xs
xsm
sm
md
lg

เกมเกาเหลาใน ครม.

เผยแพร่:   โดย: สุวัฒน์ ทองธนากุล

เกิดปรากฏการณ์ท้าทายภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในการบริหารความขัดแย้งในคณะรัฐมนตรี

การที่ร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน ที่เสนอโดย คุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ถูกขวางในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีโดย คุณอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเมื่อสัปดาห์ก่อน เป็นเรื่องไม่ธรรมดาแน่

เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ขอให้กระทรวงคู่กรณีที่มีความเห็นไม่ตรงกันเอากลับไปคุยกันแล้วค่อยเอาเข้าที่ประชุมใหม่ หรือแม้แต่การขอให้คุณวิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นรองประธานคณะกรรมการกลั่นกรองไปช่วยไกล่เกลี่ย

รัฐมนตรีมหาดไทยยังตั้งท่าไม่ยอม บอกนักข่าวแบบไม่ไว้หน้าว่า ไม่ขอร่วมไกล่เกลี่ยด้วย

เพราะนี่เป็นเรื่องจุดยืนอำนาจตามสไตล์คนมหาดไทยที่ยังยึดแนว “ปกครอง” มากกว่า “บริหาร”

ส่วนหลัก “การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ในการพัฒนาท้องถิ่นตามที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ ก็คงเป็นแค่ภาษาดอกไม้ ที่ฟังดูดี แต่ยังไม่มีกลไกสนับสนุนให้เกิดผลเป็นจริง

ขณะที่คุณไพบูลย์ แม้เป็นคนสุภาพนุ่มนวล และมีแนวสมานฉันท์ ก็ยังเห็นว่า นี่เป็นเรื่องหลักการ วันรุ่งขึ้นจึงมีข่าวว่าถ้าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ผ่านครม. ก็จะขอลาออก

น.พ. พลเดช ปิ่นประทีป รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพัฒนาสังคม ก็พร้อมยกกระเป๋าตามไปด้วย โดยบอกว่า

“ร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นถือเป็นปัจจัยสำคัญอันดับหนึ่งของยุทธศาสตร์การทำงานของกระทรวง เมื่อกฎหมายดังกล่าวไม่ผ่านการพิจาณา มันก็ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม”

ถามว่าทำไม คุณไพบูลย์ กับคุณหมอพลเดช จึงเห็นว่า การผ่านร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน มีความสำคัญถึงขนาดเอาตำแหน่งเป็นเดิมพันกันทีเดียว

ผมได้ลองศึกษาข้อมูลแวดล้อมและตัวร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ดูแล้ว ก็เห็นด้วยว่ามีความหมายและน่าจะเป็นผลงานชิ้นเด่นของรัฐบาลนี้ที่จะมีกฎหมายดีๆ เสนอผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

รัฐมนตรีหลายกระทรวงที่ถูกสังคมประเมินว่าเหมือนใช้ “เกียร์ว่าง” หรือทำงานเหมือนเป็นแค่ปลัดกระทรวง แต่ขาดการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ และพยายามผลักดันให้สำเร็จ

นี่เป็นตัวอย่างเนื่องจากรัฐบาลแถลงนโยบายด้านสังคมต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ว่าจะปฏิรูปสังคมให้เป็น “สังคมอยู่เย็นเป็นสุขอย่างสมานฉันท์” สภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องทำให้ยุทธศาสตร์ของกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เกิดเป็นจริง ซึ่งได้แก่

1. สังคมไม่ทอดทิ้งกัน

2. สังคมเข้มแข็ง

3. สังคมคุณธรรม

การสนับสนุนให้มีองค์กรชุมชนของแต่ละท้องถิ่นจึงเป็นรากฐานที่สำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและท้องถิ่นที่ยั่งยืน เพียงแต่ต้องส่งเสริมการรับรู้ข่าวสาร ให้มีปัญญา ใฝ่คุณธรรม และรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม

นายกรัฐมนตรีจึงต้องชี้นำคณะรัฐมนตรีให้มุ่งไปสู่ “การปฏิรูป” ในทุกด้านตามพันธกิจ ที่เข้ามารับตำแหน่งในยุคการเปลี่ยนผ่านขณะนี้

โดยเรื่องนี้ในปัจจุบันก็มีการรวมตัวเป็นองค์กรชุมชนหลายหมื่นแห่งที่มีอยู่ทั่วประเทศ เมื่อมีกฎหมายรองรับก็จะเป็นการจัดระเบียบในทางสร้างสรรค์

สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ระดับล่างจะมี “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นตำบล” ซึ่งร่างกฎหมายระบุว่าให้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของราษฎรในตำบล และต้องมีองค์กรชุมชนจากหมู่บ้านในตำบล ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของหมู่บ้านทั้งตำบลเป็นเงื่อนไขการจัดตั้ง

สมาชิกสภาฯ ก็จะมาจากตัวแทนองค์กรในหมู่บ้านเลือกกันเองจากที่ประชุมใหญ่ในหมู่บ้านตามจำนวนที่เหมาะสม และมีสมาชิกสภาฯ ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยสรรหาจำนวนไม่เกิน 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด

ต่อมาก็เป็น “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นจังหวัด” จะเกิดขึ้นต้องมีสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นระดับตำบลไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของตำบลในจังหวัดนั้น

พอถึงระดับ “สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นแห่งชาติ” จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นระดับจังหวัด ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจังหวัดทั่วประเทศ

ร่างกฎหมายกำหนดถ่วงดุลกรณีมีการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและสวัสดิภาพของประชาชน หรือมีการใช้อำนาจไปสร้างความเสียหายแก่สังคมและประเทศชาติ

สภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดมีอำนาจยุบระดับตำบล สภาองค์กรชุมชนระดับชาติมีอำนาจยุบระดับจังหวัด และถ้าระดับชาติทำผิดต้องใช้อำนาจคณะรัฐมนตรีสั่งยุบไดั

ถามว่าสภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ทำอะไรได้บ้าง ทำไมผู้นำกระทรวงมหาดไทยจึงออกโรงคัดค้าน โดยอ้างว่าจะเกิดความแตกแยกและเกรงขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ดูจากมติที่ประชุมร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งมีปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมวงด้วยก็ตกลงให้สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่นมีบทบาทดังนี้

1. เป็นสภาภูมิปัญญาทางสังคม (ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย) เป็นสภาคู่ขนานเพื่อช่วยเหลือหรือกระตุ้นให้องค์กรของรัฐซึ่งมีหน้าที่อยู่แล้วทำงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

2. มีส่วนร่วมในการกำนดแผนการพัฒนาท้องถิ่น แผนการพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจระดับประเทศ ตามขอบเขตของสภาองค์กรชุมชนแต่ละระดับ

ทั้งนี้มีอำนาจหน้าที่ เช่น สร้างสรรค์ชุมชนด้านการอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน เป็นต้น

ดูบทบาทหน้าที่แล้วก็เป็นลักษณะของสภาที่ปรึกษาในการเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งต้องมุ่งความถูกต้องและรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม แล้วมหาดไทยกลัวอะไร

นี่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชนซึ่งจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น