xs
xsm
sm
md
lg

สนธิทุกฝ่ายสกัดลอบตัดไม้พะยูง 13 จว.อีสาน 2 ปีจับไม้เถื่อนกว่า 4 หมื่นท่อนมูลค่านับพันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี-ก.ทรัพยากร ผนึกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแก้ปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง ในป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ในเขต 13 จังหวัดภาคอีสาน เผย 2 ปีที่ผ่านมา จับกุมการกระทำผิดตัดไม้พะยูงและไม้ประดู่กว่า 43,886 ท่อน คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท ตั้งจ.อุบลฯ เป็นศูนย์ประสานงานแก้ปัญหา พร้อมสนธิกำลังทุกฝ่ายร่วมปราบปราม มั่นใจลดการลักลอบตัดไม้ได้

เมื่อเร็วๆนี้ ที่ห้องประชุมมิตรไมตรี 1 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ประชุมร่วมกับกองกำลังสุรนารี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กรมศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ว่าราชการจังหวัด 13 จังหวัดภาคอีสาน

ทั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงในป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ รวมทั้งการตัดไม้ในพื้นที่ของเอกชน เพื่อการส่งไม้ออกไปขายในต่างประเทศ ซึ่งระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา พบการลักลอบตัดไม้หวงห้ามชนิดดังกล่าวมากขึ้น เพราะกลุ่มนายทุนตัดไม้ ได้ให้ราคารับซื้อไม้สูงขึ้น

จากสถิติกรมป่าไม้ระบุว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 จนถึง 17 พฤษภาคม 2550 พบการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้เกี่ยวกับไม้พะยูงในเขต 13 จังหวัดอีสาน ประกอบด้วย จ.อุบลราชธานี มุกดาหาร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ สุรินทร์ นครราชสีมา สกลนคร บุรีรัมย์ ยโสธร ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม และกาฬสินธุ์

โดยเป็นไม้ทั้งในและนอกเขตป่าสงวนแห่งชาติ และป่าอนุรักษ์ จำนวน 721 คดี มีผู้ต้องหา 419 ราย ตรวจยึดไม้พะยูงและไม้ประดู่ท่อนได้ 43,886 ท่อน คิดเป็นปริมาณไม้ 3,818 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม. )คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย หลายพันล้านบาท

ขบวนผู้ลักลอบตัดไม้ มีจุดประสงค์ตัดไม้ส่งไปขายในประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน จึงใช้วิธีจ้างให้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่อาศัยอยู่ตามเขตป่าสงวนและป่าอนุรักษ์ ตัดและชักลากไม้ ไปเก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆ ก่อนนำมารวมหมอน ขนขึ้นรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ไปลงเรือตามท่าเรือต่างๆของประเทศ

หลังจากแสดงใบสำแดงเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค แต่เมื่อตรวจค้นภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดพบเป็นไม้พะยูงท่อน เฉพาะไม้พะยูงที่ถูกลักลอบขนใส่ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกต่างประเทศ ที่สามารถตรวจยึดได้จากเดือนกันยายน 2548-15 พฤษภาคม 2550 มีถึง 84 ตู้คอนเทนเนอร์

ส่วนราคาซื้อขายไม้พะยูง กลุ่มนายทุนตัดไม้ให้ราคารับซื้อไม้พะยูงท่อนจากชาวบ้านราคาท่อนละ 200 บาท แต่นำมาขายในราคากิโลกรัมละ 800 บาท หรือราคาคิวละ 200,000 บาท โดยนายทุนที่ให้การสนับสนุนการตัดไม้ ใช้วิธีดาวน์รถให้กลุ่มชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในขบวนการลักลอบตัดไม้ และให้ตัดไม้มาผ่อนชำระเป็นค่างวดรถ

จังหวัดที่พบการบุกรุกตัดไม้มากที่สุดคือ จ.อุบลราชธานี รองลงมาเป็น จ.มุกดาหาร จ.ศรีสะเกษ และ จ.อำนาจเจริญ

การแก้ปัญหาจึงให้จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าในเขตภาคอีสาน มีนาย สุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ประสานงาน โดยจะมีการสนธิกำลังระหว่างทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ศุลกากร ดำเนินการปราบปรามการตัดไม้ในประเทศ

ส่วนการแก้ไขปัญหาการกล่าวอ้างนำไม้จากต่างประเทศ เพื่อผ่านแดนไปลงเรือ แต่พบมีการนำไม้ในประเทศมาสวมแทน จะมีการหารือตามกรอบสนธิสัญญาบาร์เซโลนา จะไม่ให้มีการนำสินค้าหรือไม้เข้ามาพักก่อนบรรจุในประเทศ เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ดังกล่าว

ด้านนายเกษม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวหลังการประชุมว่า การลักลอบตัดไม้พะยูง เพื่อส่งขายต่างประเทศ แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะคือ ใช้ข้ออ้างเป็นไม้ผ่านแดนจากประเทศเพื่อนบ้านส่งต่อไปประเทศที่ 3 ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหาในกรณีนี้ จะมีการหารือร่วมกันในระดับประเทศ เพื่อแก้ไขระเบียบการนำไม้เข้ามาพักในประเทศ ก่อนทำการบรรจุ โดยต่อไปจะให้บรรจุผลิตภัณฑ์มาจากนอกประเทศ เพื่อกันการนำไม้ในประเทศมาสวมสิทธิ์

ส่วนอีกลักษณะ เป็นการลักลอบตัดไม้ในประเทศ ลำเลียงส่งไปขายต่างประเทศ ด้านการปราบปรามจะมีการสนธิกำลังกันทุกฝ่าย เพื่อกวาดล้างจับกุมขบวนการลักลอบตัดไม้ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ หรือตามป่าอนุรักษ์ รวมทั้งไม้ตามหัวไร่ปลายนา โดยให้มีการตรวจสอบขั้นตอนการขออนุญาตต่างๆอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้ขบวนการตัดไม้ใช้เป็นข้ออ้าง หรือใช้เป็นช่องโหว่หลีกเลี่ยงกฎหมายและการจับกุม

นอกจากนี้ ยังจะไม่นำไม้ที่ถูกจับกุมออกประมูลขาย เพื่อป้องกันไม่ให้ขบวนการลักลอบตัดไม้ใช้วิธีมาประมูลไม้ที่ถูกจับกุม แล้วนำไม้เข้าสู่กระบวนการตลาดในภายหลัง ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถลดการลักลอบตัดไม้หวงห้ามที่หายากในเขตภาคอีสานได้
กำลังโหลดความคิดเห็น