xs
xsm
sm
md
lg

จากพลเมืองไทยเป็นพลเมือง UNHCR หมายเรียก - หมายจับก็ไม่ถึง “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

.
คำว่า “ผู้ลี้ภัย” ตามคำจำกัดความหรือการพิจารณาสถานภาพของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) มีว่า “บุคคลที่มีความหวาดกลัว ซึ่งมีมูลอันกล่าวอ้างได้ว่า จะถูกประหัตประหารด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มทางสังคม กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือมีความคิดเห็นทางการเมือง และบุคคลนั้นจะต้องอยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน...”

การรายงานเชิงวิเคราะห์นี้ ขอเน้นให้พิจารณากันตรงคำว่า “และบุคคลนั้นจะต้องอยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน” เป็นสำคัญกว่าถ้อยคำอื่นๆ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อยู่ในฐานะดังกล่าวนี้แล้วในการขอลี้ภัยการเมือง คือไม่ได้กลับประเทศตั้งแต่เกิดปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ได้อยู่ในฐานะ “อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน” เรียกว่ามีความตั้งใจที่จะเป็นผู้ลี้ภัยการเมืองมาตั้งแต่ต้น จึงรักษาสถานภาพข้อนี้ไว้

การกลับมาไทยเพื่อการรับข้อกล่าวหาในคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่า จำเลยในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น เป็นหน้าที่ของโจทก์ “นำตัวจำเลยมาศาลพร้อมกับฟ้อง” อัยการโจทก์จะยื่นแต่คำฟ้อง และขอให้ศาลออกหมายจับจำเลยไม่ได้ (ตามคำพิพากษาศาลฎีกา 1133/2493) ครั้นการเดินทางกลับมาเพื่อพบพนักงานสอบสวน และอัยการตามหมายเรียกจะเป็นเหตุให้ต้องเสียสถานภาพ “อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติตน” สำหรับการขอลี้ภัย ก็เชื่อว่าจะเลือกเอา “การไม่กลับมา” มากกว่า เพราะเกรงจะเสียซึ่งสถานภาพดังกล่าวที่มีความสำคัญกว่า

ไม่ได้มีความสำคัญเพราะแต่ตนเองเท่านั้น ถ้าหากว่าได้สถานภาพของผู้ลี้ภัย UNHCR เพียงคนเดียวคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะได้รับสิทธิหรือสถานภาพนั้นหมดทั้งลูกเมียแบบยกครอบครัว โดยเหตุผลทางมนุษยธรรมที่จะให้ครอบครัวอยู่ร่วมกัน และนั่นหมายถึงจะมีผลต่อคดีต่างๆ ของลูกเมียด้วย ที่จะเข้าเกณฑ์หลักของกระบวนพิจารณาความอาญา ที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ตัวจำเลยมาศาลภายใน “อายุความ”

ทำให้มองเห็นว่าเส้นทางที่จะทำอย่างไรต่อไป และเพื่อผลอันใดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น


โดยที่ “อายุความ” นี้, ได้มีนักกฎหมายเริ่มออกมาพูดกันแล้วว่า น่าจะมีอายุความสิบปีตามเกณฑ์ระวางโทษของความผิดที่ถูกกล่าวหา

หากจะมองกันแล้ว-อายุความสิบปีนั้น จะมีความหมายหรือผลกระทบต่อมาเพียง 5 ปีเท่านั้น เพราะมีระยะเวลาที่เล่นการเมืองไม่ได้อยู่แล้วเป็นเวลา 5 ปีตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ หรืออาจจะมองกันตามหลักกฎหมายให้ละเอียดลงไป “อายุความ” นั้น ศาลจะนับตั้งแต่วันเกิดเหตุ ซึ่งหากนับกันใน พ.ศ. 2550 นี้ ก็จะไม่เต็มสิบปี เพราะแต่ละสำนวนคดีนั้น เหตุเกิดก่อนการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ขณะที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

มีข้อที่พึงสังเกตและนำมาเป็นฐานการวิเคราะห์ได้อย่างหนึ่ง คือกฎเกณฑ์ของ UNHCR ที่พิจารณาสถานภาพของผู้ขอลี้ภัย ที่มีข้อความทั้ง “อยู่ในหลักเกณฑ์” และ “นอกหลักเกณฑ์” ของการพิจารณาโดยข้อความนั้นมีความหมายที่กว้างมาก คือ

“อาชญากร” ที่ได้รับการพิจารณาคดีโดยกระบวนการยุติธรรมสำหรับความผิดตามกฎหมายทั่วไป และอาชญากรที่หนีออกนอกประเทศเพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าคุก “ไม่ถือว่าเป็นผู้ลี้ภัย”

ตามข้อนี้พิจารณาเชิงวิเคราะห์ต้องหาคำจำกัดความหรือลักษณะของคำว่า “อาชญากร”

ซึ่งน่าจะหมายถึงผู้ที่กระทำความผิดทางอาญา (ซึ่งมิได้กระทำความผิดโดยประมาท) การที่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาความอาญา ทั้งคดีของ คตส.ที่เข้าสู่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของนักการเมือง และคดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์ ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นเจ้าของคดี ถือเป็นความผิดที่มีข้อกล่าวหาเป็นอาญาแผ่นดินเข้าสู่กระบวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน และอัยการผู้พิจารณาสำนวนคดีและเป็นโจทก์ฟ้องศาล

ถ้าหากพิจารณากันตามเกณฑ์ของ UNHCR เพียงข้อความนี้ ก็น่าจะทำให้การขอสถานภาพการเป็นผู้ลี้ภัยนั้น ไม่เข้าเกณฑ์ที่จะเป็นผู้ลี้ภัยได้

แต่มีความในวรรคต่อมาว่า “อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่าต่ออาญากรรมเหล่านี้ หรืออาชญากรรมอื่นที่ไม่ใช่อาชญากรรมทางการเมือง ไม่ว่าถูกตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่ แต่อาจจะได้รับการประหัตประหารทางการเมือง หรือทางอื่น บุคคลนั้นอาจได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย”

ประเด็นตามข้อความนี้คือ “การประหัตประหารทางการเมือง” ว่ามีอยู่จริงหรือไม่?

เป็นข้ออ้างที่มีความหมายกว้างมาก จึงได้มีการพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ย้ำในเรื่องของ “ความไม่ปลอดภัย” ถ้าหากกลับมาประเทศไทย แม้ว่าจะมีเสียงรับรองในเรื่องความปลอดภัยออกมาจากหลายๆ ฝ่าย ประเด็นนี้จะต้องถูกนำไปเป็นข้ออ้างสำหรับการขอสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยอย่างแน่นอน ซึ่งอ้างได้ตั้งแต่การถูกปฏิวัติโค่นอำนาจโดยคณะทหาร การถูกยุบพรรค และการตัดสิทธิทางการเมือง

รวมทั้งการมีการชุมนุมของ ม็อบสนามหลวง ก็มีประโยชน์ในการนำมาอ้างกับ UNHCR ว่า มีการแบ่งแยก มีศัตรู มีผู้โกรธแค้น โดยการชุมนุมม็อบทักษิณนั้น ทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียด รัฐบาลจะใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน เมื่อใดก็ได้ ซึ่งทำให้รัฐบาลและทหารตำรวจสามารถจับกุมคุมขัง หรือการกระทำที่เป็น“อันตราย” ได้อย่างเต็มที่

อีกทั้งยังสามารถที่จะอ้างได้ถึงความไม่ปลอดภัยก่อนหน้านั้น คือในขณะที่เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ถูกเป็นเป้าหมายของการลอบสังหาร เช่น คดีคาร์บ๊อง การที่ต้องนั่งรถยนต์กันกระสุน และการเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัย อ้างเหตุไปถึงการชุมนุมขับไล่ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และอะไรต่ออะไรได้สารพัด ทั้งที่เป็นเรื่องจริงและปั้นความเท็จ สามารถนำมาอ้างกับ UNHCR ได้ทั้งสิ้น

รวมทั้งเรื่องที่ม็อบสนามหลวงนำไปพูดว่า ทางทหารได้จัดหน่วยล่าสังหารจำนวนสิบทีม ทีมละสองคน โดยจัดจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษเพื่อปลิดชีวิตของเขา ถ้าหากว่ากลับมาไทย

การชุมนุมที่สนามหลวงนั้น มิใช่เป็นการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้กลับมา โดยเจตนาที่แท้จริงนั้น คือการสร้างความยุ่งยากสับสนให้เป็นประโยชน์ต่อการขอลี้ภัยอยู่ในต่างแดน เป็นการชุมนุมที่ให้เกิดเงื่อนไขของการไม่ต้องกลับมา แต่ได้สถานภาพของผู้ลี้ภัยต่างหาก

นอกจากนี้-ความในข้อที่เกี่ยวกับ “อาชญากร” ของ UNHCR นั้น ยังมีวรรคท้ายอีกว่า “นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย”

เป็นข้อความที่มีความหมายกว้างมากโดยเนื้อหาและการกระทำ

โดยเฉพาะคำว่า “บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด...” นั้น, เป็นการตัดสินของใคร ตัดสินโดยพฤติกรรมหรือการกระทำ หรือถูกตัดสินอย่างเด็ดขาดว่ามีความผิดเช่นว่านั้น โดยคำพิพากษาของศาล?

กล่าวโดยรวมแล้ว เรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง อันเป็นข้อที่ทำให้เข้าสู่สถานภาพผู้ลี้ภัยได้ ถือว่าเป็นคุณอีกข้อหนึ่งในการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะอ้างได้ เพราะมีความกว้างขวางในความหมายการกระทำได้กระทำ หรือเป็นผู้ถูกกระทำ

เช่น ผลงานของลูกน้องที่สนามหลวงนั้นก็อ้างได้ เพราะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนาดมีเป้าหมายขับไล่ทหารผู้ปฏิวัติ มีการกดดันหรือทำเหมือนกดดันโดยตรง การที่มีผู้ไปยื่นหนังสือต่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ให้ลาออกจากประธานองคมนตรีภายใน 7 วัน ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา และคำว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น จะรวมไปถึงการปฏิบัติการคลื่นใต้น้ำ ซึ่งเป็นการต่อต้าน ท้าทายอำนาจ หรือทำลายความน่าเชื่อถือของ คมช.หรือไม่?

การถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย การถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรค และมีคำวินิจฉัยว่า มีการกระทำอันเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั้น จะมีผลรองรับต่อคำว่า การเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่? หากว่าเข้าเกณฑ์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ผลย้อนหลังสามารถนำมากล่าวอ้างได้ ก็จะเป็นการกล่าวอ้างโดยสมบูรณ์ เพราะสิ่งเหล่านี้ได้รับการ “ตัดสิน” หรือวินิจฉัยโดย ศาลรัฐธรรมนูญ แล้ว

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีคุณสมบัติต่อสถานภาพการเป็นผู้ลี้ภัยใดๆ เลย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็อยู่ในเกณฑ์ของผู้ลี้ภัยอีกลักษณะหนึ่ง คือการเป็น “ผู้ย้ายถิ่น” (MIGRANTS) ที่ UNHCR มีคำจำกัดความว่า “คือผู้เดินทางออกจากประเทศตน ไปพำนักในประเทศอื่น เพื่อแสวงหาเงินและชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งต่างกับผู้ลี้ภัย คือผู้ย้ายถิ่นจะกลับบ้านเมื่อใดก็ได้ เพราะชีวิตไม่มีอันตราย”

ความพยายามในการซื้อสโมสรฟุตบอลแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ของเขา น่าจะมองได้ว่าเป็นความพยายามอย่างหนึ่ง ที่อย่างน้อยก็เข้าเกณฑ์ของการเป็น “ผู้ย้ายถิ่น” เพราะคงจะไม่แน่ใจนักว่า ถ้าหากได้รับสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย (REFUGEE) แล้ว จะเลือก “สถานที่ลี้ภัย” ได้ตามสะดวกหรือตามใจตัวเอง เพราะยังมีหลักเกณฑ์ว่า ถ้าหากประเทศนั้นๆ ไม่ยอมรับ แต่ก็ไม่มีการผลักดันกลับประเทศ (NON-REFOULEMENT PRINCIPLE) ก็จะต้องไปพำนักอยู่ประเทศอื่นที่เรียกว่า “ประเทศที่สาม” คือประเทศที่หนึ่ง-ประเทศที่มีสัญชาติและต้องลี้ภัยออกมา หรือออกมาก่อนแล้ว, ประเทศที่สอง-ประเทศที่พำนักในลักษณะการได้รับที่ปลอดภัยชั่วคราว (TEMPORARY REFUGEE) และประเทศที่สามคือ สถานที่ลี้ภัยอย่างถาวร (ASYLUM) ภายใต้การให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL PROTECTION) ถือว่าเป็นบุคคลในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (PERSONS OF CONCERN TO UNHCR) โดยที่หมายเรียก หรือหมายจับต่างๆ ในการดำเนินคดีอาญาที่เมืองไทยนั้น จะต้องผ่านการพิจารณาของ UNHCR ไม่ใช่ประเทศที่ให้พำนักอย่างชั่วคราวหรือถาวร

เพราะ UNHCR นั้นมีหน้าที่ระบุไว้ว่า “อำนาจหน้าที่ให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศต่อผู้ลี้ภัย เนื่องจากประเทศของพวกเขาไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับมนุษยชนและความปลอดภัยได้” และคำว่า “ผู้ลี้ภัยไม่ควรถูกส่งกลับโดยการถูกบังคับ โดยมิได้สมัครใจ”
กำลังโหลดความคิดเห็น