xs
xsm
sm
md
lg

เกมที่ใหญ่กว่าน่ากลัวกว่ายังคอยอยู่ข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: การุณ ใสงาม

วันนี้สังคมทั่วไปต่างจับตาการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับกรณีการยุบพรรคการเมือง 5 พรรค ได้แก่ พรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า พรรคแผ่นดินไทยและพรรคพัฒนาชาติไทย

ที่น่าจับตามองคือกรณีการยุบไม่ยุบ 2 พรรคใหญ่ ได้แก่ประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย

กรณีดังกล่าวนี้จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ และต้องบันทึกไว้ในจดหมายเหตุการณ์เมือง

คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในกรณีนี้คือ กรรมการบริหารพรรคทั้ง 2 พรรค กรรมการไทยรักไทย 119 คน กรรมการประชาธิปัตย์ 49 คน อยู่ในภาวะระส่ำระสาย หาทางไปไม่ได้ ไปไม่เป็นเลยทีเดียว

เกจิอาจารย์การเมืองหลายสำนักบอกว่า สถานการณ์การเมืองตอนนี้ การตัดสินน่าจะอยู่ในลักษณะของการประนีประนอม เข้าเกณฑ์สมานฉันท์อีกตามเคย

แรงกดดันตุลาการรัฐธรรมนูญมีอยู่มิน้อย โดยเฉพาะแรงกระเพื่อมจากคลื่นใต้น้ำ ที่ตอนนี้กลายเป็นมรสุมขนาดใหญ่ เตรียมขนมวลชนเรือนหมื่นเรือนแสนออกมากดดัน หวังจะสร้างปรากฏการณ์เหมือนดังคดีซุกหุ้นที่อดีตผู้นำเคยหลุดมาแล้ว

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ยุบไม่ยุบ แต่อยู่ที่การที่กรรมการบริหารพรรคจะถูกตัดสิทธิทางการเมือง หรือ เว้นวรรค 5 ปี ด้วยหรือไม่

เรื่องถ้าพรรคถูกยุบจะสามารถจดทะเบียนโดยใช้ชื่อเดิมได้หรือไม่เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่สาระสำคัญ

ข้อโต้เถียงทางกฎหมายที่ถูกหยิบยกมาเป็นการสร้างข้อถกเถียงในสังคมในวงกว้างว่า กฎหมายอาญาจะไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ซึ่งการฟ้องยุบพรรคเป็นไปตาม พ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 แต่ประกาศของ คปค. ฉบับที่ 27 ว่าด้วยเรื่องกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบพรรค ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี เป็นกฎหมายที่ออกมาภายหลัง ไม่น่าจะใช้ได้

แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2549 มาตรา 35 กำหนดให้มีตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาทำหน้าที่แทนศาลรัฐธรรมนูญในการพิจารณาอรรถคดีที่ค้างอยู่ในศาล ซึ่งคดียุบพรรคเป็นหนึ่งในนั้น อีกทั้ง ประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 มีการเพิ่มโทษคดียุบพรรคให้เว้นวรรคกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี

ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ร้องขอเพิ่มเติมไปยังอัยการสูงสุดในฐานะผู้ร้องในคดีนี้เพื่อให้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมท้ายคำร้องเพื่อขอให้ตุลาการรัฐธรรมนูญลงโทษเว้นวรรคกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ดังนั้น หากมีคำวินิจฉัยยุบพรรค กรรมการบริหารพรรค ก็ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง

คำถามที่ตามมาว่า แล้วพรรคใดบ้างที่จะถูกยุบ

ผมวิเคราะห์ดูแล้ว ว่าน่าจะมี 4 ทางด้วยกัน

1. ยุบทั้ง 5 พรรค

2. ยุบ 3พรรคเล็ก ไม่ยุบ 2พรรคใหญ่

3. ยุบ 3 พรรคเล็ก 1 พรรคใหญ่ไทยรักไทย ไม่ยุบประชาธิปัตย์

4. ไม่ยุบพรรคทั้งหมด

กรณียุบพรรค มีทางเลือก 3 ทาง

ทางเลือกที่ 1 ยุบพรรค แต่ไม่ตัดสิทธิการเล่นการเมืองของกรรมการบริหารพรรค นั่นคือมีโทษตามมาตรา 69 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งไม่ถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ทางเลือกที่ 2 ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคและห้ามเล่นการเมือง 5 ปี เป็นไปตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 27

ทางเลือกที่ 3 ยุบพรรคแค่ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเฉพาะคนที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องถูกเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปี

ส่วนกรณีไม่ยุบพรรคใดเลย จะเป็นการตัดสินยกคำร้อง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า มาตรา 66 ของ พ.ร.บ.พรรคการเมืองไม่มีอยู่ต่อไป เนื่องจากมีการยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยายน 2549 และได้ฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 ทิ้ง

ทั้งนี้ทั้งนั้นที่กล่าวมาทั้งหมด ล้วนแล้วแต่เป็นเกมการเมืองที่เริ่มขึ้นเท่านั้น

สถานการณ์ต่อไปของพรรคใหญ่ 2 พรรคจะเป็นอย่างไร

พรรคประชาธิปัตย์คงไม่เป็นปัญหาเพราะเชื่อว่าทั้งหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรคต่างเคารพในการตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นอย่างดี และพรรคประชาธิปัตย์เองไม่ได้มีเหตุผลความจำเป็นในการที่จะเคลื่อนไหวต่อต้านการยุบหรือไม่ยุบพรรค เขาเข้าใจและยอมรับสภาพได้ดี ถ้ายุบเขาก็พร้อมที่จะจัดตั้งพรรคใหม่ เดินหน้าทำงานการเมืองต่อไป

พรรคไทยรักไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น คงอาศัยการตัดสินยุบพรรคครั้งนี้มาเป็นเกมในการกดดันทั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ และลามมาถึง คมช. ด้วย สาเหตุเพราะคนเหล่านี้อยู่ในสภาพหลังชนฝา ต้องต่อสู้กับการตรวจสอบการทุจริตที่เข้มข้นขึ้นทุกวัน คดีต่างๆ สำนวนต่างๆ ที่ คตส. ดำเนินการสอบสวนได้ถึงมืออัยการและกำลังเรียงลำดับเข้าสู่ศาล คนที่เกี่ยวข้องหลายคนในพรรคอาจจะต้องเข้าคุก สิ่งนี้ทำให้เขาต้องสู้เพื่อปกป้องตนเอง

พรรคไทยรักไทยเป็นกลุ่มคนที่สูญเสียอำนาจและบางคนอาจต้องสูญเสียทรัพย์ ถูกยึดถูกอายัดทรัพย์เสียภาษีย้อนหลังและค่าปรับหลายหมื่นล้านบาท การสูญเสียครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก

ประการต่อมา มีการท้าทายว่ามีประชาชนจำนวนมากเรือนล้านไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค หรือการจะส่งคนไปยึดศาลากลาง เป็นเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ไม่ถูกต้องตามตรรกะความเป็นจริง

ผมอยากถามว่าพวกคุณจะสู้กับอะไร สู้กับใคร หรือคุณจะสู้กับคำวินิจฉัยตัดสินของตุลาการรัฐธรรมนูญ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ในเมื่อสิ่งที่คุณทำนั้นเป็นการกระทำความผิดจริง มีหลักฐานพยานชัดเจน

อีกเรื่องที่คุณลืมไปคือ กองกำลังที่พวกคุณมีล้วนแล้วแต่เป็นกองกำลังรับจ้างทั้งนั้น มาเคียเวลลี่เคยบอกว่าทหารรับจ้างพวกนี้ปากดีอวดเก่งเวลาไม่มีภัย แต่เวลาที่ศัตรูหรือมีภัยใกล้ถึงตัวจะวิ่งหนีก่อนเพื่อน

การดิ้นรนกระเสือกกระสนอย่างนี้ ไม่ต่างอะไรกับการชกลม เป้าหมายการต่อสู้ไม่ชัดเจน ขาดเหตุขาดผล ขาดการประมาณ ผู้คนเข้าร่วมคงจะยาก การชุมนุมกันคราวนี้คงออกอาการแป้ก

พวกคุณต่างรู้ดีแก่ใจว่าการต่อสู้ครั้งนี้ของพวกคุณไม่ใช่เรื่องยุบหรือไม่ยุบพรรค และผมเองก็ไม่เชื่อว่าคุณจะรักพรรคไทยรักไทยมากขนาดแลกชีวิตได้ แต่สิ่งที่พวกคุณทำอยู่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ ที่พวกคุณเคยได้รับ เอาตัวให้รอดพ้นจากคดีความมากมาย และสุดท้ายก็คือการพยายามรักษาอำนาจที่เคยมีอยู่เอาไว้ให้นานที่สุด

เมื่อพวกคุณทำอะไรไม่ได้ ต่อไปพวกคุณก็จะเริ่มเกเรพาลไปถึงเรื่องการรับไม่รับร่างรัฐธรรมนูญอีก ทุกอย่างล้วนเป็นเกมทางการเมืองทั้งนั้น

ผมเป็นห่วงเกมการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าครับ

เกมต่อไปไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร การเปิดเวทีประลองยุทธ์ เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐตามระบอบประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง

ช่วงชิงอำนาจให้มีเสียงข้างมากในนิติบัญญัติแล้วเสียงข้างมากก็จะทำการจัดตั้งรัฐบาล

เกมชิงอำนาจอธิปไตยสองอำนาจนิติบัญญัติและบริหาร เพื่อนำสองอำนาจมาใช้และเป็นประโยชน์กับตนเองและพวกพ้อง เป็นของถนัดของชอบที่กลุ่มอำนาจเก่านิยมปฏิบัติ

เกมชิงอำนาจครั้งต่อไปนี้แรงแน่ เอาเป็นเอาตายแน่ คอยดูก็แล้วกัน


ดังที่มีคำกล่าวว่า การได้มาซึ่งอำนาจเป็นเรื่องยาก การรักษาอำนาจยากยิ่งกว่า แต่การลงจากอำนาจเป็นเรื่องที่ยากที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น