xs
xsm
sm
md
lg

America’s Cup (ปีนี้)

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทวณิช


ปีนี้จะเป็นปีของการแข่งขัน America’s Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันเรือใบหรือ Yacht Racing นานาชาติและระดับโลก

เรือประเภทนี้ปัจจุบันใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยมากแล้ว จะเบาหวิว เพราะมีส่วนประกอบทำจากพวกคาร์บอนไฟเบอร์ และเรือไม่ได้มีไว้เอาไว้แล่นเล่น แต่มันถูกสร้างและออกแบบมาเพื่อแข่งในอเมริกาคัพโดยเฉพาะก็ว่าได้

ว่ากันว่า การแข่งขันนั้นค่อนข้างเป็นไปอย่างเข้มข้น จริงจัง

ในการแข่งขันช่วงแรกๆ เรือทำด้วยไม้ซึ่งหนัก และก็ไม่คล่องตัว แต่ก็ดูจะทนทานดี และเวลานั้นผู้แข่งจะต้องข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยใช้ลูกเรือที่จำกัด เรือจะต้องได้คุณภาพที่จะคงทนต่อมหาสมุทร และสภาพอากาศพร้อมเผชิญคลื่นลูกใหญ่ๆ ได้

ซึ่งเรือสมัยนี้ที่ใช้แข่งกัน ทำไม่ได้แล้วครับ

อเมริกาคัพปีนี้จัดเป็นสมัยที่ 32 แล้ว โดยจะจัดที่เมืองวาเลนเซีย (Valencia) ในประเทศสเปน

“สิ่งที่วิเศษสุดของอเมริกาคัพที่ออกแบบมา ก็คือเป้าหมายหลักมีอย่างเดียวซึ่งก็หมายถึงความเร็วเท่านั้น อันรวมถึงการบังคับควบคุมเรือและให้เรืออยู่ในสภาพไว้ใจได้”

ที่ผมยกมานั้นก็มาจากข้อเขียนของนายฮัลซีย์ เฮอร์เรสฮอฟ เป็นทายาทของนาธานเนียล เฮอร์เรสฮอฟ ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของสมาคมเรือใบนิวยอร์กในศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้ชนะอเมริกาคัพรายแรกเสียด้วย

เชื่อหรือไม่ว่า กีฬาที่ว่าใช้เงินมาก และมีเงินทุ่มเข้ามาล้นเหลือนั้น

ยังไม่อาจเทียบได้กับเงินที่ให้กับอเมริกาคัพ

ทุกวันนี้การแข่งขันที่เข้มข้นทำให้เกิดการค้นพบวิธีออกแบบเรือและอุปกรณ์ใช้แข่งใหม่ๆ ซึ่งแม้กระทั่งคนที่เป็นลูกเรือซึ่งเข้าแข่งยังนึกไม่ถึงด้วยซ้ำไป

“เงิน” และ “นวัตกรรม” เป็นเรื่องใหญ่ตลอดกาล สำหรับอเมริกาคัพประวัติของการแข่งขันดึงเศรษฐีอย่าง เซอร์ธอมัส ลิปตัน, เซอร์ธอมัส ซอบวิธ,ฮาโรลด์ แวนเดอร์บิลท์, เทด เทอร์เนอร์ และบรรดามหาเศรษฐีอื่นๆ อีกมาก เช่นไม่นานมานี้ก็มี ลาร์รี่ เอลลิสัน และ เออร์เนสโต แบร์ตาเรลลี่

คนกลางจากออสเตรเลียคือ อลัน บอนด์ มีเงินมีการออกแบบและเทคโนโลยีเข้ามาสู่อเมริกาคัพ ทำให้สามารถดึงอเมริกาคัพมาจากอเมริกาได้เมื่อ 24 ปี ที่ผ่านมา

โดยหนึ่งในความสำเร็จมาจากเทคโนโลยีที่ดีกว่าของเรือ

เมื่ออเมริกาคัพเปลี่ยนมือ หลังจาก 132 ปี ที่อยู่กับ New York Yacht Club บรรดาสโมสรและประเทศต่างๆ ที่ร่วมการแข่งขันก็เติบโตขึ้น และเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและมีการส่งเสริมนวัตกรรมด้านเทคนิคเป็นการใหญ่

สวิตเซอร์แลนด์ใช้วิธีนี้ และประสบชัยชนะเหนือนิวซีแลนด์ ซึ่งครองอเมริกาคัพมานาน 5 ต่อ 0 โดยเรือชื่อ อลิงงี่ ในปี 2003 โดยแข่งกันที่อ่าวเมืองโอ๊คแลนด์ (ไม่ใช่อ๊อกแลนด์ ซึ่งมักเรียกหรือเขียนกันผิดๆ เสมอๆ)

ชัยชนะของพวกสวิสทำให้ต้องคิดใหม่ทำใหม่เกี่ยวกับการแข่งขัน ที่ผ่านมามักเป็นการแข่งแบบ serie ใช้ระบบหนึ่งต่อหนึ่งหรือตัวต่อตัว คือ ระหว่างผู้ชิง (ซึ่งเข้ารอบตัดเชือกมา) กับผู้ครองถ้วย

ปีนี้จะใช้เรือทุกลำแข่งรวมกันหมด โดยจะให้แต้มในแต่ละเที่ยวที่แข่ง

ถ้วยอเมริกาคัพรู้จักกันในชื่อ โอลด์มัก (Auld Mug) มีประวัติยาว

ปี 1851 ตอนที่อังกฤษเป็นจ้าวสมุทร ลอร์ดวิลตัน ผู้บังคับการของราชสโมสรรอยัลแยคท์ ที่ Cowes เชิญพวกอเมริกันมาแข่งในงานฤดูร้อน

ทาง Ny Yacht Club ก็เอาด้วย นำเรือยาว 90 ฟุต ชื่อเมริกามาแข่ง และทำลายสถิติแล่นข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โดยใช้เวลา 21 วัน ชนะเรืออังกฤษ 14 ลำ ซึ่งแข่งกันรอบเกาะไวท์ (Isle of Wight)

ราชินีวิคตอเรียขณะนั้นก็หันไปถามมหาดเล็กเวรยามว่า เรือใดเข้าที่สอง เวรยามกราบทูลว่า “ไม่มีเรือใดอยู่ที่สองพะยะค่ะ”

การกราบทูลสะท้อนว่า ไม่มีเรืออื่นๆ อยู่ในสายตาที่มองเห็นได้เลย สั้นๆ คืออเมริกาทิ้งห่างลิบตานั่นเอง

ทุกวันนี้ เซอร์ธอมัส ลิปตัน สนับสนุนเรือไม่ต่ำกว่า 5 ลำ เรือชื่อ แชมลอค III แพ้ปี 1903 โดยเรือรีไรแอนซ์ ซึ่งเป็นเรืออเมริกันที่สร้างใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีการแข่งอเมริกาคัพ ใช้ลูกเรือถึง 64 คน มีเนื้อที่ 1,500 ตร.เมตร แต่แชมลอค IV ก็ชนะใน 2 เที่ยว (ครั้ง) ในเวลาต่อมา

อเมริกาคัพได้ชื่อว่า เป็นกีฬามหาเศรษฐี

ผมได้รับโอกาสจากเพื่อนสนิทคือ คุณวิโรจน์ นวลแข และภรรยาพาไปกินอยู่ที่โอ๊คแลนด์ร่วม 2 อาทิตย์ไปดูอเมริกาคัพ ต้องซื้อรองเท้าทำในนิวซีแลนด์เพื่อเดินบนเรือโดยเฉพาะ ปีนั้นนิวซีแลนด์เสียแชมป์ให้สวิตเซอร์แลนด์ครับ

เป็นประสบการณ์ที่เหลือเชื่อ หลังจากเพื่อนคนนี้เคยพาผมบินไปมอนติคาโล ดูการแข่งรถ F1 กรังด์ปรีซ์ที่โมนาโคมาแล้ว

มีเพื่อนดีแบบนี้ต้องขอบคุณ และเขียนถึงแบบนี้ละครับ

กำลังโหลดความคิดเห็น