xs
xsm
sm
md
lg

Carry Trade : ตัวการทำตลาดอัตราแลกเปลี่ยนผันผวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินผลแนวโน้มและผลกระทบจากการทำ Carry Trade ว่า Carry Trade เป็นธุรกรรมที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเก็งกำไรค่าเงินจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ลงทุน โดยใช้สกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำเป็นสกุลเงินระดมทุน (Funding Currency) เพื่อนำไปลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารการเงินที่อยู่ในรูปของสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า และเมื่อครบกำหนดการลงทุนจึงค่อยแลกเงินกลับเป็นสกุลเงินระดมทุนเพื่อจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ย โดยผลประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับคือ ผลตอบแทนจากการลงทุน รวมกับการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนหากค่าของสกุลเงินระดมทุนปรับตัวในทิศทางที่อ่อนค่าลง ธุรกรรม Carry Trade เป็นที่นิยมมากในตลาดการเงินโลกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากภายใต้สภาวะที่สภาพคล่องของตลาดการเงินโลกอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความผันผวนอยู่ในระดับต่ำ ตลอดจนพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงมากขึ้นของนักลงทุน ทำให้ธุรกรรม Carry Trade สามารถดำรงอยู่ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในการทำธุรกรรม Carry Trade ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาก็คือ นักลงทุนใช้ประโยชน์จากเงินทุนสกุลเงินเยนซึ่งอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นอยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศที่ธนาคารกลางอยู่ในวัฏจักรการคุมเข้มนโยบายการเงินไปลงทุนในตลาดการเงินหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดหุ้น

และเมื่อพฤติกรรมนี้ถูกทำกันอย่างแพร่หลาย ผลที่เกิดขึ้นก็คือการอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องของเงินเยน ดังจะเห็นได้จากดัชนีค่าเงินเยนที่แท้จริงที่ร่วงลงถึง 23.5% นับจากต้นปี 2547 ในขณะที่ เงินเยนอ่อนค่าลงทำสถิติต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เทียบกับเงินยูโรที่ระดับ 164.59 เยนต่อยูโรเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2550 และต่ำสุดในรอบ 4 ปีครึ่งเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ ที่ระดับ 123.13 เยนต่อดอลลาร์ฯ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 นอกจากนี้ เงินเยนยังทำสถิติต่ำสุดในรอบ 17 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ ต่ำสุดในรอบ 15 ปีเทียบกับเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย เงินปอนด์ และเงินดอลลาร์แคนาดา และต่ำสุดในรอบ 9 ปีครึ่งเทียบกับเงินวอนอีกด้วย.

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่ตลาดการเงินหันกลับมาระมัดระวังความเสี่ยง โดยการระบายการถือครองสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ก็จะทำให้มีการระบายธุรกรรม Carry Trade (Unwinding of Carry Trade) ด้วยการเทขายสินทรัพย์ที่อยู่ในรูปสกุลเงินที่ให้ผลตอบแทนสูง แล้วทำการซื้อคืนสกุลเงินระดมทุน (เช่น เงินเยน) เพื่อชำระคืนหนี้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้ ดังเช่น ความผันผวนในช่วงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 และช่วงกลางเดือนพฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ เมื่อความสำเร็จของการทำ Carry Trade เพื่อเก็งกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสกุลเงินที่เป็นเป้าหมายจะต้องไม่อ่อนค่าลงอย่างมาก หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสกุลเงินระดมทุนจะต้องไม่กลับไปแข็งค่าขึ้นแล้ว ดังนั้น ปัจจัยที่ควรจับตาเป็นพิเศษในระยะถัดไปก็คือ การเข้าแทรกแซงของหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการปริวรรตเงินตราต่างประเทศ โดยธนาคารกลางของประเทศที่มีความได้เปรียบด้านอัตราดอกเบี้ย อาจมีความกังวลต่อการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องของสกุลเงินในประเทศที่ไม่ได้เป็นไปตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุนอาจมีความกังวลเช่นกัน หากสกุลเงินของประเทศปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการทำธุรกรรม Carry Trade ซึ่งเมื่อธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นเป้าหมายของการทำ Carry Trade เข้าแทรกแซงด้วยการซื้อเงินดอลลาร์ฯ ในขณะที่ ธนาคารกลางของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้เป็นสกุลเงินระดมทุนเข้าแทรกแซงด้วยการขายเงินดอลลาร์ฯ ก็จะทำให้เงื่อนไขของการทำ Carry Trade ให้มีกำไรพบกับอุปสรรค ก็อาจทำให้เกิดการปรับฐานของธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงตามมาได้

รวมถึง การปรับฐานอย่างรุนแรงของตลาดการเงินโลก ความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ซึ่งทำให้เกิดการระบายธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงนั้น ทำให้นักลงทุนทั่วโลกมีความระมัดระวังการถือครองสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น และเมื่อประกอบกับถ้อยแถลงของนายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2550 ที่ผ่านมาว่า ภาวะเฟื่องฟูของตลาดหุ้นจีนในระยะนี้ไม่มีความยั่งยืน และจะมีการหดตัวหรือปรับฐานครั้งใหญ่ในอนาคต ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนเริ่มประเมินความเสี่ยงใหม่อีกครั้ง และหากมีแนวโน้มว่าการปรับฐานระลอกใหม่ของตลาดการเงินโลกกำลังจะเกิดขึ้น การระบายธุรกรรม Carry Trade อย่างรุนแรงก็มีโอกาสเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

และท้ายสุดแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศที่สกุลเงินถูกใช้ระดมทุน ซึ่งตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ ญี่ปุ่น หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างชัดเจน และต่อเนื่องก็อาจทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน และเมื่อต้นทุนของสกุลเงินที่ใช้ระดมทุนปรับเพิ่มสูงขึ้นก็อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการระบายธุรกรรม Carry Trade และจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของญี่ปุ่นสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มส่งสัญญาณของการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นได้จากการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าสหรัฐฯ และยูโรโซนเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน

สำหรับผลกระทบต่อไทยหากมีการปรับฐานของธุรกรรม Carry Trade นั้น หากนักลงทุนทำการระบายธุรกรรม Carry Trade ผลที่เกิดขึ้นต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนก็คือ การปรับตัวกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินเยน ซึ่งในเบื้องต้นก็อาจทำให้สกุลเงินในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นตาม แต่อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าของเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และเงินบาทอาจเป็นไปในอัตราที่น้อยกว่าการแข็งค่าของเงินเยน ดังตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่เงินเยนแข็งค่าขึ้นถึง 2.2% แต่เงินในภูมิภาคค่อนข้างทรงตัว ขณะที่เงินบาทในวันนั้นแข็งค่าขึ้นเพียง 0.3% เท่านั้น ดังนั้นผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทตามทิศทางของเงินเยนที่ถูกซื้อคืนจากการปรับฐานธุรกรรม Carry Trade อาจมีจำกัด

ขณะที่ผลทางด้านบวกนั้นอาจมีมากกว่า หากการระบายธุรกรรม Carry Trade มีเหตุผลเบื้องหลังมาจากการฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ทั้งในด้านการบริโภค และการลงทุน โดยที่อัตราเงินเฟ้อในประเทศค่อยๆปรับเพิ่มขึ้น และหนุนให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายถูกปรับเพิ่มขึ้นมา เนื่องจากการปรับฐานดังกล่าวอาจเป็นจุดเริ่มต้นระลอกใหม่ของกระแสเงินลงทุนโดยตรงจากญี่ปุ่นสู่ประเทศในแถบเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้ไทย และประเทศในภูมิภาคเอเชียได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในครั้งนี้

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น