xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว-ระงับปลด"โกวิท"ตั้ง"เสรีพิศุทธ์"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลางสั่งทุเลาการใช้คำสั่งย้าย"โกวิท"นั่งที่ปรึกษานายกฯ-ขั้นตอนนำชื่อโปรดเกล้าฯ ปลด"โกวิท"แต่งตั้ง"เสรีพิศุทธ์"จนกว่าคดีมีคำพิพากษาหลัง "โกวิท" ดิ้นสู้ฟ้อง “นายก ฯ” กล่าวหาย้ายไม่เป็นธรรม ศาลยกเหตุหากให้คำสั่งมีผลบังคับใช้ต่อไปน่าจะทำให้เกิดความเสียหายยากแก่การเยียวยาแก้ไข
 
วานนี้ ( 20 มิ.ย.) ที่ศาลปกครองกลาง ถ.สาทรใต้ นายอดุล จันทรศักดิ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง และเจ้าของสำนวน คดีดำที่ 1183/2550 มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวคดีที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ช่วยราชการ
 
สำนักนายกรัฐมนตรี ยื่นฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในความผิดเรื่อง เป็นเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 122/2550 ลงวันที่ 22 เม.ย.50 แต่งตั้ง พล.ต.อ.โกวิท ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี
 
โดยศาลพิจารณา พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 11 (4) ที่ให้นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการที่สังกัด กระทรวง ทบวง กรม มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรีโดยจะให้ข้าราชการดังกล่าว ขาดจากอัตราเงินเดือนของต้นสังกัดเดิมหรือไม่ก็ได้ คดีนี้ ผู้ถูกฟ้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติดังกล่าว มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 25/2550 ลงวันที่ 5 ก.พ.50 ให้ผู้ฟ้องมาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยให้ได้รับเงินเดือนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ซึ่งเป็นต้นสังกัดเดิมไปก่อนแล้วให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ปรึกษา สบ.10 รักษาราชการแทนในตำแหน่ง ผบ.ตร.
 
แต่ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 122/2550 ลงวันที่ 22 เม.ย.50 ที่ผู้ถูกฟ้อง ได้อาศัยอำนาจตามาตรา 11 (5) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ฯ แต่งตั้งผู้ฟ้องไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ระดับ 11 สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรีนั้น กลับปรากฎว่า มาตรา 11 (5) บัญญัติให้ นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีอำนาจสั่งให้ข้าราชการที่สังกัด กระทรวง ทบวง กรมหนึ่ง ไปดำรงตำแหน่งอีกกระทรวง ทบวง กรมหนึ่งโดยให้ได้รับเงินเดือนจากกระทรวง ทบวง กรมเดิม แต่ถ้าเป็นการแต่งตั้งตำแหน่งอธิบดี หรือเทียบเท่า ต้องให้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ( ครม.)
 
ข้อเท็จจริงยังรับฟังได้อีกว่า ผู้ถูกฟ้องลงนามในคำสั่งแต่งตั้งผู้ฟ้องตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 122/2550 ลงวันที่ 22 เม.ย.50 แล้วต่อมาจึงได้มีการเสนอเรื่องต่อ ครม.เมื่อวันที่ 24 เม.ย.50 อันเป็นการออกคำสั่งก่อนได้รับอนุมัติจาก ครม. ดังนั้นจึงอาจเป็นการกระทำที่ข้ามขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญที่บัญญัติไว้ในมาตรา 11 (5) พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ ที่เป็นบทบัญญัติอันเป็นฐานอำนาจในการออกคำสั่งดังกล่าว
 
ซึ่งกรณีดังกล่าวเห็นได้ว่าคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 122/2550 น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากให้คำสั่งมีผลบังคับใช้ต่อไปน่าจะทำให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลังได้ เพราะปรากฎข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เคยเสนอเรื่องไปยังราชเลขาธิการเพื่อให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. และแต่งตั้งไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งรักษาการ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร แล้ว
 
ดังนั้นศาลจึงมีคำสั่งให้ระงับการบังคับตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 122/2550 ลงวันที่ 22 เม.ย.50 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยคำสั่งของศาลดังกล่าว ยังมีผลให้ผู้ถูกฟ้องไม่อาจดำเนินการใดๆ เพื่อให้เป็นไปตามผลของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีนั้นด้วย ทั้งในเรื่องการนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงโปรดเกล้าฯ ให้พ้นจากตำแหน่ง ผบ.ตร. และแต่งตั้งไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฯ และแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ซึ่งรักษาการ ผบ.ตร. ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร ด้วย
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ศาลปกครองกลาง จะมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าว แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้ถูกฟ้อง ยังสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด คัดค้านคำสั่งศาลปกครองกลางดังกล่าวได้อีกภายในกำหนดเวลา 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น