xs
xsm
sm
md
lg

หั่นงบ สบร. 450 ล้านลดฟุ่มเฟือย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานพิเศษ .....“ล้าง สบร.ซากเดนระบอบทักษิณ” ตอนที่ 3 (จบ)

บอร์ดสบร.คุมเข้มการใช้จ่ายเงิน ตัดงบผูกพันตามแผนงานและสัญญาร่วม 450 ล้าน ลดฟุ่มเฟือย วางกรอบสรรหาผู้บริหารใหม่ให้โปร่งใส ส่วนการดำเนินงานวางแผนถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชนท้องถิ่นควบคู่เพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ “ไกรศักดิ์” ชูบทบาทสบร.เป็นคลังสมองให้รัฐบาล เตรียมทำโครงการวิจัยเชิงนโยบายทั้งผลกระทบเอฟทีเอ- มลพิษมาบตาพุด ประมงพื้นบ้าน ถอดเป็นบทเรียนให้สังคมไทยเรียนรู้ร่วมกัน


การใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยแต่ผลงานไม่เข้าเป้า ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานเฉพาะ ในช่วงรัฐบาลทักษิณ จนกระทั่งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบ และส่งเรื่องให้ประธานกรรมการบริหารสบร. (บอร์ด สบร.) จัดการแก้ไข กระทั่งนำไปสู่การ ทบทวนคำสั่งเดิมของคณะกรรมการ สบร. ที่แต่งตั้งข้าราชการของสำนักงบประมาณเป็นคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและจัดทำงบประมาณ ซึ่งไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 47

พร้อมกันนั้น สตง. ยังให้ประธานบอร์ด สบร.พิจารณากลั่นกรองการจัดทำงบประมาณแต่ละปีของหน่วยงานต่างๆ ให้เหมาะสมโดยคำนึงถึงความเป็นและเร่งด่วนของภารกิจต่างๆ ที่ต้องทำให้เสร็จสิ้นภายในปีงบประมาณ เพื่อไม่ให้มีการของบประมาณมาไว้เป็นจำนวนมากๆ แล้วไม่สามารถดำเนินงานให้ครบทุกแผนงานภายในปีงบประมาณ และมีเงินคงเหลือจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2547 – 2549 มีเงินคงเหลือ ณ วันที่ 30 พ.ย. 49 เป็นเงินทั้งสิ้น 2,466.82 ล้านบาท

ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ประธานบอร์ด สบร. เปิดเผยว่า ภายหลังจากได้รับรายงานการตรวจสอบจาก สตง. ทางบอร์ด สบร. ได้ตั้งคณะทำงานศึกษาวิเคราะห์การดำเนินงานของ สบร. ช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา โดยมีดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ เป็นหัวหน้าโครงการ พบว่า ในด้านของงบประมาณและการเงินนั้น ช่วงปีงบประมาณ 2547 – 2549 มีการใช้จ่ายเงินงบประมาณไปเพียงร้อยละ 42.6 ของงบที่ได้รับจัดสรร ทำให้มีเงินเหลือผูกพันตามสัญญาและตามแผนข้ามปี การใช้จ่ายในอัตราที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เป็นเครื่องชี้ประการหนึ่งว่าความพร้อมและศักยภาพในการดำเนินการมีน้อยมาก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ได้รับการจัดสรรงบในปี 2550 ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังพบว่า หน่วยงานต่างๆ มีการใช้งบประมาณน้อยและในปี 2549 หน่วยงานส่วนใหญ่มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินงบประมาณลดลง ยกเว้น ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ฯ และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สำหรับ 3 หน่วยงานที่ใช้งบประมาณน้อยทุกปี คือ สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ และศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษฯ

ในการใช้จ่ายหากจำแนกตามประเภทค่าใช้จ่ายแต่ละปีงบประมาณ จากรายการค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้านระหว่างปีงบประมาณ 2547 – 2549 พบว่า งบด้านบุคลากร คิดเป็นร้อยละ 17.8 งบด้านบริหารจัดการ ร้อยละ 27 และงบดำเนินงานตามภารกิจ ร้อยละ 55.2

จากผลการศึกษาข้างต้น บอร์ด สบร. จึงตั้งคณะทำงานวิเคราะห์และทบทวนสัญญาผูกพันหน่วยงาน และคณะทำงานทบทวนและวิเคราะห์การใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อทบทวนและกลั่นกรองการใช้จ่ายของสบร.ให้เหมาะสม และบอร์ดมีมติปรับลดการใช้จ่ายงบประมาณที่ผูกพันตามแผนงานและสัญญา เป็นเงิน 450.6 ล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.4

พร้อมกันนี้ บอร์ด สบร. ยังทบทวนปรับค่าใช้จ่ายบางส่วน เช่น ค่าใช้สอยสำนักงานและค่าวัสดุในรายการที่มีราคาสูงเกินความจำเป็นของ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้าน ปรับลดร้อยละ 20 รวมทั้งปรับแผนการดำเนินงานของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยปรับลดแผนการจัดนิทรรศการจากต่างประเทศ ที่มีค่าใช้จ่ายสูง เหลือการจัดนิทรรศการจากต่างประเทศขนาดเล็กเพียง 2 นิทรรศการเท่านั้น

ส่วนการจัดทำงบประมาณประจำปี 2551 บอร์ดยังได้พิจารณาปรับลดวงเงินคำขอจาก 1,599.92 ล้านบาท เหลือ 1,215.35 ล้านบาท หรือปรับลดลงร้อยละ 25 และกำหนดทิศทางกรอบนโยบายการดำเนินงานให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระจายสู่ชุมชนมากขึ้นโดยเน้นการเสริมสร้างสังคมฐานความรู้และคุณธรรม เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและการจัดการเรียนรู้ของชุมชน ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยสนับสนุนองค์ความรู้ของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ แผนงานและโครงการที่จะดำเนินงานในปี 2551 ประกอบด้วย การจัดการเรียนรู้ด้านการออกแบบ 203.31 ล้านบาท, การจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง 128.66 ล้านบาท, การจัดการพัฒนาศักยภาพตนเองสำหรับเยาวชนและผู้เกี่ยวข้อง 87.56 ล้านบาท, การจัดการแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการอ่าน 237.85 ล้านบาท, การจัดการแหล่งเรียนรู้ด้านพิพิธภัณฑ์วิทยา 110 ล้านบาท, การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ด้านเศรษฐกิจและสังคม 80 ล้านบาท, การพัฒนาองค์ความรู้ด้านคุณธรรมและจริยธรรม 190.70 ล้านบาท และการพัฒนาองค์ความรู้ด้านชีววิทยาศาสตร์ 177.27 ล้านบาท

ดร.อรพินท์ สพโชคชัย ประธานกรรมการและปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษแห่งชาติ (สมพช.) กล่าวว่า ในส่วนของ สมพช. ต้องเข้าไปปรับในหลายเรื่อง เช่น กระบวนการเสาะหาและคัดสรรจะรู้ได้อย่างไรว่าเด็กมีความสามารถพิเศษจริงๆ การสร้างศูนย์การเรียนรู้ 42 แห่งทั่วประเทศ ที่ สบร. จะเข้าไปเชื่อมกับโรงเรียนในท้องถิ่นจะเป็นบันไดขั้นแรกให้เด็กเข้ามาค้นหาตัวเอง

ทางด้านคุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช ประธานกรรมการสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (สอร.) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาการบริหารและงบประมาณของ สอร. ค่อนข้างหละหลวม เป็นเพราะการเมืองเร่งรัดต้องการเห็นผลงานออกมาในทันที ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบการเงินการคลัง เรื่องนี้ก็ต้องมาทำให้ถูกต้อง ส่วนงานต่างๆ ที่เคยว่าจ้างบริษัทหรือบุคคลภายนอกทำก็ให้เจ้าหน้าที่ของ สอร. ทำเองเป็นหลัก

สำหรับโครงการกระจายศูนย์อุทยานการเรียนรู้ไปยังภูมิภาค เช่น ที่ยะลา มหาสารคาม เชียงใหม่ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนแต่ละแห่งสูง เช่น ยะลา ประมาณ 180 ล้านนั้นได้ยกเลิกไปเพราะโครงการนำร่องที่เซ็นทรัล เวิลด์ นั้น คุณหญิงชดช้อย มองว่า มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการถ่ายทอดความรู้ลงไปสู่ชุมชน แต่สิ่งที่ท้าทายคือวิธีการจะลงไปสู่ชุมชน 50 – 100 แห่งทั่วประเทศ และจะต่อยอดต่อได้อย่างไร ทางคณะกรรมการจึงเชิญหลายๆ ฝ่าย เช่น นายกสมาคมนักเขียน ศูนย์เยาวชน อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ฯลฯ เข้ามาร่วมสร้างกิจกรรมการเรียนรู้สู่ชุมชน โดยให้บทบาทชุมชนเป็นหลักในการดำเนินการ

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สบร. กล่าวว่า บทบาทของ สบร. น่าจะเป็นคลังสมองให้กับรัฐบาลด้วย บอร์ด สบร. จึงอนุมัติโครงการวิจัยที่เป็นองค์ความรู้จริงๆ แต่ที่รัฐบาลที่ผ่านมาไม่สนใจใน 6 โครงการ คือ การวิจัยเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยชุมชน, ประมงขนาดเล็ก, อบต.ที่ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการและตรวจสอบการใช้งบประมาณ, ผลกระทบจากเอฟทีเอ, วิเคราะห์มลพิษจากอุตสาหกรรม เช่น มาบตาพุด แม่เมาะ และงานวิจัยด้านศิลปวัฒนธรรม โดยใช้งบประมาณไม่เกิน 3 ล้านต่อโครงการ

นอกเหนือไปจากการคุมเข้มงบประมาณและวางแผนงาน บริหารจัดการใหม่แล้ว ในส่วนของการแต่งตั้งและสรรหาผู้อำนวยการของ สบร. และหน่วยงานเฉพาะด้าน ยังมีการวางกรอบกติกา ประกาศสรรหาผู้อำนวยการมาปฏิบัติงานในหน่วยงานต่างๆ ให้ถูกต้องตามระเบียบและโปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้มีวิสัยทัศน์และความสามารถเข้ามาบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายขององค์กรแต่ละแห่ง โดยขณะนี้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว 1 แห่ง คือ สอร. โดย น.ส.ผลบุญ นันทมานพ ได้รับอนุมัติจากบอร์ดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา

ส่วนผู้อำนวยการ สบร. และหน่วยงานเฉพาะอีก 3 แห่ง คือ สำนักงานพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ฯ ศูนย์ส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษฯ และสถาบันวิทยาการการเรียนรู้ กำลังอยู่ในขั้นตอนประกาศเพื่อพิจารณาสรรหาผู้อำนวยการใหม่ ซึ่งในระหว่างนี้บอร์ดมอบหมายให้ผู้แทนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านไปรักษาการผู้อำนวยการ คือ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรพล วิรุฬร์รักษ์, ดร.อรพินท์ สพโชคชัย และ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น