xs
xsm
sm
md
lg

จบเรื่อง ‘ยุบพรรค’ เดินหน้า ‘ปฏิรูปการเมือง’

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ขณะที่ผมกำลังลงมือเขียนบทความชิ้นนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญยังอ่านคำพิพากษาคดียุบพรรคการเมืองกลุ่มแรกอันประกอบไปด้วยพรรคประชาธิปัตย์และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้ายังไม่เสร็จสิ้น ส่วนคดียุบพรรคการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งที่รวมถึงพรรคไทยรักไทยเข้าไปด้วยนั้น ผมคาดเอาว่าคงจะไปเสร็จสิ้นเอาช่วงค่ำๆ นั่นเลยทีเดียว

แม้จะยังไม่รู้ผลการพิพากษาสุดท้ายที่จะชี้ชะตาพรรคการเมืองทั้ง 5 พรรค รวมไปถึงอนาคตทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคของ 5 พรรค แต่เมื่อพิจารณาจากพื้นเพ ประวัติและผลงานที่ผ่านมาของตุลาการทั้ง 9 ท่านแล้ว ผมเชื่อมั่นว่า ‘คดียุบพรรค’ พ.ศ.นี้ คงจะไม่ซ้ำรอย ‘คดีซุกหุ้น’ เมื่อปี พ.ศ.2544 เป็นแน่

ย้อนเวลากลับไปเมื่อ 6 ปีก่อน ในการพิจารณา ‘คดีซุกหุ้น’ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติ 8 ต่อ 7 เสียงสรุปว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 ส่งผลให้ พ.ต.ท.ทักษิณไม่ต้องถูกลงโทษมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 5 ปี

หลังจากการตัดสินดังกล่าว หลายคนออกมาวิเคราะห์ว่าศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคดีนี้โดยให้ความสำคัญแก่ ‘หลักรัฐศาสตร์’ มากกว่า ‘หลักนิติศาสตร์’ แต่ในเวลาต่อมาได้ปรากฏพยาน-หลักฐานจำนวนหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าตุลาการฯ บางคนไม่ได้พิจารณาคดีโดยยึด ‘หลักรัฐศาสตร์’ เหนือกว่า ‘หลักนิติศาสตร์’ แต่พิจารณาคดีโดยยึด ‘หลักเงิน’ เหนือ ‘หลักความถูกต้อง!!!’

ไม่ว่าผลสุดท้ายจะออกมาเป็นเช่นไร แน่นอนว่าการตัดสินคดียุบพรรควานนี้จะถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ในฐานะ ‘จุดเปลี่ยนของประเทศไทย’

ประเทศไทยจะเปลี่ยนไปอย่างไร หลังการตัดสินคดี ‘ยุบพรรค?’

โดยส่วนตัวผมคิดว่า นับถึงปัจจุบันคณะปฏิรูปฯ (ในเวลาต่อมากลายเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)) ที่ลงมือรัฐประหารรัฐบาลทักษิณเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ปฏิบัติภารกิจสำเร็จตามเป้าหมายไปแล้ว 2 จาก 4 ภารกิจ

ภารกิจแรก คือ การทำรัฐประหารเพื่อทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากการเมืองและประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

ภารกิจที่สอง คือ การแสวงหาความยุติธรรมต่อกรณีความผิดของพรรคการเมืองที่กระทำการเป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยและประชาธิปัตย์โดยศาลรัฐธรรมนูญ

ภารกิจที่สาม อันเป็นภารกิจที่คณะปฏิรูปฯ ยังปฏิบัติไม่สำเร็จก็คือ การจัดการหาตัวผู้ที่กระทำการคอร์รัปชัน ฉ้อราษฎร์บังหลวง โกงกินชาติ ทรยศประชาชน ฯลฯ มาลงโทษให้ได้ โดยในกรณีนี้นั้นคณะปฏิรูปฯ มิสามารถกระทำการเองได้และจำเป็นต้องพึ่งพาการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐบาลชั่วคราวของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.)

สำหรับประเด็นนี้ จุดสิ้นสุดของภารกิจก็คงไปอยู่ที่ศาลไม่ว่าจะเป็นศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองก็ตามที ซึ่งเมื่อพิจารณาจากระยะเวลาของขั้นตอนและกระบวนการแล้วเชื่อแน่ได้ว่าภารกิจที่สามนี้คณะผู้ปฏิรูปฯ คงจะต้องรออีกระยะเวลาหนึ่ง โดยอย่างเร็วที่สุดก็คือการรอคำตัดสินจากคดีที่ขึ้นไปสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

ทั้งนี้ทั้งนั้น ภารกิจที่คณะปฏิรูปฯ ถือว่าทำได้ล่าช้าและผิดเป้าไปมากที่สุดก็คือ ภารกิจในการปฏิรูปสื่อและปฏิรูปการเมือง

ระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมาคณะปฏิรูปฯ ถือว่าเดินหมากผิดมหันต์ด้วยการเลือก พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พล.อ.สุรยุทธ์ เหมาะกับการเป็นองคมนตรีที่ใช้ ‘พระคุณ’ มากกว่าการเป็นผู้นำประเทศ-นายกรัฐมนตรีในภาวะวิกฤตที่ต้องใช้ ‘พระเดชเหนือพระคุณ’ ทั้งยังเป็นผู้นำที่ขาดความเข้าใจกับภาวะวิกฤตของประเทศ วิกฤตของสถาบัน และวิกฤตของบ้านเมืองอย่างสิ้นเชิง

ยิ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเข้าใจในวิกฤตของชาติระหว่าง พล.อ.สุรยุทธ์ กับ คุณอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัยผู้ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มิได้มาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกันก็จะยิ่งเห็นได้ชัดว่า ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยและสังคมไทยเสียโอกาสไปมากขนาดไหน

“ขณะนี้ที่ผมเป็นห่วงคือ ขณะนี้ระบอบประชาธิปไตย เรื่องเลือกตั้งมันกลายเป็นเรื่องใหญ่ คือ ผมทนไม่ได้หากว่าคนอย่างประธานาธิบดีบุช หรือนายกรัฐมนตรีแบลร์ บอกว่าอิรักเป็นประชาธิปไตยแล้ว เพราะเขามีรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง ถ้าเผื่อคนไทยคนใดที่คิดว่าประชาธิปไตยคือรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง อันนั้นก็แสดงว่าเขาก็ไม่ได้มีความก้าวหน้าเลย ...

“ขณะนี้ประชาชนไทยเขาได้มองข้ามเรื่องรัฐธรรมนูญ มองข้ามเรื่องการเลือกตั้ง มองข้ามการมีรัฐบาลไปแล้ว เขามองถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน มองสิทธิของเขาในการที่จะช่วย มีส่วนร่วมกับการปกครองท้องถิ่น ในการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ สิทธิในการออกความเห็น ที่จะมีกิจกรรมทางการเมือง สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก ผมไม่ได้บอกว่าการเลือกตั้งไม่สำคัญ ผมไม่ได้บอกว่ารัฐธรรมนูญไม่สำคัญ แต่เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยนั้น ต่อให้รัฐธรรมนูญเขียนดีอย่างไร มันก็มีการฉีกกันตลอดเวลา แต่ถ้าคุณสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง คุณสร้างสิ่งต่างๆ ซึ่งคล้ายกับเป็นขาใหญ่ๆ ที่ค้ำจุนประชาธิปไตย ... ปัญหาพวกนี้จะหมดไปเอง ตราบใดเรามีหลักยุติธรรม ตราบใดเรามีความโปร่งใส ตราบใดเรามีสิทธิเสรีภาพในการออกความเห็น ตราบใดที่เรามีสื่อที่เป็นอิสระ มีตุลาการที่เป็นอิสระ สิ่งเหล่านี้ในสายตาผมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ มากกว่าสิ่งประดับอื่นๆ”


ข้างต้นเป็นเนื้อหาในช่วงท้ายของการปาฐกถาของคุณอานันท์ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2550 ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย” ณ หอประชุมสหประชาชาติ ถนนราชดำเนิน สิ่งที่คุณอานันท์กล่าวในวันนั้น ผมคิดว่าทรงพลัง น่าขบคิด และมีคุณค่ายิ่งต่อก้าวย่างต่อไปของประเทศไทย

ปัญหาก็คือรัฐบาล และ คมช. จะมองเห็นคุณค่าของ ‘การปฏิรูปสื่อ-การเมือง’ ไว้เหนือ ‘การร่างรัฐธรรมนูญ-การเลือกตั้ง’ หรือไม่เท่านั้น

ถ้า คมช. ยังขบคิดประเด็นนี้ไม่แตกและยังยืนกรานที่จะปล่อยให้การร่างรัฐธรรนูญ-การเลือกตั้ง ดำเนินไปโดยปราศจากการปฏิรูปสื่อและการเมือง ‘การตัดสินคดียุบพรรค’ ที่เกิดขึ้นวานนี้ก็คงจะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ที่นำพาประเทศไทยมุ่งไปสู่วงจรอุบาทว์ทางการเมือง เศรษฐกิจ ความล่มสลายของสังคมและสถาบัน แทนที่จะเป็นการฟื้นฟูที่จะนำไปสู่สังคมคุณธรรมอันสงบสุข ศานติ และรุ่งเรืองอย่างที่คณะปฏิรูปฯ และคนไทยทุกคนมุ่งหวัง
กำลังโหลดความคิดเห็น