xs
xsm
sm
md
lg

เตือนใช้เครื่องออกกำลังกายแบบสั่น นักวิจัยหวั่นอาจส่งผลร้ายระยะยาว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเจนซี - เตือนเครื่องออกกำลังแบบสั่นอาจนำไปสู่อาการบาดเจ็บ เช่น ปวดหลัง และสร้างความเสียหายต่อกระดูกอ่อน หรือกระทั่งเป็นอันตรายต่อสมอง นักวิจัยชี้ขณะนี้ยังมีการศึกษาเกี่ยวกับผลระยะยาวของเครื่องออกกำลังกายชนิดนี้น้อยมาก

ปัจจุบัน เครื่องออกกำลังกายแบบสั่นได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แม้แต่องค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติของสหรัฐฯ (นาซา) ยังนำแนวคิดนี้ไปศึกษาเพื่อหาทางพัฒนาเครื่องมือสำหรับลดอาการกล้ามเนื้อและกระดูกลีบสำหรับนักบินอวกาศที่ขึ้นไปปฏิบัติภารกิจในสภาพแวดล้อมที่ไร้น้ำหนักเป็นเวลานาน

ผู้ใช้รู้สึกดีกับเครื่องออกกำลังกายนี้ เพราะช่วยประหยัดเวลาและเชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูง โดยใช้เวลาเพียง 2 ใน 3 ของการออกกำลังกายปกติ จึงเป็นที่ถูกใจคนทำงาน คุณแม่ลูกอ่อน และพวกที่หาเวลาว่างยาก

พาวเวอร์เพลต หนึ่งในเครื่องออกกำลังกายแบบสั่นที่เป็นขวัญใจผู้ใช้ในขณะนี้ ให้แรงสั่นสะเทือน 20-50 ครั้งต่อวินาทีในสามทิศทาง โดยผู้ผลิตอวดอ้างว่า ช่วยเพิ่มแรงโน้มถ่วงของร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของปอด คล้ายการยกน้ำหนักโดยไม่ใช้เวต

“คุณอาจไม่รู้สึกว่าใช้พละกำลังมากมายนัก แต่รับรองว่าเหงื่อท่วมตัวแน่ และเมื่อปิดเครื่อง คุณจะรู้สึกถึงความกระชับได้ทันทีบริเวณขาและร่างกายส่วนบน” ไมเคิล ซาเคม วัย 45 ปีที่ใช้เครื่องออกกำลังกายชนิดนี้เป็นประจำ บอก

สนนราคาของเพาเวอร์เพลตอยู่ระหว่าง 3,000-10,500 ดอลลาร์ หนัก 264-500 ปอนด์ สามารถตั้งระยะเวลาและแรงในการสั่น

เคร็ก แบรดลีย์ ผู้จัดการโฮล์มส เพลซ เฮลท์คลับไฮโซในชิคาโก บอกว่าผู้ออกกำลังกายจำนวนมากชอบเพาเวอร์เพลต แต่อีกหลายคนยังติดใจที่ไม่สามารถดูทีวีหรืออ่านหนังสือขณะอยู่บนเครื่องนี้ได้ ขณะที่บางคนยังไม่มั่นใจเพราะไม่ลืมประสบการณ์จากการใช้เครื่องสั่นสะเทือนแบบแถบรัดเอวที่ฮิตเมื่อ 50 ปีก่อน

บริษัทนับสิบหันมาผลิตเครื่องออกกำลังกายชนิดนี้ อาทิ โซโลเฟล็กซ์ ที่ขายเครื่องออกกำลังกายแบบสั่นที่หน้าตาเหมือนสเก็ตบอร์ดแต่มีมือจับติดกับโครงราคาตัวละ 295 ดอลลาร์ ไปแล้วกว่า 30,000 ตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

เจอร์รี วิลสัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้งโซโลเฟล็กซ์ เผยว่า ลูกค้าที่ใช้บอกว่า อาการปวดตามร่างกายหายเป็นปลิดทิ้ง นอนหลับดีขึ้น

ขณะเดียวกัน การศึกษาของนาซาที่ศูนย์อวกาศจอห์นสัน พบว่าการใช้แท่นที่มีแรงสั่นสะเทือนระหว่างการออกกำลังกายในท่านั่งทำให้กล้ามเนื้อทำงานหนักขึ้น อย่างไรก็ดี นาซาไม่ได้ศึกษาว่า แรงสั่นสะเทือนทำให้นักกีฬาวิ่งเร็วขึ้นหรือกระโดดสูงขึ้นหรือไม่

กระนั้น บิลล์ อาโมเน็ต หนึ่งในผู้เขียนรายงานและผู้เชี่ยวชาญด้านการออกกำลังกายของมหาวิทยาลัยฮูสตัน เคลียร์ เลก ตั้งข้อสังเกตว่า แม้เครื่องออกกำลังกายแบบสั่นใช้ได้ผลจริง แต่ขณะนี้ ทีมนักวิจัยกำลังศึกษาหาวิธีใช้ที่ดีที่สุด ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานเป็นปี ดังนั้น ระหว่างนี้จึงยังไม่ควรมั่นใจกับสรรพคุณที่ผู้ผลิตกล่าวอ้างผ่านแผนการตลาดเชิงรุก

นักวิจัยบางคน อาทิ แอนดริว อะเบอร์ครอมบี จากศูนย์อวกาศจอห์นสัน ยังกังวลว่า การสั่นสะเทือนที่มีความแรงสูงอาจเป็นอันตรายในระยะยาว เนื่องจากมีการส่งสัญญาณการสั่นสะเทือนผ่านร่างกาย

คลินตัน รูบิน ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กในสโตนี บรูก สำทับว่าได้ขอให้เพาเวอร์เพลตระงับการนำงานวิจัยของตนไปกล่าวอ้างในเอกสารส่งเสริมการขาย

งานวิจัยดังกล่าวของรูบินออกมาก่อนที่สำนักงานอาหารและยาสหรัฐฯ (เอฟดีเอ) จะรับรองว่าเครื่องออกกำลังกายแบบสั่นช่วยป้องกันและรักษาโรคกระดูกพรุน นอกจากนั้น เครื่องออกกำลังกายที่เอฟดีเอให้การรับรองยังให้แรงสั่นเบากว่าเพาเวอร์เพลต

รูบินเชื่อว่า ระดับการสั่นสะเทือนของเพาเวอร์เพลตทำให้ผู้ใช้ปวดหลังช่วงล่าง ทำลายกระดูกอ่อน วิสัยทัศน์พร่าเลือน สูญเสียการได้ยิน และกระทั่งสร้างความเสียหายต่อสมอง พร้อมทั้งแสดงความเป็นห่วงว่า ผู้ใช้อาจใช้เครื่องออกกำลังกายชนิดนี้เพราะเชื่อในการนำเสนอหลักฐานทางวิทยาศาสตร์แบบผิดๆ

ทั้งนี้ เพาเวอร์เพลตเตือนสตรีมีครรภ์และผู้ที่มีปัญหาจอประสาทตาลอก เส้นเลือดอุดตัน มีเนื้องอกในกระดูก และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ให้งดใช้เครื่องออกกำลังกายแบบสั่น

ด้านโซโลเฟล็กซ์แนะนำให้ใช้เครื่องออกกำลังกายชนิดนี้วันละไม่เกิน 30 นาที เนื่องจากหากใช้นานเกินไปอาจเกินกว่ามาตรฐานความปลอดภัยในอุตสาหกรรมว่าด้วยแรงสั่นสะเทือนในที่ทำงาน (อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้บอกว่าไม่เคยกำหนดมาตรฐานดังกล่าวสำหรับอุปกรณ์ออกกำลังกาย)
กำลังโหลดความคิดเห็น