ศูนย์ข่าวขอนแก่น-แขวงสะหวันนะเขตเนื้อหอม หลังสะพานโขง2-ถนนหมายเลข 9 เปิดใช้สะดวก ทุนต่างประเทศรุมตอม ทุนออสซี่ทำเหมืองทองคำ อังกฤษสำรวจแหล่งก๊าซ-น้ำมัน ขณะทุนไทยมุ่งยึดพื้นที่ส่งเสริมเกษตรกรรม ทั้งอ้อย ยางพารา ข้าวโพด รวมแล้ว 7 บริษัทใหญ่ ย้ำทุนไทยศักยภาพสูงอย่ามองข้ามเพื่อนบ้านต้องชิงความได้เปรียบก่อนจีน-เวียดนามคุมฐาน
แขวงสะหวันนะเขต เป็นอีกพื้นที่เป้าหมายหนึ่งใน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)ที่นักลงทุนต่างประเทศให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุน เนื่องจากทำเลที่ตั้งสามารถใช้เส้นทางหมายเลข 9 ขนส่งสินค้าเข้า-ออกได้สะดวก ทั้งผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 มายังเมืองหน้าด่านมุกดาหาร-ตอนในของไทย และอีกด้านหนึ่งระยะทางราว 240 กิโลเมตร(กม.)ก็จะทะลุชายแดนเวียดนามออกสู่ท่าเรือน้ำลึกเมืองด่าหนัง เวียดนาม ทำให้นักธุรกิจหลายชาติได้เริ่มขยับเข้าไปจับจองพื้นที่ลงทุนบ้างแล้ว
มีรายงานว่า ทั้งทุนเวียดนาม-จีน ได้เข้าไปลงทุนส่งเสริมปลูกยางพารา มันสำปะหลัง และกิจการอื่นๆอีกหลายอย่าง ขณะที่ทุนจากออสเตรเลีย สนใจทำเหมืองทองคำ ที่เมืองเซโปน นักลงทุนจากอังกฤษขอสัมปทานสำรวจแหล่งก๊าซและบ่อน้ำมัน
นายอภิชาติ เพ็ชรรัตน์ กงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย ประจำแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของนักลงทุนไทยในแขวงสะหวันนะเขตว่า ณ ขณะนี้ทุนไทยที่เข้าไปเสาะหาลู่ทางทำธุรกิจในแขวงดังกล่าวมีอยู่หลายกลุ่ม แต่กระจุกเฉพาะอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ส่วนการลงทุนด้านอื่นยังไม่ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนไทยควรให้ความสนใจศึกษาลู่ทางการลงทุน ในแขวงสะหวันนะเขตให้มากขึ้น
ทั้งนี้ เนื่องจากไม่อยากให้นักลงทุนไทยมองข้ามศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ ไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสให้แก่นักลงทุนประเทศอื่น โดยเฉพาะเวียดนาม และจีน ซึ่งพยายามรุกขยายการค้า การลงทุนเข้ามาในพื้นที่เศรษฐกิจลาวตอนกลางแถบนี้มากขึ้นเป็นลำดับ
"นักลงทุนไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมากที่จะชิงความได้เปรียบ ทั้งภาษา และวัฒนธรรมแทบไม่ต่างจากลาว ต้องรีบเข้ามา ไม่อย่างนั้นทุนจากจีนจะเข้ามาคุมพื้นที่ก่อน เพราะเขาทำถนนจ่อชายแดนทางตอนเหนือของลาวแล้ว ไม่นับรวมกับเวียดนามที่รุกเข้ามาลงทุนส่งเสริมปลูกยางพารา"นายอภิชาติกล่าวและว่า
สำหรับนักลงทุนชาวไทยที่เข้ามาลงทุนในแขวงสะหวันนะเขต ปัจจุบันล้วนแต่เป็นกิจการด้านการเกษตรทั้งนั้น โดยอุตสาหกรรมด้านการเกษตรของทุนไทยประกอบด้วย 6 โครงการ คือ 1.บริษัทน้ำตาลมิตรลาว ในกลุ่มมิตรผล มีโครงการเข้ามาส่งเสริมปลูกอ้อย และสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลขนาดใหญ่ 1.2 พันล้าน ในแขวงไชยะบุรีและสะหวันนะเขต เป้าหมายพื้นที่ปลูกอ้อยตามสัมปทาน 2.5 หมื่นเฮกตาร์(1เฮกตาร์/6.2 ไร่)
2.บริษัทน้ำตาลสะหวันนะเขต เป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัทน้ำตาลขอนแก่นกับน้ำตาลบ้านโป่ง มีแผนจะปลูกอ้อยในแขวงสะหวันนะเขต อย่างต่ำ 1 หมื่นเฮกตาร์ ขณะนี้ได้พื้นที่พร้อมดำเนินการแล้วราว 6,500 เฮกตาร์
3.บริษัทไชโย ในกลุ่มดั๊บเบิ้ลเอ มีโครงการส่งเสริมปลูกป่ายูคาลิปตัส เน้นพื้นที่โครงการในเมืองอุทุมพร พื้นที่เป้าหมาย 1 หมื่นเฮกตาร์ 4.บริษัทมาลีสามพราน ส่งเสริมปลูกข้าวโพดหวาน 5.โครงการส่งเสริมปลูกยางพารา ของบริษัทวงศ์บัณฑิต(ไทยฮั้ว)
6.บริษัทในเครือซีพี โครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าสะหวันนะเขตมีความเหมาะสมสูงมากสำหรับปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ผลผลิตมากถึง 9 ตันต่อ 1 เฮกตาร์ สูงกว่าไทย 3 ตัน
นายอภิชาติ ระบุว่า ตามเป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของซีพีในสะหวันนะเขตอยู่ที่ 1หมื่นเฮกตาร์ การเข้ามาส่งเสริมปลูกพืชเกษตรของบริษัททุนไทยในลาวดังกล่าว รัฐบาลลาวพร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ในมิติอุตสาหกรรมเกษตร ที่สำคัญเกษตรกรชาวลาวเองก็พอใจที่ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมจากบริษัทเกษตรกรรมของไทยในรูปแบบของ Contract Farming เพราะมีรายได้แน่นอนจากการประกันราคาล่วงหน้า
"เกษตรอุตสาหกรรมเป็นเรื่องใหม่สำหรับเกษตรกรลาว นักลงทุนไทยที่เข้าไปส่งเสริมปลูกพืชเกษตรชนิดใดก็ตามต้องพยายามถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีใหม่ๆให้แก่เกษตรกรลาวด้วย เพื่อให้เกษตรกรลาวสามารถพึ่งตนเองได้ในระยะยาว เชื่อว่ายังมีอีกหลายบริษัทของไทยสนใจเข้าไปลงทุนด้านกสิกรรมในสะหวันนะเขต ล่าสุด บริษัทศรีวิโรจน์ ฟาร์ม เจ้าของฟาร์มไก่ขนาดใหญ่จากขอนแก่น ก็เข้าไปสำรวจลู่ทางลงทุนแล้วเช่นกัน"นายอภิชาติ กล่าว