xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ “บรรหาร” เล่นบทพิพากษา “ทักษิณ”

เผยแพร่:   โดย: สปาย หมายเลขหก

ลายพระราชหัตถเลขาที่ 3/49 วันที่ 15 เมษายน รัตนโกสินทร์ศก 131 ความว่า

ถึง เจ้าพระยายมราช


ด้วยแต่ก่อนๆ มา การเก็บภาษีที่ดินและโรงร้าน กรมพระคลังข้างที่ยังไม่เคยได้เสียภาษีให้กับเจ้าพนักงานสรรพากรเลย บัดนี้ ฉันมาไตร่ตรองดู เห็นว่าทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหลายที่เป็นส่วนตัว ก็เท่ากับเป็นทรัพย์สมบัติของคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่เหตุใดฉันมาเอาเปรียบคนทั่วไป ซึ่งดูไม่เป็นการสมควรเลย ส่วนของๆ ผู้อื่นจะไปเก็บเอากับเขา ของๆ ตัวเองจะเกียจกันเอาไว้ เพราะคนธรรมดาทั่วไป ใครที่มีทรัพย์สมบัติเป็นที่ดินหรือโรงร้าน เมื่อถึงคราวที่เจ้าพนักงานจะเก็บภาษี เขาก็ต้องเสียให้กับเจ้าพนักงานตามส่วนมากแลน้อยของทรัพย์สินที่เขามีอยู่ ตัวฉันเอง ถ้านอกจากในทางราชการแล้ว ฉันก็ถืออยู่ว่า ฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง ทรัพย์สมบัติของฉันที่มีอยู่ก็นับว่าเป็นส่วนมาก ถ้ารัฐบาลจะแบ่งผลประโยชน์ของฉัน ที่ได้มาจากทรัพย์สมบัติทั้งหมดนั้นบ้าง ฉันมีความยินดีเต็มใจที่จะเฉลี่ยให้เป็นการอุดหนุนชาติและบ้านเมืองอย่างคนธรรมดาสามัญด้วยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขอให้เจ้าพระยายมราชเก็บภาษีในที่ดินและโรงร้าน ซึ่งนับว่าเป็นสมบัติส่วนตัวฉันเอง อย่างเช่นที่ได้เคยเก็บจากคนอื่นๆ ทั่วไปนั้น

รัตนโกสินทร์ศก 131 หรือพ.ศ. 2455

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชประสงค์ด้วยทรงยินดีและเต็มพระทัยที่จะให้มีการเก็บภาษีต่อทรัพย์สมบัติของพระองค์ ซึ่งมีการยกเว้นอยู่ เพราะถือเป็นพระราชทรัพย์ของพระมหากษัตริย์ “เพื่อเป็นการอุดหนุนชาติแลบ้านเมือง”

พ.ศ. 2548-พ.ศ. 2549

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัว ปฏิเสธการจ่ายภาษีซื้อขายหุ้น 7 หมื่น 3 พันล้านบาท และภาษีการโอนหุ้น ในขณะที่ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี

การอัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 6 ดังกล่าวข้างต้นมานี้ มิใช่เป็นการเปรียบเทียบ เพราะเป็นของสูงที่มิบังควร แต่ก็อยากจะให้เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่า พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พระองค์ทรงเป็นเจ้าชีวิต แต่พระองค์ไม่ทรงต้องการเอาเปรียบไพร่ฟ้า มีพระราชประสงค์จะให้เก็บภาษีทรัพย์สินของพระองค์ เช่น คนธรรมดาคนหนึ่ง เรียกว่าได้พระราชทานเงินภาษีอากรให้กับประเทศชาติ ซึ่งเงินภาษีก็ตกถึงประชาชนนั่นเอง ซึ่งเราก็เห็นในน้ำพระทัยนั้น รวมทั้งเห็นว่าพระองค์ทรงเป็นประชาธิปไตย

แล้วเราก็ได้เห็นน้ำใจและธาตุแท้ของคนธรรมดาคนหนึ่งพร้อมครอบครัว และยังเห็นกันไปเรื่อยๆ เท่าที่ คตส. ยังทำการสอบอยู่

เรื่องของภาษีอันเป็นการแสดงความรับผิดชอบ หรือเป็นการบ่งบอกธาตุแท้ของตัวเองต่อสังคมทั้งหลายนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองใดๆ ข้อกล่าวหาเรื่องการเสียภาษีถูกต้องหรือไม่นั้น เป็นข้อหาที่ยากจะมีคนเห็นใจโดยเฉพาะในยุโรป และสหรัฐอเมริกาที่ถือว่า เป็นการประกอบอาชญากรรมต่อสังคม

มีการพูดกันมากและดูเป็นจริงเป็นจังว่า โอกาสที่ “ทักษิณ” จะขอลี้ภัยการเมืองอยู่ในอังกฤษโดยเป็นการลี้ภัยทั้งครอบครัวนั้น มีโอกาสเป็นไปได้สูง จากการที่เห็นว่า บางอย่างมีการเตรียมการ และบางเรื่องกำลังดำเนินการ

การลี้ภัยการเมืองอยู่ในอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตย และอังกฤษเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ (พระราชินี) ทรงเป็นประมุขนั้น หากว่าเป็นความจริงทั้งสองอย่างคือ...หนึ่ง ลี้ภัยอย่างแน่นอน และสอง...ต้องเป็นประเทศอังกฤษ ก็จะไม่เป็นความสบายใจนัก สำหรับผู้เป็นเจ้าของบ้าน ที่จะมองตรงพื้นฐานอย่างลุ่มลึกถึงความเป็นมาของผู้ขอลี้ภัย หากพบว่ามีกรณีเรื่องการเสียภาษีเป็นเรื่องอื้อฉาวอยู่และเป็นคดีถึงโรงศาล ก็จะต้องมีการมองเรื่องนี้อย่างไม่เป็นการเมือง เพราะเรื่องของภาษีนั้นเป็นกฎเกณฑ์เสมอกัน จะผิดถูกอย่างไรก็สามารถพิสูจน์กันได้ไม่ยาก ไม่มีความซับซ้อน เพราะเป็นกฎเกณฑ์หน้าที่การปฏิบัติทางสังคมทั่วไป จะเป็นนักการเมืองหรือมิใช่นักการเมือง ก็อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ถ้าหากว่าใครปฏิบัติหรือหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานนี้แล้ว นอกจากจะเป็นการเอาเปรียบผู้อื่น แล้วยังสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีจิตใจที่เป็นประชาธิปไตย เพราะไม่ได้วางตัวเองให้เสมอภาคเหมือนคนอื่น เรื่องของภาษีจะสะท้อนให้เห็นความเป็นตัวตน และน่าจะเป็นคุณสมบัติที่ทางอังกฤษมีความเข้มงวดเป็นพิเศษ

ดังนั้น, เรื่องที่กำลังเป็นข่าวคราวน่าติดตามที่ว่า จะลี้ภัยการเมืองอยู่ที่อังกฤษนั้น หากว่าจะจบลงด้วยการเป็นเช่นนี้จริงๆ ก็ไม่น่าจะเป็นประเทศอังกฤษ

ถ้าหากว่าอังกฤษมีการพิจารณาแล้วปฏิเสธการขอลี้ภัยการเมือง ก็จะเป็นความเสียหายทับถมมากยิ่งขึ้น เพราะกรณีที่เกี่ยวกับภาษีนั้น ถือเป็นความผิดทางอาญา

สิ่งที่จะต้องมองไปข้างหน้า และจะมีผลมากระทบต่อการขอลี้ภัยการเมือง คือคดีที่ต้องขึ้นสู่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น น่าจะเป็นอุปสรรคอย่างใหญ่หลวง เพราะเป็น ศาลสูงสุด หรือ ศาลฎีกา และยังเป็น “คดีอาญา” เท่านั้นยังไม่พอ-ยังเป็น “คดีของนักการเมือง” ซึ่งน่าดูประหวั่นพรั่นพรึงต่อความรู้สึกของประเทศที่เป็นแม่บทของประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

คดีดังกล่าวนี้ เป็นที่สรุปได้ว่า ทางอัยการสูงสุดยื่นฟ้องได้ก่อน ศาลรับฟ้องไว้แล้วก็ดำเนินไปตามกระบวนพิจารณาความอาญา ถ้าหากไม่มีตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาศาล ก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะออกหมายจับ หรือการนำตัวมาศาลให้ได้ ถ้าหากอยู่ในต่างประเทศก็จะต้องขอให้ประเทศที่ปรากฏตัวอยู่นั้น ส่งตัวมาให้ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดน โดยในระหว่างที่ยังไม่ได้ตัวมาศาล ทางศาลก็จะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความเป็นการชั่วคราวภายในอายุความ 20 ปี

ในระหว่างที่ยังมิได้ส่งฟ้องต่อศาล ก็ยังเป็นโอกาสที่จะกลับเข้ามาเพื่อเตรียมสู้คดีหรือไปศาลพร้อมอัยการ แล้วขอศาลประกันตัวออกมา, แต่ถ้าหากเลยเวลานั้นไปแล้ว หากมีการออกหมายจับ ก็จะเป็นความเสียหายที่มีมากกว่าการไปขึ้นศาลเอง และการถูกออกหมายจับ โดยเฉพาะถ้าหากว่าเป็นผู้ร้ายข้ามแดน สิทธิของการขอลี้ภัยการเมืองก็จะหมดลง หรือจะเหลือน้อยเต็มที

มองกันในข้อสันนิษฐานเป็นเกณฑ์ เพราะไม่รู้ชัดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะเลือกทางออกในวิธีใด จะเลือกอย่างง่ายเมื่อยังมีความง่ายอยู่ หรือจะเลือกอย่างยากเมื่อหมดโอกาสพ้นความง่ายไปแล้ว โดยที่ทางเลือกง่ายๆ นั้น อาจจะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนธรรมดา แต่สำหรับคนอย่าง “ทักษิณ” ย่อมเห็นว่าทางเลือกง่ายๆ นั้นเป็นความยากลำบาก เป็นความคับแค้นสำหรับเขาเหลือเกิน เพราะช่วงเวลา 5 ปีที่เขาอยู่ในอำนาจนั้น ได้หล่อหลอมความรู้สึกว่า เขาเป็นคนพิเศษ จนควรได้รับการปฏิบัติอย่างพิเศษ คือ ไม่ต้องเสียภาษี

ขอให้ย้อนกลับไปดูย่อหน้าแรกของเรื่องที่อัญเชิญลายพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่พระองค์มีพระราชประสงค์จะเสียภาษีเช่นคนธรรมดา คือไม่เอาเปรียคนอื่นที่เสียภาษี และทรงมีพระราชประสงค์ช่วยเหลือประเทศชาติ


โดยสมมติฐานเช่นเดียวกันว่า “ทักษิณ” ไม่ต้องการลี้ภัยการเมือง เป็นผู้อาศัยแผ่นดินของใครอยู่แบบคนไร้แผ่นดิน แต่ต้องการจะกลับมาไทยเพื่อต่อสู้คดี แต่โอกาสไม่อำนวยให้เช่นนั้น แม้ว่าจะกลับมาเมื่อใดก็ได้ตามสิทธิของคนไทย แต่จะต้องแจ้งให้รัฐบาลและ คมช. ทราบล่วงหน้าก่อน เพราะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โดยทั่วไปซึ่งถือว่ายังไม่ปกติ ก็มีความหวั่นเกรงว่า “การปฏิบัติ” เมื่อก้าวแรกกลับมาแผ่นดินไทยนั้น, “การปฏิบัติ” ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น หรือวันนั้น คือถ้าหากมีการลุกฮือทั้งการ “ต้อนรับ” หรือ “ขับไล่” เกิดขึ้น รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ก็สามารถประกาศใช้ พระราชกำหนดการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ได้ทันที และมาตรการที่ว่านี้ที่มีอยู่ 19 มาตรา มีมาตรา 11 ที่น่าสนใจเป็นพิเศษ (โดยเฉพาะตัว พ.ต.ท.ทักษิณ) โดยเฉพาะมาตรา 11 (1) ที่ว่า “ประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมและควบคุมตัวบุคคลที่สงสัยว่าจะเป็นผู้ร่วมกระทำการให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือเป็นผู้ใช้ผู้โฆษณา ผู้สนับสนุน การกระทำเช่นว่านั้น...”

การกลับมาก็เสี่ยงต่อสิ่งที่ว่านี้ แม้ว่าจะเป็นเพียงข้อคิด แต่เป็นข้อคิดที่ห้ามกันไม่ได้

หรือจะประเมินสถานการณ์ ก็ยิ่งจะมองเห็นเป็นจริงเป็นจัง เพราะสถานการณ์มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น

กลับมาสู่การวิเคราะห์ประเด็นที่ว่า การขอลี้ภัยการเมืองน่าจะเป็นทางออก ที่คนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นทางออกสุดท้าย แต่ในวงในใกล้ชิด หรือแม้แต่ตัว “ทักษิณ” เอง อาจจะเลือกไว้เป็นทางเลือกแรกๆ ก็ได้

เพราะเรื่องคดีที่เกี่ยวกับภาษี อันเป็นคดีที่ทางยุโรปและสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อรังเกียจไว้กับผู้ที่มีปัญหาทางด้านนี้ไว้สูงมาก อาจจะทำให้มองเห็นว่า จะต้องใช้ปัจจัยทางการเมืองเข้ามาเป็นเครื่องนำทางและผลักดันไปพร้อมๆ กัน โดยถือเหตุนี้เป็นข้อเข้าสู่กฎเกณฑ์ให้มี “ฐานะ” เป็นผู้ลี้ภัยได้ คือให้เกิดการเคลื่อนไหวในทุกทาง มีเค้าว่าจะนำไปสู่การเผชิญหน้า ยั่วยุให้มีการใช้กำลังปราบปราม แม้ว่ามองเห็นอยู่ชัดเจนว่า-มิใช่เป็นการเอาชนะ เพราะชัยชนะมีค่าเป็นศูนย์ หรือลบศูนย์อยู่แล้ว และเมื่อ “บรรหาร ศิลปอาชา” ออกมาเล่นบทด้วย ก็ยิ่งทำให้เกิดการจนตรอก

สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏกันอยู่ในแนวร่วมต่อต้านเผด็จการ ซึ่งแกนใหญ่อยู่ที่ไทยรักไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็นการขับไล่ คมช. การต่อต้านที่ทำกันรุนแรง ก็เพื่อจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับเจ้านายของเขาในต่างประเทศเป็นการ “หาที่อยู่” ให้กับผู้นำของเขาในต่างแดนเสียมากกว่าต้องการให้กลับมาเมืองไทย เพราะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า ถ้าหากกลับไทยจะมีอะไรรออยู่ สภาพที่จะปรากฏในเมืองไทยถ้าหากว่าได้กลับมาอย่างปลอดภัย ก็เป็นสภาพที่ “ทักษิณ” กับครอบครัว จะยอมรับและทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ทั้งสิ้น โดยเฉพาะการเป็น “จำเลยในศาล” ที่เป็น คดีอาญา และอยู่ในการพิจารณาของศาลสูงสุดคือศาลฎีกาโดยคำพิพากษาถือเป็นที่สุด

ใครกำลังคิดอะไรและทำเพื่ออะไรต้องถาม “บรรหาร ศิลปอาชา” ผู้ได้เริ่มเข้าปะทะแล้วในการเปิดโปงเปิดเกมม็อบรับจ้างที่สนามหลวง โดยเป็นคำพูดที่มีน้ำหนักอย่างยิ่ง และหนักใจต่อ “ทักษิณ” ยิ่งนัก
กำลังโหลดความคิดเห็น