รายงานพิเศษ
อุบลราชธานี
เปิดเส้นทางค้ามนุษย์ ลักลอบขนแรงงานเถื่อนชาวลาวแถบอีสานใต้ ชายแดน จ.อุบลฯช่องทางใหญ่ อ.เขมราฐ อ.โขงเจียม อ.โพธิ์ไทร อ.สิรินธร และ กิ่ง อ.นาตาล นายหน้าลาวร่วมนายหน้าไทยลอบขนขึ้นเรือหางยาวมาขึ้นท่าน้ำตามหมู่บ้านริมโขง เผยต้องจ่ายค่านายหน้าเฉลี่ย 5,000 บาท/หัว ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐยอมปิดตาแลกเศษเงินเป็นรายหัว ระบุนโยบายแก้ปัญหายุค "แม้ว"เอื้อลอบเข้าเมืองเพิ่ม
กว่า 20 ปีที่เจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงฯของไทยในพื้นที่ชายแดนภาคอีสาน ต้องเผชิญปัญหาการลักลอบนำคนต่างด้าวเข้ามาขายแรงงานตามจุดต่างๆในประเทศ โดยเฉพาะแถบอีสานใต้ ปัญหาการลักลอบเข้าราชอาณาจักรของแรงงานต่างด้าวเป็นปัญหาใหญ่ที่ป้องกันแก้ไขอย่างไรก็ไม่บรรลุผล
ปริมาณแรงงานต่างด้าวชาวลาวที่ลอบผ่านแดนมาตามลำแม่น้ำโขง ตลอดความยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร หน่วยทางความมั่นคงระบุว่า มีแรงงานคนลาวหลบหนีเข้าออกผ่านช่องทางเหล่านี้ปีละกว่า 200,000 คน โดยแรงงานเกือบทั้งหมด ผ่านขบวนการนายหน้าค้าแรงงานเถื่อนที่ส่งต่อกันมาเป็นทอดๆ ทั้งที่เป็นนายหน้าคนลาวและนายหน้าคนไทย เฉลี่ยค่านายหน้าที่ต้องจ่ายประมาณ 5,000 บาท/หัว เพื่อแลกกับการเดินทางเข้าไปทำงานในภาคกลางของไทย
การอพยพของแรงงานลาวผิดกฎหมายผ่านช่องทางตามแนวชายแดนอีสานใต้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีรากเหง้ามาจากวัฒนธรรมท้องถิ่นของคนสองฝั่งโขง คนไทยที่อาศัยอยู่ตามฝั่งโขงมีความผูกพันในฐานะเป็นญาติพี่น้องกับคนลาว จึงมีการชักนำให้คนลาวที่เป็นพี่น้องเข้ามาขายแรงงาน เป็นกรรมกรแบกหามตามหน่วยงานก่อสร้าง ผู้ว่าจ้างก็เห็นชอบ เพราะค่าจ้างถูกหาแรงงานไทยยาก กระทั่งลุกลามเข้าไปในส่วนกลางของประเทศ
ปัญหาของแรงงานลาวผิดกฎหมายเหล่านี้ แม้ส่วนน้อยที่เข้ามาจะก่อปัญหาอาชญากรรมในไทย แต่แรงงานลาวได้ก่อให้เกิดปัญหาการโยกย้ายเงินตราออกนอกประเทศ
จากการตรวจสอบกระแสเงินในบัญชีของลูกค้าบางรายของธนาคารแห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ อ.เขมราฐ จ.อุบลฯ พบมีกระแสการโอนเงินจากส่วนต่างๆของประเทศ ผ่านบัญชีเข้ามาและมีการถอนออกเฉลี่ยวันละหลายแสนบาท โดยเจ้าของบัญชีจะหักเงินค่าผ่านบัญชีร้อยละ 5 ของยอดเงินที่โอนมา ก่อนนำมาจ่ายให้แก่ญาติพี่น้องแรงงานลาวที่เดินทางเข้ามารับเงินแล้วนำออกนอกประเทศไป
นี่อาจเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นอย่างเด่นชัด กรณีความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศให้แก่แรงงานต่างด้าวเหล่านี้ แต่หากมองกันให้ลึกลงไปอีก เรายังมีความสูญเสียด้านทรัพยากรด้านอื่นอีก อาทิ การให้การรักษาแรงงานที่เจ็บป่วย การให้ที่พักอาศัย การที่แรงงานเข้ามาใช้ไฟฟ้า น้ำประปา รวมไปถึงการใช้พลังงานทุกชนิดที่ประเทศไทยต้องแบกรับภาระ
ที่น่าวิตกไปมากกว่านั้น หน่วยงานด้านการปราบปรามยาเสพติดระบุชัดว่า แรงงานลาวส่วนหนึ่งคือตัวการนำยาเสพติดเข้ามาสู่ประเทศ โดยซุกซ่อนเข้ามาตามส่วนต่างๆของร่างกาย ทั้งพื้นรองเท้า ในกล่องนม ตามตะเข็บกางเกงเสื้อผ้า หรือแม้แต่ยัดมาในอวัยวะเพศ หรือทวารหนัก
การขนย้ายยาเสพติดผ่านแรงงานลาวเหล่านี้ ทำให้การปราบปรามเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะขบวนการยาเสพติดจะใช้วิธีให้คนลาวที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานไทย แอบซุกซ่อนยาเสพติดเดินทางเข้ามาเป็นของแถม โดยจ่ายเงินค่าจ้างให้ตามปริมาณยาเสพติดแต่ละครั้ง หรือหากเป็นแรงงานหน้าใหม่ ที่ต้องการเข้ามาทำงานหารายได้ แต่ไม่มีค่าเดินทางขบวนการยาเสพติดก็จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย เพื่อแลกกับการให้ซุกซ่อนยาเสพติดเข้ามาด้วย
เปิดเส้นทางแรงงานเถื่อน
สำหรับเส้นทางที่แรงงานลาวนิยมลักลอบเข้ามาตามแนวชายแดนด้าน จ.อุบลฯ คือ อ.เขมราฐ อ.โขงเจียม อ.โพธิ์ไทร อ.สิรินธร และ กิ่ง อ.นาตาล โดยแรงงานลาวจะนั่งเรือหางยาวมาขึ้นตามท่าน้ำตามหมู่บ้านเช่น ท่าน้ำบ้านอุบมุง ท่าน้ำบ้านท่ากกทัน ท่าน้ำบ้านนาสนาม ท่าน้ำบ้านแก้งเกลี้ยง ซึ่งท่าน้ำเหล่านี้ ไม่ใช่จุดผ่านแดนตามข้อตกลงไทย-ลาว แต่เมื่อ 2-3 ปีก่อน รัฐบาลยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้จัดระเบียบการจอดเรือ เพื่อลดปัญหาการลักลอบนำยาเสพติดเข้าประเทศ โดยให้ประชาคมหมู่บ้านเป็นผู้ควบคุมดูแลกันเอง เลยกลายเป็นช่องว่างให้แรงงานลาวใช้เป็นช่องเดินทางเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
เมื่อแรงงานลาวนั่งเรือข้ามฟากมาขึ้นที่ฝั่งไทย นายหน้าค้าแรงงานจะนำแรงงานมารวมกันไว้เป็นกลุ่มคราวละ 5-10 คน เพื่อรอขึ้นรถเดินทางเข้าพื้นที่ตอนใน โดยจุดพักและจุดส่งต่อแรงงานอยู่บริเวณบ้านดงหนองหลวง ต.เขมราฐ เพราะสามารถเดินทางมาตามถนนลูกรังออกมาเชื่อมต่อกับถนนอรุณประเสริฐ ที่เป็นถนนหลักใช้ขนส่งแรงงานเข้ากรุงเทพฯ
การขนส่งแรงงานลาวมายังจุดนี้ ทำกันหลายรูปแบบ ทั้งการเช่าเหมารถตู้ รถกระบะ รถยนต์นั่งส่วนบุคคล หรือกระจายเดินทางเป็นกองทัพมดไปกับรถโดยสารผ่าน จ.อุบลฯ และ จ.อำนาจเจริญ ส่วนอายุของแรงงานลาวที่ลักลอบเข้ามาทำงานมีอายุตั้งแต่ 12-50 ปี ทั้งมาโดยจากแขวงอัตตะปือ เซกอง จำปาสัก สาละวัน และแขวงสะหวันนะเขต
ปัจจุบันเส้นทางดังกล่าว ยังเป็นเส้นทางหลบหนีเข้าเมืองของชาวลาวเฉลี่ยวันละ 100-500 คน/วัน ด้วยจำนวนแรงงานหลบหนีเข้าเมืองจำนวนมากดังกล่าว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ฝ่ายความมั่นคงและฝ่ายปราบปรามจะไม่รู้ข้อมูล แต่กลับเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ เพื่อแลกกับค่าเบี้ยบ้ายรายทางที่กลุ่มนายหน้าค้ามนุษย์เหล่านี้จ่ายให้ในอัตราที่คิดต่อหัวของแรงงานเถื่อน รวมแล้วแต่ละครั้งได้มากโข
นอกจากนี้ การขนย้ายแรงงานตามแนวชายแดนด้านนี้ ยังมีชาวบ้านบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ ให้การสนับสนุนลักษณะรับจ้างขนส่งแรงงานคิดเป็นรายหัว ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่าตามหมู่บ้านหลายแห่ง จะมีรถตู้ที่ใช้ป้ายทะเบียนของจังหวัดอื่น จอดอยู่ตามบ้านเรือนของชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดน การที่รถเหล่านี้ใช้ป้ายทะเบียนจังหวัดอื่น ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับของเจ้าหน้าที่ตามรายทาง
"ดังนั้น หากต้องการปราบปรามการลักลอบเข้ามาของแรงงานอย่างจริงจัง เพียงจับตาดูความเคลื่อนไหวของชาวบ้านที่มีส่วนร่วมอยู่ในขบวนการค้าแรงงานลาวเหล่านี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจับกุมได้"แหล่งข่าววงในรายหนึ่งระบุ
นโยบายยุค"แม้ว"เอื้อลอบค้าแรงงานเถื่อน
ด้านการแก้ไขปัญหาการไหลทะลักเข้ามาของแรงงานลาว ร.ต.อ .ฐิติพล อ้นหาด หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐระบุว่า อาณาเขตที่ยาวกว่า 120 กิโลเมตร ที่สำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐรับผิดชอบอยู่เป็นเรื่องยากที่หน่วยงานตรวจคนเข้าเมืองจะทำงานได้เพียงหน่วยเดียว เพราะมีกำลังพลประจำการอยู่เพียง 6 นาย ที่เหลือเป็นลูกจ้างนับรวมกันแล้วมีกำลังไม่ถึง 20 นาย
แต่หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง ร่วมมือทำงานอย่างจริงจัง ก็สามารถแก้ปัญหาการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานเหล่านี้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอปัญหาที่เกิดขึ้นในที่ประชุมหลายระดับ แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจ ปล่อยให้เป็นปัญหาคาราคาซังเรื่อยมา
"โดยเฉพาะกับนโยบายสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ให้ใช้วิธีผลักดันแรงงานที่ถูกจับได้กลับประเทศทันที โดยไม่มีการดำเนินคดี ก็ยิ่งทำให้ขบวนการค้าแรงงานได้ใจ หาช่องทางลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง "
สำหรับอุปสรรคการแก้ปัญหาการขนย้ายแรงงานเถื่อนตามแนวชายแดน คือ หมู่บ้านตามแนวชายแดนมักปล่อยให้ราษฎรทั้งสองฝ่ายเข้า-ออกอย่างเสรี โดยไม่ผ่านช่องทางที่อนุญาตให้ตามกฎหมาย รวมทั้งการจัดทำเอกสารผ่านแดนของทั้งสองฝ่าย มีข้อมูลไม่ละเอียดครบถ้วน เช่น ชื่อ นามสกุล ภาพถ่าย หมายเลขกำกับเอกสารผ่านแดนที่ไม่ชัดเจน และไม่มีเครื่องมือเครื่องใช้สำหรับการติดต่อสื่อสารกับจุดผ่านแดนอื่น ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานด่านตรวจคนเข้าเมืองเขมราฐ
ทำให้การปฏิบัติงานไม่คล่องตัว จึงติดตามการหลบหลีกของขบวนค้าแรงงานเถื่อนไม่ทัน แม้เคยมีการเสนออุปสรรคปัญหาเหล่านี้ต่อผู้ใหญ่ในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนถึงวันนี้ ภาพการลักลอบขนแรงงานเถื่อนเข้าพื้นที่ชายแดนด้านนี้ยังมีให้เห็นเจนตา
หนึ่งในแรงงานลาวที่ลักลอบเข้ามาขายแรงงานฝั่งไทยที่ถูกสกัดจับ เล่าว่า เสียค่านายหน้าให้แก่นายหน้าคนลาวคนละ 2,500 บาท เพื่อพานั่งเรือหางยาวข้ามฟากจากประเทศลาวมาขึ้นท่าน้ำที่ฝั่งไทย โดยมีคนมาคอยรับแล้วพานั่งรถยนต์ออกมาในช่วงกลางคืน และถูกนำมาปล่อยทิ้งไว้ให้เจ้าหน้าที่จับ ส่วนอีกรายเล่าว่าเสียเงินค่านายหน้า 3,500 บาท แต่ระหว่างเดินขึ้นฝั่งมาก็ถูกเจ้าหน้าที่มาดักจับไว้ได้ โดยยังไม่ทันเดินทางไปทำงาน
สำหรับคนลาวที่เดินทางไปทำงานและถูกจับระหว่างเดินทางกลับเล่าว่า ไปทำงานเป็นคนงานเย็บผ้ากับพี่ชายที่กรุงเทพฯ โดยแรกๆได้เงินเดือนๆละ 2,000 บาท ปัจจุบันได้เดือนละ 3,500 บาท แต่ต้องเดินทางกลับมาก่อน เพื่อไปช่วยทางบ้านทำนาปลูกข้าว เมื่อทำนาเสร็จแล้วก็จะหาทางลักลอบกลับไปทำงานต่อที่เดิม ส่วนการเดินทางเข้าไปทำงานเสียเพียงค่าเดินทาง เพราะพี่ชายหางานไว้ให้ล่วงหน้า