่าน คมช.จะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาประกาศใช้ แต่เชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ระหว่างการพิจารณา น่าจะผ่านประชามติ เนื่องจากเป็นฉบับที่ค่อนข้างสมบูรณ์ และมีการแก้ไขดัดแปลงจากรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 รวมทั้ง ผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้าน

เมื่อถามว่า มีรายงานจากหน่วยงานความมั่นคงว่า มีนักการเมืองระดับชาติในตังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่แน่ใจ ตนเห็นว่าสื่อน่าจะไปค้นว่าเป็นใครที่ว่าจะคว่ำบาตร เพราะนั่นคือการที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยชะงัก ซึ่ง คมช. พยายามที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยเดินไปอย่างราบรื่น

เมื่อถามว่า สถานการณ์ขณะนี้ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุมพยายามที่จะให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะมีผลกระทบกับการเลือกตั้งหรือไม่ พล.อ.อ.ชลิต กล่าวว่า ตนยอมรับว่าอาจจะมีบ้าง จึงขอให้หยุดการเคลื่อนไหว เพื่อให้ประชาธิปไตยสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ คมช.จะพยายามทำให้มีการเลือกตั้ง และมีการลงประชามติ ซึ่งเราจะดำเนินประเทศให้มีความราบรื่นมีการเลือกตั้งมีรัฐบาลมาจากเสียงของประชาชน เพื่อเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งคนที่ขัดขวางไม่ใช่นักประชาธิปไตย

พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีม็อบพระ ก็ประกาศคว่ำบาตรรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ว่า ทางรัฐบาล และ คมช.จะต้องประชาสัมพันธ์ให้ดี แต่ตนคิดว่าชาวพุทธส่วนใหญ่มีสัมมาทิฐิ คือความคิดถูกไม่จำเป็น ซึ่งทาง ส.ส.ร.มีความชัดเจนมาแล้วว่าศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ ถ้าหากว่าบรรจุไว้ก็ดี ไม่บรรจุไว้ก็ได้ มันไม่ได้ทำให้เราเปลี่ยนแปลงเลย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ความสงบสุขของประเทศชาติบ้านเมืองต่างหาก

“ซึ่งการทำในลักษณะนี้นำไปสู่ความไม่สงบซึ่งมันค้านกับหลักสอนพระพุทธศาสนาอยู่แล้ว เมื่อดำเนินมาถึงจุดนี้ ตนคิดว่าเมื่อถึงเวลาเหตุการณ์ที่คิดว่าไปสู่จุดที่ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คงไม่ถึงจุดนั้น ตนยังเชื่อว่ารัฐธรรมนูญประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องผ่าน เพื่อไปสู่การเลือกตั้ง เมื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ขึ้นมาแล้วสิ่งที่สมควรแก้ ก็ต้องแก้ สิ่งไหนไม่สมควรแก้ ก็ไม่ต้องแก้ ประเทศชาติก็จะเดินต่อไปได้”พล.อ.บุญรอด ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น