ในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” กลางสัปดาห์ที่แล้ว ฝ่ายข้อมูลของ ASTV - NEWS 1 มีอุตสาหะมากที่สามารถหาวีซีดีหนังไทยเก่าเรื่องหนึ่งเมื่อเกือบ 10 ปีที่มาเป็นภาพประกอบได้ แถมยังอดทนดูแล้วดูอีกจนเลือกตัดได้เฉพาะ “ช็อตเด็ด” ที่ผมบอกไปกว้าง ๆ ได้อย่างเหมาะเจาะ
“14 ตุลา : สงครามประชาชน”
เป็นหนังไทยที่แสดงการต่อสู้ทางความคิดภายในขบวนนักศึกษาระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 – 6 ตุลา คม 2519 และการต่อสู้ด้านแนวทางภายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และภายในขบวนคอมมิวนิสต์สากล สร้างโดยไฟว์สตาร์โปรดัคชั่นส์ ร่วมกับบีอีซีเทโร กำกับการแสดงโดยบัณฑิต ฤทธิ์ถกล และที่สำคัญมากที่สุดคือเขียนบทโดยดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ผู้นำนักศึกษาคนสำคัญในยุคนั้น
ในมุมมองของผมที่อาจจะไม่ตรงกับคนอื่น เห็นว่าบทภาพยนตร์มีความคมและลึกมาก
ช็อตต่อช็อต ประโยคต่อประโยค บอกเล่า “เนื้อหา” และ “ความหมาย” มากกว่าที่จะผ่านเลยไปง่าย
จนพอจะกล่าวได้ว่าแทบไม่มีประโยคใดใส่เข้ามาโดยไม่มีจุดประสงค์จะบอกเล่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลย
นี่เป็นเหตุที่เมื่อผมจะกล่าวถึงความขัดแย้งทางความคิดในหมู่ซ้ายไทยหรือคอมมิวนิสต์ไทย ทั้งในอดีต และในปัจจุบัน โดยเฉพาะเมื่อจะกล่าวถึงนพ.เหวง โตจิราการ อดนึกถึงหนังเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะบทภาพยนตร์บอกเล่าถึงประเด็นเหล่านี้ไว้ครบถ้วน
• อิทธิพลแนวคิด “ซ้ายจัด” หรือภาษาคอมมิวนิสต์เขาเรียกว่า “ลัทธิฉวยโอกาสเอียงซ้าย” ที่เข้ามาครอบงำฝ่ายนำในขบวนนักศึกษาก่อน 6 ตุลาคม 2519
• พรรคคอมมิวนิสต์ไทยขึ้นต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีน
• ความขัดแย้งภายในขบวนคอมมิวนิสต์สากล
• การที่จีนขายการปฏิวัติไทยให้แก่รัฐบาลไทยยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ แลกกับการสนับสนุนเขมรแดงและต่อต้านเวียดนาม
และหากจะเพิ่มอีกสักหนึ่งก็เห็นจะเป็น….
• สภาพทั่วไปของขบวนนักศึกษาก่อน 14 ตุลาคม 2516 และความแตก ต่างทางความคิดระหว่างนักเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับมหาวิทยาลัยอื่น
บทภาพยนตร์แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า “อิทธิพลแนวคิดซ้ายจัด” ที่เข้ามาครอบงำฝ่ายนำในขบวนนักศึกษาก่อน 6 ตุลาคม 2519 หลายตอน
แต่ที่เด่นชัดจะผ่านการโต้แย้งทางความคิดระหว่างตัวละครที่แสดงเป็น “เสกสรรค์ ประเสริฐกุล” (ภาณุ สุวรรณโณ – ผู้แสดง) กับตัวละครที่แสดงเป็น “ฝ่ายนำขบวนนักศึกษาคนหนึ่ง” (จำไม่ได้ว่าใครแสดง) ระหว่างการประท้วงที่หน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกา ถนนวิทยุ เข้าใจว่าจะเป็นกรณีเรือมายาเกซ ที่แสดงให้เห็นว่าแนวทางของขบวนนักศึกษาเป็นการโดดเดี่ยวตัวเอง
แนวคิดซ้ายจัด ณ ที่นี้มาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งรับต่อมาจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนอีกต่อหนึ่ง เป็นแนวคิดของกลุ่ม “แก๊ง 4 คน” นำโดยนางเจียงชิง ภรรยาเหมาเจ๋อตง
แนวคิดซ้ายจัดนี้มีมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนที่เป็นผลให้มีการเข่นฆ่าทำลายล้างชีวิตผู้คนไปไม่น้อยในนามของการปฏิวัติและการดัดแปลงหล่อหลอมตนเอง
โดยเฉพาะเมื่อพอลพตรับไปปฏิบัติในกัมพูชาระหว่างปี 2518 – 2522
แนวคิดนี้เริ่มหมดบทบาทไปในวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1976 เมื่อแก๊ง 4 คนถูกโค่นล้ม และเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง
ซึ่งบังเอิญตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ในบ้านเราพอดี !!
บทภาพยนตร์บอกเล่าวันสำคัญนี้ไว้ด้วยถ้าสังเกตให้ดี เพราะเป็นวันเดียวกันกับการเข่นฆ่านักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่เป็นวันที่ตัวละครเอกในเรื่อง (เสกสรรค์ – จิระนันท์) เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในป่าแล้ว
การชำระประวัติศาสตร์เหตุการณ์ในอดีตน่าจะรวมประเด็น “แนวคิดซ้ายจัด” ในขบวนด้วย !
แน่นอนว่าคนลงมือเข่นฆ่าเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และมวลชนจัดตั้งของรัฐ ที่ตกอยู่ภายใต้การนำของ “อิทธิพลขวาจัด” แต่อย่าปฏิเสธนะว่า “อิทธิพลซ้ายจัด” ในขณะนั้นไม่ได้มีส่วนร่วมเกื้อหนุนในทางอ้อม
ขวาจัดได้รัฐประหาร ซ้ายจัดได้สถานการณ์ที่ทำให้ปัญญาชน “เข้าป่า” ไปหลายพันคน
ถ้าสามารถมี “เชิงอรรถ” อรรถาธิบายตาม ทำเป็น “คู่มือชมภาพยนตร์” ทำนองเดียวกับที่ “สุริโยไท” เคยทำ บทภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นงานประวัติศาสตร์ชั้นดี เพราะการที่จะเข้าใจแนวคิดซ้ายจัดที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วงนั้น ก็ต้องมีพื้นฐานความเป็นมาและความขัดแย้งภายในขบวนคอมมิวนิสต์สากล และการก่อกำเนิดพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ตามสมควรด้วย อันจะเป็นประเด็นต่อเนื่องให้เข้าใจว่าเหตุไฉนจีนจึงเห็นเวียดนามเป็นศัตรูร้ายแรง ถึงขนาดยอมมาคบหาสมาคมกับรัฐบาลไทย และยอมปิดสถานีวิทยุเสียงประชาชนไทยที่ตั้งอยู่ในเมืองคุนหมิง
เพราะบทกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เกาะกุมอยู่กับประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นหลัก
แม้ไม่มีพื้นฐานเลยจะไม่ถึงกับทำให้ดูหนังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามีพื้นฐาน จะดูสนุกและได้อรรถรสมากกว่า
บทภาพยนตร์มีความโดดเด่นตรงที่ใช้ฉากเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่ “เสกสรรค์ ประ เสริฐกุล” ถูกกดดันและถูกกล่าวหาต่าง ๆ นานาในช่วงเย็นจนถึงดึกวันที่ 13 ต่อเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์ก่อนเข้าป่าที่ถูกคุกคามเอาชีวิต สลับกับฉากต่อสู้ทางความคิดกับฝ่ายนำของพรรคคอมมิวนิสต์ในป่า และจบลงที่แม้ผ่านการตัดสินใจต่อสู้อีกครั้งหนึ่งแล้ว สถานการณ์ก็ไม่เป็นใจ และลงเอยด้วยการตัดสินใจพื้นฐานที่สุดของมนุษย์คนหนึ่ง…
คือ กลับบ้าน !
กลับบ้านด้วยหัวใจที่อ่อนล้า !!
หนังเรื่องนี้ก่อให้เกิดวิวาทะระหว่าง “คนเดือนตุลา” พอควรในช่วงหนังออกฉายที่ผ่านมา ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลถูกวิพากษ์วิจารณ์หลายประเด็น
โดยเฉพาะประเด็นสะท้อนภาพด้านลบของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย
ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุลบอกว่าหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อเดิมว่า “คนล่าจันทร์” เป็นเรื่องชีวิตของท่าน มุมมองของท่าน ไม่ใช่ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ ก่อนเริ่มต้นเรื่องก็บ่งบอกไว้ด้วยประโยค “ในชะตากรรมของประเทศ มีชะตากรรมของบุคคล” แต่ถูกเปลี่ยนชื่อด้วยเหตุผลทางการตลาด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ หลังออกอากาศในรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” ไป หลายคนติดต่อเข้ามาขอดูวีซีดีจากผม โดยเฉพาะผู้ใหญ่ระดับพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะไปหามาจากที่ไหนให้ชมกัน ไม่รู้ว่าตามร้านขายวีซีดีจะยังมีอยู่หรือเปล่า ถ้ามี ลองติดต่อเข้ามาจะช่วยประชาสัมพันธ์ให้
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม “14 ตุลา : สงครามประชาชน” ถือเป็นหนังเก่าที่ควรหามาดูเรื่องหนึ่ง