xs
xsm
sm
md
lg

ตอนนั้นบอกว่า UN ไม่ใช่พ่อ...มาถึงตอนนี้จะขอลี้ภัย...ก็พูดใหม่ว่า UN เป็นลุง

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

.
ผู้ลี้ภัย-คือ “บุคคลที่มีความหวาดกลัว ซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่า จะถูกประหัตประหาร ด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มทางสังคมกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ หรือความคิดเห็นทางการเมือง และบุคคลนั้นจะต้องอยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน อีกทั้งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจ เนื่องด้วยเหตุต่างๆ”

อนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ให้คำจำกัดความไว้ดังนั้น โดยอนุสัญญานี้ตราไว้เมื่อ พ.ศ. 2494 มีสมาชิกทั้งสิ้น 56 รัฐ

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ มีชื่อเต็มว่า UNITED NATIONS HIGH COMMISSIONER FOR REFUGEES หรือชื่อย่อ UNHCR

หลักเกณฑ์ของผู้ที่จะขอฐานะเป็นผู้ลี้ภัยนั้น มีรายละเอียดข้อปลีกย่อยอยู่มาก โดยเฉพาะคำว่า ประหัตประหาร ซึ่งตีความได้ยากว่า สิ่งใดคือการประหัตประหาร และที่น่าจะรู้ไว้เพื่อเป็นความรู้คือ คำถามที่ว่า

1. “อาชญาณเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่” ในเอกสารของ UNHCR ที่มีคำแปลเป็นภาษาไทยอยู่ กล่าวว่า “อาชญากรที่ได้รับการพิจารณาคดี โดยกระบวนการยุติธรรมสำหรับความผิดตามกฎหมายทั่วไป และอาชญากรที่หนีออกนอกประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงการจำคุก ไม่เป็นผู้ลี้ภัย”

“อย่างไรก็ตาม บุคคลที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาว่า ก่ออาชญากรรมเหล่านี้ หรืออาชญากรรมอื่นที่ไม่ใช่อาชญากรรมทางการเมือง ไม่ว่าถูกตัดสินว่ามีความผิดหรือไม่ แต่อาจจะได้รับการประหัตประหารด้วยสาเหตุทางการเมือง หรือทางอื่น บุคคลนั้นอาจได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย”

“นอกจากนี้ บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองอาจจะได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย”

2. มีคำถามว่า-ความคุ้มครองระหว่างประเทศคืออะไร?

คำตอบคือ “คนส่วนใหญ่จะได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และความปลอดภัยทางร่างกายจากรัฐบาลของตน แต่กรณีของผู้ลี้ภัย ประเทศต้นกำเนิดของเขาไม่สามารถหรือไม่ประสงค์จะคุ้มครองสิทธิเช่นว่านั้น UNHCR จึงมีอาณัติหน้าที่ในการประกันว่า ผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่ให้แหล่งพักพิง อีกทั้งให้ความช่วยเหลือรัฐบาลของประเทศที่ให้แหล่งพักพิง เท่าที่เป็นไปได้สำหรับภารกิจดังกล่าว UNHCR มิได้เป็นองค์กรที่มีอำนาจเหนือรัฐ และ UNHCR เองก็มิได้ประสงค์จะเป็นเช่นนั้น...

ดังนั้น, รัฐจึงไม่อาจผลักดัน หรือบังคับให้ผู้ลี้ภัยกลับไปยังดินแดนที่พวกเขาอาจจะประสบอันตรายได้ รัฐไม่อาจเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มต่างๆ ของผู้ลี้ภัย รัฐควรประกันว่า ผู้ลี้ภัยได้ประโยชน์จากสิทธิทางเศรษฐกิจ และสังคม อย่างน้อยเท่าเทียมกับคนต่างด้าวในกรณีอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในรัฐนั้น อีกทั้งรัฐยังมีพันธกรณีในการให้ความร่วมมือกับ UNHCR และด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม รัฐควรยอมรับคู่สมรสและบุตรที่อยู่ในการอุปการะของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยหรือพักพิงด้วย”

3. คำถามที่ว่า-ผู้ลี้ภัยทุกคนจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาสถานภาพเป็นรายบุคคลหรือไม่?

คำตอบ-“บุคคลที่ร้องขอสถานภาพผู้ลี้ภัย จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ความกลัวที่จะถูกประหัตประหารนั้นมีมูลความจริง...”

4. คำถาม- อาชญากรสงคราม และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรม และสิทธิมนุษยชนจะเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่?

คำตอบ-บุคคลซึ่งเข้ามีส่วนร่วมในอาชญากรสงคราม และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง...จะไม่ได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือในฐานะผู้ลี้ภัย บุคคลที่อยู่ในข่ายสงสัยด้วยมีเหตุผลที่หนักแน่นว่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการละเมิดเช่นว่านั้น ก็ไม่สมควรได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน

5. คำถามว่า- UNHCR มีนโยบายสำหรับการตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สามอย่างไร?

คำตอบ-การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม อาจเป็นหนทางเดียวที่จะประกันความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ลี้ภัย ซึ่งถูกประเทศที่ให้แหล่งพักพิงปฏิเสธไม่ให้ความคุ้มครอง และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศเดิมของตนได้...แต่ผู้ลี้ภัยบางรายซึ่งตกอยู่ในอันตราย ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลทางการเมือง และความปลอดภัย หรือเพราะความเปราะบาง การตั้งถิ่นฐานในประเทศที่สาม จะเป็นทางออกที่จำเป็นสำหรับบุคคลเหล่านั้น

วันนี้, มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับ “สถานภาพของผู้ลี้ภัย” ที่ UNHCR สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ มากล่าวถึง...พอให้เป็นความรู้ให้ทันกับเหตุการณ์ของบ้านเมือง ที่จะมีผู้ขอลี้ภัย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ลี้ภัยผู้นั้น และ “คนอื่นๆ” อีกหลายๆ คนที่อาจจะต้องทำอย่างเดียวกัน คำถามและคำตอบที่มีอยู่ 5 ข้อ อันเป็นหัวข้อตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงที่สุดนั้น จะได้ขยายความเป็นข้อๆ ไป คือ 1. อาชญากรเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่? ความชัดเจนอยู่ในวรรคท้ายคือ บุคคลที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานก่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองจะได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย 2. ความคุ้มครองระหว่างประเทศคืออะไร? ก็มีคำตอบอยู่ในวรรคท้ายที่มีความสำคัญมาก คือ ลูกเมียของผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ลี้ภัย ก็ได้รับสถานภาพเช่นนั้นด้วย คือได้รับสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยทั้งครอบครัวโดยอัตโนมัติ เมียและลูกไม่ต้องขอรับการเป็นผู้ลี้ภัยแต่อย่างใด 3. ผู้ลี้ภัยจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาสถานภาพเป็นรายบุคคลหรือไม่ คำตอบก็ชัดเจนว่า ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ความกลัวที่จะถูกประหัตประหาร หรือกลัวว่าจะถูกฆ่านั้น ต้องมีความเป็นจริง ต้องมีอันตรายจริงๆ ให้ปรากฏ ซึ่งก็ดูเหมือนว่าจะได้มีการปฏิบัติเช่นว่านั้นแล้ว เช่น ข่าวการลอบสังหาร ถ้าหากกลับประเทศไทย

ข้อ 4 เป็นข้อที่มีความสำคัญ และควรจะให้ศึกษาข้อนี้อย่างลึกซึ้งถี่ถ้วน

ที่ว่า...อาชญกรสงคราม และการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน จะเป็นผู้ลี้ภัยได้หรือไม่

คำว่า อาชญากรสงครามตัดออกไป, เพราะไม่มีภาวะสงครามย่อมไม่มีอาชญากรสงครามที่ว่านั้น, แต่การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนนั้น ถ้าหากจะนำเรื่องของการ “ฆ่าตัดตอน” เกี่ยวกับยาเสพติดที่มีเหยื่อนับเป็นพันๆ คน เป็นสิ่งที่ได้รับการบอกกล่าวสู่โลกให้รับรู้ว่าได้เกิดอะไรขึ้นในไทย และองค์กรภาคเอกชนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้ ดังนั้นคำว่า “บุคคลที่อยู่ในข่ายสงสัย ด้วยมีเหตุผลที่หนักแน่น ว่าจะเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมและการละเมิดเช่นว่านั้น ก็ไม่สมควรได้รับความคุ้มครองในฐานะผู้ลี้ภัยเช่นเดียวกัน”

การมีข้อกำหนดไว้เช่นนี้ อาจจะทำให้การขอสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยทำได้ไม่ง่ายนัก แม้ว่าจะมีองค์ประกอบต่างๆ เป็นข้อสนับสนุนอยู่ และหากจะมีการคัดค้านโดยยกข้อจำกัดคุณสมบัติเช่นนี้ขึ้นมาก็เชื่อว่า เอ็นจีโอ ในค่ายประเทศนั่นแหละ ที่จะเป็นคนดำเนินการขัดขวางการขอสถานภาพผู้ลี้ภัย

คงจะจำกันได้ว่า คำพูด-ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ...นั้น

เกิดขึ้นมาเพราะมีข่าวว่า เอ็นจีโอในต่างประเทศได้ร้องขอให้องค์การสหประชาชาติ เข้ามาดำเนินการสอบสวนหาความจริงเกี่ยวกับเรื่องการปราบปรามยาเสพติดแบบ “ฆ่าตัดตอน” โดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมในไทย และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ผู้รับเรื่องได้ให้ความสนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ และเกิดปฏิกิริยาขึ้นอย่างก้าวร้าวว่า-ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ...ดังกล่าว

น่าเชื่อว่าทาง OHCHR คงไม่สนใจว่าใครจะเป็นพ่อใคร หรือใครจะเป็นลูกใคร การติดตามสอบสวนก็คงมีอยู่, ทั้งนี้ OHCHR และ UNHCR ต่างก็อยู่ร่วมสายงานเดียวกันของระบบงานสหประชาชาติ คือขึ้นอยู่กับสมัชชาใหญ่ และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังมีสถาบันวิจัยอาชญากรรมและความยุติธรรมระหว่างภูมิภาคของสหประชาชาติ (UNIDIR) อยู่ในสายงานเดียวกันด้วยอีกองค์กรหนึ่ง

ไม่ว่าจะไม่เป็นพ่อเป็นลูกหรือเป็นญาติอะไรกัน การพิจารณาสถานภาพของผู้ลี้ภัยก็คงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ โดยมีมนุษยธรรมเป็นที่ตั้ง เพียงแต่จะเป็นผู้ลี้ภัยในฐานะใด ซึ่งมีการแบ่งเป็น 2 ฐานะ คือ ผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญา (CONVENTION REFUGEES) คือผู้ลี้ภัยที่ได้รับการยอมรับเป็นผู้ลี้ภัย โดยรัฐที่เป็นภาคีของสนธิสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เช่น อังกฤษซึ่งเป็นภาคีของสนธิสัญญานี้ด้วย และอีกฐานะหนึ่งคือ ผู้ลี้ภัยภายใต้อาณัติ (MANDATE REFUGEES) คือผู้ลี้ภัยภายใต้อำนาจหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ที่จะต้องหารัฐสำหรับให้เป็นที่พำนักของผู้ลี้ภัย และดูแลความเป็นอยู่ให้ด้วย ที่ถือเป็นบุคคลในความดูแลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (PRESONS OF CONCERN TO UNHCR) ทั้งสองฐานะที่จะได้รับการให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL PROTECTION) และตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน มาตรา 14 (ทวิ 1) ที่ว่า ทุกคนมีสิทธิแสวงหาและที่จะได้อาศัยพำนักในประเทศอื่น เพื่อลี้ภัยจากการประหัตประหาร มีชีวิตอย่างปลอดภัยในสถานที่ลี้ภัย (ASYLUM) อีกทั้งต้องไม่ถูกผลักดันกลับ (REFOULEMENT) อย่างแน่นอน เพราะมีข้อห้ามระบุไว้ในมาตรา 33 ของสนธิสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย และถือว่าเป็นกฎหมายธรรมเนียมปฏิบัติระหว่างประเทศ ที่จะไม่มีการขับไล่ เนรเทศ การส่งข้ามแดน การสกัดกั้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดๆ ที่จะทำให้ชีวิตและอิสรภาพของผู้ลี้ภัยเป็นอันตราย จนกว่าผู้นั้นจะสมัครใจกลับ และต้องเป็นการกลับอย่างปลอดภัย (SAFE RETURN)

สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อาคารสหประชาชาติ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ 10200 โทร. (66-2) 288-1851 โทรสาร (66-2) 280-0555 ซึ่งตั้งอยู่ติดกับกองบัญชาการกองทัพบกที่เป็นเป้าหมายของการก่อความเคลื่อนไหวทางการเมือง และพยายามที่จะให้เกิดภาวะเหตุการณ์รุนแรงถึงระดับเป็นอันตรายมี “การประหัตประหาร” เกิดขึ้นนั่นแหละ

เพราะเหตุการณ์รุนแรง ความเคลื่อนไหวทางการเมือง การประหัตประหารเป็นเหตุให้มีคุณสมบัติรับสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยได้อย่างสมเหตุสมผล ซึ่งขณะนี้ น่าจะมีฐานะของผู้ขอให้ได้รับที่ปลอดภัยชั่วคราว (TEMPORARY REFUGEE) อยู่แล้วที่ UNHCR ให้คำจำกัดความในลักษณะนี้ว่า...การให้ความคุ้มครองที่ประเทศเจ้าบ้านมอบให้ในช่วงเวลาจำกัด แต่ไม่กำหนดเวลา การให้ที่ปลอดภัยชั่วครามนี้ ต้องยึดในหลักการไม่มีการผลักดันกลับประเทศ ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน รอการแก้ไขปัญหาอย่างถาวร (DURABLE SOLUTIONS) คือตอนนี้ก็อยู่ในขั้นตอนของการเป็นผู้ลี้ภัยไปค่อนตัวแล้ว เพียงแต่ว่า UNHCR ยังไม่ได้ให้สถานะอย่างสมบูรณ์เท่านั้น...ขอให้โชคดี..คิดอะไรก็ขอให้สมความปรารถนาเทอญ
กำลังโหลดความคิดเห็น