xs
xsm
sm
md
lg

ตีกลับแผนตั้งบ.กฟผ.อินเตอร์ฯ ส่งคลังตีความหวั่นขัดกม.รสก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน- บอร์ดกพช.ตีกลับแผนตั้งบริษัทกฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ส่งคลังพิจารณารายละเอียดหวั่นขัดกฎหมายรัฐวิสาหกิจ พร้อมไฟเขียว Energy Tax ตามโผเก็บโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2 สตางค์ต่อหน่วยเก็บทั้งโรงเก่าและใหม่ พร้อมแผนพีดีพีซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินลงทุนตลอดช่วงปี 2550-2564 ในกิจการไฟฟ้ารวม 2.08 ล้านล้านบาท
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมยังไม่ได้อนุมัติแผนการจัดตั้งบริษัทกฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ที่กฟผ.เสนอมาเพื่อนำบริษัทดังกล่าวไปลงทุนกิจการไฟฟ้าต่างประเทศเนื่องจากที่ประชุมเห็นควรให้นำรายละเอียดส่งคลังพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่อาจขัดกฏหมายการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่ตั้งบริษัทลูกมาสามารถทำได้หรือไม่ซึ่งจะต้องทำให้เกิดความโปร่งใสและไม่ให้มีปัญหาอื่นตามมา

สำหรับการประชุมกพช.ในครั้งนี้ได้เห็นชอบแนวทางและขั้นตอนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และเก่า รวมไปถึงผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กรายใหญ่ทุกแห่งจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯตามอัตราที่มีการกำหนดไว้ชัดเจน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่1 กรกฏาคม นี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าในปี 2549 โรงไฟฟ้าจะต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯรวมทั้งสิ้นปีละ 1,858 ล้านบาทเพื่อจัดสรรให้กับชุมชนทั่วประเทศ
ทั้งนี้การจ่ายเงินกองทุนฯ แบ่งเป็น2 ช่วง คือ ช่วงระหว่างการก่อสร้าง ให้จ่ายตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี หรือไม่ต่ำกว่า 5 แสนบาท/ปี และช่วงที่มีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาแล้ว ให้จ่ายตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้เป็นประจำทุกเดือน ในอัตราที่แตกต่างกันตามการปล่อยมลภาวะจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ 1 สต.หน่วย น้ำมันเตา/ดีเซล 1.5 สต./หน่วย ถ่านหิน/ลิกไนต์ 2 สต.หน่วย ส่วนพลังงานหมุนเวียน หากเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตจากพลังงานชีวมวลเก็บ 1 สต./หน่วย และพลังน้ำ เก็บ 2 สต./หน่วย แต่สำหรับลมและแสงอาทิตย์ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ
นอกจากนี้กพช.ยังมีมติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP 2007) ในช่วงปี 2550-2564 กำลังผลิต 39,676.25 เมกะวัตต์ โดยแบ่งแผนการจัดหาแหล่งผลิตออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงที่ 1 โครงการที่ได้รับอนุมัติแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้างในปี 2550-2553 รวม 7,885.25 เมกะวัตต์ และช่วงที่ 2 โครงการที่จะดำเนินการในปี
2554-2564 รวม 31,791 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่ กฟผ. ดำเนินการเอง 16 โครงการ จำนวน 12,400 เมกะวัตต์ โครงการ IPP 18 โครงการ จำนวน 12,600 เมกะวัตต์ โครงการ SPP จำนวน 1,700 เมกะวัตต์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน จำนวน 5,091 เมกะวัตต์ รวมวงเงินลงทุนตามแผนใหม่ 2.08 ล้านล้านบาท
แบ่งเป็นเงินลงทุนที่ กฟผ. ใช้ในระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้า 1.37 ล้านล้านบาท
และเงินลงทุนในส่วนของ IPP SPP และต่างประเทศ 0.71 ล้านล้านบาท
“ การประชุม กพช. อนุมัติให้เร่งเปิดประมูลการรับซื้อไฟฟ้า IPP ที่กำหนดให้มีโรงไฟฟ้าเอกชนจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตั้งแต่ปี 2555 เพราะจะมีเวลาเหลืออีกเพียง 4 ปี โดยเห็นชอบในหลักการของแนวทางการออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ในช่วงปี 2555-2557 จำนวน 3,200 เมกะวัตต์ โดยวิธีประมูลแข่งขัน
คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวน IPP ได้ภายใน มิ.ย.50 นี้ และให้ผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ยื่นข้อเสนอเข้ามาภายในเดือนตุลาคม 2550 ทั้งสถานที่ตั้งและการเลือกใช้เชื้อเพลิง”นายวีระพลกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น