ตาก - ระดม 7 หน่วยงานทั้งทหาร ตำรวจ พลเรือน พร้อมใช้แผน "ตากสินมหาราช 2550" สกัดต่างด้าวทะลักแม่สอด-ชายแดนตาก กำหนดประเมินผลทุก 6 เดือน หลังแรงงานพม่าลอบเข้าเมืองตรึม แค่ 4 เดือนแรกจับได้เกินครึ่งหมื่น ไม่รวมที่เล็ดลอดเข้าพื้นที่ชั้นในได้อีกมหาศาล แลกกับเงินค่าหัวที่แยกเป็น 2 ระดับระหว่างออปชันเดินเท้าช่วงแรกกับนั่งรถตลอดทาง ผ่านบริษัทนายหน้าที่เปิดบริการกลางเมืองเมียวดี
ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นที่รับรู้กันดีว่า พื้นที่ "แม่สอด จ.ตาก" ตลอดจนอำเภอชายแดนจังหวัดตากอื่น ๆเป็นช่องทางนำเข้า "แรงงานพม่า" ที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ และเป็นแหล่งผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง จนว่ากันว่าตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ด่านตรวจบนเส้นทางสายแม่สอด - ตาก บางด่าน สามารถเจียดแบ่ง "ค่าก๊อก" ที่ได้จากขบวนการค้าไม้ - ค้าคน - ค้าของ ฯลฯ ส่งหน่วยเหนือได้มากถึงไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท/เดือน ซึ่งนั่นเป็นตัวเลขเฉพาะด่านเดียวเมื่อ 10 ปีที่แล้ว
มาถึงวันนี้ พื้นที่แม่สอด ก็ยังคงอุดมไปด้วยแรงงานต่างด้าวที่หมุนเวียนเข้า-ออก รวมถึงเดินทางผ่านไปยังพื้นที่ชั้นในของไทยตลอดเวลา ซึ่งตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นอีกอย่างก็คือ ยอดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเฉพาะ อ.แม่สอด อย่างถูกกฎหมาย ในแต่ละปีจะมีประมาณ 30,000 กว่าคน แต่แท้จริงแล้วยอดคนต่างด้าวในแม่สอด มีสูงถึงกว่า 100,000 คนเป็นอย่างต่ำ
ดังนั้นไม่ต้องสงสัยถึงแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายทั่วประเทศ ที่รู้กันดีว่า มีไม่น้อยกว่าล้านคนขึ้นไป รวมถึงแรงงานต่างด้าวที่เข้าไปทำงานก่อสร้างในโครงการบ้านเอื้ออาทร จ.สมุทรปราการ ที่เพิ่งเป็นข่าวสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ถูกล้อมกรอบโดยอดีต ส.ส.ไทยรักไทย สมุทรปราการ
นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า จังหวัดตากมีแนวชายแดนติดต่อประเทศพม่า ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดน ได้แก่ ท่าสองยาง แม่ระมาด แม่สอด พบพระ และ อ.อุ้มผาง มีระยะทางยาวกว่า 580 กิโลเมตร มีลำน้ำเมยเป็นเส้นกั้นพรมแดน ทำให้ง่ายต่อการทะลักเข้ามาของขบวนการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ถึงแม้จะมีการปราบปรามอย่างหนัก แต่ก็ยังมีการลักลอบเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ผลการปราบปรามในรอบ 4 เดือน ที่ผ่านมา (มกราคม- พฤษภาคม 50) สามารถจับกุมแรงงานเถื่อนได้กว่า 6,000 ราย ผู้นำพาที่เป็นคนไทยกว่า 20 ราย ของกลางเป็นรถกระบะกว่า 30 คัน ซึ่งก็ได้ดำเนินการตามกฎหมายไปแล้ว
ล่าสุดจังหวัดได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์เชิงรุก ในการปราบปรามแรงงานเถื่อนและยาเสพติดให้ได้ผลมากยิ่งขึ้น โดยได้ร่วมกับ กองกำลังนเรศวร กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารราบที่ 17 (ฉก.ร.17)กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 กองบังคับการกองอาสารักษาดินแดนจังหวัดตาก จัดหางานจังหวัดตาก และศูนย์ปฏิบัติการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดจังหวัดตาก ภายใต้แผนการทำงานร่วมกัน ใช้ชื่อว่า "ตากสินมหาราช 2550" ดำเนินการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ลาดตระเวนพิสูจน์ทราบ การปิดล้อมตรวจค้น การหาข่าวทางลับ ในพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งมีอยู่ในบัญชีลับของทางราชการแล้ว พร้อมทั้งทำบัญชีรายชื่อของขบวนการแรงงานเถื่อนและยาเสพติด ตามตะเข็บชายแดน 5 อำเภอ ที่มีทั้งชาวไทย-พม่า เพื่อติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด
นายชุมพร ยังกล่าวอีกว่า เชื่อว่าแนวทางนี้จะลดปัญหาการทะลักเข้าของแรงงานเถื่อนอย่างได้ผล โดยในสิ้นปี 2550 จะประเมินผลการดำเนินการร่วมกันของทุกฝ่าย และจะมีการเปรียบเทียบผลงานทุก 6 เดือน เพื่อนำผลที่ได้มาปรับยุทธศาสตร์ในเชิงลึกควบคู่กัน
พล.ต.ต.ประสาร บุญยะปาน ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตาก เปิดเผยถึงการค้าแรงงานเถื่อนในจังหวัดตาก ว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ตำรวจบางนาย ที่กระทำผิดกฎหมายการค้าแรงงานเถื่อน ซึ่งก็ได้ให้ออกจากราชการไปแล้วกว่า 10 นาย ส่วนใหญ่จะเป็นชั้นประทวน การทำงานร่วมกันหลายฝ่าย ทั้งตำรวจ ทหาร และตชด. ที่ผ่านมาผลการปราบปรามเป็นไปด้วยดี นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือจากประชาชน ช่วยแจ้งเบาะแส การค้าแรงงานเถื่อน โดยสามารถแจ้งได้ที่ กองกำกับการตำรวจภูธร จ.ตาก โทร. 055-511354 และสถานีตำรวจภูธรทุกแห่ง
นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้า จ.ตาก กล่าวว่า แม้จะมีการปราบปรามแรงงานชาวพม่าอย่างจริงจังแต่ก็ยังมีแรงงานที่ลักลอบเข้ามาทำงานใน จ.ตาก เป็นจำนวนมาก ทั้งเป็นกรรมกรรับจ้าง แรงงานทั่วไปตามร้านอาหาร และแม้จะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องแต่การทำงานไม่ตรงตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ เพราะการจำกัดจำนวนประเภทงาน รวมถึงการเปลี่ยนนายจ้างทำให้ยากต่อการควบคุม ทำให้นายจ้างไม่อยากที่จะไปยื่นขอจดทะเบียน เพราะต้องเสียเงินฟรีๆ ทำให้ปีที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวลดลงอย่างชัดเจน หันไปใช้แรงงานเถื่อนแทน
นอกจากนี้ การใช้กฎหมายกับแรงงานต่างด้าวไม่รุนแรง เมื่อถูกจับกุมทางพนักงานสอบสวนก็จะทำประวัติ จากนั้นก็จะผลักดันออกนอกประเทศ ไม่มีการกักขังทำให้ไม่เข็ดหลาบ มีแรงงานจำนวนมากถูกจับถึง 10 ครั้งแต่ก็ยังลักลอบเข้ามาอีก จึงทำให้แรงงานเถื่อนที่แฝงอยู่ในประเทศขณะนี้มีจำนวนนับล้านคน หากมีการแก้กฎหมายให้มีการเพิ่มโทษรุนแรง ก็จะทำให้ลดปัญหาการลักลอบเข้ามา ภาครัฐควรจะต้องมีการหยิบยกปัญหาเข้ามาพิจารณาอย่างจริงจัง
สำหรับขบวนการค้าแรงงานเถื่อนในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าด้านจังหวัดตาก ล่าสุดมีการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาบังหน้า มีสำนักงานอยู่ที่เมียวดี ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก เป็นที่รวบรวมแรงงานพม่าที่ต้องการเข้ามาทำงานฝั่งไทย จากเมืองชั้นในของประเทศพม่า เช่น กรุงย่างกุ้ง เมืองเมาะมะละแหม่ง เมืองผาอัน โดยจะเสียค่าหัว (ค่านำพา) 2 ระดับคือ 7,000-10,000 บาท/คน แต่ต้องเดินเท้าช่วงแม่สอด-ตาก ราคา 12,000 - 16,000 บาท มีรถส่งถึงจุดหมายปลายทาง โดยขบวนการแรงงานเถื่อนมีการปรับเปลี่ยนพัฒนาการเคลื่อนย้าย เพื่อหลีกเลี่ยงการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตลอด สามารถเล็ดลอดไปในกรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนบางหน่วยงานให้ความร่วมมือทำผิดกฎหมายเสียเอง
การเคลื่อนย้ายของขบวนการแรงงานเถื่อน มีทั้งทางรถยนต์ส่วนตัว รถยนต์โดยสารประจำทาง และลักลอบเดินเท้า ไปตามป่าเขา ใช้เส้นทาง อ.พบพระ-กิ่ง อ.วังเจ้า จ.ตาก ,และ อ.พบพระ-กิ่ง อ.โกสัมพี จ.กำแพงเพชร และเส้นทาง อ.แม่ระมาด -อ.บ้านตาก จ.ตาก เพื่อหลีกเลี่ยงด่านตรวจต่างๆ ทำให้ยากต่อการปราบปราม
อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเส้นทางสายแม่สอด-ตาก มีด่านตรวจ ทั้งทหารและตำรวจมากกว่า 6 แห่ง เช่น จุดตรวจหนองบัว ด่านตรวจห้วยหินฝน จุดตรวจแม่ละเมา,ด่านตรวจห้วยยะอุ เขตพื้นที่ อ.แม่สอด และ จุดตรวจมูเซอร์ สภ.ต.แม่ท้อ อ.เมืองตากทั้งหมดตั้งอยู่บนเส้นทางหลัก แต่บ่อยครั้งที่มีการจับกุมรถยนต์ที่ขนแรงงานเถื่อน ในพื้นที่ลึกเข้ามาจากชายแดน
เช่น เมื่อ วันที่ 19 มีนาคม 2550 เวลา 12.30 น. พ.ต.ท.กฤษดา ปิ่นสินชัย รอง ผกก.1 ช่วยราชการ กก.2 บก.ปทส. สามารถจับกุม ส.ต.อ.เล็ก โลหะเวช ผบ.หมู่ ป้องกัน สภ.ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก ที่บริเวณถนนสายตาก-แม่สอด บ้านลานสาง ต.แม่ท้อ อ.เมือง จ.ตาก ขณะขับรถยนต์กระบะยี่ห้อเชฟโรเลต สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน ตค 7259 กทม. ซึ่งภายในรถอัดแน่นด้วยบุคคลต่างด้าว ทั้งชายและหญิงจำนวน 9 คน
ขณะเดียวกัน ยังสามารถขยายผลจับกุมนายธนะพัฒน์ รุ่งรัศมี อายุ 25 ปี อยู่บ้านเลขที่ 11/60 ซอยร่วมแรง อ.แม่สอด จ.ตาก ที่ขับรถยนต์กระบะโตโยต้า วีโก้ 4 ประตู สีบรอนซ์เงิน ทะเบียนป้ายแดง ฉ -1427 กทม. ตามหลังมา ภายในรถมีบุคคลต่างด้าวซุกซ่อนอีก 12 ราย พร้อมแจ้งข้อหาแก่คนขับรถทั้ง 2 คัน ในข้อหาซ่อนเร้นหรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้บุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายพ้นจากการถูกจับกุมทันที หลังการจับกุม พล.ต.ต.ประสาร บุญยะปาน ผบก.ภ.จว.ตาก ได้มีคำสั่งให้ ส.ต.อ.เล็ก ผู้ต้องหา ออกจากราชการ ขณะนี้กำลังดำเนินคดีในชั้นศาล